การสร้างเสริมสุขภาพ (2)


มีรายงานผลการวิจัย  เมื่อปี 2016 ว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมสุขภาพดี (ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที และกินผักผลไม้วันละ 400 กรัม) อายุยืนกว่าผู้ที่มีพฤติกรรมสุขภาพแย่ (สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย และไม่กินผักผลไม้) 17.9 ปี

รายงานข้างต้น มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลชาวแคนาดาที่เสียชีวิตในปี 2010 จำนวน 189,000 คน ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ จึงสามารถเปรียบเทียบอายุที่เสียชีวิตระหว่างกลุ่มที่มีพฤติกรรมสุขภาพดี และกลุ่มที่มีพฤติกรรมสุขภาพแย่ ให้เห็นได้ว่าต่างกันมาก 

ก่อนหน้านี้ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ดีขึ้น มีผลทำให้อายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น (เป็นตัวชี้วัดว่ามีโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง) เช่น

การเลิกสูบบุหรี่  ถ้าเลิกสูบก่อนอายุ 35 ปีอายุคาดเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 10 ปีเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เลิก แต่ถ้าเลิกสูบบุหรี่ก่อนอายุ 55 ปีอายุคาดเฉลี่ยก็ยังเพิ่มขึ้น 6 ปี

การเลิกดื่มเหล้า  ผู้ที่ดื่มเหล้าจนติด อายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่าคนทั่วไป 7.6 ปี

การออกกำลังกาย  ออกกำลังกายขนาดปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ อายุคาดเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย 1.8 ปี แต่ถ้าเพิ่มเป็น 450 นาทีต่อสัปดาห์อายุคาดเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ปี

การกินผักผลไม้  ผู้ที่กินผักผลไม้วันละ 5 หน่วย (เท่ากับ 400 กรัมหรือสี่ขีด) อายุคาดเฉลี่ยจะสูงกว่าผู้ที่กินผักผลไม้วันละ 4, 3, 2, 1, 0.5 และ 0 หน่วย เท่ากับ 1, 3, 7, 17, 25 และ 37 เดือน ตามลำดับ

วันนี้ขอขยายความเรื่องการกินผักผลไม้เพราะดูง่ายดี ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนในกทม. แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างโรงเรียนที่ทำโครงการปลูกผักเพื่อการบริโภค พบว่ามีพื้นที่ปลูกผักกว้างขวางพอสมควรและจัดสถานที่ได้สวยงาม (มีคณะมาขอดูงานบ่อย) แต่เนื่องจากมีนักเรียนถึง 400 คน ผักที่ปลูกจึงใช้ทำอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียนได้เพียงเดือนละ 2 มื้อ ผมถามว่า โรงเรียนต้องซื้อผักผลไม้เพื่อทำอาหารกลางวันวันละกี่กิโล ได้รับคำตอบว่า 20 กิโล คิดหลายรอบก็เฉลี่ยได้คนละ 50 กรัม (ยังไม่ได้หักส่วนที่เป็นกิ่งก้านและเปลือก) สถานการณ์ในโรงเรียนต่างจังหวัดก็ไม่สู้จะต่างกัน มากนัก ส่วนหนึ่งของปัญหาจึงอยู่ที่งบประมาณ แต่บางโรงเรียนก็มีแนวคิดน่าสนใจ ตกลงให้ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งปลูกผักผลไม้ส่ง ทำให้แน่ใจว่าได้ผักผลไม้ปลอดภัย เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ปกครอง และเป็นการส่งเสริมให้มีการบริโภคผักผลไม้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย

น่าจะมีประโยชน์ ถ้าผมจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องนี้ เพราะอ้างว่ารู้อานิสงส์ของการกินผักผลไม้ดีอยู่แล้ว ข้อค้นพบคือ ทำได้ยากและทำได้น้อยกว่าที่คิด แม้จะรู้ตัวอยู่ทุกวัน ส่วนใหญ่ได้แค่วันละ 3-4 หน่วย น้อยวันที่ได้ 5 หน่วย ปัญหาสำคัญคือ มีอาหารประมาณสัปดาห์ละ  5-6 มื้อที่ไม่สามารถจะควบคุมปริมาณผักผลไม้ได้ จากการถอดบทเรียนพบว่า มีปัจจัยที่ทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้นได้อีกเล็กน้อยได้แก่ หนึ่ง หาผลไม้ติดบ้านไว้เสมอ เพราะเก็บไว้ได้นานกว่าผัก จึงต้องให้ผลไม้มีส่วนรับผิดชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมด สอง มีผักสลัดติดตู้เย็นไว้เสมอ ผักบางอย่างเก็บได้นานกว่าบางอย่าง เช่น ผักกาดหอมและผักคอสเก็บได้นานกว่ากรีนโอค เป็นต้น สาม ปลูกผักที่ดูแลง่ายใส่กระถางไว้ เช่น ตำลึง ตำลึงหวาน กะเพราะ โหระพา เป็นต้น ปัจจัยทั้งสามนี้ช่วยให้บรรลุเป้าหมายวันละ 5 หน่วย ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

  

ที่เสนอไว้ทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลข่าวสาร ถ้าท่านสนใจจะนำไปใช้ประโยชน์ต้องเปลี่ยนให้เป็นความรู้ของท่านก่อน ถ้าสงสัยขอเชิญไปที่

https://www.gotoknow.org/posts...


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

25 พ.ย. 60

EF6A098A-07F6-4CC2-9C1E-8857913BAFDC-1-2048x1536-oriented.png

หมายเลขบันทึก: 642065เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2017 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2017 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากติดต่อกับคุณหมอมากค่ะ.

จะติดต่ออย่างไรคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท