ชีวิตที่พอเพียง : 3009. เดินทางไปทำบุญบรรพบุรุษ ๒๕๖๐ ที่ชุมพร



ปีก่อนๆ ผมเดินทางไปทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ชุมพรโดยขับรถยนต์ไป  ไปหลายคนในครอบครัว  แต่ปีนี้สาวน้อยไม่แข็งแรง ของด    ลูกๆ ก็ติดธุระกันหมด    ผมจึงไปคนเดียว และเดินทางไปกลับ โดยเครื่องบินในวันงานคือวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐   กำหนดงานเราตกลงกันเองในหมู่พี่น้อง เป็นการกำหนดวันตามความสะดวก    บังเอิญเป็นวันเดียวกันกับปีที่แล้ว คือวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๙ ดังเล่าไว้ที่ ,

งานปี ๒๕๕๘ เล่าไว้ที่ ,  

ผมจองตั๋วเครื่องบินนกแอร์ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐   ค่าตั๋วไปกลับ ดอนเมือง - ชุมพร รวม ๔,๘๓๐.๙๐ บาท   นับว่าสูงนะครับ    ไม่ใช่ราคา low cost airline แน่ๆ     และเขาเก็บค่ารถตู้จากสนามบิน  ไปตลาดท่าตะเภา (ระยะทางประมาณ ๕๐ กม.) ๒๐๐ บาท    แต่เมื่อผมลงเครื่องบินไปที่จุดบริการรถตู้ ราคาเพียง ๑๕๐ บาท    ๒๐๐ บาทเป็นราคาไปท่าเรือไปเกาะเต่าห่างตัวตลาดไป ๗ กม.    ผมจึงขอแนะนำให้ผู้โดยสารไปซื้อตั๋วรถตู้เมื่อลงจากเครื่องบินจะดีกว่า 

ผมเอากล้องถ่ายรูปตัวโต ซูม ๒,๐๐๐ เท่าไปเตรียมถ่ายรูปชายฝั่งอย่างที่เคยทำเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ดังเล่าไว้ที่    แต่อนิจจา คนแก่เลอะเทอะ จองที่นั่งติดหน้าต่าง 32A ซึ่งหันไปทางทิศตะวันออก    แทนที่จะจองด้าน D ซึ่งได้วิวชายฝั่ง    จึงได้แต่วิวพระอาทิตย์ขึ้น     ซึ่งก็ถ่ายได้ไม่สวย เพราะกระจกหน้าต่างเครื่องบินไม่ใส  

เครื่องบินเป็น Q400 บินสูงสองหมื่นฟุต    ออกเวลา ๕.๔๕ น.   เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็เห็น แสงทองสวยงาม     แต่ถ่ายรูปออกมาไม่สวย จึงไม่ได้เอามาอวด    และตอนขากลับเครื่องขึ้น ๑๙.๑๐ น. ตรงเวลา และผมเช็คอินที่นั่ง 33A หันออกทางชายฝั่ง แต่ก็มืดเสียแล้ว  

ขาไปผู้โดยสารเกือบเต็มลำ เป็นคนไทยและฝรั่งประมาณครึ่งครึ่ง    แต่ขากลับราวสามในสี่เป็นฝรั่ง    ที่น่ายินดีคือมีมากันเป็นครอบครัว     แสดงว่าชุมพรได้นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงขึ้น    เรามีทางพัฒนาให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพสูงยิ่งขึ้น   

รถตู้ไปส่งถึงหน้าบ้านน้องชายตามที่ผมแจ้ง คือที่ร้านเกษตรกร ถนนปรมินทร์มรรคา  ใกล้โรงพยาบาลวิรัชศิลป์    ไปพบบรรยากาศแกะทุเรียนเอาเนื้อไปเลี้ยงพระและเลี้ยงแขก    เสียดายที่ลืมถ่ายรูปไว้    คุณวิจัยน้องชายบอกว่าปีนี้ทุเรียนราคาดี    เขาแกะทุเรียนก้านยาวเนื้อดีพิเศษให้ผมชิม     ผมบอกว่าอร่อยกว่าทุเรียนราคาลูกละสองหมื่นที่ผมเคยได้ชิม     และที่พิเศษคือได้กินมังคุดผลโตขนาดมาตรฐานเป็นครั้งแรก    เสียดายที่ลืมถ่ายรูปไว้     มานึกขึ้นได้เรื่องถ่ายรูปก็ตอนจะไปวัด    

ลูกสาวคนเล็กของคุณวิจัย ชื่อออม วิทิดา พานิช เรียนด้านเศรษฐศาสตร์ จบปริญญาตรีเกียรตินิยม อันดับหนึ่ง    กำลังทำปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์     และเตรียมกลับบ้านทำการขายแบบ                 e-Commerce ให้แก่ผลิตผลการเกษตรของครอบครัว    ที่มุ่งผลิต premium grade    เพราะคุณวิจัยสั่งสม ความรู้เกือบสี่สิบปี ไว้เพียบ    อาศัยความเป็นคนช่างสังเกต และรักงานด้านการเกษตรอยู่ในดีเอ็นเอ    ซึ่งเวลานี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในตลาดชุมพร    

เวลาผ่านไปเรื่อยๆ พี่น้องรุ่นผมกลายเป็นผู้สูงอายุ กำลังวังชาลดถอยลง และมีโรคาพยาธิเบียดเบียน    น้องชายคนเล็กซึ่งอายุน้อย กว่าผม ๑๗ ปี อายุ ๕๘ ปี (นพ. วิโรจน์ พานิช)    คนรุ่นที่มีกำลังกลายเป็นรุ่นลูก  และเริ่มมีรุ่นหลานเข้าเรียน มหาวิทยาลัย    ในไม่ช้ารุ่นผมก็จะค่อยๆ ลาโลกไปทีละคนสองคน

ปีนี้หลานสามคนมีเค้าจะแต่งงาน    คนหนึ่งกำหนดวันแล้ว     อีกสองคนเอาว่าที่เจ้าบ่าวมา ประกาศตัวโดยชวนมาร่วมงาน    น้องที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากที่สุดในปีนี้คือ นพ. วิโรจน์ ที่ลูกคนเดียว นายรัชพล พานิช (หมิง) สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกที่ที่ไปสอบ ได้แก่ SIIT ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเสนอให้เข้าเรียนฟรี, คณะวิศว จุฬาฯ,  สาขาวิศวกรรมการบิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์     แต่ในที่สุดหมิงก็ตัดสินใจเองว่าตนน่าจะเหมาะกับงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมากกว่า  จึงเลือกเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มอ. (ที่แม่ .. พญ. สุภาภรณ์ เป็นศิษย์เก่า)

หลานตาของน้องชายคนหนึ่งเรียนเก่ง แต่สอบเข้ามหาวิทยาลัยพลาดไปได้คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งยังไม่ตรงใจ  จึงวางแผนสอบเข้าใหม่ในปีหน้า   

น้องสะใภ้ .. ต้อย ภรรยาของ นพ. วิชัย ปีนี้สวยและสุขภาพดีขึ้น    เมื่อทักก็บอกว่า เราะเลิกย้อมผม และอาการไอหายไปหลังผ่าตัดปอด ๑ ปี ตรงตามที่หมอบอกไว้  

พิธีทำบุญจัดที่วัดใหม่หัวถนนปากน้ำชุมพร เหมือนปีที่แล้ว    พิธีทำบุญเลี้ยงพระเปลี่ยนไป ตามยุคสมัย    คือเมื่อประเคนอาหารเพลและให้พรเสร็จ พระเริ่มฉัน    ฆราวาสก็เริ่มกินอาหารพร้อมกัน    ตัวชูโรงคือของหวาน … ข้าวเหนียวน้ำกระทิทุเรียน     อร่อยกว่าที่ชั้น ๒๒ ของธนาคารไทยพาณิชย์มาก  

ปีนี้สำหรับผมมีพิเศษ คือเพื่อนสมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียน ชุมพร “ศรียาภัย” สองคน    คือกำนันสมควร บำรุงราษฎร์  กับต่อศักดิ์ เพชรศรีจันทร์ ไปร่วมงานด้วย    ทั้งสองคนผมไม่ได้พบมานานมาก    ต่อศักดิ์ (เดิมชื่อตุด) ไม่พบกันเลยหลังปี ๒๕๐๐   แต่เขาโทรศัพท์มาหาที่บ้านสองสามครั้ง    ส่วนสมควร เคยไปหาผมที่ มอ. หาดใหญ่ ๑ ครั้ง     เพราะลูกสอบเข้าเรียนคณะวิศว มอ. ได้    เขาไปฝากช่วยดูแลแนะนำ ลูกชาย    และเขาเล่าว่า ผมบอกเขาว่าลูกชายคนนี้ไว้ใจได้ เรียนจบแน่ๆ     เหตุการณ์ทั้งหมดนั้น ผมจำไม่ได้เลย    เขาบอกว่าเวลานี้ลูกชายเปิดบริษัทเองที่กรุงเทพ    กิจการดี    อายุสี่สิบกว่าแล้วยังไม่แต่งงาน

สมควรเล่าว่า เขาเป็นกำนันตำบลทุ่งคา พร้อมๆ กับพ่อของผม เป็นกำนันตำบลท่ายาง   ตั้งแต่ผมยัง เรียนไม่จบแพทย์     และได้รับรางวัล แหนบทองคำพร้อมกัน    และลาออกพร้อมๆ กันอีกด้วย    นี่เป็นครั้งแรก ที่ผมรับรู้ว่าพ่อของผมตอนทำหน้าที่กำนัน ผลงานได้รับการยกย่องสูง    ขอย้ำว่า คนที่บอกให้พ่อลาออกคือผม    เพื่อลดความเครียดจากหน้าที่ การงาน เนื่องจากเป็นโรคความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ  หัวใจโต  และหัวใจวาย    เพราะหลังจากนั้น ปฏิบัติตัวได้ดี ท่านอายุยืนยาวมาอีกเกือบสี่สิบปี และเสียชีวิตเมื่ออายุ ๘๘ ปี    

ส่วนต่อศักดิ์ เป็นคนตำบลบางหมาก ซึ่งพื้นที่ติดกับตำบลท่ายาง    เขาเล่าว่าสมัยเด็กทำงานรับจ้าง เอาควายไป “เหยียบนา”   ภรรยาของเขาเป็นอดีตพยาบาลที่โรงพยาบาลชุมพร     และมีลูกสะใภ้เป็นหมอ ที่โรงพยาบาลชุมพร   

การได้พบเพื่อนเก่าทำให้ได้รื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ มาคุยกัน    และทำให้ผมตระหนักว่า ผมเป็นคนไม่ประสี ประสาเรื่องหนุ่มๆ สาวๆ สมัยตนเป็นหนุ่มเลย    สมควรเล่าเรื่องสาวดาวเด่นที่โรงเรียนสะอาด “เผดิมวิทยา” ที่เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดหญิงในสมัยโน้น ที่บางคนเคยเรียนชั้นประถมห้องเดียวกันกับผมที่ท่ายาง    คนเหล่านี้เวลานี้เป็นคนมีฐานะดี    และเขาติดต่อกันเสมอ

เราคุยกันด้วยภาษาปักษ์ใต้อย่างออกรส

หลังเสร็จจากงาน ผมไปนั่งพักผ่อนที่บ้าน (ร้านเกษตรกร) ของคุณวิจัย    ได้คุยกับหลานสาว แอ้ (วิรงรอง พานิช) ลูกสาวคนโตของคุณวิจัย ที่อายุ ๓๐ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานดีมาก   ทำงานมา ๕ ปี ในตำแหน่ง Talent Recruitment Specialist ของบริษัท start-up ด้าน information analysis service   หรือบริการวิเคราะห์ big data นั่นเอง    ชื่อบริษัท DIGITAL ALCHEMY. Dynamic Decisioning   ฟังแล้วผมชื่นชมเจ้าของ (และเป็น MD ด้วยตนเอง) ที่มีความคิดริเริ่มกิจการมาตั้ง ๑๔ ปีแล้ว  

อาหารเย็นจัดที่ร้าน เบียดแคมเรือซีฟู้ด อยู่ที่ท่าเทียบเรือบางสน ใกล้กับสนามบิน ๔ กิโลเมตร    บรรยากาศสุดยอด    แต่ผมสงสัยในแง่ EIA ว่าอาคารนี้ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างหรือไม่    เพราะสงสัยว่า จะรบกวนระบบนิเวศน์ชายหาด    เราได้ชมบรรยากาศเรือประมงลำแล้วลำเล่าแล่นออกทะเล    ลักษณะน่าจะเป็นเรือใช้ไฟฟ้าล่อจับปลาหมึก    คุณภาพของอาหารทะเลผมให้เกรดบี    พอๆ กับร้านเจ๊เหมียวซีฟู้ดที่หาดเจ้าสำราญ ที่เล่าไว้ที่    แต่ที่ให้คุณค่ามากกว่าอาหารและบรรยากาศ คือการได้รวมญาติสนิท    และได้เรียนรู้จาก social dynamics ในหมู่ญาติ

social dynamics ในหมู่คนใกล้ชิดมีขึ้นๆ ลงๆ   มีเรื่องจุกจิกมากมาย    ผมหลีกเลี่ยงละเลย มาโดยตลอด   ถึงตอนนี้มานึกขึ้นได้ ว่าเป็นข้อเรียนรู้ที่ดี เรื่องธรรมชาติมนุษย์ 

ผมคิดว่าตัวหลักในเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นคือ positive approach   เน้นเอาใจใส่ด้านดีของคนอื่น    ไม่ปฏิสัมพันธ์กับด้านลบของเขา    ละเลยไปเสียและให้อภัยหากพฤติกรรมก่อความไม่พอใจแก่เรา    อภัยทานเป็นการให้ทานที่มีค่ายิ่ง    และเป็นการฝึกฝนที่ดี    ผมคิดว่าการให้อภัยไม่ได้อยู่โดดๆ ต้องมากับความเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขา    คือเราต้องฝึกพรหมวิหารสี่ จึงจะให้อภัยคนได้เก่ง    นอกจากนั้น ตัวเราต้องพอใจในสิ่งที่เรามี และมั่นใจในตนเอง     เราจึงจะสามารถมองคนที่มีความ ประพฤติขัดใจเรา ในทางที่สงสารและเห็นใจในความอ่อนแอของเขา    

ด้านดีของแต่ละคน เมื่อขุดลึกลงไป และเชื่อมโยงกว้างขวางจะมีค่ายิ่ง    เชื่อมโยงสู่ประโยชน์ สาธารณะได้ด้วย   ยิ่งสร้างคุณค่ามากยิ่งขึ้น    ผมคิดว่า การช่วยกันเชื่อมโยงความดีของญาติมิตร เป็นการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม    เป็นการเอาความดีกลบจุดอ่อน หรือบางกรณี ทำให้จุดอ่อนหรือความชั่วร้าย คลายไป หรืออ่อนแอลงไป    หากทำได้ทั้งประเทศหรือทั้งโลก สังคม/โลกเราก็จะน่าอยู่    ผมพยายามพัฒนา อุดมคติของตนเองเพื่อให้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายทำประโยชน์ให้มากที่สุด    ไม่ทราบว่าผมคิดแบบโลกสวยหรือเปล่า 

๑๒ ส.ค. ๖๐

 

1 เจ้าของสวนทุเรียนกับลูกสาวคนเล็ก

2 วิจารณ์  สมควร  ต่อศักดิ์ ผู้หญิงเป็นภรรยาของต่อศักดิ์

3 รูปหมู่รุ่นใหญ่ จากซ้ายเฉพาะผู้ชาย วิจารณ์ (๑)  วิเชียร (๔)  วิชัย (๒)  วิโรจน์ (๗)  วิจัย (๕) ผู้หญิงเป็นสะใภ้

4 รุ่น ๒ และ ๓

5 หลานสาวที่น่ารักของ นพ. วิชัย

6 ท่าเทียบเรือคอสน

7 ชายทะเลคอสน

8 เรือหาปลาลำเล็กแล่นออกจากฝั่ง

9 ลำใหญ่

10 เรือประมงทะยอยกันแล่นออกไทะเล

11 ผู้อุดหนุนชาวประมง

หมายเลขบันทึก: 637486เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2017 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2020 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยอดเยี่ยมค่ะ อาจารย์

อ่านแล้วได้อรรถรส ที่เรียกว่ากินใจ จนน้ำตาซึม เหมือน อาจารย์ KM (AAR)กับตัวตนภายในของตัวเอง สัมผัสได้้ ถึงพลังถ่ายทอด ให้ย้อนคิดถึงครอบครัวตนเอง 

นี่เป็น KM ที่ช่วยฟื้นฟู สังคมครอบครัวไทย ที่เคยเข้มแข็ง แต่ปัจุบันกลายเป็นรากฐานปัญหา...ที่รุนแรงอันดับต้นๆ

ขอแสดงความนับถือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท