เรียนรู้การบริหารงานแบบสามก๊ก



เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้างานในงานเลขานุการผู้บริหาร งานประชุมและพิธีการ และงานประชาสัมพันธ์ มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง การบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จและการทำงานอย่างมีความสุขเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างวิกฤติตามแนวทางแบบสามก๊ก โดย อาจารย์ ดร.เสรี วงศ์สมฤดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา (ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ) และเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ Panda Education (THAILAND)

การบรรยายพิเศษครั้งนี้มีแนวทางการนำเสนอกระบวนการเรียนรู้การบริหารคน บริหารงาน เทียบเคียงกรณีศึกษาจากละครที่สร้างจากวรรณคดีจีนเรื่อง สามก๊ก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงานผ่านการวิเคราะห์ตัวละครและบทละคร

จากการเข้าร่วมฟังการบรรยาย ทำให้ได้เห็นบทบาทการแสดงของตัวละคร ที่มีความเด่นชัดในตำแหน่งสถานภาพ เช่น เล่าปี่-ประมุข ขงจื้อ-ผู้บริหาร โจโฉ-นายกรัฐมนตรี กวนอู-นักปฏิบัติการ เกิดการเรียนรู้หลักการบริหารงานรูปแบบต่างๆ อาทิ บริหารความขัดแย้ง ซึ่งมีแนวทางของการไกล่เกลี่ยแตกต่างกันตามลักษณะนิสัยของตัวละคร แนวการสร้างองค์กรให้เกิดความสามัคคี เทคนิคการทำงานกับคนที่มีอัตตาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยากรให้แนวคิดหลักการบริหารงานที่สามรถนำมาปรับใช้ได้ง่าย ได้แก่ หลัก 3 ส คือ การมีส่วนร่วม การสร้างความสัมพันธ์ และการส่งเสริมคนดี โดยที่การมีส่วนร่วมนั้นให้คำนึงถึงหลักการวางแผน การตัดสินใจ การแบ่งผลประโยชน์และการประเมินผล การสร้างความสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น การยอมแพ้การโต้เถียงเพื่อรักษาความสัมพันธ์ จะก่อให้เกิดความสามัคคี (ยอมแพ้ศึกแต่ชนะสงคราม) ส่วนการส่งสเริมที่ติดตามมานั้น วิทยากรอธิบายกรณีที่หากองค์กรมีคน 2 คน ดีแต่ไม่เก่ง และ เก่งแต่ไม่ดี เราควรจะส่งเสริมคนดีแต่ไม่เก่งให้มีอำนาจเหนือคนเก่งแต่ไม่ดี ทั้งนี้คนเก่งแต่ไม่ดีสามารถสร้างปัญหาในระยะยาว เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง งานสำเร็จในระยะสั้น ล้มเหลวในระยะยาว วิทยากรยังได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เรื่อง ส่งเสริมคนดี มาให้ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายฟัง ดังนี้

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด

การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี

หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ

ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6

ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512


สิ่งที่ได้เรียนรู้จากตัวละครในสามก๊ก หัวหน้างานประชุมและพิธีการได้นำสรุปถอดบทเรียนจากการฟังบรรยาย ดังนี้

  • ยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงยิ่งต้องอ่อนน้อมถ่อมตน มีคุณธรรม
  • แม้เป็นมิตรทำผิดต้องลงโทษ ศัตรูทำดีมีการให้รางวัล---(แปลงศัตรูเป็นมิตร)
  • ชมในอุโบสถ ด่าในกุฏิ (การชมจะต้องมีความจริงใจ)
  • การบริหารงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการงาน ใช้คนให้ถูกกับงาน
  • ยาดีมักขมปาก เปรียบกับคำวิจารณ์มักขวางหู
  • ชนะการโต้แย้งแค่ครั้งเดียว แต่อาจเสียความสัมพันธ์ตลอดไป
  • ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร “จงลืมง่าย อภัยเป็น”
  • บริหารงานแบบกระจายอำนาจ ให้ลูกน้องได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
  • มีความยุติธรรม รับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ฝ่ายหากเกิดการโต้แย้ง
  • ศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา
  • กฎการเจรจา : ใครมีข้อมูลมากกว่าย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ
  • หลัก 3 ส เพื่อเกิดความสามัคคี
    • ส่วนรวม : ด้านการวางแผน, ตัดสินใจ , แบ่งผลประโยชน์ , ประเมินผล
    • สัมพันธ์ : ยอมแพ้ศึกแต่ชนะสงคราม
    • ส่งเสริม : คนดีแต่ไม่เก่ง (ส่งเสริมคนดีให้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง)
  • คนเก่งแต่ไม่ดี (สร้างปัญหาในระยะยาว หาผลประโยชน์ เน้นระบบอุปถัมภ์ สร้างความแตกแยกในองค์กร)


ขอขอบคุณ ดร.เสรี วงศ์สมฤดี ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้โอกาสการเรียนรู้ที่สนุกสนานเพลิดเพลิน

บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ข้ามสายงานภายในกองกลาง สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 629811เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2017 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2017 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท