เคล็ด (ไม่) ลับในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ: ประสบการณ์ของทีมพัฒนาและประเมิน HPH


แนวคิดที่ว่านี้ดูๆ ก็เหมือนเล่น แต่ก็สามารถทำได้จริง และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โรงพยาบาลอื่นจะนำไปใช้บ้างก็ไม่ว่ากัน แต่จะได้ผลมากหรือน้อยอาจขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมองค์กรของโรงพยาบาลด้วย

การมีความรู้ไม่ได้เป็นหลักประกันของการปฏิบัติที่ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ จากประสบการณ์การเป็นทีมพัฒนาและประเมินการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ในเขตตรวจราชการที่ 3 พบว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เป็นเรื่องยากและท้าทาย  แต่มีโรงพยาบาลบางแห่ง มีแนวคิดที่น่าสนใจ           ในการกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ของบุคลากรในโรงพยาบาล เพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนและผู้มารับบริการ แนวคิดที่ว่านี้ดูๆ ก็เหมือนเล่น แต่ก็สามารถทำได้จริง และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โรงพยาบาลอื่นจะนำไปใช้บ้างก็ไม่ว่ากัน แต่จะได้ผลมากหรือน้อยอาจขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมองค์กรของโรงพยาบาลด้วย

ใครจะคิดบ้างว่ากิจกรรม Buddy ที่เคยเล่นกันเวลาทำ OD หรือทำกิจกรรมที่ต้องการให้คนรู้จักกันนั้น จะถูกนำมาเป็นกิจกรรมในการสำรวจและกระตุ้นให้มีการสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ เมื่อรู้สึกว่าต้องถูกจับตามองโดยไม่รู้ตัว ก็จะมีการระแวดระวัง และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันมากขึ้น ตรงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพบุคลากรในโรงพยาบาล โดยให้บุคลากรและเพื่อนร่วมงานมีส่วนร่วม ซึ่งแน่นอนว่าโรงพยาบาลคงไม่หวังผลเพียงแค่นั้น แต่ต้องการปลูกฝังให้กระทำเป็นนิสัย แนวคิดนี้เคยนำมาขยายให้เพื่อนในที่ทำงานฟัง ซึ่งขณะนั้นกำลังมีปัญหาเรื่องการแพร่กระจายเชื้อในหน่วยงาน เพื่อนก็เลยเกิดอาการปิ๊ง จึงนำกิจกรรม Buddy ไปใช้กับการสังเกตและกระตุ้นการล้างมือในเจ้าหน้าที่บ้าง และได้ผลเป็นที่พอใจ

โรงพยาบาลชุมชนอีกแห่งหนึ่ง ใช้วิธีการจับฉลากรายชื่อบุคลากรให้เป็นตัวนักกีฬา และ จับฉลากชนิดของกีฬาที่จะแข่งขันในวันจันทร์และกำหนดให้แข่งในวันศุกร์ของสัปดาห์นั้นไม่เว้นแม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ใครที่ไม่เคยเล่นหรือไม่ถนัดในกีฬานั้น ก็จะขวนขวายไปฝึกซ้อม เพื่อไม่ให้เสียหน้า ผู้ที่ถนัดในกีฬานั้นๆ แต่ไม่ได้เป็นตัวนักกีฬาที่ต้องลงแข่งก็จะมาเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วยความเต็มใจ  คนอื่นๆ ที่เหลือคอยเป็นกองเชียร์ นัยว่าอยากดูว่าคนไม่เคยเล่น หรือเล่นไม่เป็นจะเล่นเป็นอย่างไร ใครเจอแจ็คพ๊อตได้ลงแข่งกับ ผ.อ. ก็สู้ไป สั่นไป บรรยากาศก็สนุกสนานกันดี แถมได้สุขภาพทั้งกาย จิต สังคม มาฝากถ้าทำอย่างต่อเนื่องจริงๆบางคนสามารถค้นพบวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะกับตัวเองได้ อย่างเช่น เมื่อคราวไปเยี่ยมโรง พยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเล่าว่า ผมเองก็เพิ่งรู้ว่าเจ้าหน้าที่ของผมสามารถเลิกบุหรี่ได้ เพราะสายรัดข้อมือ (Wrist Band) เรารักพระเจ้าอยู่หัว แท้ๆ เลยทีเดียว  พอจะสูบทีไร ก็เห็นสายรัดข้อมือเป็นเครื่องเตือนใจทุกครั้ง และอย่างเมื่อคราวที่ไปประชุมวิชาการเกี่ยวกับภัยสุขภาพ ซึ่งจัดโดยสำนัก งานควบคุมโรค มีแพทย์ท่านหนึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ได้กรุณาเปิดเผยเคล็ดในการ ลด-ละ-เลิกบุหรี่ ของท่าน โดยการไม่ห้ามตัวเอง และบอกตัวเองทุกครั้งว่ายังมีสิทธิในการสูบบุหรี่ได้ตามต้องการ แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดว่าจะสูบ บางครั้งมีภารกิจติดพันอยู่ ทำให้เลื่อนกำหนดการสูบออกไปเรื่อยๆ โดยไม่นึกอยาก เมื่อมานึกทบทวนดูใน 1 ปีที่ผ่านมา ท่านสูบเพียง 2 มวน เท่านั้น จากเดิมที่ท่านเคยสูบในปริมาณมาก ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นประมาณ 10-20 มวนต่อวัน ซึ่งท่านเล่าว่าท่านไม่รู้สึกหงุดหงิด อึดอัด ลำบากใจเลยที่ไม่ได้สูบ กลับรู้สึกว่าตนเองยังมีอิสระในการสูบ ไม่ถูกบังคับจิตใจแต่อย่างใด ถ้าใครสนใจจะนำเคล็ด (ไม่) ลับเหล่านี้ไปใช้กับตนเอง ครอบครัว หน่วยงาน หรือในโรงพยาบาลต่างๆ บ้างก็ได้นะคะ  

พรทิพย์ โชคทวีพาณิชย์ ..ศูนย์อนามัยที่ 8            

หมายเลขบันทึก: 63866เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
สำคัญที่ใจค่ะ ถ้าอยากให้อะไรๆดีขึ้น เหนื่อยแค่ไหนไม่ว่า แต่กำลังใจต้องมาก่อน ใช่มั้ยค่ะพี่

สวัสดีค่ะ

  • เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากค่ะ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดิฉันสนใจรายละเอียดของกิจกรรม buddy ค่ะ รบกวนช่วยเล่าในรายละเอียดได้ไหมคะ เผื่อว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าดีๆ ค่ะ
  • สวัสดีค่ะคุณไออุ่น  ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
  • กิจกรรม Buddy นี้คือให้บุคลากรแต่ละคนของโรงพยาบาลจับฉลากชื่อเพื่อนแล้วคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรรมการสวมหมวกนิรภัยของเพื่อนโดยไม่ให้เพื่อนรู้ตัว และไปกระซิบให้กรรมการทราบ กรรมการก็จะทราบพฤติกรรมของบุคลากรในโรงพยาบาลได้ว่ามีผู้มีพฤติกรรมพึงประสงค์มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันกรรมการจะเป็นผู้เตือนให้ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกคนไม่รู้สึกว่าเป็นการจับผิด แต่เป็นบรรยากาศที่มีแต่ความปรารถนาดีให้แก่กันจริงๆ

สวัสดีค่ะ

  • เพิ่งเข้ามาใน gotoknow ค่ะ
  • หนูชอบงานพัฒนาคุณภาพค่ะ ตอนนี้กำลังทำ HPHA อยู่ เรื่องที่คุณดอกปีบเล่าให้ฟังน่าสนใจจังค่ะ อะไรก็ตามที่เป็นการปกปิด ลุ้น มักเป็นสิ่งที่หลายคนชอบเสมอ  
  • ต่อไป หากมีเรื่องสงสัย ขออนุญาตเข้ามา ขอคำแนะนำบ้างนะคะ
  • เขาเข้าใจหากิจกรรม ... ที่ตรงใจกับคนเล่น
  • และเข้าใจต่อยอดกิจกรรมเน๊าะ
  • เรื่องเล่นกีฬา ก็น่าสนใจนะคะ เพราะปกติเขาก็ให้คนที่เก่งกีฬาด้านนั้นเล่น แต่นี้เท่ากับฝึกใหม่เลย อาจเก่ง หรือไม่เก่งก็ได้ แต่ต้องมาเล่น ... ก็เป็นตัวกระตุ้นให้คนนั้นได้ดีเลย
  • น่าสนใจค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ Pkrisy

  • ดีใจจังที่มีคนอ่าน blog เพิ่ม ยินดีรู้จักค่ะ ว่างๆ ก็เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอนนทลี

  • กิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเหล่านี้ ถ้าคุณหมอสนใจจะนำไปขยายต่อในกรม/กอง เพื่อให้ชาวกรมอนามัยมีสุขภาพดีถ้วนหน้าก็เปิดไฟเขียวให้เลยนะคะ

เพิ่งได้เข้ามาดูครั้งแรกค่ะ ดีใจที่ได้ทราบวิธีที่สามารถนำไปใช้ได้อีกวิธีหนึ่ง...ขอบคุณค่ะ

จากการสังเกตตัวเองและคนอื่นๆ รอบข้างคิดว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้หรือไม่นั้น น่าจะอยู่ที่ การให้คุณค่า ความตั้งใจ และความมีวินัยในตัวเองมากกว่านะคะ

สวัสดีค่ะ

ตอนนี้กำลังสนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ

และกำลังทำเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

ป้องกันมะเร็งตับและท่อน้ำดีค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆๆนะคะ ^__^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท