TSS Professional Development Workshop : การสะท้อนการเรียนรู้ จากครูสู่ศิษย์


ทั้งหมดนี้คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ที่ทุกคนสามารถนำเอาวิธีการของเพื่อนไปใช้เขียนสะท้อน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนได้ทั้งสิ้น

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งใหม่ที่จะเปิดปีการศึกษาแรกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ดิฉันรับเชิญไปจัด workshop ในหัวข้อ "การสะท้อนการเรียนรู้ จากครูสู่ศิษย์" ให้กับคุณครูรุ่นบุกเบิกที่มีอยู่ด้วยกัน ๓๐ คน ที่วันนี้มาเข้าร่วมกิจกรรมได้ ๑๕ คน


ก่อนหน้านี้คุณครูกลุ่มนี้เคยเข้า workshop ในหัวข้อ "Socratic Teaching" กับ ผศ.นพ.ชัยชนะ นิ่มนวล และ ร่วม workshop "การสร้างห้องเรียนที่มีความสุข" กับคุณครูสัญญา มัครินทร์ มาแล้ว


ดิฉันเริ่มต้นด้วยการเปิดคลิป The Make a Difference Movie เพื่อให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ที่ครูและศิษย์มีต่อกัน และสร้างเพื่อการมองเห็นชีวิตที่เคลื่อนไหวไปตามเหตุปัจจัย


ครูใหม่ : หากเราอยากทำอะไรให้ทำตั้งแต่วันนี้ การเป็นครูไม่ได้สอนวิชาแต่เป็นการดูแลเด็กทั้งชีวิต และไม่ใช่ขีวิตเดียวแต่เป็นร้อยชีวิต มีใครอยากสะท้อน มีคำไหนที่ผุดออกมาจากใจเราระหว่างดูคลิปนี้มั้ยคะ”

ครูเดนท์: รู้สึกว่าเรามาเป็นครูไม่ใช่แค่เรามาสอนเด็กแต่เด็กสอนก็สอนเรา เราโตขึ้นด้วย

ครูแอม : คำหนึ่งตอนสุดท้ายที่บอกว่า “ขอบคุณที่เขื่อในตัวเขา” มีหลายอย่างที่เด็กถูกตัดสิน

ครูบุ๋น : ไม่ได้สอน arithmetic ไม่ได้สอน mathematic แต่สอน “How to teach children”

ครูก้อย : ชอบคำว่า Thank you for believing in me.

ครูบี : เป็นการให้ใจซึ่งกันและกัน ครูให้ใจลูกศิษย์ ลูกศิษย์ให้ใจครู

ครูเอ้ : เป็นเรื่องราวของความรักจากครู ความรู้สึกอยากจะตอบแทนครู เป็นเรื่องจิตใจของครูกับนักเรียนทีมีความรักความเมตตา

ครูใหม่ : ครูสำคัญมากในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการสัมผัสกับชีวิต เพราะชีวิตมีความ dynamic การสะท้อนที่ครูจะสะท้อนอะไร อย่ามองเฉพาะจุดที่เราเห็น ถ้าเราจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การสะท้อนของเราจะเป็นคุณภาพที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน ก่อนอื่นเราต้องมองเห็น dynamic ตัวนี้ให้ได้

ประโยคที่สำคัญจากครูThompson คือ เธอเลิกที่จะสอนวิชา เริ่มที่จะสอนชีวิต สอนเด็กทุกคน

ประโยคสำคัญของหมอTeddy คือ “ขอบคุณที่เชื่อมั่นในตัวเขา” และ ประโยคสำคัญที่ครูตอบกลับ คือ “ครูได้เรียนรู้ว่าครูจะสอนคนอย่างไร ก็เมื่อได้พบลูกศิษย์คนนี้ที่ทำให้ครูได้รู้จักกับการสอนที่แท้จริง”

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะชวนคิดในช่วงนี้คือ ทั้งศิษย์และครูต่างก็เป็นภาพสะท้อนของกันและกัน


ช่วงย้อนรอยชั้นเรียน





ครูใหม่ให้คุณครูจัดกลุ่มกลุ่มละ ๓ คน เข้าไปเรียนรู้ชิ้นงานเด็ก ที่จัดแสดงอยู่ในห้องข้างๆ เพื่อรับรู้ร่องรอยที่ปรากฎอยู่บนกระดาษและซึมซับบรรยากาศในขณะที่นักเรียนชั้น ม.๕ โรงเรียนรุ่งอรุณ กำลังเรียนรู้ และสร้างผลงานการเรียนรู้เหล่านั้นขึ้นมา

แล้วให้คุณครูนำร่องรอยเหล่านั้นกลับมาเล่าสู่กันฟังว่า คำที่สะดุดใจและพบบ่อยในชิ้นงานคืออะไร ชั้นเรียนนี้เรียนอะไร ผู้เรียนมีความรู้สึกเช่นไร บรรยากาศการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ฯลฯ โดยให้เวลา ๒๐ นาที



คุณครูนัท - นันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี บันทึกภาพนิ่ง / คุณครูตัง - พงศ์ศักดิ์ ตะวันกาญจนโชติ บันทึกภาพเคลื่อนไหว


ช่วงการสังเกตชิ้นงาน


ครูใหม่ “ห้องเรียนเป็นอย่างไรบ้างคะ”

ตัวแทนกลุ่มที่ ๑ ครูไม้เอก

“มีคำที่แสดงถึงบรรยากาศออกมาเยอะมาก เช่น ชื่อครูใหม่ เป็นลักษณะการสร้างสรรค์งานที่เกิดจากการที่ดูงานของเก่า แล้วมาสร้างเป็นของใหม่ เลียนแบบจากงานเก่า สร้างสรรค์เป็นงานใหม่ เนื้อหาไม่บังคับ จึงเป็นเนื้อหาที่ออกมาจากตัวเด็ก มีการ์ตูนบรรยายภาพ เนื้อหาน่าจะเป็นเรื่องโคลงกลบท ที่มีรูปแบบต่างๆกันไป ชอบที่เอากลบทมาตีตารางเป็นแพทเทิร์น มองเห็นว่ามากกว่าการเรียนภาษาไทยธรรมดา เหมือนได้เรียนคณิตศาสตร์ ดูแพทเทิร์น ดูเมทริกซ์ รู้สึกเจ๋งดีครับ”

ครูก้อยเสริมว่า “บรรยากาศ เป็นห้องเรียนที่อิสระกับนักเรียน นักเรียนเลือกหัวข้อเอง แต่งเองเต็มที่ บางแผ่นมีรูป บางแผ่นเป็นโคลงทั้งหมดเลย”


ตัวแทนกลุ่มที่ ๒ ครูแอน

“สะดุดใจมีหลายคำ แวบแรก คือแพทเทิร์นของโครงประเภทต่างๆ เงียบเชียบ ครูใหม่ มาตรงเวลา บางชิ้นงานเป็นเรื่องเล่าตั้งแต่แรกที่ครูสั่งงานจนจบ ชั้นเรียนเรียนการเขียนโคลง พบความรู้สึกของผู้เรียนหลายความรู้สึก เช่น เบื่อ ยาก ร่ำไห้ ง่วง บรรยากาศเป็นบรรยากาศสบายๆ ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองถนัด เช่น ถนัดวาดรูปทำโปสการ์ด บางคนเป็นความเรียง”


ตัวแทนกลุ่มที่ ๓ ครูเบสท์

“ในฐานะของคนที่ไม่เชี่ยวชาญภาษาไทย คำสะดุดใจ คือคำว่า เรียน มีคำนี้ทุกแผ่น อาจจะเยอะด้วยการเป็นคอนเซ็ปที่เด็กเข้าใจได้ว่าเป็นการเรียนรู้ หรือ เดาว่าเป็นการกำหนดคำเพื่อให้เด็กสร้างสรรค์ สนุก มีทั้งในมิติของการกำหนดให้ หรือเป็นความรู้สึกของเด็ก คำถามเรียนอะไร ได้แค่ว่าเป็นการแต่งกลอนภาษาไทยความรู้สึกของผู้เรียน มีทั้งสนุก ชอบ ท้าทาย ซับซ้อน มีความยากประมาณนึง แต่งกลอนได้หลายบท หลายบาท ถ้าไม่รู้สึกสนุกและท้ายทายคงทำไม่ได้ถ้าไม่รู้สึกสนุกและท้ายทายคงทำไม่ได้ มีความบรรยากาศ มีความหลายหลาย ชอบไม่ชอบ ภาพในห้องคงมีความเป็นมิตร ใครอยากวาดรูป ระบายสี ออกแบบต่างๆ หรือพูดถึงเรื่องอื่นๆ ก็ได้ มีความคึกคัก สีสัน”


ตัวแทนกลุ่มที่ ๔ ครูเดนท์

คำสะดุดใจ “ครูใหม่” และพบคำที่เป็นคำซ้อนมากมาย แวบแรกไม่ได้คิดว่าเด็กเรียนภาษาไทย นึกว่าเป็นการหาแพทเทิร์น

ผู้เรียนน่าจะรู้สึกเพลินๆ เป็นกันเอง โอเพน ฟรี ภายใต้กรอบอะไรบางอย่าง ทำให้เด็กสร้างสรรค์ได้

บรรยากาศมีสามคำ ท้าทาย เวียนหัว ลึกลับ










ครูใหม่เฉลย

  • ชั้นเรียนนี้ไม่มีการกำหนดคำให้ ผู้เรียนเลือกใช้คำที่ตรงตามความรู้สึก และประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเองบรรยายออกมา ที่เลือกใช้กลบทเพราะกลบทเป็นเครื่องฝึกปัญญา คนไทยในสมัยโบราณฉลาดกว่าเราเยอะ ที่สามารถสร้างเครื่องฝึกที่ทำให้คนสามารถมีปัญญาพลิกแพลง แก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยความรู้ความคิดและปฏิภาณปัญญาเช่นนี้ออกมาได้
  • นอกจากนี้ยังมีสุนทรียภาพอย่างมาก ได้หมดทั้งความรู้ ความงาม และความจริง ซึ่งเป็นหัวใจในการสอนผู้เรียนไม่ว่าวิชาใดก็ตาม
  • ในการสะท้อนเรามักจะตั้งตนว่าครูสอนอะไร แต่ที่จริงควรมองการสะท้อนว่าเด็กได้เรียนอะไรและเรียนเรื่องนั้นอย่างไร
  • กระบวนการของการเรียนรู้ คือจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนเดินทางไปกับเรา ทำอย่างไรให้เปลี่ยนลบเป็นบวก ทำอย่างไรให้เด็กค่อยๆ เดิน จนในที่สุดอย่างที่มีคนพูดว่า“แต่งได้ยังไงสิบบท”
  • จะไม่เห็นว่าเด็กคนไหนเก่งที่สุด อ่อนที่สุด จุดยากคือทำอย่างไรให้เด็กเติบโตเต็มตามศักยภาพ ครูจะทำอย่างไรให้เด็กเดินทางไปที่จุดนั้น
  • ชั้นเรียนที่น่าสนใจน่าจะมีลักษณะเช่นนี้หรือเปล่า
  • การเรียนภาษาไทย ถ้าจำได้ว่าตอนเด็กๆ จะบอกว่าภาษาไทยมีเอกลักษณ์ เป็นภาษาเหมือนเสียงดนตรี เป็นภาษาที่เป็นคำโดด ที่เราอาจจำไม่ได้ แต่การที่เด็กทำภาษาไทยด้วยเครื่องมือกลบทนี้ เด็กจะเข้าใจได้ทันทีว่าการทำให้ภาษาไทยมีความสละสลวยจะต้องมีคำซ้ำ คำซ้อน เป็นการนำคำมาสลับที่ มาซ้ำ นี่แหละเป็นการเข้าถึง content หลักทั้งหมดผ่านการลงมือกระทำ
  • ครูต้องมองให้ออกว่าความรู้ที่เราส่งผ่านให้กับผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนจะกระทำได้ไม่เหมือนกัน แต่เราต้องอ่านให้ออกมองให้ได้ว่าการเติบโตของเด็กแต่ละคนเป็นเช่นไร


มีตัวอย่างจากงานชิ้นหนึ่ง ที่หลายคนกล่าวถึง เขียนไว้ว่า





ชั้นเรียนที่น่าสนใจน่าจะมีลักษณะเช่นนี้หรือเปล่า


เราไม่ได้สอนแต่วิชา แต่เราสอนความเป็นคน และสอนให้คนสู้ชีวิต การที่เด็กต้องฝืนตัวเองและเอาชนะอุปสรรคได้ เด็กจึงจะประสบความสำเร็จ จะต้องอยู่ในทุกวิชา เป็นการเปลี่นผ่าน เป็นการเดินทาง เราเกือบพ่ายแพ้ แล้วก็ชนะในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราบรรลุ

  • สิ่งที่เราต้องเปิดใจกว้าง จะทำอย่างไรให้เด็กเรียนได้มากที่สุด
  • จะเรียนอะไรไม่สำคัญเท่ากับบรรยากาศในชั้นเรียนและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ที่เอื้อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ครูควรสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ผ่อนคลาย ง่ายๆ สบายๆ ไม่กดดัน
  • ชั้นเรียนที่มีลักษณะเป็นปัญญาชน ในชั้นเรียนจะไม่เป็นลักษณะของอำนาจ มีความเคารพซึ่งกันและกัน สิ่งที่เราเป็น เรารัก และเราศรัทธากับสิ่งที่เราสอนจะนำไปสู่ความศรัทธาของผู้เรียน
  • กระบวนการเรียนรู้ที่ท้าทายกับวัยรุ่น ต้องผ่านการคิดที่ซับซ้อน
  • การออกแบบการเรียนรู้ที่ดีทำให้เด็กพัฒนาเอง
  • สิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวันนี้คือ ครูต้องเห็นพัฒนาการของเด็กจากผลงานเป็นการวัดผลทางอ้อมที่จับต้องได้
  • การประเมินที่ดูจากพัฒนาการของเด็กให้ความสำคัญกับ Individual learning
  • หัวใจของการเรียนรู้และการสะท้อนการเรียนรู้อยู่ที่ individual learning เราเห็นเค้าแต่ละคนทะลุปรุโปรงมั้ง ทั้งพฤติกรรม ชีวิตจิตใจ ความรู้ความสามรารถที่เด็กมี ใช้อะไรบ้าง มีอะไรบ้าง อะไรที่ใช้ดีแล้ว
  • individual learning เห็นเด็กชัดเจน เห็นทางเดินของความรู้ เห็นทักษะที่จะพัฒนาต่อ และเห็นวิธีสร้างการเรียนรู้ รวมถึงเห็นว่าจะไปต่อได้อย่างไร
  • การใช้สื่อช่วยสอนได้อย่างลื่นไหล เหมาะสม มีเครื่องมือเยอะ รู้สึกว่านักเรียนได้เยอะมาก เด็กทุกระดับในชั้นเรียนต้องรู้สึกสนุกกับการเรียนเรื่องนี้
  • การสื่อสารสองทางเห็นการยอมรับ ก่อให้เกิดการเรียนรู้และความเคารพ

ครูต้องพาผู้เรียนและพาชั้นเรียนไปที่สถานการณ์ของชั้นเรียนที่มีความเคารพ รับฟัง และงอกงาม โดยเฉพาะกับโรงเรียนแบบนี้ ทดลองสร้างชั้นเรียนที่น่าสนใจ เพื่อให้เด็กทุกคนเกิดการเรียนรู้


คำถาม

  • ชั้นเรียนที่มีความเคารพและการเรียนรู้ร่วมกันในบริบทของโรงเรียนสาธิตฯ จะเป็นอย่างไร
  • วิสัยทัศน์ของโรงเรียน(พัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ขึ้นเป็นลำดับขั้น พึ่งพาตัวเอง เป็นคนดีของสังคม) สามารถอยู่ได้ในทุกวิชา ภายใต้วัฒนธรรมโรงเรียนว่า “สังคมแห่งความเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน” ซึ่งหน่วยสังคมที่เล็กที่สุดคือชั้นเรียน ครูกับเด็ก และ เด็กกับเด็ก ดังนั้นครูจะต้องสร้างชั้นเรียนที่มีความเคารพและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
  • ยุทธศาสตร์ของโรงเรียนสาธิตฯ คืออะไร
  • การที่เด็กนำสิ่งที่เรียนไปต่อยอดโดยที่ไม่ได้มีคะแนน แสดงว่าความรู้นั้นอยู่กับเด็กแท้จริง
  • การสะท้อนของเด็กสำคัญ สิ่งที่เด็กสะท้อนบอกเราคืออะไร
  • ถ้าเราอ่านbeingของการอ่านงานออกจะรู้ว่าเด็กมัธยม... สามารถทำให้ความงามปรากฎออกมาในทุกครั้งที่เด็กลงมือทำ
  • มีเด็กไม่น้อยที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์แต่ครูทำให้เด็กเรียนได้
  • เราทำให้เด็กเห็นตัวเองได้หรือเปล่า
  • เป้าหมายของการเขียนสะท้อนผล จะเขียนอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองและเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน โดยตัวผู้เรียนเองและโดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และมีความเหมาะสมกับยผู้เรียนเป็นรายบุคคล
  • ดังนั้นครูจึงต้องแน่ใจก่อนว่า ได้เห็นความก้าวหน้าของผู้เรียนเป็นรายบุคคลมาโดยตลอด ทั้งในการเรียนรู้โดยลำพัง เรียนรู้เป็นคู่ เรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย เรียนรู้เป็นกลุ่มใหญ่ ได้ติดตามความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งการเรียนรู้ในชั้นเรียน นอกชั้นเรียน และผลการเรียนรู้ที่ปรากฏในหน่วยวิชาอื่นๆ


แนวทางการเขียนสะท้อนผล

  • ขอบเขตของการสะท้อนผล พฤติกรรม การเรียนรู้ ความรู้ความคิด ทักษะ จุดเด่นของงานในส่วนที่ทำได้ดี ประเด็นที่ควรพัฒนาและวิธีฝึกฝน
  • การเขียนสะท้อนผลเริ่มจาก ครูชื่นชม..มีความรู้กว้างขวางในเรื่อง มีความกระตือรือร้นที่จะให้ความร่วมมือในเรื่อง...และเข้าใจใน...ได้อย่างรวดเร็ว เขียนเรื่อง...ได้อย่างน่าอ่าน ทำงานอย่างประณีต
  • การให้กำลังใจ คือชื่นชมในความก้าวหน้า ความตั้งใจ สังเกตความก้าวหน้าในเรื่อง มีทักษะทางสังคมที่ดีขึ้น มีความกระตือรือร้นและมีทักษะการเรียนรู้ในเรื่อง... ดีขึ้น กำลังเรียนรู้เรื่องของการ..เริ่มดูแลตัวเองได้ในเรื่อง...มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
  • สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ครูเขียนสะท้อนหรือบอกกล่าวกับผู้เรียนต้องออกมาจากหัวใจที่มีความกรุณา อย่าเขียนแบบ copy paste เพราะทั้งครูและเด็กจะไม่ได้อะไรเลย


ฝึกปฏิบัติ

ให้เวลาเขียน comment ถึงเพื่อน โดยให้เวลา ๒๐ นาที

ช่วงเวลามอบของขวัญ : อ่านงานที่เพื่อนเขียนสะท้อนถึงตัวเองอย่างใคร่ครวญ แล้วบอกว่าวิธีที่เพื่อนเขียนชื่นชมเราดีอย่างไร เราจะนำไปใช้ต่ออย่างไร




  • รู้สึกว่ามีความสร้างสรรค์ในการเขียนชื่นชมและการสะท้อน เริ่มจากความคิด แววตา ด้วยภาพ ให้กำลังใจรวมถึงพูดส่งที่ควรพัฒนาในการค้นหาความถนัดของตนเองให้เจอต่อไป ปิดด้วยการชื่นชมอีกครั้งทำให้เรารู้สึก fulfill
  • น้องเขียนชื่นชมในเชิงพฤติกรรม เป็นภาพเหตุการณ์ รู้สึกดีที่ทำไปแล้วน้องรู้สึกดีกับพฤติกรรมที่เราทำ พูดถึงประเด็นที่เราทำงานและเห็นสิ่งที่เราทำว่าเป็นอะไรแล้วนำไปทำต่อ
  • สไตล์เป็นกันเอง มีการเล่าถึงเหตุการ สถานการณ์ เป็นการชื่นชม ให้กำลังใจในตอนหลัง นำการเขียนสไตล์นี้ไปปรับใช้กับนักเรียน
  • เขียนชื่นชมชี้ชัดในพฤติกรรมที่เราสะท้อนตนเองเหมือนกัน เป็น positive feedback
  • ลักษณะการเขียนชี้ถูก ไฮไลท์จุดเด่น ชี้ถูกแม้นเรื่องนั้นจะเป็นข้อจำกัด สะท้อนเรื่องบวกในด้านที่ลบ
  • อ่านแล้วดีจังเลย เขาเขียนด้วยวีธีการแสดงให้เห็นคุณค่าในตัวเราที่มีต่อเขา รู้สึกว่าเรามีมุมที่เรามีค่ากับคนๆ หนึ่ง เวลาที่เขาจะบอกสิ่งที่อยากให้พัฒนาหรือปรับปรุงแต่ใช้แสดงความเป็นห่วง เขาไม่ได้เป็นคนพูดเยอะ แต่มีความละมุนละไมในหัวใจ




  • เขียนพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม บอกสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เรามีคุณลักษณะบางอย่างแฝงอยู่ เช่น ความรับผิดชอบ
  • พูดสั้นๆ แต่ให้กำลังใจ
  • เป็นการชมและบอกเล่าถึงสิ่งที่ประทับใจในตัวเรา ให้กำลังใจและข้อเสนอแนะ
  • ชอบที่ศิเขียนเหมือนเป็นบูเล็ทในความเป็นตัวเรา ชอบการให้กำลังใจในตอนสุดท้าย ภาพแรกที่เราเจอกัน
  • มีจุดแปลกๆในตัวเราบางอย่างที่ไม่ได้ใส่ใจ แต่เป็นจุดดีที่เขาบอก ซึ่งเป็นคำบ่นของเราเองแต่เขาให้กำลังใจ ไม่ต้องไม่มั่นใจทำได้ดีแล้ว รู้สึกขอบคุณที่เห็นในจุดเล็กๆ ที่เราไม่มั่นใจ
  • ใช้คำพูดตรงๆ รู้สึกดี อยากให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีแนวทางให้เราด้วย
  • เขียนเหมือนเรียงความเล่าให้ฟังว่าที่ทำงานร่วมกันมารู้สึกอย่างไรบ้าง เล่าในสิ่งที่ประทับใจที่เราไม่เคยรู้มาก่อน สิ่งที่รู้สึกขอบคุณคือมีบางประโยคที่รับรู้ว่าเรากำลังทำอยู่ ทั้งในงานและครอบครัว เขาให้กำลังใจที่หลายๆ ครั้งที่หนักและหนื่อยก็ยังมีคนข้างหลังเช่นเขาและคนอี่นเป็นกำลังใจให้ รู้สึกดีมาก
  • เก็บรายละเอียดดีมาก ย้อนเมื่อครั้งแรกที่รู้จักกันเล่าในสิ่งที่ดีของเราออกมา ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ได้คิดกับตัวเองแบบนั้น ทำให้ผมเห็นคุณค่าของตนเอง ว่าทำสิ่งไหนได้ดี ตอนท้ายมาเป็นกำลังใจในสิ่งที่ผมทิ้งไป เตือนให้อย่าลืม ให้ฝ่าฟันไปด้วยกัน รู้สึกเต็มดี
  • ใช้ภาษาที่เป็นพี่น้องคุยกัน เห็นความจริงใจ เนื้อความเป็นการชื่นชม ได้เห็นพัฒนาการของตนเอง ประทับใจ ยังไม่ได้เขียนเรื่องที่ต้องปรับปรุง


ทั้งหมดนี้คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ที่ทุกคนสามารถนำเอาวิธีการของเพื่อนไปใช้เขียนสะท้อน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนได้ทั้งสิ้น


คุณครูเล็ก - ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ บันทึก map


ช่วงปิดวง สะท้อนว่าชั้นเรียนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

  • ชอบคลิปที่ครูใหม่นำมาให้ดู เพราะที่เราทำเราสะท้อนตามที่เราคิด ครูใหม่ได้ให้แรงบันดาลใจ ให้แผนที่ที่เราจะนำไปทำต่อได้
  • รู้สึกว่าครูใหม่มาถูกจังหวะ เป็นจังหวะที่กิจกรรมครอบครัวสาธิตเสร็จ เรากำลังจะต้องทำเรื่องนี้ (เขียนสะท้อน) ทำให้เรามีแนว และวิธีการเชิงปฏิบัติที่นำไปใช้ได้
  • เรื่องการเขียนสะท้อน ก่อนหน้านี้เรากำลังถามกันอยู่ว่าจะเขียนให้เด็กอย่างไร ชอบช่วงดูงานเด็ก จะเห็นว่างานไม่มีกรอบ ก่อนหน้านี้เคยเห็นแต่งานที่บอกว่าให้อิสระในการทำงาน แต่จริงๆ ก็มีกรอบ น่าเก็บเอาไว้เป็นตัวอย่างในการทำในชั้นเรียนของตัวเอง
  • ชอบ ขอบคุณครูใหม่ ตัวเองเป็นคนชอบเขียนอยู่แล้วแต่เป็นการเขียนตามอารมณ์ความรู้สึก เห็นว่าเป็นการเขียนสะท้อนด้านลบที่สามารถโอบอุ้มหัวใจเด็กได้แต่การเขียนในวันนี้เป็นการนำความรู้ที่ได้ในวันนี้นำไปสานต่อในงาน



คุณครูนุช - ชัญญานุช คมกฤส บันทึก









ความเห็น (1)

เป็น workshop ฝึก reflection ที่ยอดเยี่ยม   และผู้เข้าร่วมได้เติมพลังจิตวิญญาณครูได้อย่างดีเยี่ยม

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท