เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 17 - 21 เมษายน 2560



23 เมษายน 2560

เรียน ผู้บริหาร เพื่อนครูและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2560 ยังเป็นวันหยุดราชการชดเชยวันสงกรานต์ ออกจากบ้านพักนำภัตตาหารเพลไปถวายหลวงพ่อวัดบางไผ่พระอารมหลวง และเยี่ยมสามเณร ที่บรรพชาไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 จำนวน 129 รูป ดูยังสดใสกันดี ห่มจีวรเองได้แล้ว สวดมนต์เสียงดังฟังชัด สำรวมตามสมควร ต้องนับว่าพระอาจารย์ฝึกดีสอนเก่ง มีญาติโยมมาร่วมถวายภัตตาหารพอสมควร ทีม ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด คลังจังหวัด แรงงานจังหวัด มาร่วมบุญกันบ่อย หลังพระเณรฉันเสร็จ เราก็เป็นศิษย์วัดทันที บ่ายเดินทางไปธนาคารกรุงไทย สาขา นนทบุรี เพื่อปิดธุรกรรมทางการเงินเนื่องจากใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว ไม่อยากเป็นภาระจดจำ และเสี่ยงภัยเพราะบัตร ATM บางครั้งก็ไม่ปลอดภัย หากเรามีวงเงินสูงๆ จะป้องกันยาก คงต้องเศร้ากันไปใหญ่ ตามโฆษณาเขาว่า ผู้จัดการหว่านล้อมอย่างไรก็ใจแข็ง เพราะเสียค่าธรรมเนียมและประกันแพงแบบเสียเปล่า บ่ายเดินทางไปรดน้ำศพท่านประกอบ สังข์โต อดีต สส.นนทบุรี หลายสมัย ท่านมีคุณูปการต่อจังหวัดนนทบุรีหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกษา แม้จะเจ็บป่วยยังมาช่วยต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่โรงเรียนอนุบาลนนทบุรีเมื่อ คราวตรวจเยี่ยมโรงเรียน ICU

วันอังคารที่ 18 เมษายน 2560 เดินทางไปโรงแรมบางกอกพาเลช ประตูน้ำ ประชุมป้องกันกรอบอัตรากำลังเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะถูกโยกไปเป็นของ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 บรรยากาศหงอยเหมือนแมวป่วย คนอยากไปก็มี อยากอยู่ก็มาก หลากหลาย ขาดเอกภาพ ทั้ง สพฐ และ เขต คงถึงคราววงแตกแน่นอน ก.ค.ศ.ก็ตั้งคณะทำงานจัดทำกรอบเหมือนกัน เรียกว่ารุมกันชำแหละที่เก่าไปสร้างที่ใหม่ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าอัตรากำลังที่เหลือไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 70 บ่ายแบ่งกลุ่มวิเคราะห์เนื้องานและอัตรากำลังที่ควรไปและควรอยู่ในกลุ่มงานต่าง ๆ กลับเข้าเขตช่วงบ่ายนั่งคุยกับนักข่าวท้องถิ่นถึงการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ และยังยืนยันว่าจะไม่ไปสมัครเป็นศึกษาธิการจังหวัด ด้วยเหตุผลส่วนตัว

วันพุธที่ 19 เมษายน 2560 เช้านี้นัดหมายท่านสมยศ ศิริบรรณ ท่านทองปอนด์ สาดอ่อน มาคุยเรื่องปฏิรูปการศึกษา เราวิเคราะห์ผลดีผลเสีย ข้อจำกัด ความสำเร็จ ข้อผิดพลาด และพยากรณ์อนาคตในการใช้บังคับตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เที่ยงไปนั่งทานอาหารที่ภัตตาคารริมน้ำใต้สะพานพระราม 5 ก่อนไปส่งท่านทั้งสองที่โรงแรมริเวอร์ไรน์ เพื่อประชุมคณะทำงานจัดสรรงบประมาณอัตราจ้างของ สพฐ. ผมก็เป็นคนหนึ่งในคณะนี้ด้วย แต่ก็กลับเขตไปก่อนเพื่อขับรถมาเอง บ่ายหลังรายงานตัว มีการประชุมกำหนดกรอบงบประมาณเพื่อให้คณะทำงานไปเตรียมข้อมูลไว้พิจารณาพรุ่งนี้ เย็นกลับที่พัก

วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2560 เช้ามีการประชุมกรรมการ ชพค. ที่สำนักงาน สกสค. คงจะเป็นนัดสุดท้ายเพราะจะหมดวาระลงในวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ทางสำนักงานมอบมาลัยและของที่ระลึกแก่กรรมการ เรื่องเสนอให้พิจารณาเป็นการรับสมาชิกกลับเข้ามา บ่ายประชุมกรรมการคุมสอบที่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งจะใช้เป็นสนามสอบแข่งขันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วยครั้งนี้ เลิกประชุมกลับเขตแต่ไม่ได้ขึ้นห้องทำงาน ให้เขาหอบแฟ้มมาลงชื่อที่กลุ่มอำนวยการชั้นล่าง เย็นมีนัดคุยข้อกฎหมายคดีความกับพรรคพวกที่เซ็นทรัล เวสเกต



วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2560 เช้านี้มีงานประชุมในกรุมเทพฯ เที่ยงกลับเข้าเขต มีแฟ้มมาให้ลงชื่อไม่มากนัก ในจำนวนนี้มีแฟ้มขอโอนไป สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดต่าง ๆ อยู่หลายราย เหตุผลหนึ่ง คือ อยากย้ายกลับบ้าน บางส่วนก็คิดว่าน่าจะดีกว่าที่เก่า อนุญาตทุกรายและประเมินคะแนนให้ดีเยี่ยม การปฏิรูปครั้งนี้ทำโดยรีบร้อน รวบรัด เหมือนการแย่งชิงอำนาจจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. ไปให้ศึกษาธิการจังหวัด ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศีกษาธิการ ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในระบบบริหารงานบุคคลของราชการไทย การใช้คำสั่ง คสช. จึงปิดปากข้าราชการจนพูดไม่ออก เพราะเขาให้นิ้ววิเศษแก่คณะกรรมการระดับกระทรวงมีอำนาจสั่งผู้บริหทรให้พ้นตำแหน่งไปนั่งตบยุงได้ แต่เรื่องมันใหญ่เกินกว่าที่คนระดับสมองธรรมดาจะทำอะไรให้รอบคอบได้ ปัญหาของตัวคำสั่งเองจึงโผล่โน่นรั่วนี่ให้ปวดเศียรเวียนเกล้าทั้งคนปฏิบัติและคนร่าง ยิ่งไม่ชัดก็ตีความ ยิ่งตีก็ยิ่งไกลตัวอักษรที่จารึกไว้ ระบบกฎหมายไทยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรง ทรงพระราชทานเลือกแบบลายลักษณ์อักษร เขียนเช่นไรก็เป็นเช่นนั้น พอคนมีอำนาจตีความเลยเถิดไปจากที่เขียน ผู้เกี่ยวข้องก็จะรุมสงสัยว่า มีอำนาจอย่างนั้นจริงหรือ รวมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย ก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ระดับพวกเราสั่งการอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น ไม่สามารถวินิจฉัยกฎหมายพิเศษนี้ได้จริง ๆ ผิดหรือถูกขอยกให้คนที่สั่งเป็นหนังสือ 100% รับผิดชอบไป มีครูเก่าหลายท่านสื่อข้อความมาหาผม บอกว่าช่วยอธิบายหลักกฎหมายง่าย ๆ ที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าใจได้เกี่ยวกับคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของคนกระทรวงศึกษาให้ฟังหน่อย เอาสั้น ๆ ที่สุด เมื่อได้รับการบ้านมาก็ถึงบางอ้อว่า อย่าไปโทษคนนอกกระทรวงเลยแม้แต่คนในอย่างพวกเราก็สับสน มาเริ่มทำความเข้าใจด้วย "รัฏฐาธิปัตย์" แปลให้สื่อความว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ส่วนจะเป็นใครก็แล้วแต่ยุคสมัย ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินก็มีมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ 3 อย่าง คือ อำนาจในการออกกฎหมายบังคับใช้กับพลเมืองเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจในการนำกฎหมายและนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดมรรคผลกับพลเมือง เรียก อำนาจบริหาร หรือ ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า รัฐบาล สุดท้ายคือ อำนาจในการตรวจสอบและตัดสินว่าว่า รัฐบาล ประชาชน ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับหรือไม่ เราเรียกว่า อำนาจตุลาการ ในสังคมประชาธิปไตยเขาแบ่งคนทำหน้าที่ 3 อำนาจนี้ไม่ซ้ำซ้อนกันเพื่อถ่วงดุล สำหรับประเทศไทยหลังการยึดอำนาจ คสช. เป็นผู้มีอำนาจ 3 อย่างมารวมใช้ในคณะเดียวหรือคนเดียว เป็นการชั่วคราว ฉะนั้น คำสั่ง คสช. จึงมีสถานะเป็น กฎหมายที่ใช้บังคับกับพลเมือง ส่วนศักดิ์ของกฎหมายจะเป็นระดับใด ก็ต้องไปเทียบเคียงกับกฎหมายเดิมที่ถูกกระทบ เช่น คำสั่งแก้ไข พรบ. ก็มีฐานะเท่า พรบ.แก้ไขพระราชกฤษฎีกา ก็เทียบเท่ากฤษฎีกา ในส่วนของอำนาจบริหาร คสช.สามารถบริหารทั้งทางตรง คือสั่งรัฐบาลและข้าราชการให้ปฏิบัติราชการใด ๆ ได้ตามที่กฎหมาย(ซึ่งอาจจะออกมาเองหรือมีอยู่ก่อน)ให้อำนาจไว้ หรือทางอ้อม ตั้งรัฐบาลขึ้นมาให้มีรูปแบบเหมือนรัฐบาลทั่วไปที่มีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับ คสช. ส่วนอำนาจตุลาการ มีการใช้ค่อนข้างน้อย ยกเว้นในเรื่องที่มีผลโดยตรงกับรัฐ การใช้ยังมีศาลที่สามารถต้ดสินคดีได้ตามปกติ

อำนาจบริหารหรืออำนาจทางรัฐบาล จะประกอบด้วย รัฐบาล ซึ่งปัจจุบัน หมายถึง คสช.และคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินทั้งปวงให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และฝ่ายดำเนินงานให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด เรียกว่า ฝ่ายปกครอง พูดง่าย ๆ ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่นำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อประชาชน จึงมีข้อจำกัดที่ฝ่ายปกครองจะมีอำนาจหน้าที่ได้ "กฎหมายต้องให้อำนาจไว้" ที่กำหนดอย่างนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขตกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฉะนั้น การใช้อำนาจทางปกครอง กฎหมายจึงได้กำหนดบทบาท อำนาจ หน้าที่ของส่วนราชการ และตำแหน่งไว้ชัดเจน และในบางเรื่องก็ให้มีองค์กรกลุ่ม หรือคณะบุคคล สามารถใช้อำนาจรัฐได้ เช่น กศจ. อำนาจบุคคล กลุ่มบุคคล อาจเกี่ยวพันกันได้แต่จะไม่ทับซ้อน ตามหลัก unity of command องค์กรกลุ่มส่วนใหญ่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในฐานะ เจ้าหน้าที่อื่นผู้ให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา41(4) แห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 ของกฎหมายฉบับนี้ ต้องนำกรณีที่จะออกคำสั่งทางปกครองมาให้องค์การกลุ่มเห็นชอบ อนุมัติ เสียก่อน งานส่วนใหญ่ขององค์กรกลุ่มคือห้องประชุมที่ครบองค์ประชุม ออกจากที่ประชุมก็ไม่สามารถใช้อำนาจได้อีก ในส่วนเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ จะต้องไปใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนจะใช้ดุลพินิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำแหน่งอื่นหรือไม่เป็นสิ่งที่กฎหมายไม่ลงไปรับรู้จนทำให้ความรับผิดชอบเปลี่ยนไป เช่น ผอ.เขต มีอำนาจอนุมัติการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้าน จะหารือกระทรวงการคลังหรือไม่ ก็ไม่ทำให้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 5 เปลี่ยนไป แปลว่าผู้อยู่ในคำสั่งทางปกครองสามารถฟ้องศาลปกครอง ให้ ผอ.เขต เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสมอ จะอ้างว่าหารือกระทรวงการคลังแล้ว ให้ไปฟ้องกระทรวงการคลังไม่ได้ ร่ายมายาวเพียงเพื่ออธิบายและชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐ องค์กรกลุ่มและตำแหน่งจะมีอำนาจหน้าที่อย่างไรก็ดูที่กฎหมายกำหนดเอา จะมาออกแบบการบริหารตามมติไปยังส่วนราชการ ตำแหน่งของข้าราชการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ย่อมเสียเปล่า คงอธิบายสั้น ๆ พอเป็นน้ำจิ้มสำหรับท่านไปหาอ่านต่อในรายละเอียด

นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1

หมายเลขบันทึก: 627829เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2017 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2017 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การบริหารงานเริ่มเปลี่ยนนะครับ

ดูแลสุขภาพบ้างนะครับ ผอ

ครับ คงมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมที่ชอบ ให้คนรุ่นใหม่เขาทำงานตามยุคของเข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท