ประสบการณ์จากการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ให้กับนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ ๑ สถาบันอาศรมศิลป์ (๑)


โจทย์ที่น่าสนุก และท้าทายอาจารย์ผู้สอนก็คือ จะสร้างรายวิชาของตนอย่างไรให้สอดคล้องไปกับแนวทางของสถาบัน และทำวิชาของเราให้มีชีวิต มีคุณค่า และเปี่ยมไปด้วยความหมาย ทั้งต่อตัวชีวิตของผู้เรียน ต่อตัววิชาชีพ และต่อการสืบสานภูมิปัญญาภาษาไทยที่ตัวผู้สอนมีความศรัทธาอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อ ๓ ปีก่อน รศ.ประภาภัทร นิยม โทรศัพท์มาชวนให้ฉันไปจัดการเรียนการสอนภาษาไทยพื้นฐาน ให้กับนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ ๑ หลักสูตรปริญญาตรี ของสถาบันอาศรมศิลป์ ที่เพิ่งเริ่มเปิดเป็นปีแรก ฉันตอบรับทันทีเนื่องจากนึกในใจว่า "น่าสนุก" เพราะอาจารย์ให้อิสระทางความคิดในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ (เหมือนเช่นที่อาจารย์ได้ให้โอกาสฉันสร้างและสอนหลักสูตรภูมิปัญญาภาษาไทยให้กับนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนรุ่งอรุณเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว)


การเรียนการสอนสถาปัตย์ที่สถาบันอาศรมศิลป์ มีความแตกต่างจากสถาบันอื่นๆ ตรงที่ ให้โอกาสในการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง เพื่อการสร้างงานออกแบบที่มีชีวิต มีคุณค่า และมีความหมาย


ดังนั้น โจทย์ที่น่าสนุก และท้าทายอาจารย์ผู้สอนก็คือ จะสร้างรายวิชาของตนอย่างไรให้สอดคล้องไปกับแนวทางของสถาบัน และทำวิชาของเราให้มีชีวิต มีคุณค่า และเปี่ยมไปด้วยความหมาย ทั้งต่อตัวชีวิตของผู้เรียน ต่อตัววิชาชีพ และต่อการสืบสานภูมิปัญญาภาษาไทยที่ตัวผู้สอนมีความศรัทธาอยู่อย่างเต็มเปี่ยม


วิชาที่ฉันสอนมีชื่อว่าทักษะการฟัง การอ่านเอาเรื่อง การพูด และการเขียนภาษาไทย (ASI ๑๐๔๐๔)

บันทึกต่อไปนี้ มาจากการถอดรหัสการเรียนการสอนของฉันตลอดทั้งภาคเรียน ที่จัดทำขึ้นโดย ครูปาด - ศีลวัต ศุษิลวรณ์ และคณะครูโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่ขอเข้าไปสังเกตชั้นเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๙


การสอนภาษาไทยพื้นฐานให้กับ (ว่าที่) สถาปนิก

เนื้อหาที่ใช้ในการสอน

๑. วิชาสุนทรียศาสตร์ เกี่ยวกับความดี ความงาม และความจริง เรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร มีจริงหรือไม่ และสัมผัสได้อย่างไร

๒. วิชาศิลปวิจักษณ์ เป็นการสัมผัสถึงความดี ความงาม และความจริงของศิลปะแขนงต่างๆ

๓. วิชาสุนทรียศาสตร์ในสถาปัตยกรรมในพื้นที่

กระบวนการเรียนรู้

๑. constructive learning ระดับบุคคล

๒. constructive learning ระดับกลุ่ม

๓. aesthetic สุนทรียภาพ

สมรรถนะที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน

๑. จิตใจ แรงบันดาลใจ คุณค่า (affective)

๒. ความคิด ความรู้ (cognitive)

๓. ทักษะ (psychomotor)


สิ่งที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากการจัดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว

- เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งสร้างขึ้นจากสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวหรือสิ่งที่มองข้ามไป

- ให้ผู้เรียนเข้าไปค้นพบตัวเองและแรงบันดาลใจภายใน

- ได้ฝึกการสังเกต และการคิดที่ประณีต

- ได้แรงบันดาลใจจากแรงบันดาลใจของคนอื่น

- ฝึกทักษะการถ่ายออก จนกระทั่งผู้เรียนได้ค้นพบศักยภาพ คุณค่าในตนเอง ซึ่งเป็นการเข้าถึงตัวตนภายในที่ซ่อนอยู่

- ได้สร้างการเรียนรู้ของตนเอง ตามที่ตนเข้าใจ

- ได้เห็นความมีสุนทรีย์ ความงดงาม ได้ความสุขในการทำงาน

- ได้เห็นคุณค่าในตนเอง และคุณค่าของสิ่งรอบตัว ได้ออกแบบงานอย่างมั่นใจ และสร้างคุณค่าในงานออกแบบนั้นๆ รวมทั้งสร้างคุณค่าต่อพื้นที่

- สมรรถนะทั้ง ๓ ด้านที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีการ “ยกระดับซึ่งกันและกัน” มีการสะท้อนคิด การคิดต่อยอด โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการร้อยเรียง ผ่านสุนทรียะ ประสาทสัมผัสต่างๆ ไปสู่การกระตุ้นแรงบันดาลใจและการเห็นคุณค่าได้

- ได้ความรู้ทางศิลปะ เช่น วัฒนธรรมไทย สังคม วิถีชีวิต ศิลปะ ไปในการเรียนรู้ภาษา

- ได้เรียนภาษาผ่านความงาม คือ “การเอาภาษาไปเรียนกับเนื้อหาที่มีความงดงาม” มีการเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ภาษา เช่น เรียนภาษาผ่านเนื้อหาที่พลิกแพลงเพื่อสร้างภาษาที่ฉลาด และเมื่อนำภาษาไปเรียนผ่านเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้งมีความงาม มีสุนทรียะ มีความลึกซึ้ง ภาษาก็จะออกมาในทางงดงาม ประณีต ลึกซึ้งได้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสรรค์โจทย์แต่ละโจทย์ที่มีรสชาติแตกต่างกันไป ให้โอกาสผู้เรียนได้ชิมรสโจทย์ เพื่อถ่ายทอดภาษาออกมาได้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกมา

หมายเลขบันทึก: 628289เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2017 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2017 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท