​Thai DPP: เตรียม workshop สำหรับ DHS


เราต้องการเปลี่ยนมุมมองของคนทำงานรวมทั้งผู้มาเรียนรู้ (กลุ่มเสี่ยง/ผู้ป่วย) จากการสอนไปเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เรียนเพื่อนำไปใช้ได้จริง และให้คนทำงานได้รู้จักทักษะการเป็น facilitator หรือกระบวนกรที่ฟังเป็น มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มาเรียนรู้ได้ ตั้งคำถามถูก จับประเด็นได้ และมีเข็มทิศที่ชัดเจน

วันที่ 19 มิถุนายน 2560

สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพทีมสหวิชาชีพในการจัดบริการ NCD Clinic Plus ระดับ DHS โดยผู้เข้าประชุมจะได้เรียนรู้การใช้ 4 Intervention programs ในการป้องกัน/ควบคุมเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง (ดูที่นี่) แบ่งเป็น 2 รุ่น ๆ แรก จะจัดระหว่างวันที่ 3-5 กรกฏาคม 2560 และรุ่นสองระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2560 โดยมี พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ และทีมงาน เป็นแม่งานใหญ่ (ซึ่งยังมีอีกหลายงาน)

ทีมงานโครงการ Thai DPP รับผิดชอบจัด workshop การใช้โปรแกรมของเราในวันที่สองของการประชุม มีเวลาตั้งแต่ 10.00 – 17.00 น. พวกเราจึงต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าเพราะจะต้องจัดกิจกรรมรับผู้เข้าประชุมจำนวนมาก (หลักร้อย) งานอื่นเรามักนัดหมายกันทำงานในวันหยุด เช่น เสาร์-อาทิตย์ แต่การทำงานนี้เราใช้งบของราชการ จะต้องประชุมกันในวันทำการ สถานที่ก็ต้องใช้ของกระทรวงหรือโรงพยาบาล จะไปประชุมที่โรงแรมไม่ได้ เราจึงต้องนัดกันล่วงหน้านานสองเดือน กว่าจะได้วันว่างที่ตรงกันคือวันที่ 19 มิถุนายน 2560 สถานที่คือห้องประชุมของสำนักโรคไม่ติดต่อ ที่มีลักษณะเป็นห้องประชุมแบบทางการ เราจึงไม่ได้นั่งบ้างนอนบ้างเหมือนที่ผ่าน ๆ มา

ทีมที่มาช่วยกันคิดวางแผนและออกแบบกิจกรรมครั้งนี้มีดิฉัน ทีมจากโคราช ได้แก่ หมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล จาก รพ.ครบุรี น้องหลา ธิดา กิจจาชาญชัยกุล จาก รพ.ขามทะเลสอ น้องนวล วิลาวัณย์ ศรีโพธิ์ จาก รพ.สต.มะค่า และ น้องนาฏ ภญ.นุชนาฏ ตัสโต จาก รพ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

เวลาที่เราทำงานกันเริ่มตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น. เข้าไปถึงที่หมายทุกคนต่างประทับใจที่ยามจำได้ว่ามีการจองที่จอดรถไว้ให้ วิทยุถึงกันให้เราได้ยินตั้งแต่ประตูทางเข้า รพ.บำราศฯ ที่จอดรถมีชื่อเจ้าของรถพร้อมเลขทะเบียนเรียบร้อย ระหว่างที่ประชุมก็มีน้อง ๆ เจ้าหน้าที่ของสำนักโรคไม่ติดต่อสามคนคือน้องนะห์ น้องอุ๊ และน้องบานเย็น หมุนเวียนกันมาคอยดูแลและสนับสนุนการทำงาน บางช่วงก็ร่วมออกความคิดเห็นด้วย มีคนดูแลข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม ขนม ผลไม้ กาแฟตามสั่ง อย่างเต็มที่ ช่วยให้เราเกิดความรู้สึกดี ๆ ไม่รู้สึกว่ามีข้อจำกัดใด ๆ

ช่วงเช้าดิฉันเอาขนมผักกาดทำเองมาให้น้อง ๆ ชิมพร้อมกับผักสด หมอฝนก็พกน้ำพริกกุ้งอร่อย ๆ มาเพิ่มรสชาติอาหารมื้อกลางวันด้วย

การประชุมในวันนี้พวกเราแทบไม่ได้ออกจากห้องประชุมไปไหนเลยนอกจากห้องน้ำ เราเริ่มต้นด้วยการช่วยกันตั้งเป้าหมายก่อนว่าอยากให้ทีมสหวิชาชีพจากหลาย DHS ได้อะไรจากการเข้า workshop ของเรา ตอนที่เราอบรมทีมงาน Thai DPP เราใช้เวลา 5 วัน (อ่านที่นี่) แต่ตอนนี้มีเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงกว่า ดังนั้นเป้าหมายจึงต่างกันแน่นอน ครั้งนี้เราต้องการเปลี่ยนมุมมองของคนทำงานรวมทั้งผู้มาเรียนรู้ (กลุ่มเสี่ยง/ผู้ป่วย) จากการสอนไปเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เรียนเพื่อนำไปใช้ได้จริง และให้คนทำงานได้รู้จักทักษะการเป็น facilitator หรือกระบวนกรที่ฟังเป็น มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มาเรียนรู้ได้ ตั้งคำถามถูก จับประเด็นได้ และมีเข็มทิศที่ชัดเจน

กิจกรรมที่เราออกแบบ มีตั้งแต่กิจกรรมซื้อใจผู้เข้า workshop ว่ารูปแบบที่เราเสนอมีประโยชน์กว่าสิ่งที่เขาเคยทำมา ผู้เข้า workshop จะต้องได้ฟัง ได้เห็นอะไรบ้าง ที่จะทำให้รู้สึกอยากกลับไปลงมือทำ การจัดบรรยากาศ (ห้องประชุม) ควรเป็นอย่างไร มีโจทย์อะไรให้เขาคิดหาคำตอบบ้าง จะดึงประสบการณ์เดิมหรือจัดประสบการณ์ตรงให้เขาในเรื่องใดที่จะทำให้เกิดความสนใจว่าถ้าจะสร้างกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเขาจะต้องฝึกทักษะอะไรบางอย่างเพิ่มเติม แล้วเราจะให้เขาได้ทำกิจกรรมอะไรต่อ อย่างไรบ้าง จะหาคนมาเป็นกลุ่มฝึกนำคนอื่น ๆ ทำกิจกรรมได้อย่างไร (เพราะผู้เข้าประชุมมีจำนวนมาก ไม่สามารถให้ทดลองทำกิจกรรมได้ทั้งหมด) คนกลุ่มนี้ควรมีคุณสมบัติอย่างไร


บรรยากาศในห้องประชุม คนยืนคือหมอฝนและน้องนวล คนนั่งคือน้องหลาและน้องนาฏ


น้องนะห์ น้องอุ๊ และน้องนวล


หมอฝนมาประชุมก็ยังมีโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาเรื่องผู้ป่วย น้องนวลพิมพ์สิ่งที่เราประชุมกัน เสร็จงานก็ส่ง email ถึงทุกคนได้เลย


พวกเราคิดเยอะในการออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ ลด/ผ่อนเป้าหมายและกิจกรรมต่าง ๆ ลง เพื่อให้เป็นไปได้จริงตามเวลาที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้ทั้งเราและผู้มาเรียนรู้เครียดเกินไป หมอฝนทำหน้าที่เป็นคนนำการประชุมหลัก เขียนกระดาน วาดผังห้อง ฯลฯ น้องนวลเป็นผู้บันทึกและสรุปข้อมูล ที่เหลือช่วยกันคิดและเสนอแนะ น้องหลาเป็นผู้เสนอว่าโจทย์ต่างๆ ที่เราตั้งไว้นั้น คำตอบจากผู้เข้า workshop จะออกมาแบบไหนได้บ้าง แต่ละคนเอาประสบการณ์ของตนเองมาและใช้จินตนาการถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น คิดกันมากจนช่วงบ่ายรู้สึกล้า แต่งานวางแผนก็เสร็จไปได้พร้อมกำหนดว่าใครจะมาเป็นวิทยากรบ้าง วิทยากรคนไหนมีหน้าที่อะไร ทำงานเป็นกลุ่มกับใคร จะต้องเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ อะไรกันบ้าง

หลังจากนี้เราจะต้องเอาข้อมูลทั้งหมดไปจัดทำให้ชัดเจนเพื่อสื่อสารกับคนทำงานอื่น ๆ งานส่วนนี้ก็ยังต้องมีลำดับว่าใครจะเป็นผู้ดูก่อน – หลัง เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องครบถ้วน


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560

หมายเลขบันทึก: 630124เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2017 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2017 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

DHS ติดเทรนจิงๆคะ ในทุกๆๆงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท