ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ : ผู้บุกเบิกงานนิเทศการศึกษาในประเทศไทย


ขอเล่าประวัติของบุคคลสำคัญทางการศึกษา เฉพาะบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศการศึกษา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ พิจารณานำไปทบทวน ปรับปรุงพัฒนาการทำงานให้ก้าวหน้าและเหมาะสมกับบริบทของตนยิ่งขึ้น

บุคคลแรกที่ขอเล่าคือ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ โดยผมได้สรุปเรียบเรียงจากหนังสือประวัติครูของคุรุสภา พ.ศ.2537 และบทความในวารสารวิทยาจารย์ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ...แม้ว่าดร.ก่อ จะมีตำแหน่งทางราชการและตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในระดับสูง แต่จุดเริ่มต้นของท่าน เริ่มจากการเป็นศึกษานิเทศก์ และถือเป็นผู้บุกเบิกงานนิเทศการศึกษาในประเทศไทยเป็นคนแรกด้วย
ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2465 ที่ตำบลอาจสามารถ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรคนโตของนายฮวยกี่และนางอ่อน สวัสดิ์พาณิชย์ ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนในตำบลอาจสามารถ จบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดร้อยเอ็ด “ร้อยเอ็ดวิทยาลัย” เป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม สอบได้ที่หนึ่งของชั้นมาโดยตลอด
จากนั้นได้เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้วศึกษาต่อจบอักษรศาสตร์บัณฑิต(อ.บ.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. 2487 หลังจากนั้นได้บรรจุเป็นครูตรีประจำกรมสามัญศึกษา แล้วย้ายไปเป็นครูที่โรงเรียนประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ในพ.ศ.2488 ตามปณิธานที่ตั้งไว้ว่าจะกลับไปเป็นครูเพื่อรับใช้บ้านเกิด
ต่อมาสอบได้ชุดครูพิเศษมัธยม(พ.ม.) แล้วสอบได้ทุนรัฐบาล(ทุนคุรุสภา) ได้ไปศึกษาที่วิทยาลัยเกษตรและวิศวกรรมแห่งโอคลาโฮม่า สำเร็จได้รับปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาการประถมศึกษา และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการประถมศึกษาในพ.ศ.2495
หลังสำเร็จการศึกษาใจอยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิดแต่ผู้บังคับบัญชาขอให้ใช้ความรู้ริเริ่มงานในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาทั้งประเทศ

พอดีกระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งหน่วยงานใหม่คือหน่วยศึกษานิเทศก์ ขึ้นเป็นครั้งแรกในพ.ศ.2496 ดร.ก่อ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษานิเทศก์ชั้นโทและเป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา ต่อมาพ.ศ.2497 มีการตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้น ดร.ก่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์กรมการฝึกหัดครูและได้เป็นศึกษานิเทศก์เอกคนแรก พร้อมกับเป็นหัวหน้ากองโรงเรียนฝึกหัดครูไปพร้อมกัน จนพ.ศ.2504 ก็ได้เลื่อนเป็นศึกษานิเทศก์ชั้นพิเศษคนแรกอีก
พ.ศ. 2508 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานวางแผนการศึกษา ดร.ก่อก็ได้รับแต่งตั้งให้มารักษาการผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนการศึกษาเป็นคนแรก โดยยังดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ชั้นพิเศษอยู่จนถึงพ.ศ.2511 จึงได้รับโอนตำแหน่งจากศึกษานิเทศก์ชั้นพิเศษ กรมการฝึกหัดครูมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนการศึกษาและปลายปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิสามัญศึกษา
ดร.ก่อ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงจึงเป็นที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้ริเริ่มงานใหม่ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอีกหลายตำแหน่ง ซึ่งจะไม่ขอเล่ารายละเอียดในแต่ละตำแหน่ง
ดร.ก่อได้ลาออกจากราชการแล้วเข้าร่วมทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2518 จนถึง พ.ศ.2535 โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 4 สมัย
นายอภัย จันทวิมล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยกล่าวไว้ว่า
“...ดร.ก่อ เป็นผู้คงแก่เรียน รอบรู้ในการปฏิบัติราชการของกระทรวงศึกษาธิการและสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ดี ทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่ ในที่ประชุม ดร.ก่อ จะใช้วาจาสุภาพ ประกอบด้วยเหตุผล แล้วสรุปความคิดเห็นของตนอย่างน่าฟัง ซึ่งทำให้ผู้ร่วมประชุมเข้าใจและนับถือความคิดเห็นของดร.ก่อเป็นอันมาก...”
ด้านการนิเทศการศึกษา ถือว่าดร.ก่อ เป็นผู้บุกเบิกงานนิเทศการศึกษาซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการนำมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาตั้งแต่พ.ศ.2495 เป็นต้นมา ดร.ก่อเป็นผู้ปลุกปล้ำทำงานนิเทศการศึกษาอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสร้างความเข้าใจให้สาธารณชนและครูอาจารย์ในวงการศึกษาเข้าใจการนิเทศการศึกษา ฝึกอบรมสร้างศึกษานิเทศก์ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและงานวิชาการของโรงเรียน กรม กองต่างๆ จนในสมัยต่อมาทำให้ทุกกรมที่มีสถานศึกษา ได้มีศึกษานิเทศก์ มีหน่วยศึกษานิเทศก์ ขยายไปตั้งแต่ระดับกรม เขตการศึกษา จังหวัดและอำเภอในที่สุด
ดร.ก่อ เคยให้ทรรศนะเกี่ยวกับบทบาทของศึกษานิเทศก์ไว้ 4 ประการคือ

1.ส่งเสริมสนับสนุนให้คนอื่นทำงานดีขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยครูแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
3.เป็นที่ปรึกษาของผู้บริหารโรงเรียน
4.ประเมินผลและติดตามผลร่วมกับโรงเรียนเป็นประจำ
ดร.ก่อ มีผลงานด้านการเขียนมากมาย ตั้งแต่แบบเรียน หนังสือเรียน หนังสืออ่านสำหรับเด็ก ตำรา คู่มือครู บทความเกี่ยวกับการศึกษา และสาระบันเทิง รวมทั้งได้แปลหนังสือด้านการศึกษาไว้หลายเล่ม
ดร.ก่อ เป็นนักการศึกษาที่มีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาสังคมที่หนักยิ่งของมนุษยชาติ คือความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสได้โดยเชื่อว่าการศึกษาทำให้คนเจริญขึ้น ทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้นและทำให้สังคมต่างๆ ทั่วโลกเจริญขึ้น
งานสำคัญด้านการศึกษาที่ดร.ก่อได้เริ่มวางรากฐานไว้ เช่น เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาระบบการนิเทศการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาการวางแผนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและแผนพัฒนาการศึกษาของชาติ เป็นผู้พัฒนาการฝึกหัดครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เป็นผู้สนับสนุนการยกฐานะกองโรงเรียนราษฎร์เป็นกรมคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) จัดให้มีโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม โรงเรียนมัธยมเพื่อพัฒนาชนบท โรงเรียนมัธยมในส่วนภูมิภาค โครงการวิทยาลัยอาชีพในชนบท การขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 6 ปีเป็น 9 ปีและตั้งใจจะขยายให้ถึง 12 ปี เป็นต้น
ดร.ก่อ นับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสูงสุดผู้หนึ่ง ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษในวิชาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาต่างๆ ทางการศึกษาจำนวน 4 มหาวิทยาลัย ได้รับยกย่องเป็นนักการศึกษาดีเด่น ของสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นบุคคลดีเด่นระดับชาติสาขาพัฒนาสังคมด้านการศึกษา ของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เป็นคนดีศรีสังคม จากมูลนิธิศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย เป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่การศึกษาของชาติอย่างสูงยิ่งจากคุรุสภา เป็นต้น
ดร.ก่อ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2536 สิริรวมอายุได้ 71 ปี 22 วัน
--------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง
1.หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2537
2.วารสารวิทยาจารย์ ปีที่ 113 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557

หมายเลขบันทึก: 630126เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2017 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2017 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท