ถอดบทเรียนอย่างไร...ไม่ยาก (ตอนที่ 9) การเขียน "บทเรียน" จากการถอดบทเรียน


ผู้เขียนคาดหวังว่าการทำความเข้าใจกระบวนการถอดบทเรียนที่เป็นแก่นของการถอดบทเรียนจริงๆ ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้สามารถนำไประยุกต์เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีคุณภาพสูงตามวัฒนธรรมการเรียนรู้ของบุคคล กลุ่ม องค์กรได้ ให้คิดไว้เสมอว่า การที่เรานำเสนอบทเรียนที่มีคุณภาพสูง เป็นโอกาสที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคมไปด้วย หากบทเรียนของเราเป็นบทเรียนที่สามารถนำไปใช้ต่อยอด สร้างการเรียนรู้ที่ถูกต้องออกไปในวงกว้างจะเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมต่อไป

การเขียนรายงานถอดบทเรียน 

ถือว่าเป็นเรื่องยากของคนส่วนใหญ่ เพราะการเขียนต้องใช้พลังความคิดในการเขียน ยังต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์เอกสารด้วย  ทำให้ผลผลิตงานถอดบทเรียนส่วนนี้ ออกมาได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราเตรียมความพร้อมดี จากที่อ่านมาข้างต้นนั้น เราจะพบว่า “บทเรียน”ที่ได้จะมีความสมบูรณ์และนำมาเรียบเรียงได้ไม่ยาก อีกทั้งยังครบถ้วน สมบูรณ์ ใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จริงๆ การเขียนรายงานถอดบทเรียนนั้นไม่ยาก...หากกรอบการเขียนชัดเจน งานถอดบทเรียนดีๆสักชุด อาศัยการอธิบายแบบตรงไปตรงมาตามข้อมูลก็เป็นงานถอดบทเรียนที่ดีแล้ว และหากจะยากมากขึ้นเมื่องานถอดบทเรียนนั้นต้องการเรื่องเล่าแนว Story telling เขียนเป็นหนังสือการทำงาน “บทเรียน” เพื่อสื่อสารสาธารณะ หากต้องการแบบนั้นอาจต้องมีทักษะการเขียนงานแบบเชิงสารคดี เพื่อให้งานถอดบทเรียนได้ทำหน้าที่สื่อสารสร้างพลังได้ตามที่ต้องการ


เขียนรายงานถอดบทเรียนอย่างไร?

เพื่อความสมบูรณ์ในการเขียนรายงานไม่ได้เขียนเฉพาะชุดบทเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้เขียนภาพรวมก่อนที่จะนำมาสู่บทเรียนด้วย ตรงนี้ ขอให้มีกรอบการเขียนเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ แบ่งออกมาเป็น 3 บทหลัก

          รูปแบบเอกสารการถอดบทเรียนโดยทั่วไป จะออกแบบการเขียนดังนี้

บทที่ 1 บทนำ

                   ส่วนที่ 1 เป็นบทที่เขียนถึงหลักการและเหตุผลของกิจกรรม หรือโครงการที่ถอดบทเรียน ว่ามีความเป็นอย่างไร บทนี้จะมีรายละเอียดของความจำเป็นที่ต้องทำกิจกรรม หรือโครงการนั้นๆ รวมไปถึง แนวคิดที่ใช้ในการดำเนินการโดยสังเขป

                   ส่วนที่ 2 เป็นวัตถุประสงค์ของกิจกรรม หรือโครงการ (จริงๆแล้ว วัตถุประสงค์ก็คือเป้าหมายของกิจกรรม หรือ โครงการนั่นเอง)

บทที่ 2 กระบวนการดำเนินการ (Process)

                   บทนี้จะว่าด้วย กระบวนการทำงานทั้งหมด เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย การเขียนอธิบายบทนี้จึงต้องเขียนให้เห็นภาพของกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ เรียงลำดับตามขั้นตอนกระบวนการ หรือ อาจเรียงลำดับตามเวลา

บทที่ 3 บทเรียน (Lesson Learned)

                   บทนี้ประกอบด้วย “บทเรียน” จากการถอดบทเรียน ด้วยคำถาม 4 ข้อ




          คำถามข้อที่ 1 เป้าหมายของกิจกรรม หรือ โครงการนี้เป็นอย่างไร? เป้าหมายในข้อนี้ (นำเป้าหมายที่เป็นวัตถุประสงค์มาเขียนสรุปอีกครั้ง) อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ทำให้เป้าหมายชัดเจนขึ้นทั้งเป้าหมายด้านปริมาณและคุณภาพ

          คำถามข้อที่ 2 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงจากกิจกรรม หรือโครงการนี้เป็นอย่างไร?

          คำถามข้อที่ 3 ความแตกต่างของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (ข้อ 2) กับเป้าหมาย (ข้อ 1) เป็นอย่างไร

          คำถามข้อที่ 4 แล้วเราจะพัฒนา กิจกรรม หรือ โครงการให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง และ บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างไร (คำถามนี้วิเคราะห์ สังเคราะห์จากข้อที่ 3) เราต้องตอบให้ได้ว่า เราได้เรียนรู้อะไร เราจะทำอะไรต่อไปในอนาคต จะดำรงจุดแข็งและปรับจุดอ่อนได้อย่างไร ข้อเสนอแนะที่ได้ควรเป็น ข้อเสนอแนะที่นำไปปฏิบัติได้จริง (Specific actionable recommendation - SARs)

          เอกสารการถอดบทเรียนที่สมบูรณ์อาจมี ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วยรูปภาพกิจกรรมการดำเนินการ หนังสือคำสั่งหรือเอกสารอื่นใดที่จำเป็นต้องนำเสนอเพื่อให้เห็นภาพรวมของบทเรียนที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้ 


ชุดบันทึก "การถอดบทเรียน...ไม่ยาก" ทั้งหมดทั้ง 9 บท นี้ทั้งหมดเป็นกระบวนการเขียนงานถอดบทเรียนที่ต้องมีครบทุกส่วนเพื่อให้ผู้อ่าน หรือ ผู้ใช้ประโยชน์ได้อ่านงานที่ครอบคลุม ครบถ้วน และสามารถนำองค์ความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ต่อไป

ผู้เขียนคาดหวังว่าการทำความเข้าใจกระบวนการถอดบทเรียนที่เป็นแก่นของการถอดบทเรียนจริงๆ ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้สามารถนำไประยุกต์เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีคุณภาพสูงตามวัฒนธรรมการเรียนรู้ของบุคคล กลุ่ม องค์กรได้  ให้คิดไว้เสมอว่า การที่เรานำเสนอบทเรียนที่มีคุณภาพสูง เป็นโอกาสที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคมไปด้วย หากบทเรียนของเราเป็นบทเรียนที่สามารถนำไปใช้ต่อยอด สร้างการเรียนรู้ที่ถูกต้องออกไปในวงกว้างจะเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมต่อไป


ขอบคุณทุกท่านครับที่อ่านเเละติดตามมาจนถึงบันทึกนี้

-----------------------

หากท่านสนใจ การเขียน 

รปแบบการเขียน KM Retrospective ตามเเนวทางการถอดบทเรียน(Lesson Distilled) อ่านที่นี่ครับ Click

เเละท่านสามารถ Download เอกสารชุดความรู้ถอดบทเรียนฉบับย่อ "ถอดบทเรียน...ไม่ยาก" จาก QR Code นี้

..............................................................

สามารถเเลกเปลี่ยน พูดคุยกับผู้เขียนได้โดยตรงที่

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

e-mail : [email protected]

LINE : thaicoach



หมายเลขบันทึก: 631906เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2017 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2018 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท