​ข้อเรียนรู้จากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา



วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๐ มีการประชุมประจำปีของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งมีรายละเอียดของการประชุมในเว็บไซต์ ที่นี่

ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ข้อเรียนรู้จากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อนโยบายการศึกษาสำหรับคนไทย ๔.๐ ใช้เวลา ๓๐ นาที จึงนำ PowerPoint ที่ใช้ประกอบการบรรยายมา ลปรร. ที่นี่ โดยดูไปพร้อมกับฟังเสียงบรรยาย ที่นี่

ก่อนการบรรยายของผม เป็นรายการ เรื่องเล่าผสมสื่อ “การเรียนรู้บนเส้นทางสายเพาะพันธุ์ปัญญา” เล่าเรื่องราวหลักการและการดำเนินการของโครงการได้ชัดเจนมากในเวลา ๑ ชั่วโมง


ในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๐ ผมได้รับอีเมล์ดังนี้


ถึงทุกท่าน

ในนามพี่เลี้ยงทุกศูนย์ ผมขอขอบคุณ สกว. และคุณหมอวิจารณ์ ที่ช่วยให้งานเมื่อวันเสาร์ลุล่วงไปด้วยดี

ที่ส่งต่อท้ายมานี้เป็นข้อเขียนสรุปการเรียนรู้การเป็นครู พพปญ. เชิงประจักษ์ในตัวครู ที่ปรากฏใน Facebook มันทำให้เราเห็นผลของกระบวนการที่หลากหลายในนั้น อยากให้คนที่คิดโครงการคูปองครูได้ทราบว่า การพัฒนาครูไม่ใช่ event ของหลักสูตรที่เสนอเข้ามาทุกทิศทางอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ ความสำเร็จอยู่ที่ครูเป็นผู้ถูกฝึกในหน้าที่ครู อยู่ที่งานในโรงเรียน อยู่ที่ความต่อเนื่องที่มีพี่เลี้ยงช่วย coach อยู่ที่การมีงานให้นักเรียนทำ (RBL) แล้วให้ครูเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน อยู่ที่ผู้บริหารสนับสนุน ฯลฯ

ขอขอบพระคุณโรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน ผู้บริหารทุกท่านที่ได้ให้โอกาสได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทย


จากเวทีเพาะพันธุ์ปัญญาสำหรับเด็กไทย 4.0 และรางวัลครูปัญญาทีปกร ด้าน " ครูผู้มุ่งมั่นสร้างคุณค่าทางจิตวิญญาณให้ลูกศิษย์" ที่ฉันได้รับและในฐานะครูแกนนำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน ขอเล่าเรื่องราวที่ตกผลึกในความทรงจำและความคิดตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ทำงานในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาด้วยคาดว่าข้อเขียนต่อไปนี้จะเป็นรอยจารึกในการทำงานของโครงการนี้ที่สร้างปัญญาจากกระบวนการ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการเรียนปริญญาอีกใบหนึ่งเพราะระยะเวลาสี่ปีนั้นเท่ากับเวลาที่ใช้เรียนในระดับการศึกษาหนึ่งๆเลยทีเดียว ผิดแต่ว่าในการทำโครงการในครั้งนี้ช่างเข้มข้นในเชิงปฏิบัติ งานที่หนักหนา ใจที่ตั้งมั่น ปัญหาที่เจอทุกปัญหามันเกิดขึ้นและได้ใช้ในชีวิตจริง สนามนี้ไม่ใช่สนามทดลองในความรู้สึก ถึงแม้เป็นการทดลองแต่กับทุกคนที่เกี่ยวข้องนั้นพบว่าผลของการทำงานนั้นเกิดขึ้นจริงและเชื่อว่าฝังรากลึกลงในจิตวิญญาณของครูและผู้ที่ทำงานในโครงการนี้ทุกคน สี่ปีที่ทำงานในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาของฉัน....


ปีที่ 1 ปีแห่งการหว่านเมล็ด เป็นห้วงเวลาที่ฉันได้เรียนรู้หลักการของโครงการฯเป็นปีที่ฉันได้ตระหนักในวิชาชีพครูที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างสูง ฉันได้เรียนรู้กระบวนการจิตตปัญญาซึ่งทำให้ฉันเกิดพัฒนาการในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน ฉันระลึกถึงห้องเรียนจิตตปัญญาศึกษา ฉันได้รู้จักกระบวนการ ได้มองเข้าไปและเห็นความสำคัญของจิตวิญญาณของตัวฉัน และผู้คน จากการทำกระบวนการในครั้งนั้น ฉันจำกิจกรรมหนึ่งที่ฉันร้องให้จากการฟังเรื่องราวของครูท่านหนึ่งในกระบวนการ deep listening และฉันได้เรียนรู้ว่าถ้าคุณต้องการให้ใครมีความสุขแค่คุณฟังเขาด้วยหูและหัวใจเท่านั้น อีกกระบวนการหนึ่งที่ประทับใจคือสัตว์สี่ทิศกระบวนการที่ทำให้ฉันรู้และเข้าใจในความแตกต่างของมนุษย์และพร้อมจะเดินไปกับความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความเมตตา


ฉันจำภาพเคลื่อนไหวในห้องอบรมวันแรก กับการสอนการคิดเชิงเหตุและผลของท่านอาจารย์สุธีระ ในครั้งนั้นฉันกระตือรือร้นสนุกไปกับการอบรมเชิงปฏิบัติการได้เรียนรู้การจัดกระบวนการในห้องเรียน การคิดเป็นลำดับเพื่อตรรกะที่ถูกต้อง


ในปีแรกฉันกับครูเพาะพันธุ์ปัญญากลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันทำงานหนักกับการจัดกระบวนการให้นักเรียนห้อง 2/2 เราได้เรียนรู้เรื่องราวของชีวิตผ่านกลุ่มครูและนักเรียนในห้องเรียน ด้วยหัวใจของครูนักพัฒนาที่กล้าต่อสู้ฟันฝ่ากับอุปสรรคนานาอย่างไม่ยอมแพ้ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า"เราทำงานเพื่อเด็ก" ด้วยศรัทธาในหลักการของเพาะพันธุ์ปัญญาทำให้เราทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันจนเกิดผลงานที่ภาคภูมิใจคือเราสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์ให้นักเรียนกลุ่มหนึ่ง และในครั้งนั้นฉันรู้แล้วว่าฉันมาถูกทาง ในเส้นทางของการพ้ฒนาคนคือการต้องอาศัยการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆอย่างบูรณาการ ความอดทน และต้องทำงานเป็นทีม ฉันเรียนรู้แล้วว่าการผ่านวิกฤติปัญหาต่างๆในช่วงปีแรกนั้นมีคุณค่าต่อการพ้ฒนาในด้านต่างๆสูงมากในเวลาต่อมา


ปีที่ 2 ต้นกล้าที่เติบโต ความสำเร็จที่เกิดจากการพ้ฒนานักเรียนปีที่ 1ทำให้เกิดองค์ความรู้และสร้างการตัดสินใจที่ประกอบด้วยข้อมูลรอบด้านที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานในปีแรก ในปีที่ 2 เราได้ข้อคิดและวิธีการในการพ้ฒนานักเรียนได้พอสมควรแต่สิ่งที่ควรมีในการทำงานปีที่ 2 คือการนำเอาหลักการ ไม่ว่าจะเป็น การคิดเชิงเหตุผล การถามคือสอน การพาผู้เรียนทำงานวิจัยที่มีกระบวนการตามหลักการ โดยนักเรียนเป็นผู้วิจัย ปี 2 เราพยายามเรียนรู้เขียนผังเหตุผลแม้จะยากแต่อยากเรียนรู้และเข้าใจให้ได้เทียบเท่าท่านอาจารย์สุธีระ ครูเพาะพันธุ์ก็ได้แนวทาง แต่ละคนก็เก็บองค์ความรู้และประมวลผล ต่างคนต่างคิดแล้วนำเสนอเป็นแนวทางและวิถีของตนเอง แน่นอนว่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันย่อมเกิดการคิดที่แตกต่างแต่เราได้เรียนรู้ว่าการทำงานด้วยความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้เพื่อเป้าหมายของพวกเรา ปี 2 เราทำโครงงานที่ละเมียดขึ้นการค้นคว้าหาความรู้จากขุมความรู้ทุกแหล่งได้รับการนำมาใช้การทำโครงงานของนักเรียนได้ใช้ความคิดเชิงเหตุผลและสร้างตรรกะที่ถูกต้องมากขึ้น


ปีที่ 3 ต้นกล้าที่กล้าแกร่ง ถ้าเปรียบเสมือนต้นไม้ปีนี้เพาะพันธุ์ปัญญาโตขึ้น รอดชีวิต และออกดอกออกผลให้รู้ได้ว่าในอนาคตโรงเรียน ชุมชน และสังคมได้เก็บเกี่ยวดอกผลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้แน่นอน โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาโรงเรียนจักรคำคณาทร ได้ทำงานต่อไปอย่างอดทนหรือจะเรียกได้ว่าก้มหน้าก้มตาทำงาน ด้วยความรู้สึกว่าเราต้องพัฒนาขึ้นให้ได้ ตอนนี้คู่แข่งไม่ใช่คนอื่นแต่เป็นตัวเองที่จะต้องพาหัวใจออกมาเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ต้องยกระดับความคิด แม้การอยู่นิ่งๆก็เป็นการทบทวนความคิดว่าเราคิดถูกหรือไม่ ความคิดในแนวที่เราคิดมันตอบโจทย์ในแนวทางที่ถูกต้องมั้ย ความคิดที่ผิดพลาดจะได้รับการค้นพบอย่างรวดเร็วด้วยการคิดเชิงเหตุผล โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาสร้างเป้าหมายและวิธีการให้เราเดินทางแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นในการทำงานในโครงการนี้และชอบมาก คือความเป็นอิสระของวิธีการ การประมวลองค์ความรู้ในทุกขั้นตอนของการทำงานในโครงการทำให้ติดนิสัยนักคิดมาตลอดสี่ปี และสิ่งที่ตามมาคือการพยายามหาตรรกะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คิด ในปีที่ 3 นักเรียนโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นด้วยประสบการณ์ของครู การวางแผนการทำงานเป็นขั้นตอนได้นำมาใช้ในการเรียนการสอน ครูมองทะลุถึงเป้าหมายของผู้เรียนจนแทบอยากจะให้มีเวลาในการทำงานมากกว่านี้และเมื่อจบปีการศึกษา การสะท้อนคิดของนักเรียนต่อการทำโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาคือสิ่งที่ครูได้เห็นผลงานชิ้นเยี่ยม การพัฒนานักเรียนในปีที่ 3 นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง


ปีที่ 4 ช่วงเก็บเกี่ยว ปีที่สี่ของการทำงานในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาความเครียดและความกังวลเริ่มผ่อนคลายลง การนำเอาประสบการณ์การพัฒนานักเรียนในปีที่ผ่านมานั้นส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนฉันได้เฝ้ามองผลผลิตของต้นกล้าที่แข็งแกร่งด้วยความภาคภูมิและสำนึกถึงบุญคุณของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา แม้ว่าโครงการนี้ตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อการแก้ปัญหาทางการศึกษาของไทยแต่ด้วยวิธีการที่ได้รับการหล่อหลอมนั้นได้ส่งผลต่อการคิดและการดำเนินชีวิตส่วนตัวของครูและนักเรียนในโครงการอย่างสูง ผลที่ตามมาคือการได้รับการเชื่อถือในวิธีการของการทำงาน องค์กรสามารถพึ่งพาประสิทธิภาพและกระบวนการทำงานของครูและนักเรียนในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อนำไปพัฒนาและแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้ต่อไป


ขอขอบพระคุณโรงเรียนจักรคำคณาทร ผู้บริหารทุกท่านที่ได้ให้โอกาสได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทย


ขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ท่านอาจารย์ไพโรจน์ คีรีรัตน์ ศาสตร์ที่อาจารย์ได้ส่งมอบให้ครูและนักเรียนนั้นได้นำไปใช้ด้วยความตั้งใจ ต่อไปนี้จะแตกดอกออกผลพัฒนาต่อไปด้วยจิตสำนึกด้วยความรับผิดชอบต่อปัญหาการศึกษาไทยเหมือนที่ท่านอาจารย์ทั้งสองได้ตั้งใจทำงานนี้ให้พวกเราเห็นและท่านได้ยืนหยัดด้วยความมุ่งมั่น ประสบการณ์ทั้งมวลที่ท่านอาจารย์ได้ให้นั้นได้ถูกนำไปใช้แล้วในสี่ปีที่ผ่านมาและประจักษ์ชัดในวิธีการเหล่านั้นว่าได้ผลมากมายและเป็นรูปธรรม


ขอขอบพระคุณศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ท่านอาจารย์ชุติมา คำบุญชูและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านได้เป็นกัลยาณมิตรและตัวอย่างที่ดีในการนำทีมพวกเราทำงานด้วยการประสานงานที่ยอดเยี่ยม ศูนย์พี่เลี้ยงได้ดูแลและเอาใจใส่จนพวกเรามีพลังใจในการทำงานฮึดสู้ทุกครั้งเมื่อเจอปัญหาและตั้งหลักต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคได้เพราะกำลังใจจากคณะอาจารย์ศูนย์พี่เลี้ยง


ขอขอบพระคุณธนาคารกสิกรไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทุนวิจัยที่ท่านได้ให้กับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญานั้นจะได้รับการสานต่อปณิธานและเป้าหมายที่มีคุณค่า จุดนี้จะเป็นก้าวที่จะเดินนำการศึกษาไทยเพื่อการสร้างสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต สิ่งตอบแทนที่ครูจะคืนให้ได้คือการสร้างคนเพื่อก้าวเข้าใกล้สังคมในอุดมคติให้มากที่สุด

--

สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ม. สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา 90112



ต่อมา อ. พิทักษ์ โสตถยาคม แห่ง สพฐ. ได้ส่งอีเมล์ตอบ ดังนี้

เรียน อาจารย์สุธีระ และอาจารย์ ทุกท่าน

  • สิ่งปรากฎแสดงถึงความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาครู ที่เชื่อมโยงกับฝีมือครูโดยดูที่นักเรียนและ "ผลิตผล/ โครงงาน" ที่นักเรียนสร้างขึ้น
  • จากข้อค้นพบ เช่น ครูเป็นผู้ถูกฝึกในหน้าที่ครู อยู่ที่งานในโรงเรียน อยู่ที่ความต่อเนื่องที่มีพี่เลี้ยงช่วย coach อยู่ที่การมีงานให้นักเรียนทำ (RBL) แล้วให้ครูเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน อยู่ที่ผู้บริหารสนับสนุน + high expectations, high support ที่คุณหมอวิจารณ์เคยเสนอแนะไว้เมือวันเสาร์ + แนวทางที่โรงเรียนในเครือข่ายนอกกะลา (ลำปลายมาศพัฒนา)+ เพลินพัฒนา ฯลฯ หากเผยแพร่ให้ ร../ เขต ทราบและนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของแต่ละโรงเรียนหรือเขตจะมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด
  • โดยนำข้อคิดที่คุณหมอวิจารณ์ที่กล่าวว่า อยากเห็นการทำทั้งโรงเรียน ผมคิดว่าหากให้ ผอ... (ที่สนใจ) เป็นผู้นำดำเนินการ และนำข้อค้นพบจากงานวิจัย RBL +ข้อค้นพบจากงานวิจัยอื่นๆ ที่จำเป็น (เพิ่มเติม) ไปส่งเสริมให้ครูนำไปให้นักเรียนใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้ โดยครูทุกคนในโรงเรียน หรือครูส่วนใหญ่ในโรงเรียน เราจะฝากความหวังและเชื่อมั่นใน ผอ.ร.ร. ได้เพียงใด ...ผมคิดว่าน่าเปิดโอกาสให้ ผอ.ร.ร. เสนอตัวมาเป็นผู้นำครูในเชิงวิชาการเช่นนี้ครับ โดยมีแหล่งเรียนรู้ หรือระบบการสนับสนุนแนวคิด วิธีทำงาน (เช่น Clip VDO ใน Youtube ของ อ.สุธีระ เป็นต้น) และเวทีแลกเปลี่ยนของ ผอ.ร.ร. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ ผอ.ร.ร. เป็นระยะๆ (เพื่อให้ ผอ.ร.ร.ได้พัฒนาการทำหน้าที่ที่ท้าทายได้)
  • ประเด็นที่อาจขาดความเข้มข้น และแตกต่างจากการเคลื่อนโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา คือ "ครูเป็นผู้ถูกฝึกในหน้าที่ครู" เพราะ ผอ.ร.ร. อาจไม่สามารถฝึกครูได้อย่างที่ อ.สุธีระ ทำให้ครูในโครงการ จะทดแทนได้ด้วยสิ่งใด เช่น จะใช้พลังของการเรียนรู้ร่วมกัน/ PLC ของครูในโรงเรียนได้หรือไม่, หรือจะให้เขาเชิญอาจารย์ใน 8 มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงไปเป็นโค้ช, หรือจะให้เขาแสวงหาโค้ชเองแต่ให้ "พาทำ" ไปในลู่ที่เป็นเป้าหมายของโรงเรียน ซึ่งกำหนดจากแนวคิดของการให้นักเรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือการเรียนแบบ RBL เช่นโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
  • สมมติว่า เป็นไปได้ ผมคิดว่า เป็นการค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน โดย
    • เริ่มจากการเห็นประโยชน์และคุณค่าของ ผอ...เอง (ผมได้เรียนรู้จากเครือข่ายโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่เป็นโรงเรียน สพฐ. หาก ผอ.ตระหนัก และต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จะสามารถนำแนวคิดทั้ง จิตศึกษา, Problem-based Learning, PLC ไปใช้ในโรงเรียนและสร้างการเปลี่ยนแปลงนักเรียน และภาพรวมของโรงเรียนทั้งระบบได้)
    • เชื่อมั่น ไว้วาง และเปิดโอกาสให้เรียนรู้พัฒนาเอง
    • ใช้โรงเรียนเป็นฐาน
    • ต้นสังกัดให้การสนับสนุน (ไม่ใช่การสั่งการ แต่สนับสนุน ให้โรงเรียนได้เรียนรู้อย่างเข้าใจก่อน แล้วแจ้งความจำนงมาว่าต้องการนำไปใช้จริง เมื่อโรงเรียนมีผลปฏิบัติดีก็แบ่งปันสู่โรงเรียนอื่นให้ "โรงเรียนต้นเรื่อง" ได้ภูมิใจ)
  • แนวคิดเบื้องต้นของผม หากจะขยายวิธีปฏิบัติที่ดี/ ข้อค้นพบ สู่โรงเรียนอื่น ดังกล่าว จะพอได้หรือไม่ โดยเริ่มที่ผู้นำโรงเรียน ...แต่ก็ต้องเผื่อใจให้เขาค่อยๆ เรียนรู้ไปครับ ...ผมกำลังมองหาช่องทางช่วยเผยแพร่และดำเนินการในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องอยู่ครับ แม้ไม่ได้มีงบประมาณแบบโครงการพัฒนาครู/ คูปองครู" ครับ

อาจารย์คิดว่าเป็นไปได้ไหม และจะทำให้สิ่งที่อาจารย์ปั้นแต่งมา "เสียของ" หรือไม่ครับ ...ผมลองคิดต่อจากสิ่งที่พบในวันเสาร์ครับ

ขอบคุณครับที่ให้ร่วมเรียนรู้

พิทักษ์



ดร. สุธีระตอบดังนี้

คุณพิทักษ์

เราตั้งเป้าว่าอีก 2 ปีที่เหลือใน phase 2 จะสร้างโรงเรียนที่เป็นต้นแบบ 16 โรง คำว่าโรงเรียนต้นแบบไม่ได้คาดหวังว่าจะทำทั้งโรงเรียน เพราะไม่มีทางทำได้ในบริบทที่เป็นอยู่


การที่ ผอ. เอาด้วยก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ทั้งโรงเรียน บางแห่งครูข้างในรวมตัวกันค้าน ผอ. อยากทำก็ทำไม่ได้ มีตัวอย่างมาแล้วในโรงเรียน พพปญ เอง เป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานครูทั้ง 100% เพราะนอกจากระบบในโรงเรียนไม่เอื้ออย่างว่าแล้ว ระบบนอกโรงเรียนก็ทำให้มีความไม่แน่นอนสูงมาก โรงเรียนที่จะทำได้ดีนั้นต้องมี chain of command สั้น และส่วนหัวเห็นชอบให้ทำเรื่องนี้ มันคือโรงเรียนเอกชน ที่มีความหวังมากที่สุดคือกลุ่มคริสต์ คงสังเกตุเมื่อวันเสาร์แล้วว่า sister จากนารีวิทย์มาด้วย ท่านนี้เข้า workshop ผมทุกครั้งที่มีโอกาส มีจิตใจเปิดกว้าง แม้ว่า workshop ผมจะแฝงปรัชญาพุทธศาสนา ท่านก็ร่วมอย่างกลมกลืน วันก่อนผมไปดูโรงเรียนฉือจี้ที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นมหายานชัดเจน เขาบอกว่ากลุ่มที่มาดูมีโรงเรียนกลุ่มคาทอลิกที่เอาจริง กลุ่มคริสต์เขามีเป้าหมายสร้างคนดีมีคุณธรรมซึ่งเป็นส่วนของศาสนาเขาที่ชัดมากในการพัฒนามนุษย์ เขาแยกศาสนาออกจากการศึกษาได้ดีมาก


กลุ่มรองลงไปคือ อบจ. วันเสาร์มีคนที่รับผิดชองการศึกษาของ อบจ. ศรีสะเกษอยู่ตลอด เขาเสนอลงทุนด้วยทรัพยากรเขาเอง เสนอขอทำ MoU กับ สกว.


มันแสดงถึงการมีส่วนร่วมของข้างบนครับ ในระบบ สพฐ. ถ้าข้างบนไม่มาเรียนรู้จะไม่เข้าใจ เรื่องการพัฒนาครูและนักเรียนของ พพปญ. มันมีรายละเอียดลึกซึ้งอีกมาก ที่การแสดงเรื่องเล่าเมื่อวันเสาร์ยังไม่มีเวลาพอให้ถ่ายทอด


ถ้าคิดว่าสามารถช่วยได้ ผมขอให้ช่วยกลุ่ม 16 โรงเรียนเป้าหมายของผมดีไหม สร้างให้อยู่ที่โรงเรียน สนับสนุนเขาให้ขยายผลในโรงเรียนได้เต็มที่ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจาก สพฐ. อย่างมาก อย่างนี้ดูเหมือนจะเป็นหนทางที่น่าจะสำเร็จมากที่สุด จากนั้นใช้โรงเรียนเหล่านี้ขยายผล เราจะมี 4 โรงในแต่ละภูมิภาค ตอนนี้มีความต้องการสูงมาก วันเสาร์ผมได้รับการติดต่อจากครูหลายคน อยากให้มีพี่เลี้ยงในพื้นที่ช่วยเขา


ที่ สกว. คิดว่าจะทำคือขยายไปเป็นภารกิจของอุดมศึกษา รมต.คนเก่ามีนโยบายไว้ มีเงินให้ด้วย แต่ปล่อยเรื่องวิธีการให้เป็นความเชี่ยวชาญของอุดมศึกษา ซึ่งไม่พ้นทำเรื่องเก่าๆ ไม่มีใครเข้าใจ RBL แบบ พพปญ. สักแห่ง หาก 2 แท่งการศึกษาเข้าใจตรงกัน มันจะง่ายขึ้นอีกมาก ทั้ง 2 แท่งมีงบมากมาย ไม่ใช่เรื่องขาดแคลนแต่อย่างใด ทำได้ แต่ต้องมาเรียนรู้จริงๆ ก่อน วิธีเรียนที่ดีที่สุดคือลองมาทำเองกับทีมพี่เลี้ยงที่ผมมีอยู่ เอามหาลัยพี่เลี้ยง 2 แห่งในแต่ละภาคมาเป็นต้นแบบให้มหาลัยอื่นเรียนรู้จากการปฏิบัติเพิ่มอีก 10 แห่ง ไม่เกิน 2 ปี การใช้งบประมาณพัฒนาการศึกษาก็จะมีประสิทธิผลมากขึ้น


เรื่องที่เป็นปัญหา คือ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์จะยอมมาเรียนรู้ไหม ไม่เพียงเรียนรู้จากพี่เลี้ยงคณะอื่นเท่านั้น แต่ต้องยอมเรียนรู้จากครูโรงเรียนเล็ก ๆของพพปญ. ด้วยนะ ผมยังคิดว่ายาก ในที่สุดไม่พ้นเอาคณะอื่นมาทำ ซึ่งก็ขัดแย้งกับภารกิจของคณะเขา ดังนั้นต้องขับเคลื่อนผ่านงาน social engagement ของคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ต้องไปคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยเรื่อง SE อีก


จะเห็นว่าระบบมันทั้งซับซ้อน ขัดกันเองมากมาย การทำขนาดใหญ่แบบที่ท่านรองนายกฯ พูดนอกรอบในห้องรับรองจึงไม่ง่ายหรอก ที่น่าเสียดายคือโครงการคูปองครู มันไม่ควรให้เป็นหลักสูตรที่ครูมาเข้าอบรมเพื่อนับชั่วโมง แทนที่ให้เงินครูไป shop ตามใจชอบ มันต้องจัดการอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่เช่นนั้นหลักสูตรที่ขายดีที่สุดจะเป็นหลักสูตรการทำผลงานวิชาการ และอีกหลายเรื่องที่ผลประโยชน์ตกที่ครู ไปไม่ถึงนักเรียน เป็นไปไม่ได้ที่อบรมแล้วครูทำเองต่อที่โรงเรียนได้ดี เพราะขาดระบบสนับสนุนต่อเนื่อง โครงการ TC ที่ว่าสนับสนุนไม่ทราบว่าตอนนี้ผลต่อเนื่องเป็นไง มันต่างกับ พพปญ. ที่เรามีงานที่เป็นจุดร่วมเรียนรู้ทั้งครูและนักเรียน คือ โครงงานฐานวิจัย


ผมคิดว่า สกว. (อ. ไพโรจน์ และผม) ยินดีที่จะมีเวลาคุยกับคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ ของสพฐ. เรื่องนี้ ไม่ใช่ประชุม แต่ต้องเป็น workshop ของ พพปญ. ลองปฏิบัติเอง ผมขอ 3-4 วันเต็มๆ บวกกับดูงานจริงที่โรงเรียน คุยกับครู นักเรียน และผู้ปกครอง เอาไหม


วิจารณ์ พานิช

๒๕ มี.ค. ๖๐ ปรับปรุง ๒๘ มี.ค. ๖๐


[file ppt]




[audio]

หมายเลขบันทึก: 627995เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2017 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2017 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท