นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา



นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา


 ความหมายของนวัตกรรม

            “นวัตกรรม” (Innovation) หมายถึงความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย


ความหมายของนวัตกรรมทางการศึกษา

           “นวัตกรรมการศึกษา” (Educational Innovation ) หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษา และการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษา และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมการศึกษามากมายหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งนวัตกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว และประเภทที่กำลังเผยแพร่ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aids Instruction) การใช้แผ่นวิดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ ( Hypermedia ) และอินเทอร์เน็ต [Internet] เหล่านี้ เป็นต้น

ความหมายของเทคโนโลยี

          “เทคโนโลยี” (Technology)  หมายถึง ความเจริญในด้านต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้า  ทดลองประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์  เมื่อศึกษาค้นพบและทดลองใช้ได้ผลแล้ว  จึงออกนำเผยแพร่เพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง


ความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษา

           “เทคโนโลยีการศึกษา” (Educational Technology) หมายถึง การพัฒนาและประยุกต์ระบบเทคนิคและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม  เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

           ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อวิธีการศึกษา ได้แก่แนวความคิดพื้นฐานทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาที่สำคัญๆ พอจะสรุปได้4 ประการ คือ
     1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) การจัดการศึกษาของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะเห็นได้จากแผนการศึกษาของชาติ ให้มุ่งจัดการศึกษาตามความถนัดความสนใจ และความสามารถ ของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การจัดระบบห้องเรียนโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์บ้าง ใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์บ้าง นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น
           - การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School)
           - แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
           - เครื่องสอน (Teaching Machine)
           - การสอนเป็นคณะ (TeamTeaching)
           - การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
           - เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)
      2. ความพร้อม (Readiness) เดิมทีเดียวเชื่อกันว่า เด็กจะเริ่มเรียนได้ก็ต้องมีความพร้อมซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถ้าหากสามารถจัดบทเรียน ให้พอเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน วิชาที่เคยเชื่อกันว่ายาก และไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กก็สามารถนำมาให้ศึกษาได้ นวัตกรรมที่ตอบสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
           - ศูนย์การเรียน (Learning Center)
           - การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
           - การปรับปรุงการสอนสามชั้น (Instructional Development in 3 Phases)
       3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา แต่เดิมมาการจัดเวลาเพื่อการสอน หรือตารางสอนมักจะจัดโดยอาศัยความสะดวกเป็นเกณฑ์ เช่น ถือหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง เท่ากันทุกวิชา ทุกวันนอกจากนั้นก็ยังจัดเวลาเรียนเอาไว้แน่นอนเป็นภาคเรียน เป็นปี ในปัจจุบันได้มีความคิดในการจัดเป็นหน่วยเวลาสอนให้สัมพันธ์กับลักษณะของแต่ละวิชาซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางวิชาอาจใช้ช่วงสั้นๆ แต่สอนบ่อยครั้ง การเรียนก็ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
           - การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling)
           - มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)
           - แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
           - การเรียนทางไปรษณีย์
       4. ประสิทธิภาพในการเรียน การขยายตัวทางวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้มีสิ่งต่างๆ ที่คนจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก แต่การจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปัจจัยภายนอก นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น
           - มหาวิทยาลัยเปิด
           - การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์
.          - การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป
           - ชุดการเรียน

หมายเลขบันทึก: 631666เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท