​การสร้างสุขให้กับชีวิต


การสร้างสุขให้กับชีวิต

ดร. ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

--------------

การที่จะสร้างสุขให้กับชีวิตนั้น ไม่ใช่ว่า เราต้องมุ่งหาเงินทอง
ให้ได้มากเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการสร้างแรงใจให้กับชีวิตว่า
“ยินดีตามที่เราหามาได้ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไร เพราะนี้คือ
ความพยายาม
สูงสุดแล้ว”

ความพอเพียง หรืออีกนัยหนึ่งคือความสันโดษ (ภาษาพระ)คือ
ความยินดีพอใจตามมีตามได้ พอใจตามกำลัง (ความรู้ความสามารถ)
และพอใจตามความจำเป็นและตามความเหมาะสมของเรา

กล่าวกันว่า การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนปัจจุบัน
ถูกเหตุปัจจัยต่างๆ หลายอย่างมาครอบงำและเบียดเบียนอยู่ทุกวันทุกเวลา
ซึ่งล้วนแต่ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งเพราะมีสิ่งมา
ยั่วยุล่อใจให้เกิดความอยากได้ อยากมีเกินตัว อยากใช้จ่ายเกินตัว
เพราะวัตถุนิยมเข้าครอบงำถ้าเราไม่สามารถใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างถ่องแท้
แล้วไซร้ ย่อมจะทำให้เราขาดความพอเพียงไปได้ และจะทำให้เอาชีวิตไป
ไม่รอด ทำนองว่า “ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวเองไม่รอด”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรที่ทุกคนจะต้องหันกลับมาทบทวนถึงแนวทาง
แห่งการประพฤติปฏิบัติของตน เพื่อประคับประคองตนเองให้รอดพ้นจาก
สิ่งที่มายั่วยุให้เกิดความอยากได้เกินตัว หรือความพอดีความพอเพียง
ความสันโดษ ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม คือ ความสันโดษ (พอเพียง)
ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำชาวโลกให้แสวงหาความสุข
โดยการถือ สันโดษ (พอเพียง)

คำว่า “สันโดษ” แปลว่า ความยินดี หรือ ความพอใจ ความยินดี
ด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยความเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
และโดยชอบธรรม ความสันโดษ ความพอเพียงโดยทั่วไปมี 3 ประการ คือ

1. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามมีตามได้

2. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังความรู้ความสามารถ

3. ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามความเหมาะสม
มีอรรถาธิบายดังนี้

1. ยถาลาภสันโดษ ความยินดีตามที่ตนแสวงหาได้มา
ได้สิ่งใดมาหรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย
หยาบหรือประณีตแค่ไหนก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น
ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่ง
ที่ตนไม่ได้มา ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้ หรือเกินไปกว่าที่
ตนจะพึงได้โดยถูกต้องชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาสิ่งของ
ที่คนอื่นได้ จนเกิดความริษยาหรือความโลภจนเกินตัวอันจะทำ
ให้เกิดความทุกข์ใจ

2. ยถาพลสันโดษ ความยินดีตามกำลัง (ความรู้ความสามารถ)
คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยของตน
มีความพอใจในการจัดสรรหน้าที่การงาน จัดสรรการ
ศึกษาศิลปวิทยา และจัดสรรคุณธรรมเพื่อปฏิบัติให้สมกับ
กำลังสติปัญญาของตนเอง เลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัดแล้ว
ตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปตามกำลังแต่ละ อย่างด้วย
ความขยันหมั่นเพียรและวิริยะอุตสาหะแห่งตน

3. ยถาสารุปสันโดษ ยินดีตามเหมาะสมหรือสมควรแก่ตน
หรือยินดีตามที่เหมาะสมกับภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต
และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน ไม่นึกคิดอยากได้
ทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าเกินฐานะของตนเอง บางครั้งแม้จะได้
สิ่งที่เกินฐานะของตนเองมาก็ไม่ลุ่มหลงว่าเป็นสิทธิ์ที่ควรจะได้
กลับเห็นว่าสิ่งที่ได้มานั้นล้ำค่า ควรให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมดูแลรักษา
หรือบริโภคใช้สอยด้วย โดยการทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง
และแก่สังคมรอบข้าง

จะเห็นว่า ความพอเพียงหรือความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
เป็นการสร้างความสุขให้แก่ชีวิต การรับและการได้มาหากไม่มีสติก็
อาจลุ่มหลงไปตามอำนาจของ โลภะ อย่างไม่มีขอบเขต
“ความรู้จักพอก่อสุขทุกสถาน” หรือ “ยินดีในสิ่งที่ได้
พอใจในสิ่งที่มี คือการเป็นเศรษฐีอย่างยิ่ง”

พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นคำเตือนสติให้ตนรู้จักความสุขที่แท้จริง
ดังคำพูดที่ว่า คนที่รวยที่สุดคือ คนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี และ
คนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่รู้จักพอ ถ้าทุกคนต่างมี ความสันโดษ
พอใจยินดีใช้สอยวัตถุสิ่งของต่างๆ อย่างมีสติ ไม่สุรุ่ยสุร่าย
ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร
มีสติปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรอง
รับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ก็จะสามารถ
สร้างความอยู่ดีกินดีเป็นเหตุให้เกิดความสุขขึ้นได้

ดังนั้น ความสันโดษ หรือความยินดีพอใจตามมีตามได้
ตามกำลังและความจำเป็นของตน พร้อมทั้งมีขยันหมั่นเพียร
หาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต ไม่เป็นภัยต่อตนเองหรือ สังคม
เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้วต้องรู้จักเก็บออมระมัดระวังในการใช้จ่าย
ไม่ก่อให้เกิดหนี้สิน ก็จะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข ความสันโดษ
จึงเป็นคุณธรรมที่ทุกคนควรพินิจพิจารณา น้อมนำมาประพฤติ
ปฏิบัติให้เกิดเป็นนิสัยติดตัวโดยแท้ เพราะคนที่ยินดี
พอใจตามที่ตนหามาได้ จะเป็นเศรษฐีตลอดกาล

-------------------








หมายเลขบันทึก: 628071เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2017 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2017 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท