สนุกกับหนังสือ “ศาสตร์และศิลป์ของการสอน” : ตีความต้นฉบับ


ฉันประมวลความเข้าใจทั้งหมดออกมาเป็นภาพ​​ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับตัวเอง และเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนในการความเข้าใจในแนวคิดหลักของหนังสือร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความเข้าใจร่วมไปด้วยกัน


วันนัดหมายที่ปรากฏในอีเมล คือวันที่ ๒๐ มิ.ย.๖๐ นั่นหมายความว่าฉันจะมีเวลาทำความรู้จักกับต้นฉบับที่อาจารย์ส่งมาให้ในรูปของไฟล์ word ที่มีอยู่ด้วยกัน ๔๕ ตอน ภายในเวลา ๒๖ วัน


การทำความรู้จักกับต้นฉบับไม่ได้หมายถึงการอ่านให้จบเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการทำความรู้จักกับโครงสร้างของหนังสือ ตลอดไปจนถึงวิธีการนำเสนอ และสาระสำคัญที่สื่อออกมาด้วย  เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อาจารย์ถอดความมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ฉันจึงต้องย้อนกลับไปดูตัวเค้าโครงของต้นฉบับเดิมประกอบด้วย เพื่อเป็นการสอบทานเพื่อป้องกันไม่ให้การสร้างความเข้าใจของฉันคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจที่ทั้งสองท่าน (Robert  J. Marzano และตัวอาจารย์) ต้องการจะสื่อ 


ประสบการณ์จากการทำบรรณาธิการกิจให้กับหนังสือ "ขอบฟ้าใหม่ในการจัดการความรู้" ของอาจารย์เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ฉันมีความรู้เดิมเกี่ยวกับความหมายของ critical knowledge มาก่อน ดังนั้นจึงช่วยให้เข้าถึงหัวใจของต้นฉบับชุดนี้ ที่มี critical knowledge เป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญเช่นกัน


คำนำของอาจารย์ที่ได้เขียนเอาไว้ก่อน ก็เป็นเอกสารสำคัญอีกชุดหนึ่งในการเดินทางไปทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดของต้นฉบับที่อาจารย์เรียบเรียงขึ้น  



เมื่อเกิดเข้าใจในภาพรวมและภาพย่อยทั้งหมดชัดเจนดีแล้ว การบ้านชิ้นต่อไปที่ฉันเตรียมตัวทำล่วงหน้าก่อนที่จะไปพบอาจารย์ก็คือ การประมวลความเข้าใจทั้งหมดออกมาเป็นภาพ  เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับตัวเอง และเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนในการความเข้าใจในแนวคิดหลักของหนังสือร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความเข้าใจร่วมไปด้วยกัน 


 แล้วภาพที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดของฉันก็คือภาพนาฬิกาทราย เพราะนาฬิกาทรายเป็นการทำงานผสานกันของทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งการสร้าง "ศาสตร์และศิลป์ของการสอน" นั้นก็คือการทำงานภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่ทั้งครูและนักเรียนมีอยู่ร่วมกัน


ดังนั้น ฉันจึงเตรียมให้ทางฝ่ายศิลป์ของทางบริษัท ภาพพิมพ์ ช่วยออกแบบปกให้ทันนำเสนออาจารย์ในวันที่ ๒๐ มิ.ย.ด้วย


เพราะความรู้ (ในแบบฉบับของการจัดการความรู้) เกิดขึ้นได้จากการตีความ...ยิ่งชวนกันตีความกันหลายๆ คน ความรู้ที่ได้ก็จะยิ่งทั้งกว้างและลึก การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งมีมิติที่ลึกขึ้น 


และตัวอาจารย์เองก็มักสนุกกับการได้ตีความความรู้ในทุกครั้งไป





 






หมายเลขบันทึก: 641901เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2017 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2017 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท