ชีวิตที่พอเพียง : 2969b โรงงานผลิตปัญญา : 4. ตำราเรียน


ในปี 1574 แต่ละช่วงเวลาห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อนุญาต (ต้องจอง) ให้คนเข้าใช้เพียง ๑๑ คน เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ๑๐ คน และเป็นนักวิชาการอาวุโส ๑ คน

ชีวิตที่พอเพียง  : 2969b โรงงานผลิตปัญญา :  4. ตำราเรียน

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่สี่นี้ ตีความจากบทที่ 2  Oxbridge ในตอนท้ายๆ บท ที่เล่าเรื่องตำราเรียน

ก่อนมีเครื่องพิมพ์ Gutenberg ในช่วงปี 1450s     ตำราเรียนเล่มใหญ่มาก ขนาดเท่าโต๊ะ   ห้องสมุดใช้โซ่ ล่ามไว้กันหาย    มหาวิทยาลัยที่มีหนังสือ ๙๕๐ เล่ม ถือว่ามีมาก    บางช่วงมีเพียง ๑๕๐ เล่ม    ในปี 1574 แต่ละช่วงเวลาห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อนุญาต (ต้องจอง) ให้คนเข้าใช้เพียง ๑๑ คน    เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ๑๐ คน  และเป็นนักวิชาการอาวุโส ๑ คน    สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี จะมีสิทธิ์ใช้ในกรณีพิเศษเท่านั้น  

ทำให้ผมหวนระลึกชาติสมัยเรียนแพทย์ ปี ๑ ที่ศิริราช (เดี๋ยวนี้เรียกปี ๒) ผมไม่เคยเข้าห้องสมุดเลย    ตกต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลังสอบไล่ปลายปีการศึกษาเสร็จ    เพื่อนมาบอกว่าอาจารย์หมอชูศักดิ์ (เวชแพศย์) รับสมัครนักศึกษาที่เขียน stencil แบบคัดลายมือบรรจงได้  ช่วยเขียน stencil ต้นฉบับหนังสือสรีรวิทยา สำหรับแจกนักศึกษารุ่นน้อง    ผมจึงไปสมัคร และเพื่อนพาไปนั่งเขียนที่ ห้องสมุด    ซึ่งเวลานั้นเป็นห้องห้องเดียว อยู่บนชั้น ๒ ของอาคารอำนวยการ    ที่เวลานี้เป็นห้องประชุม 

หนังสือบอกว่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีเคยมีสิทธิ์เข้าใช้ห้องสมุด แต่หลังปี 1472 นักศึกษาระดับ ปริญญาตรีหมดสิทธิ์     ยกเว้นจะมีบัณฑิตที่อยู่ในเครื่องแบบพาเข้า    ข้อกำหนดนี้มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ใช้มาก่อนปี 1472    

การที่มหาวิทยาลัยจะมีหนังสือดีๆ ต้องมีคนบริจาค หรือให้เงินสนับสนุน    การสนับสนุนห้องสมุดครั้ง ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสมัยนั้น คือการบริจาคเงินสร้างหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด โดย Sir Thomas Bodley (ผู้เป็นมหาเศรษฐีเพราะแต่งงานกับแม่หม้าย แล้วเมียตายก่อน) ในปี 1598   อาคารนั้นเวลานี้เรียกว่า Bodleian Library   ในปี 1620 มีหนังสือถึง ๑๖,๐๐๐ เล่ม    

นักศึกษาระดับปริญญาตรีใช้หนังสือของอาจารย์ หรือกล่าวง่ายๆ ว่ายืมจากอาจารย์     หรือยืมจากห้องสมุดของวิทยาลัย

แต่หลังจากมีเครื่องพิมพ์หนังสือระบบกูเท็นเบิร์ก ในปี ค.ศ. 1439   หนังสือก็เล่มเล็กลงและราคาถูกลง    นักศึกษาจำนวนหนึ่งมีเงินซื้อได้    และมีผู้ตั้งร้านขายหนังสืออยู่ใกล้มหาวิทยาลัย  โดยมหาวิทยาลัยควบคุม และอนุญาตให้ดำเนินกิจการ    ที่ต้องควบคุมก็เพราะมีหนังสือต้องห้ามอยู่ด้วย    ผมเดาว่าต้องห้ามเพราะสาระ ขัดคำสอนทางศาสนา  หรือเพราะกษัตริย์ไม่โปรด  

ในปี 1556 รอบมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มีร้านขายตำราเรียน ๔ ร้าน    ในปี 1641 มี ๑๕ ร้าน   โดยที่เมืองเคมบริดจ์ทั้งเมืองมีพลเมืองเพียง ๘,๐๐๐ คน    

ร้านจำหน่ายตำราเรียน  และโรงพิมพ์ตำราเรียน ไบเบิ้ล  ดิกชันนารี ฯลฯ เป็นธุรกิจที่ดี  แต่ก็มีความขัดแย้งกัน    จนต้องมีการตั้งกติการ่วมกันในการตั้งสำนักพิมพ์ และการพิมพ์/ไม่พิมพ์ หนังสือบางประเภทแข่งกัน    

หนังสือเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนไปโดยสิ้นเชิง     โดยช่วยให้อาจารย์ยกเลิกการ บรรยายส่วน “บอกให้จด” (dictation)    ใช้เวลาเน้นที่กระบวนการตีความ (elucidation),  ชี้จุดสำคัญ (appreciation),   และประเด็นโต้แย้ง (criticism)  

ในช่วงปี 1613 – 1638 อาจารย์ท่านหนึ่งที่ Christ College, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซื้อหนังสือจำนวน ๓,๒๙๔ เล่ม ให้แก่นักศึกษา ๑๐๓ คน    ในจำนวนหนังสือเหล่านี้ เป็นหนังสือต่างชื่อ รวม ๑,๖๔๗ รายชื่อ    โดยเฉลี่ยนักศึกษาหนึ่งคนซื้อหนังสือ ๑๖ เล่มผ่านอาจารย์ท่านนี้ตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย    ผมรู้สึกว่าอาจารย์ท่านมีความเห็นอกเห็นใจศิษย์ที่ยากจน และคงจะหาทางซื้อหนังสือที่ราคาย่อมเยาว์ ให้แก่ ศิษย์กลุ่มนี้    หรืออาจเป็นเพราะนักศึกษาที่ยากจนไม่กล้าซื้อหนังสือที่มีราคาสูง    ราคาหนังสือโดยเฉลี่ยที่ นักศึกษากลุ่มนี้ซื้อจึงตกเล่มละ ๑ ชิลลิง  ๙ เพ็นนี     ในขณะที่ตัวเลขของนักศึกษากลุ่มร่ำรวย ตกเล่มละ ๒ ชิลลิง  ๓ เพ็นนี  

ผมพยายามทบทวนความจำว่าในช่วง ๖ ปี ที่เรียนแพทย์ผมซื้อตำราเรียนกี่เล่ม    คิดว่าเกิน ๒๐ เล่มแน่ๆ    เล่มที่ใหญ่ที่สุดคือ Cunningham’s Textbook of Anatomy หนากว่าพันหน้า ปกแข็ง หนักประมาณสองกิโล    พี่ๆ อบรมพวกเราว่า ห้ามถืออวดชาวบ้าน เพื่อบอกความเป็นนักศึกษาแพทย์    ตำราทางแพทย์เล่มโตๆ ทั้งนั้น     หนังสือเหล่านี้ผมไม่ได้เก็บไว้เลย    บางเล่มน้องชายที่เรียนแพทย์ใน ๕ ปีต่อมาเอาไปใช้    บางเล่มก็ยกให้หมอ เวียดนามที่อพยพลี้ภัยการเมือง ไปอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่สงขลา และต่อมาได้ไปอยู่ถาวรในอเมริกา 

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 631902เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2017 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2017 05:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

..เวลา ผ่านไป..ในเยอร..มัน...".หนังสือ..กำลังกลายเป็นขยะ"..ตำราหมอ..จะเอาไปให้คนรุ่นต่อๆไปเรียน....เขาไม่รับ..แล้ว..บอกว่า..มันล้าสมัย....แล้ว..

I think 'digital text' will be the norm in this century. Like ยายธี said 'text gets outdated very quickly these days' is one reason; trees and paper are getting too expensive (environmentally) is another; the way we study in this century will be more "interacting" (instead of sitting, reading and contemplating). I would even suggest that we need to 'innovate (text) books' even just to follow a simple progression from 'text' to 'hypertext' (as in webpages with colours, fonts, sounds, pictures) to aumented reality and/or vurtual reality to arteficial intelligent interactions (when textbooks become 'interacting learning tools' that are smart enough to be 'personal mentors' as well).

Yes paper-based books will be there in the 22nd century as artifacts!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท