การสร้างเสริมสุขภาพ (สรุป)


                                    ภาพที่ 1 ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญ


การสร้างเสริมสุขภาพ เท่าที่ได้นำเสนอมาสรุปได้ดังภาพที่ 1 ว่า การสร้างเสริมสุขภาพคือ การดำเนินงานกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ (ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพ) ที่แก้ไขได้สองปัจจัยหลักคือ พฤติกรรมของคน และสภาพแวดล้อมของคน  ยังมีปัจจัยกำหนดสุขภาพอีกสองปัจจัยหลักแต่การสร้างเสริมสุขภาพมิได้นำมาดำเนินการคือ ปัจจัยทางชีววิทยาเนื่องจากในทางปฏิบัติยังเป็นปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ ส่วนปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพนั้นมีกระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่แล้ว

ปัจจัยด้านพฤติกรรม

พฤติกรรมที่มีผลโดยตรงและมีผลมากต่อสุขภาพได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ สูบบุหรี่ และสุรา (3อ 2ส) โปรดสังเกตว่า อาหาร ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และสุรา เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นกลุ่มโรคที่มีคนเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนอารมณ์ เป็นประเด็นเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุข (Well-being) ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่งของสุขภาพที่จะกล่าวเพิ่มเติมต่อไป

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมมีทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมและสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และมีทั้งเรื่องสภาพแวดล้อมที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพและที่มีผลทางอ้อมต่อสุขภาพคือมีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพแล้วจึงย้อนมาเป็นผลดีต่อสุขภาพ

เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ จึงมีการนำมาใช้ในการ "ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ"  เช่นการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้แก่ การจำกัดความเร็ว เมาไม่ขับ การใส่หมวกกันน็อค และการคาดเข็มขัดนิรภัย หรือการทำข้อตกลงและการปฏิบัติตามข้อตกลงของชุมชนในเรื่องงานศพและงานบุญปลอดเหล้า และการจัดวางอาหารในร้านอาหารให้อาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพอยู่ในตำแหน่งที่เห็นง่ายและหยิบง่ายเพื่อเพิ่มพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นต้น

สภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพที่สำคัญสองประการที่นำเสนอไว้คือ  เรื่องรายได้ ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และ เรื่องระดับการศึกษา ที่ยิ่งสูงยิ่งดี

สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่สำคัญคือ  เรื่องอุบัติเหตุทางถนน

แนวคิดข้างต้นนี้ตรงกับนิยามการสร้างเสริมสุขภาพในพรบ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ที่ว่า “สร้างเสริมสุขภาพ”  หมายความว่า  การใด ๆ  ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย  จิต  และสังคม  โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล  สภาพสังคม  และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง  สภาพจิตที่สมบูรณ์  อายุยืนยาว  และคุณภาพชีวิตที่ดี

                                   ภาพที่ 2 (ย่อ) เป้าหมายเฉพาะของเป้าหมายสิบปีสสส.

ภาพที่ 2 ย่อมาจากเป้าหมายสิบปี (พ.ศ. 2555-2564) ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   ซึ่งมีเป้าหมายเฉพาะสิบข้อ โปรดสังเกตว่า ประเด็นที่อยู่เหนือเส้นประเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (บุหรี่ สุรา การบริโภคผักผลไม้ กิจกรรมทางกาย ภาวะน้ำหนักเกิน) โรคติดต่อที่สำคัญ (โรคเอดส์) และภัยที่สำคัญ (อุบัติเหตุทางถนน) ส่วนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นประมีสามประเด็นคือ การเพิ่มสัดส่วนคนไทยมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น และชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ไม่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บ น่าจะเป็นเรื่องที่เรียกว่า ความอยู่ดีมีสุข (Well-being) ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว จนถึงชุมชน และความอยู่ดีมีสุขระดับบุคคลนี้น่าจะตรงกับอารมณ์ในภาพที่ 1 

สรุปว่า ในทางปฏิบัติเมื่อเรากล่าวถึงสุขภาพย่อมหมายถึง การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บและ/หรือความอยู่ดีมีสุข


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

7 ธ.ค. 60

                           

หมายเลขบันทึก: 643089เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2017 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2017 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ชุลี ลิ้มประดิษฐ์

คุณหมอคะ หนูอนุญาตนำข้อมูลไปส่งต่อให้แกนนำได้ไหมคะ  

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

ได้ซิ แต่ เอ สงสัยว่าต้องต่อด้วยชุมชนน่าอยู่

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

ได้ซิ แต่ เอ สงสัยต้องเขียนต่อเรื่องชุมชนน่าอยู่

ลดการใช้สารเคมีในการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและปศุสัตว์ เนื่องจากผักและผลไม้มีสารปนเปื้อนเยอะ ส่วนเนื้อสัตว์ก็มียาปฏิชีวนะทั้งนั้นค่ะ 

ติดตามอ่านเป็นประจำค่ะอาจารย์หมอ 

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท