สวนหม่อน สวนใหม่ ในสวนสมเด็จฯ


สวนหม่อน สวนใหม่ ในสวนสมเด็จฯ

วิโรจน์ แก้วเรือง

           สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดงาน "ป่าเล็ก ในเมืองใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ รักษ์ประชา รักษ์ป่า รักน้ำ รักษ์แผ่นดิน" ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ถนนกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 พระองค์ทรงปลูกต้นหม่อนยักษ์ พันธุ์ “หม่อนน้อย” บริเวณสวนหม่อน ซึ่งเป็นสวนปลูกใหม่ ด้านใกล้ประตูที่จอดรถจตุจักรกรีน และพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร

                     ต้นหม่อนทรงปลูก พันธุ์หม่อนน้อย ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้เลี้ยงไหมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกรมช่างไหม เมื่อปี พ.ศ.2446 ดังบันทึกของศาสตราจารย์ ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า (Prof. Dr. Kametaro Toyama) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ได้ว่าจ้างท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ.2444-2447 ใน “รายงานการทดลองวิธีทำไหมในกรุงสยาม” เมื่อวันที่ 8 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 121 และอยู่ในหนังสือ “เอกราชของชาติไทยบนเส้นทางสายไหม” กล่าวสรุปได้ว่า เมื่อจัดตั้งกรมช่างไหม ได้ขึ้นไปเลี้ยงไหมที่นครราชสีมา และรวบรวมพันธุ์หม่อนจากชาวบ้าน 3 พันธุ์ ไม่มีชื่อไทยมาปลูกไว้ที่สถานีทดลองเลี้ยงไหมนครราชสีมา และใช้ชื่อว่าพันธุ์ราชสีมา 1 ราชสีมา 2 และราชสีมา 3 เมื่อคัดเลือกได้พันธุ์ที่ดีที่สุดแล้วได้ขยายพันธุ์นั้นให้เกษตรกรได้นำไปปลูก ขยายไปหลายมณฑลในภาคอีสาน เพื่อให้ได้เส้นไหมคุณภาพดี เพราะมีใบหม่อนคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอ แต่ไม่มีการกล่าวว่าเป็นพันธุ์อะไร เรียกเพียงว่า “ต้นหม่อนอ่อน” หลังจากนั้นการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็สิ้นสุดลงเมื่อพ.ศ. 2456 เมื่อทางการประกาศปิดสถานีทดลองเลี้ยงไหมทุกแห่งในประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าการเกิดโรคระบาดและผลที่ได้ไม่คุ้มทุน

                     กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2507 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทยภายใต้แผนโคลัมโบ โดยองค์การ OTCA (Oversea Technical Co-operation Agency) หรือ JIRCAS(Japan International Research Center for Agricultural Science) ในปัจจุบัน ได้ส่ง นายอะคิร่า โอย่า (Akira Oya) ผู้เชี่ยวชาญด้านหม่อน และนายคิวซาบูโร ฮาชิดะ(Kyusaburo Hashida) ผู้เชี่ยวชาญด้านไหม มาปฏิบัติงานที่สถานีทดลองเลี้ยงไหมอุบลราชธานี หรือศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯอุบลราชธานีในปัจจุบัน ได้ร่วมกับนักวิชาการเกษตรของไทย ศึกษาและพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันใหม่อีกครั้ง และพบว่าพันธุ์หม่อนที่มีการส่งเสริมกันอยู่ดั้งเดิม และชาวบ้านยังคงปลูกได้เป็นพันธุ์หลักในการเลี้ยงไหม คือ “หม่อนน้อย” หรือ “หม่อนพันธุ์น้อย” ทำให้เรายังคงมีต้นหม่อนน้อยที่มีอายุหลายสิบปีถึงร้อยปี ปลูกไว้ตั้งแต่โบราณและมาส่งเสริมกันอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนมารื้อฟื้นกันอีกครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นที่มาของ “หม่อนน้อย” ต้นหม่อนทรงปลูก ในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

                หม่อนน้อยทรงปลูกต้นนี้ มีอายุประมาณ 80 ปี มีเส้นรอบวงบริเวณโคนต้น 1.33 เมตร สูง 5 เมตร โดยมีนางสาวหนูเจียม ส่งเสริม อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47 หมู่ 2 ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย

                    คุณหนูเจียม เล่าให้ฟังว่าคุณแม่คือนางปั่น ส่งเสริม เป็นผู้ปลูกไว้ที่บ้าน เมื่อราว 80 ปีก่อน เพื่อใช้ใบมาเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นบ้าน ก่อนนำรังไปสาวเป็นเส้นไหมและทอผ้าไว้ใช้เองกระทั่งหม่อนต้นนี้เจริญเติบโตเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติเนื่องจาก หม่อนเป็นต้นไม้มหัศจรรย์ ที่มีประโยชน์สารพัดด้าน เมื่อกรมหม่อนไหมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการจัดสวนหม่อนในสวนสมเด็จฯ หม่อนต้นนี้จึงมีโอกาสมาอวดโฉมคนกรุงเทพฯ

 

                    นอกจากต้นหม่อนทรงปลูกเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ แล้วยังมีการปลูกหม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ พันธุ์ที่ให้ผลผลิตเป็นผลหม่อนหรือมัลเบอร์รี่ ผลไม้ดีคุณภาพเด่นเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่รักสุขภาพในปัจจุบัน ปลูกไว้ 2 ข้างริมทางเดินเข้าสู่สวนหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และพันธุ์สกลนคร  พันธุ์หม่อนที่ให้ผลผลิตใบสูง ซึ่งกรมหม่อนไหมใช้เป็นพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม ปลูกไว้ผลิตใบใช้เป็นอาหารของหนอนไหม เนื่องจากทั้ง 2 พันธุ์ให้ผลผลิตใบมากกว่าหม่อนน้อย

                    ดังนั้น จึงขอเชิญชวนท่านไปชื่นชมต้นหม่อนน้อยทรงปลูกที่มีอายุเกือบ 100 ปี  ซึ่งหลายท่านไม่เคยเห็นต้นหม่อนที่มีขนาดใหญ่มาก่อน ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นอกจากท่านจะได้รื่นรมย์ ชมดอกไม้งามทั้งของไทยและของเทศแล้ว ที่นี่ยังเป็นสวนรวบรวมพันธุ์บัวที่หาชมได้   ยากยิ่ง เพราะมีความหลากหลายทั้งรูปลักษณ์และสีสัน ชมน้ำพุที่พลิ้วไหวไปตามจังหวะเสียงเพลงหรือจะไปเดิน-วิ่ง ออกกำลังกาย ในช่วงเช้า-เย็น ก็เหมาะสม เพราะอบอวลด้วยกลิ่นหอมของไม้ดอก ไม้ประดับ สองข้างทางดั่งเนรมิต สวนแห่งนี้เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. แล้วพบกันที่สวนหม่อน สวนใหม่ ในสวนสมเด็จฯ นะครับ



บรรณานุกรม

พจนา วีระโสภณ  วิโรจน์  แก้วเรือง   จรรยา  ปั้นเหน่งเพชร  และทิพรรณี  เสนะวงศ์. 2544. เอกราชของชาติไทยบนเส้นทางสายไหม. สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. กรุงเทพฯ. 69 หน้า

คำสำคัญ (Tags): #สวนหม่อน
หมายเลขบันทึก: 631662เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2017 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท