จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

เร่งให้เด็กอ่าน เพื่อเขาหรือเพื่อคุณ


เมื่อ 10 กว่าปีก่อนครั้นตอนที่มาเป็นอาจารย์ระดับอุดมศึกษาใหม่ๆ ผมได้รับเกียรติจากผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูในระดับปฐมวัยของโรงเรียน ตอนนั้นผมยังละอ่อนมากกับความเข้าใจเรื่องการจัดการเรียนรู้ปฐมวัย เพราะตลอดเรียนมามุ่งแต่ประถมกับมัธยมครับ ดังนั้นเรียกได้ว่าระดับปฐมวัยนั้นผมเกือบจะไม่เคยทำความรู้จักเลย แต่ดีกว่าก่อนรับปากจะไปพูดคุยนั้นผมเกิดไปสะดุดตาหนังสือปฐมวัยเล่มหนึ่งเข้า อ่านแล้วสนุกและทำให้เห็นภาพของการจัดการศึกษาปฐมวัยตามทฤษฎีหลักๆ ซึ่งหนังสือเล่มนั้นบอกว่าทฤษฎีสำคัญหลักๆ คือ มอนเตสเซอรี่กับวอล์ดอฟ และแน่นอนครับถ้าเรื่องปฐมวัยผมก็ยอมรับว่าผมอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มเดียว และรู้จักก็แค่ 2 ทฤษฎีนี้แหละครับ

ผมจำได้ว่าเมื่อผมนำเสนอไอเดียการจัดการศึกษาปฐมวัยที่ผมอยากให้เห็นเสร็จ ผู้บริหารท่านก็ตอบความเห็นผมว่า สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่น่าสนใจแต่ถ้าทำตามนั้นสงสัยผู้ปกครองพาลูกย้ายโรงเรียนแน่ๆ และคงไม่มีใครส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนอีก จำได้ว่าผมก็ตอบว่าผมก็พูดให้ฟังได้ตามทฤษฎี และที่พูดถึงสองทฤษฎีนี้เพราะผมคิดว่าเป็นวิธีการที่เหมาะที่สุดสำหรับการพัฒนาเด็ก แต่ถ้าโรงเรียนมีโจทย์อื่นที่จะต้องตอบผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่โรงเรียนจะต้องตัดสินใจ

แต่หลังจากนั้นมาสักระยะ โดยเฉพาะเมื่อ 7 ปีก่อนที่ผมได้เริ่มสนใจเรื่องการออกแบบการจัดการเรียนรู้มากขึ้นและพยายามที่จะมองเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการออกแบบการจัดการเรียนรู้จริงๆ ผมมองคำตอบที่ผมเคยตอบไปในครั้งนั้นว่า ผมตอบผิดไปจริงๆ ความจริงผมต้องตอบว่า การที่โรงเรียนไม่ทำตามหลักวิชาการในการพัฒนาเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปฐมวัยมันเป็นการทำร้ายโลกการเรียนรู้ของเด็กอย่างร้ายกาจมากเลย การที่โรงเรียนทำตามกระแสผู้ปกครองโดยไม่คำนึงถึงพัฒนาการของเด็กเป็นเรื่องที่ควรตำหนิมากกว่าปล่อยให้โรงเรียนเลือกแบบที่ผมตอบในครั้งแรก

สิ่งที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจจากที่ว่าโรงเรียนเลือกเองเถอะว่าจะยึดตามทฤษฎีหรือกระแสมาเป็นโรงเรียนจำเป็นต้องยึดทฤษฎี และการยึดตามกระแสเป็นการทำร้ายเด็กมาจากการงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมได้รับโอกาสจากท่านทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.(ในสมัยนั้น) ให้ที่ปรึกษาท่านหานักวิจัยเพื่อพัฒนาการสอนภาษาไทยในสามจังหวัด และชื่อผมก็ถูกเสนอไปให้ท่านพิจารณา แล้วท่านก็ให้ผมเดินหน้าทำวิจัยประเด็นนี้

สิ่งที่ผมเจอมันบอกว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องไปเร่งให้เด็กรีบอ่านออกขนาดนั้นเลย จริงๆ ที่อยากให้ลูกอ่านออกได้เร็วก็แค่พ่อแม่ได้อวดกันเท่านั้น ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาก็เท่านั้น ประโยชน์อื่นจากนี้มีน้อยมากจนผมไม่เห็นคุณค่าเลย

งานวิจัยชิ้นนั้นบอกผมว่า ความจริงแล้วเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน เด็กอายุเท่ากันแต่อาจจะมีพัฒนาการแตกต่างกัน บางคนโดดเด่นนำคนอื่นในเรื่องหนึ่งแต่อาจจะมีอีกพัฒนาการหนึ่งด้อยกว่าเด็กอื่นๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ เด็กบางคนพูดได้ก่อนเดินในขณะที่บางคนเดินได้ก่อนพูด เพราะจริงๆ เด็กยังมีพัฒนาการที่ยังไม่เต็มที่ครับ และพัฒนาการที่ผมยกตัวอย่างนี้ก็เช่นเดียวกันกับพัฒนาการในเรื่องการเรียนรู้ของเด็กครับ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ผู้ใหญ่วัดความเก่งของเด็กจากการอ่านครับ และโดยภาพรวมก็ตัดสินว่าเด็กที่อยู่ ป. 1 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกคือเด็กที่มีปัญหา ดังนั้นก็เลยไปเร่งให้เด็กอ่านออกตั้งแต่อนุบาลแล้วบอกว่าเมื่อเรียนประถมก็เรียนวิชาอื่นๆ ได้เลย เพราะอ่านหนังสืออ่านออกแล้ว ซึ่งผมมองต่างโดยสิ้นเชิงครับ (และผมมั่นใจด้วยว่าผมไม่ผิด) ผมฟันธงมานานแล้วว่า การที่เด็ก ป.1-2 อ่านหนังสือไม่ออกหรือไม่คล่องไม่ใช่ปัญหาการเรียน การที่จะบอกว่าเด็กมีปัญหาการเรียนคือ เมื่อผ่าน ป.3 ไปแล้วๆ ยังอ่านไม่ออก อันนั้นแหละครับปัญหาครูละ เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ก็มีคำถามถามผมว่า แล้วเด็กจะเรียนอย่างไรในเมื่อยังอ่านหนังสือไม่ออก ในขณะที่เด็กมีวิชาที่จะต้องเรียนหลายวิชาตั้งแต่ ป.1 ยิ่งถ้ารอให้เด็กอ่านออกจริงๆ เอาตอน ป.3 หมายถึงว่าที่่เรียนไปเสียเปล่าใช่หรือเปล่า 

คำตอบของผมคือ เครื่องมือการเรียนรู้ไม่ใช่มีแต่การอ่านครับ ที่สำคัญการเรียนรู้ของเด็กนั้นครูก็ไม่ควรจำกัดการเรียนรู้จากการอ่านเพียงอย่างเดียว เพราะความจริงแล้ว เด็กคือเด็กครับ เป็นระยะต้นของพัฒนาการ การพัฒนาของเขายังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นในการเริ่มต้นการเรียน เมื่อบางพัฒนาการของเขายังไม่พร้อม เด็กก็จะเลือกเอาทักษะที่เขาพร้อมมาใช้เรียนครับ เช่น เมื่อทักษะการอ่านของเขาไม่พร้อม เขาก็จะเลือกที่จะใช้ทักษะอื่นมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา เด็กแต่ละคนจะมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันครับ โดยส่วนใหญ่เด็กจะเรียนรู้ทางสายตาครับ กลุ่มนี้เห็นอะไรเป็นภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ และเขียนออกมาได้ กลุ่มที่สองซึ่งมีเปอร์เซนต์น้อยลงมาคือ กลุ่มที่ใช้โสตประสาทในการเรียนรู้ กลุ่มนี้นิยมการฟังไม่ชอบการดูการอ่าน ถ้าครูอธิบายมา ถามมาตอบได้อย่างคล่องแคล่วครับ และเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเรียนรู้ผ่านทางร่างกายทางความรู้สึก เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อรูปแบบการสอนของครูสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของเขา

การพยายามเคี้ยวเข็ญให้เด็กอ่านและมองว่าการอ่านคือเครื่องมือเดียวเพื่อการเรียนของเด็กแล้ว ผลที่ได้คือเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งเกือบครึ่งห้องจะไม่สนุกกับการเรียนนั้นครับ สุดท้ายเด็กก็เบื่อเรียนในที่สุด การเรียนรู้ไม่ใช่ด้วยจากการอ่านเพียงเครื่องมือเดียว ครูเล่าเรื่อง เด็กนั่งฟัง ครูช่วยทำโน้นทำนี้เด็กก็เกิดการเรียนรู้ได้แล้วครับ และทำให้การเรียนรู้ของเด็กหลากหลายและสนุกสนานด้วย การอ่านออกไม่ใช่คำตอบว่าเด็กจะเรียนรู้วิชาต่างๆ ได้หรือไม่ได้ครับ และการมุ่งพัฒนาทักษะการอ่านให้มากไว้ก่อนอาจจะทำให้เด็กขาดการพัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งจุดสำคัญคือครูต้องทำให้เด็กเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เขาถนัดมาใช้ให้มากที่สุด ขณะเดียวกับก็กระตุ้นให้เขาใช้ทักษะอื่นๆในการเรียนรู้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นจากงานวิจัยที่ทำไปบอกว่า ไม่ใช่ว่าเด็กที่อ่านออกจะดีนะครับ ครูจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นตัวปัญหาในการสอน เพราะพวกเขาอ่านออกแล้วและต้องให้อ่านซ้ำวนอยู่ในสิ่งที่เขาอ่านได้แล้ว เขาอยากอ่านสิ่งใหม่ๆ แต่ครูทำไม่ได้เพราะเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งในห้องอ่านยังไม่ได้จำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึก สุดท้ายเด็กอ่านออกแล้วถูกให้รอ ซึ่งกลายเป็นว่าห้องเรียนน่าเบื่อ ทั้งหมดนี้ผมอยากบอกว่าปัญหาใหญ่ไม่ใช่เด็กอ่านไม่ออกเป็นปัญหาการเรียน แต่ความจริงคือ วิธีการสอนของครูต่างหากที่สร้างปัญหาการเรียนรู้ของเด็ก

พอคุยถึงประเด็นนี้ ผมนึกถึงอาจารย์ผมท่านหนึ่งครับตอนเรียน ป.ตรี ท่านคุยในห้องเรียนว่า ถ้าจะให้ลูกเรียนเก่ง วิชาแรกที่พ่อแม่หรือครูควรจะสอนคือวิชาคณิตศาสตร์ (ไม่ใช่วิชาภาษาไทย) ท่านบอกว่าเรียนคณิตศาสตร์จะทำให้เด็กมีตรรกะในการคิด ทำให้เรียนวิชาอื่นได้ดีโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ และท่านก็เอาประสบการณ์ของท่านในการสอนลูกๆ ของท่านมาเป็นประกันครับท่านทำสำเร็จแล้ว ตลอดวัยเริ่มเรียนในชั้นเรียนของลูกท่านๆ มุ่งเน้นการสอนคณิตศาสตร์อย่างเดียวเลย มองไปในอดีตกว่านั้นอีกจะเจอะเจอว่านักปรัญชามุสลิมส่วนใหญ่มุ่งการพัฒนาเด็กด้านความจำก่อนการอ่าน โดยเน้นการท่องจำอัลกุรอานก่อนการเรียนวิชาอื่น ซึ่งอันนี้เป็นความต่างกับวิธีคิดของผู้ปกครองและนโยบายของหลายโรงเรียนในปัจจุบันที่เน้นการอ่านเป็นหลัก

เด็กที่ยังอ่านไม่ได้แล้วถูกให้เรียนนอกจากจะไม่แย่เหมือนที่หลายคนคิดแล้ว ยังมีดีอีกด้วยครับ เพราะเด็กจะพยายามวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เขาเจอครับ อ่านไม่ได้แต่ในห้องเรียนมีช่องทางในการฟังในการพูด เขาจะใช้วิธีการนี้ไปแก้ไขปัญหาการอ่านของเขา ทักษะการคิด การแก้ปัญหาก็จะเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้ครับ และโดยปกติประมาณ ป. 3 ทักษะเด็กควรจะพร้อมแล้วครับสำหรับการอ่าน ซึ่งในชั้นนี้หากเด็กอ่านยังไม่ได้อีก อันนี้แหละครับความท้าทายของครูที่จะต้องให้ความสำคัญกับเขาเพื่อให้เขาอ่านให้ได้ และเด็กที่ยังอ่านไม่ออกก็น่าจะมีไม่เกิน 20% ซึ่งครูสามารถสอนแบบติวหรือซ่อมเสริมเป็นรายคนได้ครับ

การสอนที่มุ่งเพียงทักษะเดียวเป็นเรื่องที่สร้างความขาดทุนให้กับเด็กมากๆ ครับ (ขอย้ำ) นอกจากจะเป็นการฝืนในสิ่งที่เด็กมีแล้ว ยังเป็นการกดทับพัฒนาการเด็ก เหมือนพยายามจะบอนไซเด็กให้แคระแกร่น แล้วพ่อแม่ โรงเรียนก็พากันโปรโมทว่าเห็นไหมลูกฉัน นักเรียนฉันอ่านออกตั้งแต่อนุบาลแล้ว ผมไม่รู้นะครับว่าระยะยาวเด็กจะรักการอ่านหรือเปล่า อย่าลืมนะครับ อ่านหนังสือออกก็ใช่ว่าจะรักการอ่านนะครับ

การให้เด็กอ่านในระดับปฐมวัยไม่ใช่ว่าสอนไม่ได้นะครับ แต่ไม่ใช่การมุ่งสอนเพื่อการให้อ่านได้แบบจริงๆ จังๆ ครับ เพียงแต่อาจจะเป็นการสอดแทรกกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาเด็ก ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน และไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเด็กอ่านหนังสือได้เร็ว เพราะนั้นอันเนื่องจากเด็กคนนั้นมีทักษะการอ่านที่ได้รับการพัฒนาเร็วกว่าทักษะอื่นเท่านั้นเอง

ที่สำคัญกว่านั้น เรื่องเด็กอ่านไม่ออกไม่ใช่เกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียวนะครับ เท่าที่ศึกษาพบว่ามีการวิจัยแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกหรืออ่านช้าในหลายประเทศครับ ซึ่งอาจจะมีจากหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กอ่านไม่ออก ทั้งปัจจัยจากตัวเด็กเอง การสอนหรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ และการออกแบบกระบวนการที่สอดคล้องกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการอ่านของเด็กรายบุคคลคือการพัฒนาการอ่านได้ตรงจุดที่สุด ในมุมมองผมจึงไม่ใช่ว่าโรงเรียนไหนทำให้เด็กอ่านหนังสือได้เร็วที่สุดคือโรงเรียนที่ดีที่สุด แต่โรงเรียนที่เก่งที่สุดคือในชั้น ป.3 จะต้องไม่มีเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกทั้งห้องแล้ว เพราะนั้นหมายถึงโรงเรียนไม่ได้เร่งทักษะการอ่านเพียงทักษะเดียวให้กับเด็ก ขณะเดียวกันก็น่าจะมีกลไกในการดูแลเด็กอ่อนในชั้นเรียนได้ดี

ส่วนที่หลายโรงเรียนพยายามโฆษณาว่าอนุบาล 3 อ่านหนังสือออกแล้ว ผมก็แค่อยากตั้งคำถามว่าจะรีบให้อ่านออก เรียนเยอะๆ ไปทำไมครับ เรื่องการอ่านออกไม่น่าจะต้องเอามาโฆษณาในระดับอนุบาลเลย ยกเว้นว่ายกมาบอกว่าได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาความพร้อมของเด็กอย่างรอบด้านแถมส่งผลให้เด็กอ่านหนังสือได้บ้างอันนี้พอรับได้ แต่มุ่งการอ่านเลย ผมแนะนำผู้ปกครองว่าอย่าให้ความสนใจโรงเรียนแนวนี้เลยครับ ทำร้ายลูกมากไปหรือเปล่า

หมายเลขบันทึก: 637691เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2017 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2017 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ จะมีหลาน 4 คนแล้วค่ะ

ถ้าเด็กไม่มีความพร้อมและมีการเรียนรู้ที่ไม่ได้มาจากการอ่าน

การเร่งจะเกิดผลเสียต่อเด็กในอนาคตครับ

ชอบใจแนวคิดการสอนเด็ก

ผมสอนหลานให้พูดก่อนครับ

แต่เป็นการสอนแบบวิธีธรรมชาติของภาษา

ลองไปดูที่นี่นะครับ

ไม่ได้เร่งแต่เขาชอบการเรียนรู้ภาษา



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท