ชีวิตที่พอเพียง 2965. ไปเรียนรู้เรื่องยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)



วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผมมีบุญได้ไปประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบตัวชี้วัด และการติดตาม พัฒนาการของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ ที่ สวทน.    โดยในการประชุมมีการนำเสนอเรื่องยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) ที่สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) เป็นผู้กำหนด       สำหรับเป็นข้อมูลประกอบ การคิดตัวชี้วัด


เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้ ก็เพื่อหนุนการพัฒนาประเทศไทย สู่ ประเทศไทย ๔.๐


ผมได้เรียนรู้เรื่อง “เทคโนโลยีพลิกโฉมฉับพลัน” (disruptive technology) ๑๒ รายการ ที่เสนอโดย McKinsey Global Institute คือ mobile internet, the internet of things, advanced robotics, automation of knowledge work, cloud technology, autonomous and near-autonomous vehicles, next-generation genomics, advanced materials, advanced oil and gas exploration and recovery, 3D printing, energy storage, renewable energy


ผมประทับใจหลักการ ๕ ข้อของการเปลี่ยนแปลงกิจกรรม วทน. (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) ของประเทศ ที่เสนอโดย ท่าน รมช. ดร. สุวิทย์ เมษิณทรีย์ ดังนี้

  • เปลี่ยนจาก การวิจัยและนวัตกรรมที่มาจาก supply side   เป็น การวิจัยและนวัตกรรมที่มาจาก demand side
  • เปลี่ยนจาก หัวข้อวิจัยเป็นชิ้นๆ   เป็น วาระการวิจัยเรื่องใหญ่ๆ ที่ชัดเจน
  • เปลี่ยนจาก แตะทุกเรื่อง แต่ไม่เก่งสักเรื่อง   เป็น เก่งบางเรื่องที่สำคัญ แต่เก่งสุดๆ
  • เปลี่ยนจาก   เน้นพัฒนาความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี   เป็น เน้นการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
  • เปลี่ยนจาก   ต่างคนต่างคิด   เป็น สร้างเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรม และการวิจัยอย่างเป็นระบบ 


โดยมีวิสัยทัศน์ของระบบวิจัยและนวัตกรรม ดังนี้  การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศเข้มแข็ง เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมไทย    สู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว    ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน


เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว กำหนดให้มี ๔ ยุทธศาสตร์ คือ

  • การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
  • การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเด็นท้าทายทางสังคม
  • การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ
  • การสร้างบุคลากร พัฒนาระบบนิเวศน์และเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง


ที่น่าชื่นชมคือ มีการยกร่าง Spearhead R&I Program  โฟกัสเรื่องสำคัญมาเป็นตุ๊กตา     ซึ่งกรรมการที่มาจากภาคเอกชน ที่เป็นผู้รู้จริง บอกว่า ต้องโฟกัสบีบแคบลงไปอีก   โดยใช้ความต้องการของภาคธุรกิจเอกชนเป็นฐาน


ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ การกำหนดให้มี ODU (Outcome Delivery Unit) ทำหน้าที่จัดการโปรแกรม R&I เชิงยุทธศาสตร์    ซึ่งยังไม่ชัดว่าจะมีสถานภาพอย่างไร    มีคนถามว่า เมื่อเกิด ODU แล้ว สกว. ทำอะไร    ผมช่วยตอบว่า สกว. และหน่วยงานจัดการทุนวิจัยอื่นๆ  ก็จัดตั้ง ODU ของตนขึ้นมาเสนอตัวทำหน้าที่บริหารบางโปรแกรม    มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนก็สามารถเสนอ ODU ของตนเข้าทำหน้าที่ ได้    ไม่ควรจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะองค์การมหาชนขึ้นมาทำหน้าที่นี้    ซึ่งตรงกับแนวทางที่ทีมของ สวทน. เตรียมไว้เสนอ สวนช. พอดี 

ฟังแล้วน่าชื่นชมว่าวางหลักการไว้ดีมาก    จะได้ผลในทางปฏิบัติแค่ไหนขึ้นอยู่กับการจัดการ    ที่ตอนเช้าก่อนประชุมมีนักวิจัยจาก STEPI ของเกาหลีมาเล่าผลการวิจัยเรื่อง Impact Evaluation of R&D Investment  และเล่าว่าข้อจำกัดของเกาหลีคือกระทรวงต่างๆ ทำงานแบบ ไซโล    เป็นการเตือนสติเราว่า เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งในการบรรลุ Thailand 4.0 คือ กระทรวงต่างๆ ต้องไม่ทำงานแบบไซโล


วิจารณ์ พานิช

๒๒ มิ.ย. ๖๐

 


หมายเลขบันทึก: 631518เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2017 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2017 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท