ค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน : เรียนรู้คู่บริการในวิถีนอกหลักสูตรของสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ (มมส)


ค่ายครั้งนี้เป็นอีกค่ายที่สะท้อนให้เห็นปัจจัยความสำเร็จและปัจจัยอันเป็นอุปสรรค-ปัญหาอยู่หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นที่ชาวค่ายฯ หยิบยกมาสื่อสารก็คือปัญหาของการใช้ภาษาระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน ซึ่งภาษาที่นิสิตใช้สื่อสารกับชาวบ้าน คือ “ภาษาไทยกลาง” ขณะที่ชาวบ้านกลับพูดด้วย “ภาษาอีสาน” โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ต่างติดขัดกับการพูดและฟัง “ภาษาไทยกลาง” เป็นอย่างยิ่ง


ค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ 14  ที่ดำเนินการโดยสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2560 ณ บ้านหนองแสง  ตำบลสงเปลือย  อำเภอเขาวง  จังหวัดกาฬสินธุ์  เป็นอีกค่ายฯ  ที่มีกลิ่นอายของการประยุกต์ระหว่างกิจกรรมในชั้นเรียน (กิจกรรมในวิชาชีพ)  กับกิจกรรมนอกชั้นเรียน (กิจกรรมนอกหลักสูตร)  ได้อย่างน่าสนใจ

เป็นค่ายอาสาพัฒนาเล็กๆ  ในแบบฉบับของการ “เรียนรู้คู่บริการ”  ภายใต้ห้วงเวลา  5 วัน 4 คืน



จะว่าไปแล้ว  ค่ายครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงค่ายอาสาพัฒนาที่เน้นการบริการสังคมทั่วๆ ไปเท่านั้น  หากแต่เป็นค่ายฯ ที่จัดขึ้นตามระบบและกลไกของการบ่มเพาะคุณธรรม ที่ว่าด้วย "จิตอาสา : จิตสาธารณะ"  ที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์การเป็นนิสิต (การช่วยเหลือสังคมและชุมชน)  หรือแม้แต่ค่านิยมของนิสิต MSU FOR ALL (พึ่งได้)  ที่หมายถึงเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ  พึ่งพาตนเองได้  และมีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือสังคม  หรือเป็นที่พึ่งพาของคนอื่นได้

ในทำนองเดียวกันก็ขับเคลื่อนเนื่องในวาระโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติ ระดับอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับมูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์  ซึ่งระยะหลังสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์  ได้ปักธงให้ “ค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน”  เป็นกลไกหลักในการบ่มเพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแก่นิสิตในคณะ  โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน  ผ่านความเป็นค่ายอาสาพัฒนาที่เน้นการเรียนรู้คู่บริการ  เป็นหัวใจสำคัญ---


บูรณาการกิจกรรม จากวิชาชีพสู่กิจกรรมนอกหลักสูตรในแบบสหกิจกรรม


ค่ายครั้งนี้ยังคงดำเนินงานตามกรอบแนวคิดของปีที่แล้ว   เรียกได้ว่า  “ต่อยอด”  จากปีที่แล้วก็ไม่ผิด  กล่าวคือ  เน้นกระบวนการเรียนรู้คู่บริการในแบบบูรณาการ  หรือสหกิจกรรม  เช่น

  • บูรณาการวิชาชีพสู่การบริการสังคม (บำเพ็ญประโยชน์)  :  เช่น  ให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเยาวชนในเรื่องระบบสุขภาพ  เช่น  การบริโภคยา  การดูแลสุขภาพ   คุณและโทษของยาสเตียรอยด์   คุณและโทษของยาลดน้ำหนัก  หลักการใช้ยาคุมกำเนิด  การใช้คอนแทคเลนส์ที่ถูกต้องและเหมาะสม
  • การบริการตรวจสุขภาพ (คัดกรองโรค) : เช่น  ความดัน  เบาหวาน 

นอกจากนั้นก็เป็นกิจกรรมอื่นๆ  ที่เรามักคุ้นชินในวิถีค่ายอาสาพัฒนาอยู่แล้ว   เช่น   การปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียนด้วยการทาสีรั้ว  การละเล่นกีฬาพื้นบ้านในแบบไทยๆ ที่เน้นเรื่องสุขภาพและการเชื่อมความสัมพันธ์  เช่น  วิ่งเปี้ยว  กินวิบาก




บูรณาการกิจกรรม : กระบวนการเรียนรู้คู่บริการแบบช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม


ค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ 14  ยังคงใช้กระบวนการเรียนรู้เหมือนค่ายครั้งที่ผ่านมา   นั่นก็คือการ  “เรียนรู้คู่บริการ”  ที่หมายถึงเรียนรู้วิถีชุมชนไปพร้อมๆ  กับการบริการสังคม 

กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นจากการแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ  จากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่ม “เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน” เพื่อจัดเก็บข้อมูลระบบสุขภาพชุมชน  พร้อมกับการเรียนรู้บริบท  หรือสภาพทั่วไปของชุมชน  ผ่านเครื่องมือสำคัญๆ  เช่น  แผนที่เดินดิน  ปฏิทินชุมชน  ระบบสุขภาพชุมชน
 


ผมมองว่าประเด็นนี้น่าสนใจมาก  เพราะนิสิตได้ฝึกฝนทักษะการเก็บข้อมูลชุมชนอย่างมีระบบแบบแผน   มีเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลที่เชื่อมโยงให้เห็นโครงสร้างทั้งหมดของชุมชนที่ยึดโยงกัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการกินการอยู่  การศึกษา  ความเชื่อ ค่านิยม  อาชีพ จารีตประเพณี  ซึ่งทั้งปวงล้วนมีผลต่อระบบสุขภาพของชาวบ้านอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่ที่ผมชอบมากก็คือในวันแรก  นิสิตไม่ได้รีบร้อนที่จะจัดเก็บข้อมูลใดๆ มากนัก   ตรงกันข้ามกลับเน้นการเดินเท้าเข้าหมู่บ้านเพื่อพบปะทักทายชาวบ้านอย่างทั่วถึง  เน้นการ “ฝากเนื้อฝากตัว”  พร้อมๆ กับประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จะมีขึ้นในแบบ “ตัวต่อตัว” 

เรียกได้ว่า ไม่รีบไม่ร้อนจนเกินงาม   ประหนึ่งกลยุทธการ “ใจเย็นๆ”  เหมือนสำนวน  “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาน”  นั่นแหล่ะ  

ไปเอาจริงเอาจังก็วันที่สองโน่นเลย  คือการตะลุยเก็บข้อมูลชุมชนผ่านระบบและกลไกของ “ลูกหลาน” หรือ “ลูกฮัก-พ่อฮัก-แม่ฮัก”



ครั้นได้ข้อมูลกลับมาก็นำมาจัดหมวดหมู่  -

แต่ละกลุ่มนำข้อมูลมาเทียบเคียงเข้าด้วยกัน  ช่วยกันขบคิดวิเคราะห์  ประมวลออกมาจัดทำเป็นสื่อเพื่อสะท้อนคืนให้กับชุมชน  หรือที่เราเรียกว่า “คืนข้อมูล”  ให้ชุมชนนั่นเอง 

กระบวนการคืนข้อมูลนั้น  มิใช่การสื่อสารจากนิสิตเพียงฝ่ายเดียว  (สื่อสารทางเดียว)  แต่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม  โดยกระตุ้นให้ชุมชนได้ร่วมวิพากษ์ข้อมูลทั้งหมดแบบไม่ปิดกั้น  มีทั้งข้อมูลที่ถูกตัดทอนออกไป  และเติมเต็มข้อมูลเข้ามาใหม่ –

ถัดจากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาออกแบบสู่การจัดกิจกรรมบริการสังคม  ซึ่งทั้งปวงล้วนฉายให้เห็นภาพการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรในมิติของการเรียนรู้คู่บริการอย่างน่าชื่นชม




จากข้อมูลสู่การปฏิบัติการ : บริการ (วิชาการ) แก่สังคมบนฐานใจ


จะว่าไปแล้ว ค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ 14  เป็นค่ายที่มีกลิ่นอายทางวิชาการอยู่ค่อนข้างมาก   เพราะเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากข้อมูลอันเป็นสถานการณ์ของชุมชน

ข้อมูลเหล่านั้นต่างถูก “คลี่”  หรือ “ออกแบบ”  บนความเป็นวิชาชีพของชาวเภสัชศาสตร์ (หมอยา)  อย่างไม่ต้องสงสัย  ยกตัวอย่างเช่น

  • กลุ่มเด็กและเยาวชน : จัดฐานการเรียนรู้ในโรงเรียนว่าด้วยเรื่องสำคัญๆ เช่น  การใช้ยาคุมกำเนิด  การกินยาลดความอ้วน  การใช้คอนแทคเลนส์  ผ่านกระบวนการบรรยาย  บอกเล่าประกอบสื่อและเกม  มีการถาม-ตอบและมอบรางวัลเล็กๆ น้อยๆ  เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสีสันในการเรียนรู้ร่วมกัน
  • กลุ่มคนทำงานและผู้สูงอายุ  :  จัดฐานการเรียนรู้ในบริเวณวัด  เช่น  คัดกรอบสุขภาพ  บรรยายให้ความรู้เรื่องระบบสุขภาพ 

กิจกรรมที่กล่าวถึงข้างต้น  ล้วนเป็นความรู้และทักษะเฉพาะทางของนิสิต   หรือที่เราเรียกว่าเป็นทักษะในทางวิชาชีพที่ร่ำเรียนในหลักสูตร (Hard skills)  แล้วประยุกต์สู่การให้บริการสังคมบนฐานความรู้ของนิสิต  โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็น “โค้ช” คอยกำกับหนุนเสริมอยู่ใกล้ๆ

เสมือนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นแลปก็ไม่ผิด  หากแต่เป็นการเรียนรู้คู่บริการบนฐานใจ  (จิตอาสา : จิตสาธารณะ)  มิใช่การใช้ชุมชนเป็นห้องทดลอง หรือหนูลองยาเหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจ 



อุปสรรคและความสำเร็จ


ค่ายครั้งนี้เป็นอีกค่ายที่สะท้อนให้เห็นปัจจัยความสำเร็จและปัจจัยอันเป็นอุปสรรค-ปัญหาอยู่หลายอย่าง  ยกตัวอย่างเช่นที่ชาวค่ายฯ  หยิบยกมาสื่อสารก็คือปัญหาของการใช้ภาษาระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน  ซึ่งภาษาที่นิสิตใช้สื่อสารกับชาวบ้าน คือ “ภาษาไทยกลาง”  ขณะที่ชาวบ้านกลับพูดด้วย “ภาษาอีสาน”  โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ  ต่างติดขัดกับการพูดและฟัง “ภาษาไทยกลาง”  เป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาดังกล่าว  ผมไม่ได้มองว่าเกิดขึ้นแต่เฉพาะค่ายนี้  ส่วนใหญ่ก็พบเจอในทุกค่ายของนิสิต  จนผมต้องย้ำนักย้ำหนาว่าให้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ให้มากๆ  ถึงขั้นแซวนิสิตที่เป็นคนอีสานแท้ๆ ว่า  “ไปค่ายก็อย่าลืมภาษาค่ายแบบบ้านๆ ด้วยล่ะ”  เพราะหากละเลย หรือไม่ตระหนักในเรื่องภาษาก็อาจนำมาซึ่ง “ช่องว่าง”  หรือแม้แต่ “ความเหลื่อมล้ำ” ระหว่างนิสิตกับชาวบ้านอย่างคาดไม่ถึง...

เช่นเดียวกับการบอกย้ำว่า “เราสามารถเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านภาษาได้เป็นอย่างดี  เพราะภาษาคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นชาติพันธุ์-อัตลักษณ์ของชุมชน” 



ในส่วนของความสำเร็จที่ผมมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ควรตระหนักก็คือความร่วมไม้ร่วมมือของชุมชนผ่านระบบพ่อฮัก-แม่ฮักที่นิสิตและชุมชนได้ออกแบบร่วมกัน

เช่นเดียวกับการใส่ใจดูแลของผู้นำชุมชน  ทั้งที่เป็นนายกเทศมนตรี  ปลัดเทศบาลฯ  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพฯ  ซึ่งเป็นภาพแห่งการทำงานแบบมีส่วนร่วม  ยึดโยงความเป็นเครือข่ายทั้งระหว่างนิสิตกับชุมชนและส่วนราชการ   หรือแม้แต่ระหว่างชุมชนกับส่วนราชการในท้องถิ่นนั้นๆ  ก็ด้วยเช่นกัน



หรือแม้แต่กิจกรรม “ตุ้มโฮมพาแลง”  ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่น่าสนใจ  เพราะในค่ำคืนสุดท้ายนิสิตกับชาวบ้านก็รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน  กล่าวคือพ่อฮัก-แม่ฮัก  หรือชาวบ้านทั่วไปต่างช่วยกันทำและนำอาหารมาร่วมรับประทานกับนิสิต -

กิจกรรมเช่นนี้ได้สื่อให้เห็นวิถีน้ำใจของชุมชน   สื่อให้เห็นถึงธรรมเนียมของการต้อนรับขับสู้แขกบ้านแขกเมืองบนฐานใจ   เฉกเช่นวาทกรรมการพัฒนาที่ผมได้ยินจนชินหูมาตั้งแต่เด็กๆ  ดังว่า  

  • ใครมาถึงเรือนชานก็ต้อนรับ”  หรือ 
  • ท่านมาเราดีใจ ท่านจากไปเราคิดฮอด  ...

และอีกเรื่องที่อดสื่อสารไม่ได้เลยก็คือ ... ก่อนการเดินทางกลับมายังมหาวิทยาลัย  นิสิตทุกคนต่างใส่ใจต่อการจัดเก็บสถานที่คืนกลับภาพเดิมให้มากที่สุด   เหมือน “อยู่บ้านท่านไม่นิ่งดูดาย”  นั่นแหละ  

มีทั้งการจัดโต๊ะเก้าอี้  ล้างห้องน้ำ เก็บขยะ  -  ซึ่งผมมองว่านี่คืออีกปรากฏการณ์หนึ่งของการชี้ชัดว่านิสิตมี  “วุฒิภาวะ”  ที่น่ายกย่องไม่แพ้การมีจิตอาสาในการบริการสังคม

ท้ายที่สุดนี้  ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่า ค่ายครั้งใหม่ (ค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน ครั้งที่ 15)  จะปักหมุดในพิกัดใด  รูปแบบจะเปลี่ยนไปแค่ไหน  ความสำเร็จจะถูกต่อยอดกี่มากน้อย   และอุปสรรค-ปัญหาเดิมๆ  จะได้รับการแก้ไขและข้ามพ้นไปอย่างสง่างามหรือไม่

แต่วินาทีนี้ บอกได้เต็มปากเต็มคำว่า  "ชื่นชม และให้กำลังใจ นะครับ"

...   



หมายเหตุ

เขียน : วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560
ภาพ : สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

หมายเลขบันทึก: 641337เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ 


พี่ แสงแห่งความดี...

ดังที่เราทราบกันดีว่านิสิตหลักสูตรเภสัชศาสตร์ ค่อยข้างเรียนหนัก เวลาว่างก็จำกัด  แถมยังต้องเคร่งเครียดกับการสอบใบประกอบวิชาชีพ   จะปลีกตัวมาทำกิจกรรมให้ต่อเนื่องก็ลำบากอยู่มาก  หากพวกเขามองว่าเป็นความท้าทายในการเรียนรู้ชีวิตและท้าทายต่อการจัดการเวลา  ก็น่าสนใจ

ยังดีหน่อยครับ  ยังมีกิจกรรมนอกหลักสูตรในทางวิชาชีพที่น้องๆ เหล่านี้ได้จัดกิจกรรมร่วมกันผ่านการ "บริการสังคม" อย่างมีระบบแบบแผน  มีเครื่องไม้เครื่องมือในการขับเคลื่อน  ผลพวงเชิงสร้างสรรค์ก็ได้ทั้งนิสิตและชุมชน  ถึงแม้เด็กกลุ่มนี้จบไปจะมีแนวโน้มไม่มากนักที่ไปทำงานในชุมชนทุรกันดาร  แต่กระบวนการค่ายเช่นนี้  ก็มีพลังมากพอต่อการให้เขาได้นำไปใช้ในการทำงานในวิชาชีพและใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย ....

นั่นคือสิ่งที่ผม เชื่อ เสมอมา  ครับ

เป็นค่ายที่งดงาม ดีต่อนิสิตและชุมชนมากเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ครับ   อ.ดร.ขจิต ฝอยทอง

ค่ายนี้มีความน่าสนใจ คือการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในแบบ "เรียนรู้คู่บริการ"  และเป็นการบริการเชิงวิชาชีพที่มีกลิ่นอายคล้ายการบริการวิชาการในแบบฉบับของ "นิสิต"  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท