เล่าถึงค่ายอาสาต้นกล้าพันธุ์ดี#1


ก้าวแรกและก้าวต่อไป

การเดินทางของการขับเคลื่อนโครงการเด็กดีมีที่เรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังคงดำเนินต่อไป ปัจจุบันเกิดชมรมที่ชื่อว่า "ต้นกล้าพันธ์ุดี" เกิดจากกลุ่มนิสิตโครงการเด็กดีที่เรียนและนิสิตจิตอาสาจากสำนักศึกษาทั่วไป มาร่วมมือกันจัดตั้งขึ้น เพื่อขยับขยายวงรอบแห่งการเรียนรู้ให้ออกไปกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากเเรกเริ่มเดิมทีมีพลังน้อย เปลี่ยนผ่านมาถึงปัจจุบันเริ่มมีพลังมากยิ่งขึ้น เราต้องปณิธานร่วมกันว่า จะเคลื่อนเรื่อง การเข้าใจความฝัน กระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่ เเละหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในปีแรกของชมรมเเละโครงการเราจัดกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ เทศกาลคืนถิ่นทำดี ค่ายต้นกล้าอาสาพาน้องพอเพียง ค่ายรับน้องสร้างสรรค์โครงการเด็กดีมีที่เรียน ค่ายอาสาต้นกล้าพันธุ์ดี(ล่าสุด) เเละเวทีเติมพลังที่พึ่งจัดไปเมื่อไม่นานมานี้

ในบันทึกนี้ ขอเล่าถึงค่ายอาสาต้นกล้าพันธุ์ดี ที่จัดไปเมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ โรงเรียนดงใหญ่วิทยาคม รัชมังคลาภิเษก อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม จัดโดยโครงการเด็กดีมีที่เรียนและชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมน้องๆเข้าสู่มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะเข้าโครงการ เเนะเเนวความฝัน พัฒนาทักษะชีวิตเเละทักษะการเรียนรู้กับนักเรียนแกนนำในโรงเรียนทั่วมหาสารคามเเละโรงเรียนศูนย์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เด็กเข้าร่วมโครงการเกือบร้อย ๙๗ คน พี่เลี้ยงโครงการประมาณ ๔๐ คน ค่ายนี้จัดขึ้น ๓ วัน ๒ คืน โดยในวันแรกเน้นสานสัมพันธ์ละลายพฤติกรรม วันที่สองเน้นทักษะการเรียนรู้บนฐานปัญหา(PBL) เเละวันที่สามเน้นแนะแนวความฝัน โดยได้แนวทางมาจากค่ายรับน้องสร้างสรรค์โครงการเด็กดีมีที่เรียน

ก่อนทำค่าย ยอมรับว่าค่ายนี้มีการเตรียมความพร้อมจำกัดมาก เพราะเนื่องด้วยในช่วงระหว่างนั้นพี่เลี้ยงโครงการเเต่ละคนอยู่ในช่วงสอบ เวลาว่างของเเต่ละคนน้อยมาก เเต่ก็ลงชื่ออยากมาค่ายหลายสิบคน เรื่องการเตรียมอุปกรณ์เเละกิจกรรม ใจอาสาล้วนๆ ผมเองขอชื่นชม พี่ท๊อป พี่ริน พี่เนส พี่อุ้ม พี่เมย์ พี่กิ๊ก ที่สละเวลามาเตรียมค่ายก่อนน้องๆ ให้เรื่องอุปกรณ์-เสื้อในค่ายนี้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น เเละในช่วงก่อนวันค่ายที่ต้องประชุมกัน จังหวัดมหาสารคาม ฝนตหนักทั้งวัน ๓ วันซ้อนกัน ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญมากขึ้นไปอีก ตลอดจนช่วงนั้นเป็นช่วงที่ปิดเทอมใหม่ๆซึ่งหลายคนกลับบ้านเเล้ว ทำให้ช่วงเตรียมค่ายเป็นไปอย่างยากลำบากมาก ช่วงนั้นก็ตระหนักว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้นการจัดการที่สามารถทำได้ คือ การเตรียมค่ายเเละกิจกรรมให้ เเม้ว่าจะหย่อนไปหน่อยๆในฐานะที่เป็นพี่ก็เต็มใจให้ครับ "ค่ายหน้าพี่จะเริ่มถอยเเล้วนะ ให้น้องขึ้นแทน ตามยุคสมัย"

วันแรกเน้นกาย เป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์น้องเเละน้อง โดยพยายามละลายความเป็นตัวตนของน้องที่เข้ามาร่วมค่าย เพราะเเต่ละคนมีบทบาทเเละเป็นผู้นำในโรงเรียน สำคัญคือ ต้องละลายหัวโขนสิ่งเหล่านี้ออกไปให้มากที่สุด "เอาหัวคิดออกก่อน เเล้วใช้หัวใจ ไม่งั้นกิจกรรมเดินลำบาก" เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการ Check in ว่าเเต่ละคนอยากเป็นอะไรในอนาคตเเละมาค่ายนี้คาดหวังอะไรบ้าง จากที่น้องเล่าส่วนใหญ่อยากเป็นครู พยาบาล เเละวิทยาศาสตร์ ฯ สิ่งที่คาดหวังในค่ายนี้ ส่วนใหญ่อยากรู้แนวทางการรับเข้าโครงการเด็กดี อยากเรียนรู้เรื่องการรับเข้ามหาวิทยาลัย เเละอื่นๆ จากนั้นเรามาวิ่งเล่นหากันด้วยกิจกรรมรู้จักกัน ดอกไม้ ๕ กลีบ เเล้วมีเพลงสันทนาการเพื่อความสนุก ช่วงเช้าเราเล่นไปถึงเที่ยง ก็กินข้าว "เป็นกับข้าวค่ายที่อร่อยมากครับเเม่ครัว" จากนั้นช่วงบ่ายเราลงฐาน Walk rally ๕ ฐาน เน้นทักษะชีวิตและการทำงานร่วมกันให้สำเร็จ ในช่วงกลางวันนั้นเน้นให้สนุกเฮฮา กลางคืนก็สนุกเฮฮาอีกด้วย "ละครของวิเศษ" เชิญพุ่มสลากเด็กดี ให้น้องๆเเสดงละครโดยผูกเรื่องกับของวิเศษที่กำหนดให้ ๕ เรื่อง เเละตามที่เห็นละครของน้องๆออกมาดีมากทุกๆกลุ่ม สะท้อนว่าเขาได้ใช้ความเป็นผู้นำของเขาเเสดงออกมาชัดเจนมาก
จบวันแรกช่วงดึกเรามา AAR กันค่อยข้างหนัก เพราะ B
AR กันน้อย โดยเฉพาะการสะท้อนปัญหาเเละออกแบบกิจกรรมในวันถัดไป ปัญหาที่อยากให้ปรับสำคัญ คือ พี่ๆควรลงไปสนิทกับน้องมากกว่านี้ ปัญหาการจ่ายเงินค่าเสื้อ การเเบ่งคน เเละน้องหลายคนไม่เข้าใจชัดเจนในจุดประสงค์ค่าย ซึ่งออกแบบใหม่ คือ ใช้กระบวนการที่พี่ลงกับน้องมากขึ้น แบ่งคนอย่างชัดเจน ชี้เเจงจุดประสงค์ค่าย เป็นต้น ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ของค่าย ที่ต้องสะท้อนปัญหาเเละออกแบบกิจกรรมเพื่อแก้ไขอย่างทันท่วงที "พยายามให้น้องๆพี่เลี้ยงเห็นบรรยากาศของการออกแบบ ระดมปัญหาสู่การแก้ไขร่วมกันมากที่สุด" ให้เขาจดจำว่าพี่เคยพาทำแบบนี้ ไม่มากก็น้อย

วันที่สองเน้นคิด ในวันที่สองนี้ กิจกรรมแรก คือ ตื่นเช้าขึ้นมาใส่บาตรรับศีลรับพรจากพระสงฆ์ จากนั้นไม่นานก่อนเริ่มพิธีเปิดงานในช่วงสายๆ เราให้เด็กๆทำภารกิจส่วนตัว เเละสันทนาการเตรียมความพร้อมก่อนพิธีเปิดโครงการ โดยมีคณะคุณครูจากโรงเรียนใกล้เคียงมาร่วมด้วย ในวันที่สองนี้เรียนรู้เรื่องการเรียนรู้บนฐานปัญหา(3PBL) วิทยากรโดยครูเพ็ญศรี ใจกล้า เเละครูสุกัญญา มะลิวัลย์ พาเด็กๆใช้เครื่องมือชุมชน ๗ ชิ้นเช่น แผนที่เดินดิน ประวัติศาสตร์ชุมชน ผังเครือญาติ ระบบสุขภาพชุมชน เป็นต้น เเล้วลงพื้นที่ไปศึกษาชุมชนดงใหญ่ เเล้วมาสรุปเขียนตามรูปแบบชุดเครื่องมือชุมชน ของ อาจารย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ จากที่เด็กสะท้อน เเต่ละกลุ่มใช้เครื่องมือกลุ่มละ ๓ ชิ้นลงไปศึกษา ผลคือเด็กมีความเข้าใจในขั้นต้น เเต่หลายกลุ่มก็ยังไม่เข้าใจในบางเรื่อง เช่น การนำข้อมูลจากเน็ตมาเขียนแทนการถามชุมชนโดยตรง เเต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมได้ เด็กเเต่ละกลุ่มสะท้อนได้ดีมาก เเม้ผู้ฟังรู้สึกจะเหนื่อยล้าด้วยระยะเวลายาวนาน เเต่ผลที่เกิดมันเกิดกับผู้พูดขณะที่นำเสนอทั้งมุมมองใหม่ บทเรียน เเละคำวิจารณ์จากอาจารย์ต๋อย ฤทธิไกร จากนั้นสรุปกิจกรรมเล็กน้อยๆ ก่อนกิจกรรมงานวัดในช่วงเย็น วันนี้เท่าที่สังเกต เด็กพึ่งเคยเรียนรู้เครื่องมือนี้ เเละเขาเป็นผู้นำในโรงเรียน ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องใหม่เเละท้าทายต่อตัวเขามาก หลายคนสนใจ กระดาษขึ้นมาจด สอบถามเพิ่มเติม เเละอยากเอาเครื่องมือไปทำต่อก็มี
จากนั้นไม่นานเข้างานวัด เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กที่เหนื่อยมาเเล้วนั้นวัน ให้สนุก ผ่อนคลาย มีการประกวด The Mask Dek-D "เด็กค่ายนี้ร้องเพลงเพราะมาก"
มีซุ้มต่างๆได้แก่ ซุ้มลิงตีฉาบ ซุ้มโยนไข่ ซุ้มล้วงไห ซุ้มรำวง เเละซุ้มน้ำดื่ม จากนั้นเราเข้ากิจกรรมจุดเทียนเติมฝัน เป็นพิธีเทียนที่ร้องเพลงเเล้วให้กำลังใจน้องๆเพื่อให้มีเเรงใจไปสู่ฝัน ปิดท้ายด้วยกรแฮปปี้เบิร์ดเดย์น้องค่าย "มีแฮปผิดด้วย ๑ คน อันนี้ผมรู้คนเดียว" จากนั้นไม่นานก็ AAR ประจำวัน ประชุมกันเพื่อเตรียมค่ายวันต่อไป โดยวางแผนกันว่าในวันสุดท้ายจะจัดแบบคืนถิ่นทำดีของโครงการเด็กดีมีที่เรียน ในวันที่สองนี้ผมรู้สึกว่าพลังของพี่ๆเพิ่มมากขึ้น อาจเพราะพี่ว่าที่ปี ๑ เริ่มปรับตัวได้

วันที่สามเน้นใจ ในวันที่สามนี้เน้นการเสริมใจในการไปสู่ความฝัน โดยการจัดกลุ่มเเนะเนวน้องๆตามสายอาชีพ ได้แก่ สายครู สายวิทย์ สายบัญชี สายไอซีที สายการเมืองการปกครอง เเละสายเทคโนโลยี จากการสังเกตเป็นกิจกรรมที่น้องๆสนใจมาก เพราะพี่จะเล่าทุกเรื่องที่รู้ให้น้องฟังเกี่ยวกับสายอาชีพนั้นๆ ว่า เตรียมสอบอย่างไร มีระบบการรับเข้าอย่างไร เรียนเป็นยังไง เเละจบเเล้วทำงานอะไรได้บ้าง น้องๆหลายคนสงสัยจะถามด้วยความเป็นกันเองเพราะเป็นวงย่อย จากนั้นไม่นานเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกเเขนให้กำลังใจน้องๆ สุดท้ายปิดด้วยกิจกรรมแลกดอกไม้ก่อนจากลา ในวันที่สามนี้ผมเห็นความสำเร็จของวันแรกเเละวันที่สองชัดเจนมาก จากวันแรกเราคาดหวังอยากให้น้องรู้จักกัน ปรากฎว่าเด็กสนิทมาก วันสองให้เรียนรู้เครื่องมือชุมชน เด็กถามเข้ามามากเพราะเขาสนใจอยากเข้าโครงการด้วย ในวันที่สามมันส่งส่งผลต่อเเรงใจในการก้าวต่อ ฉะนั้นกิจกรรมเเนะเเนวกลุ่มสายอาชีพ สู่ขวัญเเละแลกดอกไม้ เป็นกิจกรรมสร้างเเรงบันดาลใจให้ออกไปค้นหาตนเองเเละกลับไปทำโครงการความดีในพื้นที่ของตนเอง ก่อนจะเลิกกิจกรรมทุกคนจะได้ "จดหมายระบายฝัน" คนละฉบับกลับบ้านไปอ่านเล่นที่บ้านให้คิดถึงกันเเละกัน

จากค่ายนี้ในฐานะพี่เลี้ยงของพี่เลี้ยงโครงการ/ชมรม สิ่งที่ผมเห็นสำคัญ มีดังนี้

  • พลังของพี่ๆชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี ที่ได้รุ่นใหม่เข้ามาช่วยกิจกรรม "มีพลังมาก" ขอชื่นชมทุกๆคนครับ
  • พี่ๆสามารถปรับตัวได้ด้วยประสบการณ์เดิม ทุกคนเข้าใจกิจกรรมได้ง่ายจากการที่เคยผ่านมาเเล้ว พี่เลี้ยงโครงการล้วนผ่านกิจกรรมรูปแบบเดียวกันมาเเล้วทั้งสิ้น เเม้จะมีการเตรียมตัวน้อยก็สามารถที่จำนำกิจกรรมรูปแบบนั้นๆได้
  • วัฒนธรรมองค์กรชัดเจนขึ้น รูปแบบกิจกรรมของโครงการเเละทางชมรมชัดเจนขึ้นในมิติวัฒนธรรมองค์กร เช่น ฐานท้าฝัน บายศรีผลไม้ แนะแนวสายอาชีพ แลกดอกไม้แทนใจ พิธีเทียน งานวัด เเละที่สำคัญ คือ การสรุปบทเรียน AAR เป็นต้น
  • เรามีเนื้อหาหลักที่จะเรียนรู้เป็นต้นแบบ ทั้ง๓วันนี้ เราเเบ่งเป็น วันแรกเรียนรู้เพื่อน วันสองเรียนรู้ชุมชน เเละวันสามเรียนรู้ตนเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราทำประจำ ซึ่งทั้งสามอย่างนี้สามารถจัดให้สมดุลกันได้ ให้เป็นรูปแบบของค่ายต้นกล้าอาสาปีต่อไป
  • พี่ๆควรได้รับการเติมเต็ม โดยน่าจะจัดเวทีให้พี่เลี้ยงโครงการทุกคนได้เรียนรู้การเป็นกระบวนกร(Facilitator) อย่างเต็มที่ครับ


หมายเลขบันทึก: 628940เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2017 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2017 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณบันทึกดี ๆ อ่านแล้วมีมีความสุข และประเทืองปัญญา ... ชอบมากครับ ตรงที่บอกว่า วันแรกเน้นกาย วันที่สองเน้นคิด และวันที่สามเน้นใจ .... เข้าใจว่า นี่แหละคือตัวอย่างของกิจกรรมนิสิตยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้บูรณาการครบถ้วนเป็นทั้ง ๓ ฐานแห่งการเรียนรู้

แวะมาทักทาย ให้กำลังใจคนทำงานจ้าาา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท