การจัดการความรู้ในชุมชน5


เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ผู้อ่านอาจเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้

 การจัดการความรู้ด้านสุขภาพในชุมชน2

         ศูนย์รวบรวมความรู้และจัดการสุขภาพชุมชน

         ได้กล่าวแล้วว่าชุมชนควรมีองค์กรจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาและสร้างเสริมสุขภาพของชาวชุมชน โดยมีผู้จัดการความรู้และทีมงาน ชุมชนที่มีองค์กรจัดการความรู้ที่เข้มแข็งจะนำไปสู่ชุมชนแห่งความรู้ด้านสุขภาพในที่สุด               

          ลักษณะของการจัดการความรู้ด้านสุขภาพของชุมชนแต่ละแห่งไม่ควรยึดรูปแบบที่แน่นอนตายตัวเหมือนกับการจัดการองค์กรต่างๆที่ราชการคิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาซึ่งมักจะมี model ที่แน่นอนตายตัวซึ่งหากทำได้ผลในที่หนึ่ง ราชการมักจะยึดรูปแบบตายตัวนั้นไปตลอดและพยายามcopyรูปแบบนั้นไปใช้ที่อื่นๆโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในด้านกายภาพ วัฒนธรรมและภูมิความรู้ของแต่แห่ง ผลสุดท้ายองค์กรต่างๆเหล่านั้นก็มีจุดจบแทบไม่ต่างกันก็คือล้มหายตายจากไปหรือไม่ก็ดำเนินการไปในลักษณะเหมือนถูกบังคับ ไร้ความกระตือรือร้นไม่ได้ประโยชน์อะไรอีกต่อไป               

         ดังนั้นศูนย์รวบรวมความรู้และจัดการสุขภาพชุมชนที่ผู้เขียนเสนอจึงต้องเป็นไปในลักษณะธรรมชาติที่สุด ไม่มีการบังคับหรือกึ่งบังคับว่าต้องจัดตั้งให้ได้กี่แห่งภายในกี่ปี กระบวนการจัดการความรู้ต้องเป็นไปอย่างมีศิลปะ มีชีวิตชีวา สนุกสนาน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด กระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนในการแก้ปัญหาในชุมชนของเขาเอง ต้องรับฟังความคิดในชุมชนทุกคน ไม่ดูถูกเหยียดหยามความคิดของผู้อื่น ไม่ชี้ถูกชี้ผิด               

         ผู้จัดการความรู้เป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในกระบวนการจัดการความรู้ ต้องเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะสูงพอสมควรจนเป็นที่ยอมรับของชุมชนทั้งนี้เพื่อความสำเร็จสูงสุดของกระบวนการจัดการความรู้ ส่วนทีมงานจัดการความรู้ให้ผู้จัดการความรู้เป็นผู้เลือกมาร่วมทีมเพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้ ทีมงานทั้งหมดอาจมีวาระเทอมเพื่อมิให้การจัดการความรู้ด้านสุขภาพชุมชนเกิดบิดเบือนทั้งเจตนารมณ์และกระบวนการโดยรวม               

          กระบวนการจัดการความรู้ด้านสุขภาพในชุมชนจะต้องทำอย่างระมัดระวัง มิให้สมาชิกในชุมชนมีความรู้สึกว่าถูกบังคับหรือเบียดบังเวลาในการทำมาหากิน การนำเสนอความรู้อย่างมีศิลปะจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช้การประชุมโดยไม่จำเป็น การทำลานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้องทำอย่างเป็นธรรมชาติเช่นทำในร้านน้ำชาประจำหมู่บ้านหรือบริเวณที่ชาวชุมชนนิยมมานั่งรวมกลุ่มกันเป็นประจำอยู่แล้ว การตั้งคำถามที่ไม่ยากเกินไปก็เป็นวิธีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทีมงานต้องทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ควรแทรกแซง เช่นปฏิเสธ หรือชี้นำความคิดหรือสรุปความเห็นในทันที               

           ความสำเร็จของทีมงานจัดการความรู้ด้านสุขภาพจะมากหรือน้อยย่อมอยู่ที่การจัดองค์กร และทีมงานที่มีความมุ่งหมาย กระตือรือร้น และความตั้งใจจริงที่จะทำให้ชุมชนใช้ความรู้มาแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชนอย่างแท้จริง

 

หมายเลขบันทึก: 63986เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท