สอบใจครู


ครูไม่เข้าใจในสิ่งที่เป็นคุณค่า ไม่เข้าใจ value ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม จึงมักจับไปที่แบบแผนที่เป็นเรื่องของ how เรื่องกฎระเบียบจึงแม่นเป๊ะ แต่ไม่เคยคุยกันในเรื่องของ why ที่เป็นคุณค่าเชิงลึก

เรียนพบท่านอาจารย์เกษม วัฒนชัย ที่ทำเนียบองคมนตรี

๑๑ เมษายน ๖๐


วันสงกรานต์ เป็นโอกาสของการให้อภัยและอวยพรกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงรับสั่งว่า “การสร้างคนดีเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ก็ต้องทำและขอให้ถือว่าเป็นหน้าที่”






โครงการโรงเรียนคุณธรรม เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ ในหลวงท่านทรงรับสั่งว่า “ให้ทำให้รู้จริงแล้วค่อยขยายจากเล็กไปใหญ่” ทำมา ๔ ปี จึงขยายเป็น ๑๔๐ กว่าโรง ตอนปี ๕๓ เริ่มทำกับปราโมทย์ที่โรงเรียนบางมูลนาค ที่พิจิตร ก่อน


ทางสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณขึ้นมา เพื่อมาทำส่วนขยาย มีศูนย์โรงเรียนคุณธรรม ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง และศูนย์จิตวิทยาการศึกษาที่หมอธีรเกียรติ (ก่อนเป็น รมต.) นำแนวคิดจากอังกฤษมาทำ ผู้อำนวยการคนที่แล้วของโรงเรียนวัดรางบัว ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กสลัมนำเอาแนวคิด เรื่อง parental involvement ไปใช้แล้วประสบความสำเร็จมาก


จากภาพวิดีโอที่ถ่ายไว้จะเห็นได้ว่าในการพบกันครั้งแรกนักเรียน แม่ และครูประจำชั้นนั่งคุยกัน ทุกคนหันหลังให้กันและโทษกัน ครั้งต่อๆ มา ทุกคนหันมากอดคอกันร้องไห้พอลูกดีขึ้น ผู้ปกครองบวกว่าต้องมาช่วยโรงเรียน เพราะโรงเรียนช่วยให้ลูกเราเป็นคนดี


อีกกิจกรรมหนึ่งที่โรงเรียนวัดรางบัวนำไปทดลองทำ คือ peer tutoring ที่เอารุ่นพี่มาสอนรุ่นน้อง วิชาคณิต วิทย์ ที่เคยน่าเบื่อกลายเป็นวิชาที่มีความสุขมากเพราะเด็กมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน


อีกหลักสูตรหนึ่งที่ทางมูลนิธิที่เริ่มทำคือ หลักสูตรครูสอนคิด แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะครูยังคิดไม่เป็น จึงต้องทำหลักสูตรสอนให้ครูคิด และควรต้องสอนให้ครูคิดบวก คิดเพื่อคนอื่นด้วย


ครูต้องมีความสุขกับการสอนหนังสือ ถ้าครูไม่มีความสุขในการสอนหนังสือต้องขอให้ไปทำอาชีพอื่นซึ่งอาจจะทำได้ดีกว่า ที่สังคมไทยไม่ได้ทำ แต่มีความสำคัญคือการ “สอบใจครู”



พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงรับสั่งว่า

  • ครูต้องรักนักเรียน และการที่ครูรักนักเรียนนี้จะนำไปสู่ good teaching
  • นักเรียนต้องรักครู และการที่นักเรียนรักครูนี้จะก่อให้เกิด good learning
  • ครูควรจัดกิจกรรมให้เด็กทำเป็นหมู่คณะ เพื่อให้เด็กมีความเอื้อเฟื้อ และเกิดความสามัคคีกัน ครูจึงต้องสอนให้นักเรียนมีน้ำใจต่อเพื่อน ให้เด็กที่ฉลาดช่วยเพื่อนที่เรียนช้า และทุกคนต้องแข่งกับตัวเอง


ครูไทยอยู่ในวัฒนธรรมของอำนาจ ถ้าครูใช้อำนาจในชั้นเรียน เด็กก็จะแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาไม่ได้ การปฐมนิเทศของโรงเรียนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโรงเรียนและครูอยู่ในวัฒนธรรมของอำนาจมากแค่ไหน ส่วนใหญ่มักตั้งต้นจากการให้ผู้ปกครองและนักเรียนมารับทราบกฎระเบียบว่าถ้าทำผิดข้อไหนจะลงโทษอะไร


ครูไม่เข้าใจในสิ่งที่เป็นคุณค่า ไม่เข้าใจ value ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม จึงมักจับไปที่แบบแผนที่เป็นเรื่องของ how เรื่องกฎระเบียบจึงแม่นเป๊ะ แต่ไม่เคยคุยกันในเรื่องของ why ที่เป็นคุณค่าเชิงลึก


พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ท่านมีรับสั่งเรื่องการศึกษาว่า “ต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ต้องสร้างพื้นฐานชีวิต คือสอนให้รู้ถูกผิด ยึดมั่นในความถูกต้อง ต้องสอนให้ผู้เรียนมีการงาน มีอาชีพ และต้องสอนให้เป็นคนดี”


เรื่องมีการงาน มีอาชีพนี้ ครูใหญ่โรงเรียนที่อีสานโรงเรียนหนึ่งทำนา ล้วสอนให้เด็กทำนาที่โรงเรียน แล้วเอาความรู้จากโรงเรียนกลับไปใช้ที่บ้านด้วย ครูและเด็กเอางานที่ทำมาทำให้เป็นงานวิจัย ป.๑ – ป.๓ ทำเรื่องการเลี้ยงปลาในนา ป.๔- ป.๖ ทำเรื่องการกรีดยาง เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ไปไหนแต่มาเก็บข้อมูลทำงานวิจัยกันที่โรงเรียน เด็กที่จบไปจากโรงเรียนนี้แม้จะไม่ได้เรียนต่อก็จะมีความสามารถที่จะประกอบอาชีพได้


ที่โครงการหลวงมีโรงเรียนกระเหรี่ยงที่มีการทำนาในโรงเรียนและเอาวิถีชีวิตของกระเหรี่ยงเข้ามาในโรงเรียน พ่อแม่ช่วยกันมาปลูกบ้านกระเหรี่ยงให้ได้ศึกษา ตอนที่เข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนอย่างแรกที่ทำคือเปลี่ยนกรรมการสถานศึกษาใหม่ และเชิญให้คนกระเหรี่ยงได้เข้ามาเป็นกรรมการสถานศึกษาด้วย


พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ท่านมีรับสั่งเรื่องของพระสงฆ์เอาไว้สั้นๆ ว่า “ให้พัฒนาความรู้และคุณภาพของพระสงฆ์ไทย ทำให้มีสำนึกและทำประโยชน์ให้กับสังคมไทย”


เรื่องการผลักดันพระราชบัญญัติปฐมวัย และการทำงานทุกเรื่องขอให้ทำให้ดีที่สุดในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ส่วนเรื่องคนใหม่จะเห็นด้วยกับแนวทางที่เราเสนอเอาไว้ไหม ต้องไม่ท้อ และต้องพยายามที่จะ “make the best of any situation” ถ้าพยายามแล้วยังทำไม่ได้ต้องหาทางใหม่ ต้องเข้าใจในธรรมชาติของประเทศไทย


สิ่งที่ต้องทำคือต้องให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และให้เขาช่วยกันเรียกร้อง โดยมีแก่นแกน ๒ – ๓ แก่น โยนกัน ต้องมีเจ้าภาพหลัก สมาคมอนุบาลศึกษาอาจเป็นแก่นหนึ่ง ต้องออกสื่อเยอะๆ ให้ตื่นตัวกันทั่วประเทศ เป็นดอกเห็ด มีเวทีวิชาการคอยให้ความรู้ เรื่องของปฐมวัยเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ต้องทำ hard fact ทำเป็น story telling ให้เขาเอาไปสื่อสารกัน


หมายเลขบันทึก: 627810เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2017 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2017 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท