เรื่องเล่า ดร. ผึ้ง ตอน 13 เรื่องเล่าการบริหารจัดการแบบง่ายๆ ใน รพ.รัฐ แห่งหนึ่ง



ช่วงนี้ผู้เขียนเข้าออก รพ. ทุกสัปดาห์ จึงได้มีโอกาสสังเกตสิ่งต่างๆ ใน รพ.  เมื่อสองวันก่อน (19 กันยายน) ผู้เขียนเข้ารับการผ่าตัด รักษาปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ (de Quervain disease) เมื่อไปถึงห้องผ่าตัดเล็ก จนท. มีการจำแนกผู้ป่วย ด้วยสีของหมวกคลุมศรีษะ ผู้เขียนไปถึงคนแรก นั่งอยู่คนเดียว รอห้องผ่าตัดเปิด  ผู้เขียนได้หมวกสีเหลือง ขณะที่คนไข้รายอื่น สวมหมวกสีชมพู

หมวกสีเหลืองคือผ่าตัดแผนกกระดูก ส่วนสีชมพู เป็นแผนก plastic เวลาผ่านไปสักพัก คนไข้ทยอยมาเรื่อยๆ นั่งปะปนกัน

คุณพยาบาล เรียกคนไข้ ที่ไปนั่งผิดกลุ่ม ให้มานั่งในกลุ่มที่สวมหมวกสีเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเช็คจำนวน รายชื่อ และซักประวัติอีกครั้ง โดยแฟ้มคนไข้ ก็แยกสีอย่างชัดเจน

ผู้เขียนเห็นจำนวนผู้ป่วยสวมหมวกสีชมพู มีจำนวนเยอะกว่าผู้ป่วยหมวกสีเหลืองเกือบสามเท่า น่าจะเพราะการผ่าตัดกระดูก ใช้เวลานานกว่า plastic (คนไข้ plastic มาจี้หูด จี้ไฝ ติ่งเนื้อ เป็นต้น)

การใช้หมวกคลุมผมแยกแบบนี้เป็นวิธีการบริหารจัดการแบบง่ายๆ ใช้ได้จริง ไม่ซับซ้อน ผู้เขียนเห็นว่าน่ารักดี เป็นสีสันในห้องผ่าตัด

หลังผ่าตัดเสร็จ ผู้เขียนรีบวิ่งมายื่นบัตรที่เคาเตอร์คัดกรอง เพื่อขอพบแพทย์อายุรกรรม  โดยต้องยื่นบัตรก่อน 11 น. ผู้เขียนมาที่แผนกกระดูก ตามนัด 07.30 น. และเข้าห้องผ่าตัด 10.00 น. ผ่าตัดเสร็จ 10.45 น. รีบวิ่งลงบันไดจากชั้น 9 มายื่นบัตร (วิ่งลงมา เร็วกว่ายืนรอลิฟท์)

หลังจากคัดกรองแล้ว ต้องไปรับรองสิทธิก่อน คุณพยาบาลบอกให้ผู้เขียนเดินไปตามทางเดิน แล้วเลี้ยวขวา ไปตึกใหม่ หน้าลิฟท์  แต่ผู้เขียนคงแสดงสีหน้ากังวล กลัวหลงทาง ด้วยเวลากระชั้นชิด  คุณพยาบาลจึงบอกให้เดินตามเส้นสีน้ำตาลที่พื้น ไปที่โต๊ะลงทะเบียน อีกตึกหนึ่ง  ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าเข้าใจง่ายกว่าการบอกทางในรอบแรก

เมื่อรับรองสิทธิแล้ว ต้องรีบวิ่งมาที่ตึกอายุรกรรม ซึ่งคุณพยาบาลท่านแรกที่บอกให้เดินตามเส้นสีน้ำตาลนั้นได้ชี้เป้าแล้ว ว่าหลังรับรองสิทธิเรียบร้อยแล้วให้ไปที่ตึกสีเขียว  (คุณพยาบาลไม่ได้พูดว่า ให้มาแผนกอายุรกรรม แต่บอกผู้เขียนว่าให้ไปที่ตึกสีเขียว พร้อมชี้ตึกให้ดู)

ผู้เขียนมาทันเวลา 11 น. พอดี เป็นคิวสุดท้ายของเช้าวันนั้น มีผู้ป่วยที่มารอคิวก่อนผู้เขียน 195 ราย  ผู้เขียนจึงใช้เวลาช่วงรอ ไปยื่นใบสั่งยา ตึกใกล้ๆ กัน 

ขณะรอต่อคิว เพื่อยื่นใบสั่งยา ที่ห้องยา  มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง น่าจะอายุประมาณ 50 ปี มาติดต่อที่ช่องรับยา หมายเลข 2 มาขอรับเอกสารบางอย่าง ผู้เขียนยืนต่อคิวพอดี จึงได้ยินการสนทนา ระหว่าง จนท. กับสามีภรรยาคู่นี้ ความว่า จนท.ที่แผนก x-ray ซึ่งอยู่อีกตึกหนึ่ง บอกให้มารับเอกสาร ที่ช่องหมายเลข 2

ซึ่งสามีภรรยาคู่นี้ ไม่รู้หนังสือทั้งคู่ และไม่กล้าถาม จนท. จึงเดินมาเรื่อยๆ เห็นเลข 2 จึงเข้ามาติดต่อ

แต่ทว่า “เลข 2”  นี้ มีทุกตึก ทุกแผนก ทุกชั้น  เดินไปที่ไหนก็เจอ  ดังนั้น สามีภรรยาคู่นี้ คงไม่เข้าใจที่ จนท. ท่านแรกบอก และเดินถามคนอื่นๆ มาเรื่อย จนมาถึงห้องยา  แต่ห้องยา ไม่มีเอกสารดังกล่าว เพราะจ่ายยาอย่างเดียว  จนท.ห้องยา ก็ตอบไม่ได้ว่า ช่อง 2 ที่ สามีภรรยาคู่นี้ ต้องไปติดต่อ คือ ช่อง 2 ตึกไหน  


ผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็นช่องหมายเลข 2 ตึกเดิมที่สามีภรรยาคู่นี้เข้ารับบริการมากกว่า แต่คงหาไม่เจอ จึงหลงมาอีกตึกหนึ่ง

จนท. ห้องยา ไม่ได้มีท่าทีโกรธหรือรำคาญแต่อย่างใด พยายามจะช่วยเหลือ แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าควรจะให้ไปติดต่อช่อง 2 ที่ตึกไหน บังเอิญ ฝ่ายภรรยา หันมามองผู้เขียน มีสีหน้าอาย ประหม่า พูดว่า พากันมา รพ. ตั้งแต่ตี 4  ผู้เขียนจึงบอกให้สามีภรรยาคู่นี้ ลองกลับไปถาม จนท. ตึกเดิมอีกครั้ง โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า หมายเลข 2 นี้ มีทุกตึก ทุกแผนก ทุกชั้น  ขอให้กลับไปถามที่ตึกเดิมก่อน ซึ่งสามีภรรยา คู่นี้พยักหน้า ทำท่าว่าเข้าใจ และพากันเดินกลับที่ตึกเดิม

เท่าที่สังเกต คือ จนท.ส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เวลาพูดแล้วเสียงอู้อี้ ไม่ชัดเจน  ผู้ป่วยคงก็ไม่กล้าถามอะไรมาก แม้กระทั่งตัวผู้เขียนเอง ก็ยังไม่กล้าถามซ้ำ 

กรณี ของสามีภรรยาที่ไม่รู้หนังสือนั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสมัยเด็กๆ สามสิบปีก่อน  ที่ รพ.สุรินทร์ เวลาแม่พาไปหาหมอ จะมีเส้นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน ที่พื้นทางเดิน จากเคาเตอร์รับบัตรนัด  ทาที่พื้นเป็นเส้นยาวไปถึงตำแหน่งที่ต้องติดต่อถัดไป  บางสี ก็แยกไปทางซ้าย บางสีก็แยกไปทางขวา บางสีก็ตรงไปตามทางเดิน  โดยคุณพยาบาล จะบอกให้เดินตามเส้นแถบสีที่อยู่กับพื้น   ซึ่งสมัยนั้น คนไม่รู้หนังสือคงมีจำนวนมาก และตึก อาคารต่างๆ ยังมีจำนวนไม่มาก  จึงสามารถทำเส้นสีต่างๆ  เสมือนแผนที่นำทางให้คนไข้เดินตามได้  แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจว่า ยังมีเส้นสีที่พื้น อยู่หรือไม่

 

สำหรับ รพ.ที่ผู้เขียนไปผ่าตัดข้อมือนี้ ผู้เขียนเห็นเส้นสีน้ำตาลที่พื้น จากเคาเตอร์คัดกรอง ไปยังโต๊ะรับรองสิทธิผู้ป่วย ซึ่งอยู่ตึกติดกัน  ส่วนเส้นสีๆ ที่พื้น บริเวณอื่น ผู้เขียนไม่ได้สังเกต เพราะมัวแต่เงยหน้ามองป้ายบอกทาง

อย่างไรก็ตาม เส้นสีต่างๆ บนพื้นสำหรับบอกทางนี้  ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงลานจอดรถในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่ใช้สัญลักษณ์ กุ้ง หอย ปู ปลา ตามเสาต้นต่างๆ แทนการใช้ตัวอักษร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่คนไม่รู้หนังสือหรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่รู้หนังสือ ก็ยังจดจำได้  ผู้เขียนรู้สึกทึ่งและอดสงสัยไม่ได้ว่าใครเป็นคนต้นคิดให้นำสัญลักษณ์เหล่านี้มาใช้แทนตัวอักษรในบริเวณลานจอดรถ

ผู้เขียนขอจบเรื่องเล่าตอนนี้ ไว้เพียงเท่านี้ก่อน คราวหน้าจะมาเล่าถึงขั้นตอนการส่งตัวจาก รพ.ต้นสังกัด ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น ด้วยสิทธิประกันสังคม เทียบกับ ขั้นตอนการใช้ประกันสุขภาพของเอกชน โดยเล่าจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง

 

ภัทรพร คงบุญ

21 กันยายน 2560

 

หมายเลขบันทึก: 637609เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2017 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2017 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this enlightening story.

In Aus, coloure-coded clothing for emergency personnel (on missions) had been in use for some 15 years now (with great success). The coloured cloths help identified personnel by functions/roles, serve as 'official rights to be in the area' (-- onlookers and others may hinder rescue progress), and many other uses.

Also, colour arrow-lines on hospital floors help with navigation to different sections within the hospital. (Answers to 'where is ... department/unit -- "follow the ... line" ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท