๑๓. ความประหยัดของหลวงปู่


ปิดเทอมปลายในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ผมเรียนจบมัธยมปีที่ ๓ ได้วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ใกล้บ้านไม่กี่วัน หลวงปู่ก็มาถึงบ้านในตอนสาย ท่านบอกว่าเมื่อคืนจำวัดที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) ฉันเช้าแล้วก็มาเพื่อพาผมไปวัดป่าหนองยาว

ผมรีบจัดเสื้อผ้าซึ่งมีไม่กี่ชุดใส่กระเป๋าโดยไม่ลืมหยิบหนังสือใส่ไปด้วย เพียงไม่กี่นาทีผมก็สะพายย่ามหลวงปู่และหิ้วกระเป๋าเดินตามหลวงปู่เข้าเมืองวารินชำราบ

ปกติของพระป่าหากต้องไปค้างแรมที่อื่น สิ่งที่ต้องนำไปด้วยทุกครั้งเท่าที่ผมจำได้ คือ บาตร ผ้าสังฆาฏิ และธรรมกรก แต่วันนั้นผมไม่เห็นจึงถามหลวงปู่ขึ้นว่า

“บาตรหลวงปู่อยู่ไหนครับ”

“ฝากทายกวัดให้เขาเอาไปที่คิวรถแล้ว” หลวงปู่ตอบ ซึ่งทำให้ผมคิดได้อย่างหนึ่งว่า พระป่าหากเดินทางไกลโดยไม่มีทายกไปด้วยนั้น จะลำบากมาก เพราะท่านไม่จับเงิน

จากบ้านถึงคิวรถโดยสารไปอำเภอเดชอุดม ระยะทางราว ๒ กิโลเมตรเศษ เรามาถึงก่อนเที่ยง แต่รถออกเวลาบ่ายสองโมง หลวงปู่บอกกับทายกเมื่อเจอกันแล้ว

“ฝากกระเป๋าเสื้อผ้านี้ด้วย” ท่านชี้มาที่กระเป๋าเสื้อผ้าของผม แล้วพูดต่อ “มีเวลาเกือบสามชั่วโมงรถถึงจะออก อาตมาจะไปเมืองอุบล เอาไฟฉายให้เขาซ่อม”

ทายกวัดรับคำ แล้วล้วงกระเป๋าหยิบเงินให้ผมจำนวนหนึ่ง

คิวรถวารินชำราบก่อนนี้อยู่บริเวณศาลเจ้าวาริน ซึ่งใกล้ๆ กับที่จอดรถเมล์สีเทาที่จะข้ามไปยังตัวเมืองอุบลราชธานี ดังนั้น จึงใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ผมกับหลวงปู่ก็มาเดินในตลาดเมืองอุบลฯ

หลวงปู่เอาไฟฉายอันเก่าให้ร้านแล้วร้านเล่าดู ทุกร้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ซ่อมไม่ได้ จนร้านสุดท้ายซึ่งผมไม่ทันนับว่าเป็นร้านที่เท่าไหร่ หลวงปู่ก็ยอมจำนนซื้อไฟฉายใหม่ แต่ก็ไม่วายบ่นว่า

“ก็แค่สวิตซ์ชำรุดนิดหน่อย อย่างอื่นดีอยู่แท้ๆ ก็ต้องทิ้ง ทำขึ้นมาบอบบางเพื่อขายเอาเงินแท้ๆ”

รถโดยสารวารินชำราบ-เดชอุดม สมัยนั้น เป็นรถ ๖ ล้อ ที่เรียกว่า "รถคอกหมู" เป็นรถกระบะใหญ่ มีหลังคาแข็งแรง ใช้เป็นที่วางกระเป๋าและสัมภาระต่างๆ ในที่โดยสารมีเก้าอี้ยาว ๔ ตัว วางชิดขอบซ้ายขวาฝั่งละตัว และวางกลางชิดกัน ๒ ตัว คนนั่งกลางจะนั่งหันหลังชนกัน หันหน้าไปทางคนนั่งขอบ จึงมีทางเดินซ้ายขวาพอเบียดสวนทางกันได้

พอรถออกพ้นเขตชุมชน ชายหนุ่มก็ปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคา ทำให้ที่นั่งว่างพอนั่งได้สบายๆ สามารถเอี้ยวตัวหรือชะโงกดูวิวข้างทางได้สะดวก แต่หากมองไปทางด้านท้ายจะเห็นแต่ฝุ่นสีแดงม้วนตัวฟุ้งกระจายไล่ตามรถ

“เอาหนังสือออกมาอ่านสิ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์” หลวงปู่ที่นั่งใกล้ๆ เตือน

(ขอบคุณภาพประกอบจากกูเกิ้ล)

หมายเลขบันทึก: 628285เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2017 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2017 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Yes. The makers of consumers goods had discovered that they can make more money by making things that would fit the purpose but not work for long. We can circuit boards that would corrode, nonstick pans that burn on high heat (and release that nonstick chemicals to give us cancers), metal tools with weak points, ...

Sad, the days of quality goods are gone!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท