​​ทักษะที่สร้างสมดุลให้โลกในศตวรรษที่ 21


ทักษะที่สร้างสมดุลให้โลกในศตวรรษที่ 21

ณรงค์วรรษ บุญมา

หน่วยวิจัยพุทธพัฒน์, ศูนย์บริการวิชาการธรรมสุทัศน์

สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม


ความทั่วไป

“ความไม่คงที่หรือการลื่นไหลไปตลอดเวลาโดยไม่หยุดนิ่ง” เป็นสามัญลักษณะ[1] ที่ผดุงความยุติธรรมความเที่ยงธรรมแก่สรรพสิ่งโดยไม่เลือกปฏิบัติแม้กระทั่งตัวมันเอง ศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเรียกสัจจธรรมนี้ว่า “อนิจจัง” (impermanent)

โลกของเราก็เป็นหนึ่งในสรรพสิ่งที่ถูกปฏิบัติโดยสามัญลักษณะนั้น โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันที่มีโลกจนถึงปัจจุบันเป็นลำดับมา อาจมีคำถามว่าแล้วโลกของเรามีอายุเท่าไหร่แล้ว ความเป็นจริงอายุของโลกเรา ไม่มีคำตอบที่แน่นอน คำตอบส่วนใหญ่ก็มักจะประมาณการณ์เอาหรือตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือมีมากกว่าพันปี สำหรับจะกี่พันปีนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเชื่อใคร เชื่อพระคัมภีร์ในศาสนาที่เรานับถือ หรือเชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่เราชื่นชม เป็นต้น

พระคัมภีร์ไบเบิล (Bible) ของศาสนาคริสต์ (Christianity) ระบุว่า มนุษย์คนแรกของโลกถูกสร้างขึ้นมาในวัน 6 แห่งการสร้างโลกของพระเจ้า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งศรัทธา โดยเฉพาะต้องศรัทธาในพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้นคือพระยะโฮวา พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าองค์เที่ยงแท้องค์เดียวที่สมควรได้รับการนมัสการ และ เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งรวมถึงมนุษย์ด้วย โดยใช้เวลาเพียง 6 วัน และ หยุดพักในวันที่ 7 หลักฐานในหนังสือปฐมกาลบทที่ห้าและสิบเอ็ดลำดับพงศ์พันธุ์ของมนุษย์โดยนับเริ่มตั้งแต่อายุของอาดัมเรื่อยลงมาจนถึงอับราฮัมก็จะเห็นว่าโลกมีอายุประมาณ 6,000 ปี บวกลบไม่เกินสามถึงสองร้อยปี

สำหรับทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เชื่อว่าอายุของโลกประมาณ 4.6 ล้านๆ ปี ซึ่งห่างจากความเชื่อทางศาสนาอย่างลิบลับราวกับท้องฟ้ากับก้นเหว

เมื่อเป็นเช่นนั้น อายุของโลกก็ยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดกันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะให้น้ำหนักความเชื่อของตนไปทางไหน ผู้ที่เชื่อว่าโลกมีอายุ 4.6 ล้านๆ ปี ก็เชื่อในวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีการวัดด้วยคลื่นรังสี เป็นต้น สำหรับผู้ที่เชื่อว่าโลกมีอายุ 6,000 ปี ก็เชื่อในพระคัมภีร์ว่าถูกต้อง ประเด็นอายุของโลก หากมองในแง่ของพระพุทธศาสนาแล้วถือว่าไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้เรื่องอายุของโลก ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการรู้หรือไม่รู้นั้น หากแต่โลกที่ควรรู้ รู้แล้วได้ประโยชน์ คือ “โลกแห่งตัวเราเอง” (รู้ตัวเอง)

ถึงอย่างไรก็ตาม มนุษย์เราพึ่งเริ่มที่จะนับอายุของโลกเมื่อสองพันกว่าปีที่ผ่านมานี่เอง และการนับอายุโลกก็ถือเอาศาสนาที่ตนนับถือเป็นแกนกลางหรือเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดนับ ถึงกระนั้นก็ยังมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เช่น พระพุทธศาสนา เรียกการกำหนดนับนี่ว่าพุทธศักราช (พ.ศ.) ประเทศไทยเริ่มกำหนดนับหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี ขณะที่ประเทศพม่าและประเทศกัมพูชาเริ่มกำหนดนับตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเลย ด้วยเหตุนั้น ประเทศไทย ปีปัจจุบัน (ขณะเขียน) จึงเป็นปีพุทธศักราช 2557 ขณะที่พม่าและกัมพูชา เป็นปีพุทธศักราช 2558

ส่วนคริสตศักราช (ค.ศ.) ก็เริ่มนับจากปีที่เชื่อกันว่า พระเยซู เกิด และมีอายุครบหนึ่งปี เป็น ค.ศ. 1 โดยจำนวนปีคริสตศักราชจะห่างจากพุทธศักราช 543 ปี ใช้วันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันเปลี่ยนศักราช

สำหรับชาวไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ก็ควรรู้ทั้งพุทธศักราชและคริสตศักราช เพราะเรานิยมใช้กันทั้งสองอย่าง และบางทีดูเหมือนจะเป็นค่านิยมอยู่พอสมควร ถ้าใครใช้พุทธศักราช บุคลิกภาพของคนนั้นก็ดูเชยๆ ในสายตาของคนรุ่นใหม่หน่อย ขณะเดียวกันถ้าใครใช้คริสตศักราช ก็จะดูเป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์ ทันโลกขึ้นมาทันที

หากจะนับกันเป็น ศตวรรษ คือ นับครั้งละ 100 ปีแล้ว ปีนี้ พุทธศักราช 2557 พุทธศักราช ก็คือพุทธศตวรรษที่ 25 เต็ม เข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 26 มาแล้ว 56 ปีกว่าๆ ขณะที่คริศตศักราช เป็นคริสตศตวรรษที่ 20 เต็ม และเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มาแล้ว 13 ปีกว่าๆ

Edit


ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ช่วงระยะเวลา 5 - 4 ปี ที่ผ่านมา แวดวงการศึกษาในประเทศไทยเริ่มจะได้ยินคำว่า ...ศตวรรษที่ 21 กันอยู่บ่อยๆ อาจจะมีคำเติมหน้าหรือต่อหลังคำดังกล่าวแตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หรือ ทักษะการศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะคำที่ว่า “ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills)” ซึ่งผู้ที่สร้างกระแสปลุกให้วงการศึกษาในบ้านเราตื่นและพร้อมกันนั้นก็ได้ผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ก็คือ ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่นี้ลงบล็อกของท่านอย่างต่อเนื่อง เมื่อปลายปี 2554 (ค.ศ.2011) มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงศ์ ได้ดำเนินการรวบรวมงานเขียนในบล็อกของท่าน เป็นหนังสือโดยใช้ชื่อว่า “วิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21” ออกเผยแพร่อีกด้วย

จากบทความเรื่องทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่เขียนโดยท่าน ศ. น.พ.วิจารณ์ พานิช ระบุว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัยและตลอดชีวิตคือ 3R x 7C กล่าวคือ 3R ได้แก่

1. Reading (อ่านออก)

2. (W)Riting (เขียนได้)

3. (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น) และ

7C ได้แก่

1. Critical thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะ ในการแก้ปัญหา)

2. Creativity & innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)

3. Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)

4. Collaboration, teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทางานเป็นทีม และภาวะผู้นา)

5. Communications, information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)

6. Computing & ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)

7. Career & learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)

แนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" นี้ได้ก่อตัวขึ้นในรูปแบบของนามธรรม สัมผัสแตะต้องไม่ได้ เป็นเพียงความคิด ในช่วง ค.ศ.2001 - 1999 ก่อนที่จะถูกขับเคลื่อนขึ้นให้เป็นรูปธรรมครั้งแรกและอย่างเป็นทางการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2002[2] โดยภาคส่วนนอกวงการศึกษา เป็นบริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ของโลก เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ โดยบริษัทเหล่านี้ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21”(Partnership for 21st Century Skills) (www.p21.org ) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21

หน่วยงานเหล่านี้มีความวิตกกังวลถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่มากมายและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น การใช้ชีวิตต้องปรับตัวอย่างมากในทุกด้าน หากชีวิตปราศจากการเตรียมความพร้อมด้วยการเรียนรู้และพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลาแล้ว การอยู่บนโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ก็จะลำบาก เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 ได้เปลี่ยนไปแทบจะเรียกว่าอย่างสิ้นเชิงจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นคนที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ (Learning Person) ไม่ว่าจะประกอบสัมมาชีพใด ต้องเป็นคนทำงานที่พร้อมจะใช้ความรู้ (Knowledge Worker) แม้จะเป็นชาวนาหรือเกษตรกรก็ต้องเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ และเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ ซึ่งจะต่างไปจากคนในศตวรรษที่ 20 และ 19 ที่ผ่านมา ต้องทำงานในสายพานการผลิต เป็นยุคอุตสาหกรรม มีรูปแบบเดิมๆ ไม่ต้องปรับตัวมาก เปลี่ยนแปลงช้า ดังนั้น ทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ (Learning Skills)

การรวมตัวกันของเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกรอบแนวคิดดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วย 3R 4C

3R ประกอบด้วย

1. reading - การอ่าน

2. (w)riting - การเขียน

3. (a)rithmetic - คณิตศาสตร์

ส่วน 4 C ประกอบด้วย

1. critical thinking and problem solving – การคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา

2. communication - การสื่อสาร

3. collaboration - การร่วมมือ

4. creativity and innovation ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

ต่อมากรอบแนวคิดดังกล่าวนั้นก็ได้ถูกพัฒนาเรื่อยมา ในช่วงระยะแรกของการพัฒนาแนวคิดได้ถูกจำกัดอยู่แต่เพียงภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หลังจากปี ค.ศ. 2009 เป็นต้นมาเริ่มขยายตัวไปสู่ประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นสำคัญที่นักการศึกษาต้องพูดถึง เพราะถ้าไม่พูดถึงถือว่าเชยหรือกำลังตกยุค ใครพูดถึงทำให้ดูดีดูเท่ห์ดูทันสมัยขึ้นมาทันตา

ด้านการศึกษา มีนักการศึกษาอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้น คือ เซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาระดับโลก โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการศึกษาระบบโรงงาน มาเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์และเข้ากับบริบทของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

จิต 5 ลักษณะ

นอกเหนือจากนั้นยังมี Howard Gardner ปรมาจารย์ด้านการสอนการคิดแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ที่มีผลงานโด่งดังจากทฤษฎีพหุปัญญา (multiple intelligences) ได้เขียนหนังสือ “Five Minds for the Future” ต้องการให้ทุกคนได้รู้คำตอบของการเกิดวิธีการเรียนรู้และการรู้คิดด้วยจิตทั้ง 5 ประการ

1.จิตชำนาญการ (disciplined mind)

2.จิตสังเคราะห์ (synthesizing mind)

3.จิตสร้างสรรค์ (creating mind)

4.จิตเคารพ (respectful mind)

5.จิตจริยธรรม (ethical mind)

Howard Gardner เชื่อว่า จิต 5 ลักษณะมีความสำคัญมากต่อโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกที่ถูกครอบงำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีการหลั่งไหลของข้อมูลจำนวนมหาศาล คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ทำงานที่เป็นกิจวัตร และมีการสื่อสารข้ามกลุ่มประชากร เมื่อเป็นเช่นนี้ จิต 5 ลักษณะจึงมีความสำคัญอย่างมาก เชื่อเถิดว่าในที่สุดแล้วผู้ที่มีจิตทั้ง 5 ลักษณะย่อมจะอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21 นี้

เราจะเห็นว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 ตามวิสัยทัศน์และกรอบแนวคิดแห่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกลุ่มเครือข่าย P21 (3R 4C) หรือของ Howard Gardner (จิต 5 ลักษณะ) ก็ดี หรือทักษะแบบ 3R 7C ก็ดี ก็ล้วนแต่อยู่ในกรอบแนวคิดในแบบฉบับของชาวตะวันตกทั้งสิ้น ซึ่งดูเหมือนจะให้น้ำหนักไปในเรื่องการสร้างคนให้เก่ง สำหรับคนนั้นเมื่อเก่งแล้วนั้น จะดีหรือเปล่า และจะมีความสุขหรือไม่นั้น ไม่ปรากฏชัด แน่นอนที่สุดเนื่องจากผู้ที่ร่วมกันคิดกรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ธุรกิจเป็นเรื่องของการแข่งขัน เป็นเรื่องของการแสวงหาผลกำไร การสร้างกรอบแนวคิดเพื่อพัฒนาคนมาเข้าสู่โลกธุรกิจตามที่ตนต้องการจึงไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำหนักไปในทิศทางอื่นนอกเหนือจากความรู้ความสามารถเพื่อการแข่งขันที่ตนตั้งธงไว้

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น พยายามใคร่ครวญครุ่นคิดหาคำตอบต่อเรื่องดังกล่าวนั้นนั้น ทำให้นึกถึงสุภาษิตกฎหมายว่า “ชนกลุ่มใดเขียนกฎหมาย ก็เพื่อประโยชน์ของชนกลุ่มนั้น” เมื่อนำสุภาษิตนี้มาประกอบในการหาเหตุผลก็ทำให้ได้แนวคิดเพื่อบรรเทาคำถามนั้น มองศึกษาย้อนกลับไปก็ปรากฏว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดที่จะให้คนในศตวรรษที่ 21 มีทักษะในด้านต่างๆ นั้น ไม่ได้มาจากนักการศึกษา หากแต่มาจากนักธุรกิจมหาอำนาจของโลก ซึ่งพวกเขาอยู่ในภาคความจริงด้านการแข่งขันทางธุรกิจ และพวกเขาเริ่มจะเห็นแล้วว่าทรัพยากรที่สายการศึกษาผลิตและส่งมาให้นั้นเป็นวัตถุดิบที่เคยดีเยี่ยมมาก่อนแต่มาตอนนี้กลับกลายเป็นวัตถุดิบที่ไร้คุณภาพเสียแล้ว พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อหาคำตอบว่าวัตถุดิบที่พวกเขาต้องการตอนนี้เป็นอย่างไร และควรจะเป็นอย่างไร หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ก็ได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบแนวคิดใหม่เพื่อเตรียมวัตถุดิบคือเด็กและเยาวชนสำหรับที่จะทำงานอย่างมีคุณภาพได้ในศตวรรษที่ 21 เป็นกรอบแนวคิดแค่เพียงเตรียมคนเพื่อเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันในโลกธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น คนที่จะอยู่ได้ต้องเก่งมากขึ้นในทุกๆ เพราะต้องแข่งขันกันสูง แต่จะไม่มีความสุขในการดำรงชีวิตในการอยู่ร่วมกัน

หากมีการพูดว่าให้น้ำหนักไม่เท่ากันหรือให้น้ำหนักไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป นั่นก็หมายความว่า “เรื่องนั้น สิ่งนั้น กำลังขาดความสมดุล” ภาวะที่ขาดความสมดุลจะส่งผลให้ไม่ปกติ เช่น ร่างกายเรา ยามใดที่ธาตุ 4 ขาดความสมดุล จะป่วยทันที การพัฒนามนุษยโลกเราก็เช่นกันหากพัฒนาแบบขาดความสมดุล โลกจะป่วยทันทีเช่นกัน คือ วุ่นวาย ผู้ที่อยู่ในโลกก็จะไม่มีความสุข เป็นต้น

ทักษะที่จะทำให้โลกสมดุลในศตวรรษที่ 21

ทักษะในศตวรรษที่ 21 ตามแบบฉบับของชาวตะวันตกดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ล้วนแต่เป็นทักษะที่จำเป็นต่อโลกแห่งการแข่งขันแต่ทักษะที่จำเป็นต่อมนุษยโลกอันจะนำมาซึ่งความสุขในการทำงานหรือการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกนั้น กลับไม่มีมนุษย์นั้นแปลกจริงแท้ วิ่งไล่ล่าหาความสุขกัน แต่ไม่ได้สร้างเหตุแห่งความสุขนั้นเลย ทักษะที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ล้วนแต่เป็นทักษะเพื่อการแข่งขัน เมื่อมีการแข่งขันกันมากขึ้น ความเห็นแก่ตัวก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน การแข่นขันเป็นเรื่องที่ดีหากว่าเป็นการแข่งขันดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ เพราะจะทำให้ได้สิ่งที่ดีกว่า แต่นั่นก็หมายความว่าต้องเป็นการแข่งขันในสังคมที่เป็นกัลยามิตร ไม่เห็นแก่ตัว มีความเสียสละ เป็นต้น สังคมจะอยู่ได้ คนในสังคมต้องมีความเสียสละ เพราะความเสียสละเป็นคุณธรรมเพื่อส่วนร่วม หรือ เพื่อสังคม[3]

ดังนั้น ทักษะที่จะมาสร้างความสมดุลให้กับโลกศตวรรษใหม่นี้ และจำเป็นต่อมนุษยโลกอย่างยิ่งคือ “ทักษะด้านความเสียสละ” อาจเรียกเป็นภาษานิยมในปัจจุบันว่า “ทักษะด้านจิตอาสา”

ความหมายของคำว่า จิตอาสา

จิตอาสา มาจาก 2 คำ คือ จิต กับ อาสา “จิต” หมายถึง ใจ มีหน้าที่รู้ คิด และนึก ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ สภาพที่นึกคิด ส่วน “อาสา” หมายถึง การรับทำโดยเต็มใจ สมัครใจ แสดงตัวขอรับทำการนั้น

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) 2552 : จิตอาสา คือ การกระทำที่เสียสละเพื่อส่วนรวมว่า “จิตอาสา” ซึ่งตรงกับหลักธรรมที่เรียกว่า “วัฑฒิ” เรียกเต็มว่า “อริยวัฑฒิ” แปลว่า หลักธรรมเจริญอย่างอริยะ ซึ่งแสดงว่าพุทธศาสนิกชนมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ และ มีความหวังว่าจะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา หลักความเจริญที่ว่านี้มี ๕ ประการ คือ (๑) ศรัทธา (๒) ศีล (๓) สุตะ (๔) จาคะ และ (๕) ปัญญา

พระไพศาล วิสาโล (2549) : จิตอาสา หมายถึง จิตที่ยกระดับปัญญาภายในและสำนึกสาธารณะ ซึ่งนำไปสู่การมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าคือ จิตที่พร้อมจะสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นจิตสุขเมื่อได้ทำความดี เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเย็นและพลังแห่งความดี

ประเวศ วะสี (2541) : จิตอาสา คือ จิตที่มีการเสียสละ จิตที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นจิตพร้อมที่จะเป็นอาสาสมัคร เป็นรูปธรรมของความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีความเมตตา กรุณา เพื่อเชื่อมต่อความเป็นและทำให้เกิดสิ่งดีงามในสังคม

มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ (2550) : “จิตอาสา” คือ การให้ เมื่อคนต่างๆ เริ่มรักและมีเมตตากับบุคคลอื่นมากขึ้น เข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้นว่าต้องการอะไร กาลังอยู่ในสภาพใด สามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง จนนามาสู่การให้ สละสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงงาน แรงสมอง เงิน สิ่งของ อวัยวะ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้อื่นและสังคมมีความสุขมากยิ่งขึ้น

กรรณิกา มาโน (2554) : จิตอาสา หมายถึง จิตที่พร้อมสละเวลา แรงกาย แรงใจและสติปัญญาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้อื่นหรือสังคม เป็นการกระทาด้วยความสมัครใจ ไม่หวังผลตอบแทน และเป็นการกระทาที่ไม่ใช่ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

ปิยะนาถ สรวิสูตร (2552) : “จิตอาสา” หมายถึง บุคคลที่มีจิตที่พร้อมจะให้หรือเสียสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน

ทิพย์ขจร ฉายาสกุลวิวัฒน์ (2555) : จิตอาสา หมายถึง จิตใจที่อยากช่วยเหลือแม้เป็นหน้าที่ของตนก็ยินดีอย่างทำอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด แม้ไม่ใช่หน้าที่ของตนแต่ได้รับการร้องขอก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มใจและเต็มกำลัง จิตอาสาแนวพุทธ คือ หลักธรรม ได้แก่ สังคหวัตถุ อิทธิบาท พรหมวิหาร สัปปุริสธรรม ทศพิธราชธรรม สัปปายธรรม สาราณียธรรม ทาน กัลยาณมิตรธรรม ภาวนา ฆราวาสธรรม สัมมาวาจา ปิยวาจา อริยวินัย (วิทยานิพนธ์, ศึกษากระบวนการจิตอาสาตามหลักพระพุทธศาสนาของเจ้าหน้าที่เสถียรธรรมสถาน, 2555)

Qi Zhou, 2011 : จิตอาสา หมายถึง การมีทัศนคติที่เห็นแก่ผู้อื่นโดยความสมัครใจหรือมีแนวคิดเพื่อสวัสดิการของสาธารณชน โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2542 : (ไม่มีคำว่า “จิตอาสา” เนื่องจากเป็นคำใหม่) จิต เป็น น. (คำนาม) หมายถึง ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก ส่วน อาสา เป็น ก. (กริยา) แปลว่า เสนอตัวเข้ารับทำ เมื่อนำ 2 คำมารวมกัน เป็น “จิตอาสา” หมายถึง การเสนอตัวเข้ารับทำงานด้วยใจ

จิตอาสาหากถือเอาความตามคุณลักษณะแห่งการปฏิบัติแล้ว จะมีความหมายตรงกับภาษาบาลีว่า อัตถจริยา แปลว่า ประพฤติประโยชน์ หมายความว่า การบำเพ็ญตนให้เป็นคนมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้แก่ ช่วยเหลือกันเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกำลังงาน กำลังความคิด กำลังสติปัญญา และกำลังทรัพย์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม ภาระหน้าที่ของคำนี้มีความหมายกว้างมากไปถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสัตวโลก หรือเพื่อนร่วมโลก และในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมโลก และไม่นิ่งดูดายเมื่อเพื่อนร่วมโลกอื่นๆ ขอความช่วยเหลือ ให้การสนับสนุนข้อเสนอของมิตรประเทศที่เห็นถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกโดยรวมและการชักนำโน้มนำประเทศที่มีนโยบายที่ผิดพลาดที่มุ่งแสวงหาอำนาจผลประโยชน์หรือเป็นภัยต่อความสงบสุขของโลก ให้หันมามีนโยบายหรือทิศทางที่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อความสงบสุขของมนุษยชาติได้

คำว่า อัตถจริยามีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือเมื่อ พ.ศ.2500 กว่าปีก่อน อัตถจริยาเป็นหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา อยู่ในหัวข้อธรรม สังคหวัตถุเป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักธรรมสังคมสงเคราะห์ มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ ทาน การให้, ปิยวาจา - การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ, ถัตถจริยา การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และ สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ

จิตอาสากับ อัตถจริยาจึงเป็นคำที่เป็นไวพจน์ของกันแล้วกันได้ แม้คำทั้งสองจะถูกบัญญัติขึ้นต่างยุคต่างสมัยกันก็ตาม แต่โดยเนื้อความและจุดมุ่งหมายแล้วมีคุณลักษณะเหมือนกัน

รวมความว่าแนวคิดจิตอาสา ทุกนิยามมีแนวคิดที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน คือ เกิดจากจิตที่มีความปรารถนาอยากช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งอาจจะรู้จักหรือหรือไม่รู้จักก็ตาม เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยเมตตา กรุณา พร้อมที่จะสละกำลังกาย กำลังสติปัญหา และเวลา ทั้งๆ การเข้าไปช่วยเหลือนั้นไม่ใช่ภาระหน้าที่ พร้อมกันนั้นก็ไม่หวังผลตอบแทน และไร้เงื่อนไข

คำที่สัมพันธ์กับคำว่าจิตอาสา

“จิตอาสา” ในวาระแห่งชาติ คือ “ทานและการอาสาสมัคร” แต่มีบางคนบัญญัติคำขึ้นมาใหม่ว่า “จิตอาสา” บ้าง “จิตสาธารณะ” บ้าง ฯลฯ ล้วนมีความหมายตรงกัน คือ เริ่มจากไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น แล้วเผื่อแผ่แบ่งปันเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้คนและชุมชม (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2550, หน้า 3) คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันที่อาจจะเรียกได้ว่าใช้แทนกันได้กับคำว่า “จิตอาสา” มีดังนี้

(1) อาสาสมัคร (Volunteer)

อาสาสมัคร หมายถึง ผู้ที่สมัครใจและอาสาเข้ามาเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม โดยสมัครใจ เพื่อการดูแล ป้องกัน แก้ปัญหาเพื่อพัฒนาสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงิน หรือสิ่งอื่นใด ผลตอบแทนที่อาสาสมัครได้รับคือ ความสุข ความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ

(2) จิตสาธารณะ (Public Mind)

จิตสาธารณะ หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคลที่เกิดขึ้นโดย ความสมัครใจ ปรารถนาที่จะช่วยเหลือ ช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้อื่นหรือสังคมและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการเอาใจใส่ดูแล และมีส่วนร่วมในการอาสาทาประโยชน์เพื่อส่วนรวม

(3) จิตสานึกสาธารณะ (Public Consciousness)

จิตสานึกสาธารณะ หมายถึง ความตระหนักของบุคคลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม คานึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม มีสานึกในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงามรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระ ปรารถนาที่จะช่วยเหลือสังคม ต้องการแก้ไขปัญหาของสังคม ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องของส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

(4) จิตสานึกต่อสังคม (Social Consciousness)

จิตสานึกต่อสังคม หมายถึง ลักษณะทางจิตใจหรือภาวะที่รู้ตัวของบุคคลที่มีความโน้มเอียงทางความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่าหรือให้คุณค่าแก่การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล หรือสิ่งของที่มีอยู่ในสังคมที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ หรือเป็นสิ่งที่เป็นเจ้าของร่วมกัน มีจิตสานึกที่ดีต่อชุมชนของตน โดยช่วยกันดูแลสังคมชุมชน เสียสละกาลังกาย กำลังทรัพย์เข้าร่วมกิจกรรมที่มีส่วนช่วยให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือส่งเสริมด้านต่าง ๆ ในทิศทาง ที่ดีขึ้น

จิตอาสาเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

คำว่า “จิตอาสา” นั้นเริ่มมีใช้ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2547 (แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547, [ออนไลน์] ) จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือสถานการณ์ที่เรียกว่า สึนามิ แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 เป็นแผ่นดินไหวใต้ทะเล เกิดขึ้น เวลา 07.58 น. ตามเวลาในประเทศไทย (00:58 UTC) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) ศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความเสียหายบนเกาะสุมาตรา และยังรับรู้ได้ในภาคใต้ของประเทศไทย แผ่นดินไหวเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย กระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิสูงราว 30 เมตร เข้าท่วมทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ใน 14 ประเทศมากกว่า 230,000 คน นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ ประเทศอิน โดนีเซีย รองลงมา คือ ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย และประเทศไทย ตามลำดับ

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวอยู่ระหว่าง 9.1 ถึง 9.3 โมเมนต์แมกนิจูด ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นอันดับที่สามตามที่เคยวัดได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismometer) นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีคาบเวลายาวนานที่สุด โดยการสังเกตคาบเวลาอยู่ที่ประมาณ 8.3 ถึง 10 นาที ส่งผลให้แผ่นดินทั่วทั้งผืนโลกเคลื่อนตัวไปถึง 1 เซนติเมตร และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในจุดอื่นๆ ของโลกอีกด้วย

เหตุการณ์ในครั้งนั้น (มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ, 2547) เป็นเหตุให้คนทั่วโลกทั้งไทยและเทศเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นความงดงามทางจิตใจผู้คนทั้งหลาย ที่ทนไม่ได้กับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ แต่ละคนพยายามหาทางช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะทางไหนที่ทำได้ ตั้งแต่การบริจาคทรัพย์ สิ่งของ หรือแม้แต่เอาตัวลงไปเป็นอาสาสมัคร ช่วยเหลือกันเท่าที่จะทำได้ โดยไม่แยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือชนชั้น นับเป็นความงดงามที่หลายคนนึกว่ามนุษย์ยุคนี้ไม่มีเหลือแล้ว ในประเทศไทยมีอาสาสมัครนับพัน นับหมื่นคนหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปช่วยเหลือเรียนรู้กับผู้ประสบภัยสึนามิ จนเกิดเป็นคลื่นมวลชนจิตอาสา ทำงานต่อเนื่องกันมาถึงในปัจจุบันและขยายเครือข่ายขยายงานอาสาทำดีเพื่อสังคมชัดขึ้น เพื่อระลึกถึงความดีงามที่ผุดขึ้นมาจากมวลชนหลากหลายตั้งแต่วันนั้น จึงกำหนดวันที่ ๒๗ ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันจิตอาสา” เพื่อเตือนใจและส่งเสริมให้พวกเราแต่ละคนทำดีกันต่อไป อาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันต่อไป ขยายผลต่อไปในรูปแบบต่างๆ ภาคธุรกิจเอกชน นับเป็นเพื่อนที่สำคัญไม่น้อยในการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคม โดยเฉพาะในยามวิกฤต กระแส CSR: Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจต่างๆที่เกิดขึ้นมามากเป็นพิเศษ

มองย้อนหลังไปก่อนปีพุทธศักราช 2547 แล้ว พบว่ามีผู้ที่ใช้คำว่า “จิตอาสา” ก่อนหน้านี้นั่นก็คือ มูลนิธิพุทธฉือจี้ (Tzu Chi Foundation) ประเทศใต้หวัน (จิตอาสาฉื้ออีที่ใต้หวัน : อุดมการณ์ที่กินได้, ออนไลน์) “ฉือ” แปลว่า เมตตา “จี้” แปลว่า ช่วยเหลือ การเป็นอาสาสมัครของฉือจี้ เป็นการเข้ามาช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้พ้นจากทุกข์ด้วยจิตเมตตา เป็นองค์กรการกุศลที่เน้นจิตอาสาซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก องค์กรดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศไต้หวัน ก่อตั้งเมื่อปี 2509 โดยสตรีผู้มีจิตอาสา ร่างเล็กๆ ชื่อ “หวัง จิ่น หยิน” เรียกตามสมณศักดิ์ว่า “ท่านธรรมาจารย์ - Cheng Yen” ท่านได้เริ่มการหาเงินเพื่อไปช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากด้วยการเก็บเศษด้ายมาต่อและเย็บเป็นรองเท้าขาย และชักชวนกลุ่มแม่บ้านให้ประหยัดเงินจ่ายตลาดวันละ 50 สตางค์ มาออมในกระบอกไม้ไผ่เอาไว้ช่วยเหลือผู้คนจนบัดนี้ มีสำนักงานใหญ่มูลนิธิพุทธฉือจี้ตั้งอยู่ที่เมืองฮวาเหลียน ไต้หวันและมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ และถึงวันนี้ก็มีสาขาและจุดประสานงานใน 60 ประเทศ ได้ช่วยบรรเทาทุกข์ในแทบทุกมุมโลกกว่า 65 ประเทศ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 มูลนิธิพุทธฉือจี้ยังได้รับสถานะ เป็นที่ปรึกษาพิเศษ (Special Consultative Status) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ Economic and Social Council (ECOSOC) ขณะที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนก็ได้รับรางวัลนานาชาติ เช่น เหรียญไอเซ่นฮาวร์ (Eisenhower Medallion) และได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี พ.ศ. 2553

หากมองย้อนกลับไปสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ก็จะพบว่าในคราวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกชุดแรกออกไปประกาศพระศาสนาก็ให้ไปด้วยจิตอาสาคือไปช่วยเหลือชาวโลกโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ.มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ, เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ, สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ, สนฺติ สตฺตา อปฺปรชกฺข ชาติกา อสฺสวนฺตา ธมฺมสฺส ปริหายนฺติ, ภวิสฺสนฺติ ธมฺมสฺส อญฺญาตาโร, อหมฺปิ ภิกฺขเว, เยน อุรุเวลา เสนานิคโม เตนุปสงฺกมิสฺสามิ ธมฺมเทสนายาติ.”

"เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ ขอจงอย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบ บริสุทธ์บริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม” (วิ. มหา. 4/32/ 40)

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์เป็นต้นแบบของจิตอาสา เพราะการได้มาซึ่งความเป็นพุทธะ หรือพระพุทธเจ้า จะต้องทรงบำเพ็ญบารมีมากมายยาวนาน ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทราบดีว่า ถ้าต้องการเพียงหมดกิเลสของพระองค์เองเพียงพระองค์เดียวก็ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานบำเพ็ญบารมีให้ยาวนานขนาดนั้น

เราคงไม่ต้องมองย้อนกลับไปไกลถึงข้ามภพข้ามชาติก็ได้ เพียงแค่ลองมองย้อนหลังกลับไปตอนที่องค์สัมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้อนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ พระองค์ทรงพิจารณาธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้อยู่ถึง 7 สัปดาห์ หลังจากครบสัปดาห์ที่ 7 พระพุทธเจ้าออกจากต้นเกด ไปที่ต้นไทร และเกิดท้อพระทัยว่าสัจจธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ยากแก่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่สุดท้ายพระองค์ก็ทรงพิจารณาว่าการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมากยาวนานหลายภพชาติเป็นระยะเวลา 4 อสงไขย กับอีกแสนกัปนั้น ก็เพื่อทรงช่วยเหลือสัตวโลกให้พ้นจากทุกข์ และก็ทรงพบว่าถึงจะยากแสนยากอย่างไร คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจไป ส่วนคนที่พอจะเข้าใจได้นั้นยังมีอยู่ มนุษย์ก็เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า คือ

พวกที่ 1 บัวพ้นน้ำ (อุคฆฏิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที

พวกที่ 2 บัวปริ่มน้ำ (วิปจิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป

พวกที่ 3 บัวใต้น้ำ (เนยยะ) พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอยด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

พวกที่ 4 บัวในตม (ปทปรมะ) พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

เมื่อดำริเช่นนั้น พระองค์จึงตั้งปณิธานว่า เราที่จะแสดงธรรมเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป โดยไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย ไม่เลือกว่าใครเป็นใคร ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ เรามองแบบปุถุชนคนสามัญว่า “นี่แหละคือสภาวะแห่งจิตอาสาที่ยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติที่แท้จริง”

โลกแห่งวัตถุ (รูป) ยิ่งเจริญมากเท่าไหร่ โลกแห่งคุณธรรม(นาม) ยิ่งมีความจำเป็นมากเท่านั้น เพราะยิ่งโลกแห่งวัตถุเจริญมาก ความเห็นแก่ตัวความเห็นแก่ได้ของคนก็ยิ่งมากขึ้นเท่ากัน โลกจะดำรงเป็นโลกที่สวยงามอยู่ได้ก็ด้วยสัตวโลกที่อาศัยโลกนี้อยู่มีจิตอาสา พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นต้นแบบจิตอาสา ทุกคราที่โลกมนุษย์เกิดเหตุเภทภัย อยู่ในยุคมิคสัญญี[4] คือ เป็นยุคที่ไม่มีใครกลัวใคร คนต่างก็คิดว่า คนอื่น เป็นเนื้อที่เราจะเบียดเบียนหรือฆ่าเสียเมื่อไหร่ก็ได้ เห็นชีวิตมนุษย์เป็นดังผักปลา จะฆ่าจะแกงกันก็ง่าย ชีวิตมนุษย์ไม่ได้มีคุณค่าไม่ได้มีความหมายอะไร พระโพธิสัตว์ผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ก็จะถูกเชิญให้มาอุบัติบนโลกมนุษย์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น พระองค์มาก็มาด้วยความเสียสละเพื่อส่วนร่วมแห่งโลกมนุษย์ ดังนั้น โลกจะเป็นโลกที่น่าอยู่ควรจะสร้างคนให้ทั้งเก่ง ดี มีความเสียสละ


คุณลักษณะของจิตอาสา

คุณลักษณะของจิตอาสา” (ณรงค์วรรษ บุญมา, 2557) มีความพร้อมจะเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดาย เมื่อพบเห็นปัญหา หรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดี และเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย "บุญ" คือความสงบเย็น และพลังแห่งความดี อีกทั้งยังช่วยลด "อัตตา" หรือความเป็นตัวเป็นตนของตนเองลงได้บ้าง จิตที่ยกระดับปัญญาภายในและสำนึกสาธารณะ เป็นจิตที่เป็นสุข เพื่อได้ทำความดี อยากช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นจิตที่พร้อมจะสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม มีความเมตตา กรุณา เป็นจิตที่เปี่ยมด้วยความสงบเย็นและเต็มไปด้วยพลังแห่งความดี เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติ

การเสนอตัวเข้ารับทำหรือช่วยเหลือคนอื่นด้วยจิตใจแห่งความเสียสละโดยไม่ต้องมีใครมาร้องขอ ไม่หวังผลตอบแทน หรือไม่มีแม้กระทั่งความคิดที่จะหวังผลตอบแทน ความเสียสละดังกล่าวนี้ เป็นความเสียสละที่มีตั้งแต่ขั้นธรรมดา (โลกิยะ) อาทิเช่น เสียสละเวลา เสียสละกำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์สิน เงิน ทอง สิ่งของ จนถึงขั้นสูงสุด (โลกุตระ) คือ คุณธรรมที่จะนำไปสู่การสละได้ทุกอย่างแม้กระทั่งภพชาติ


“จิตอาสา” จึงเป็นทักษะที่จำเป็นต่อโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก และที่สำคัญจะสร้างความสมดุลให้กับโลกแห่งการแข่งขันนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะหากสังคมมีแต่คนเก่ง และคนเก่งนั้นก็ไม่เคยได้รับการฝึกฝนหรือฝึกทักษะด้านคุณธรรมเลย คนเก่งที่ไม่มีหางเสือคือคุณธรรมควบคุม คนเก่งก็จะใช้อาวุธคือความเก่งที่ตัวเองมีฟาดฟันกันแบบไม่หยั่งมือ สุดท้ายทุกอณูของสังคมก็จะอยู่ร่วมกันไม่ได้


บรรณานุกรม

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ (อารยวัฑฒิ), กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2552.

พระไพศาล วิสาโล. เครือข่ายจิตอาสา. คู่มือจิตอาสาโครงการอาสาเพื่อในหลวง.สี กรุงเทพมหานคร : สหธรรมมิก. 2549.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร: อักษรเจริญทัศน์, 2542.

ประเวศ วะสี, อ้างในจิตรวลัย ศรีแสงฉาย. “ จิตอาสาพัฒนาชนบท กรณีศึกษา : กลุ่มอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล”, 2541.

มิชิตา จำปาเทศรอดเจริญ, บทความสำหรับประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์การบริหารงานและการจัดการ

องค์กร, 2550.

ณรงค์วรรษ บุญมา, บทความวิจัยเรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์คุณลักษณะของจิตอาสาตามแนวพุทธศาสน์ : กรณีศึกษานักศึกษารายวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม”, 2557

ภาษาต่างประเทศ

Qi Zhou. (2011). On Volunteer Spirit and Thought of “Universal Love” by Mo-tse, School of Social Sciences. Shanghai University. Shanghai. China. (Document)

David Lasby. (2004). Volunteer Spirit In Canada : Motivations and Barriers. Canadian Centre for

Philanthropy University. Toronto. Ontario. Canada. (Document)

สารนิเทศ ออนไลน์

แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547. [ออนไลน์].

แหล่งที่มา :http://th.wikipedia.org/wiki/แผ่นดินไหวและคลื่นสึน...

[28 กรกฎาคม 2557]

ฉื้ออี. จิตอาสาฉื้ออีที่ใต้หวัน : อุดมการณ์ที่กินได้. [ออนไลน์].

แหล่งที่มา :http://www.eastasiawatch.in.th/downloads/files/Cheng%20Yen.pdf[28 กรกฎาคม 2557]

มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ. จิตอาสาคืออะไร. [ออนไลน์].

แหล่งที่มา : http://www.vachiraphuket.go.th/www/volunteer/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4

[1สิงหาคม 2557]

จุดเริ่มต้นของทักษะในศตวรรษที่ 21. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา :www.p21.org (5 สิงหาคม 2557)



[1] สามัญลักษณะ คือกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง ลักษณะที่มีเสมอกันในสังขารทั้งปวง โดยปราศจากเงื่อนไข ข้อยกเว้น หรือ อภิสิทธิ์ใดๆ

[2] http://www.scribd.com/doc/97624333/การศึกษาในศตวรรษที่-21

[3] สังคม แปลว่า การมาอยู่ร่วมกัน เมื่อมีการมาอยู่ร่วมกัน ก็จะมีทั้งส่วนตน และส่วนร่วม ต้องให้เกิดการสมดุลกันทั้ง 2 ส่วน

[4] ปเร มิคํ อิว สญฺญา ตฺตฺถ อตฺถีติ - ความสำคัญหมายซึ่งชนเหล่าอื่น ว่าเป็นเพียงดังเนื้อ ย่อมมี ในที่นั้น ดังนั้น ที่นั้น ชื่อว่า มิคสัญญี

หมายเลขบันทึก: 627993เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2017 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2017 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับจิตอาสา ที่ทำงานสาธารณประโยชน์ค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

ฝากติดตามด้วยนะคะ https://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/628...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท