การสร้างเสริมสุขภาพ (3): Nudge



มีหนังสือที่เคยติดอันดับหนังสือขายดีเล่มหนึ่งชื่อน่ารักว่า Nudge ผู้เขียนคือ  Richard H Thaler (ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี  2560) และ Cass R Sunstein ปกหนังสือเป็นภาพลูกช้างกับแม่ช้าง ที่ต้องการสื่อความหมายว่าแม่ช้างกำลัง Nudge ลูกช้างให้เดินหน้าต่อไป หนังสือเล่มนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า บางครั้งการ Nudge ก็จำเป็นและมีประโยชน์ ที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม จึงเกี่ยวพันมาถึงเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ

ในที่นี้จะขอนำตัวอย่างที่น่าสนใจมาแสดงให้ดู เพื่อช่วยให้เข้าใจแนวคิด และประโยชน์ของ Nudge ทึ่แม้แต่แม่ช้างก็รู้จักใช้

ตัวอย่างทึ่หนึ่ง มีการทดลองในโรงอาหารของโรงเรียนกว่าร้อยแห่งในประเทศอังกฤษพบว่า ลำพังการจัดวางอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไว้ในตำแหน่งทึ่เห็นง่ายและหยิบง่าย (เมนูอาหารอื่นไม่ได้ห้ามแต่วางในตำแหน่งถัดไป) ทำให้นักเรียนเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 25

ตัวอย่างที่สอง เมืองชิคาโกในสหรัฐอเมริกา มีถนนชื่อว่า Lake Shore Drive เรียบทะเลสาบมิชิแกน เห็นวิวเมืองสวยงามน่ามอง  มีช่วงหนึ่งเป็นทางโค้งอันตราย เป็นรูปตัว S หลายตัว คนขับมักจะไม่สนใจกับป้ายจำกัดความเร็ว 25 ไมล์ต่อชั่วโมง จึงต้องหาวิธีใหม่ให้คนขับรถชะลอความเร็ว ด้วยการทาสีพื้นถนนเป็นเส้นขวางสีขาวเป็นระยะๆตั้งแต่เริ่มเข้าทางโค้ง ระยะห่างระหว่างเส้นขวางสีขาวแคบลงเรื่อยๆ ทำให้คนขับรถรู้สึกเสมือนว่ารถวิ่งเร็วขึ้น จึงมีผลทำให้คนขับรถชะลอความเร็วลง เป็นไปตามเจตนาของผู้ออกแบบ 

ตัวอย่างที่สาม ประชาชนในยุโรปมีทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคอวัยวะ แต่อัตราการบริจาคอวัยวะที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละประเทศแตกต่างกันมากแม้ในประเทศที่วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เช่น อัตราการบริจาคในเยอรมันนีร้อยละ 12 ขณะที่ในออสเตรียเกือบร้อยละ 99 ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสองประเทศนี้คือ ที่เยอรมันนีต้องแสดงความจำนงว่าขอบริจาค แต่ที่ออสเตรียต้องแสดงความจำนงว่าขอไม่บริจาค 

กลยุทธเหล่านี้เข้ามาช่วยเสริมข้อค้นพบที่ว่า ลำพังการให้ความรู้ (ข้อมูลข่าวสาร) เปลี่ยนพฤติกรรมได้น้อย 

Dr Thomas R Frieden อดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ เสนอรูปแบบการแก้ปัญหาสุขภาพเป็นภาพปิรามิดดังภาพที่ 2 โปรดสังเกตว่า สองประเด็นสำคัญที่ฐานปิรามิดคือการสร้างเสริมสุขภาพ และประเด็นพฤติกรรมสุขภาพนั้นใช้ยุทธศาสตร์ "ปรับสภาพแวดล้อม" ให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ นั่นคือ ใช้ยุทธศาสตร์ Nudge นั่นเอง 

                                                                      ภาพที่ 2


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

26 พ.ย. 60


หมายเลขบันทึก: 642094เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผู้นำการขับเคลื่อนระบบสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสุขภาพประชาชนให้ดีขึ้น  จึงต้องเข้าใจแนวคิดนี้  และนำไปใช้ออกแบบกิจกรรมทางสังคมที่ต้องการปรับสภาพแวดล้อม  ช่วยแต่ละปัจเจกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท