ปัญหาแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตร: กำลังพัฒนาหรือว่าอยู่ที่เดิม


สุวรรณา แสงไตรลักษณ์, 3/12/60, 21.43 น.

          เด็กเก่งเพราะครูเก่ง จริงหรือไม่?? เพราะครู เพราะตำรา หรือว่าเพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็ก ทำไมทั้งที่ครูสอนเหมือนกัน แต่ทำไมเด็กเรียนเก่งไม่เท่ากัน เพราะครู เพราะตำรา หรือว่าเพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กอีกหรือไม่ ทำอย่างไรเด็กจะมีความรู้เท่าเทียมกันโดยไม่มีความเลื่อมล้ำเกิดขึ้น ทำไมประเทศอื่นๆทำได้ อะไรคือปัญหาการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย เด็กไทยต้องเรียนอะไรจึงจะเหมาะสมกับสภาพ จึงจะตอบโจทย์ตามConcept เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุขได้จริงๆ

            ปัจจุบันการศึกษาของประเทศไทย มีหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ให้ใช้ โดยมีมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญ  (ฐิติพันธ์ สอนพูด,หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) เป็นเป้าหมายที่นักเรียน ครู และสถานศึกษาต้องร่วมกันพุ่งชนเพื่อให้บรรลุตรงตามมาตรฐานหลักสูตรตามที่กระทรวงกำหนด และทั้งๆที่ประเทศไทยก็ใช้หลักสูตรเดียวกัน แต่เด็กในพื้นที่ตัวเมืองเก่งกว่าเด็กทางพื้นที่รอบนอก และนี่คือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และปัญหาคืออะไร ถ้าเริ่มวิเคราะห์ตัวหลักสำคัญๆ ก็ควรจะเริ่มที่ ผู้เรียนหรือนักเรียนเป็นอันดับแรก เด็กทางพื้นที่รอบนอกมักเป็นเด็กยากจนหรือไม่ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากเพียงพอ มีกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมตามการดำเนินชีวิตแบบวิถีชุมชนที่เป็นสิ่งเร้ามากกว่า เช่น การยิงนกตกปลา การปั่นจักรยานเที่ยวเล่น การช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองรับผิดชอบงานต่างๆ ต่างจากเด็กในพื้นที่เขตเมืองที่ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษามากเพียงพอ การแข่งขันรวมถึงความคาดหวังสูง ดังนั้นความกระตือรือร้นในการศึกษาก็ต่างกันแล้ว ครูในพื้นที่เขตเมืองก็ได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีการสอนที่มากเพียงพอ สามารถพัฒนาทักษะตนเองได้ต่างจากครูในพื้นที่รอบนอก สอนไปตามมี ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ ต่อให้มีความพัฒนาหลักสูตรให้ดีขึ้นมากเพียงใดก็ไม่มีความหมาย เพราะมันไม่มีความเท่าเทียมกันในพื้นที่อยู่แล้ว แค่พูดว่าเรียนหลักสูตรเดียวกัน ทำไมจะเก่งเท่ากันไม่ได้ เพราะการเข้าถึงของสิ่งที่ได้รับในแต่ละพื้นที่ที่การศึกษาเข้าถึงต่างกันราวฟ้ากับเหวขนาดนี้

            ดังนั้นผู้ใหญ่ที่พยายามจะแก้ปัญหาโดยการเอาโน้นนี่นั่นมาโยนให้โรงเรียนทำตามเพื่อพัฒนาผู้เรียนในด้านต่างๆ โครงการมากมายก่ายกองเหล่านั้นโรงเรียนสามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ หากแต่ความสำเร็จที่เกิดจากการรายงานตัวหนังสือไปนั้น ใช่ความสำเร็จที่ต้องการจริงหรือไม่ การหยิบจับเอาสิ่งดีๆจากประเทศอื่นมาเติมเต็มด้วยความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ ตอบโจทย์เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วนของภาคการศึกษา พัฒนาการศึกษาตามที่ต้องการหรือไม่ เรากำลังพัฒนาการศึกษาไทยเพื่อให้ก้าวทันโลก หรือเรากำลังว่ายวนเวียนอยู่ในสิ่งที่คิดว่าพัฒนา เสมือนน้ำพุที่พุ่งสูงขึ้นไปและตกมาที่พื้นและพุ่งสูงขึ้นไปทั้งๆที่รู้ว่าน้ำนั้นเป็นมวลน้ำเดิม สิ่งเหล่านี้แหละเป็นปัญหาว่าเราควรหยุดตามเขาเพื่อเห็นมองดูตัวเราเพื่อพัฒนาให้ทั่วถึงก่อนจะดีกว่า มันจึงจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าจะช้าไปสำหรับการวิ่งตามประเทศอื่นก็ยังดีกว่าการพาคนกลุ่มหนึ่งวิ่งด้วยรองเท้าโรลเลอร์เบลดบนทางคอนกรีต แต่คนอีกกลุ่มใหญ่ยังเดินเท้าเปล่าแบบยังไม่ผ่านทางลูกรัง ไม่อย่างนั้นแล้วสิ่งที่บอกว่าพัฒนาก็ไม่มีความหมายใด

              หากทุกอย่างพัฒนาและได้รับการสนับสนุนอย่างเสมอภาค และถ้าหากเป็นอย่างนั้นแล้วหลักสูตรการศึกษาใดๆที่พัฒนามาก็สามารถประสบความสำเร็จเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ ผู้เรียนทุกคนได้รับแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จะได้หมดเวลาของการไปเที่ยวดูประเทศอื่นๆว่าเขาพัฒนาการศึกษาอย่างไร ให้เราได้เป็นประเทศที่มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกติดอันดับต้นๆสักวันหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 642994เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2017 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2017 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท