​AAR “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๑๑ : จากคนไกล ถึง คนใน (๑)


ข้าพเจ้ามองเห็นพลังของความร่วมมือของคณะครูที่เข้าร่วมในการแสดงบทบาทของการเป็นผู้เรียนและการสะท้อนมุมมองของการแสดงความคิดเห็นต่อแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล

ภาพสะท้อนจากคนไกล


ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดวง PLC ของโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง ๒ แห่ง ขึ้นที่โรงเรียนเพลินพัฒนา นั่นคือ คณะผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ คณะผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่ใช้ชื่อว่า โรงเรียนวิถีธรรม ได้พร้อมใจกันมาศึกษาเรียนรู้จากงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๑๑ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐-๓๑ มีนาคม ๖๐







บันทึกต่อไปนี้เป็นการสะท้อนประสบการณ์จากการเรียนรู้ดูงานโรงเรียนเพลินพัฒนา ของ อาจารย์อิ๋ว - สุภาภรณ์ มาชัยวงศ์ (คนที่ ๒ จากขวา) เขียนส่งมาให้หลังจากจบงาน

..................................................................................................

ขอบพระคุณครูใหม่และครูปาดสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นและเป็นกัลยาณมิตรในทุกครั้งที่คณะทำงานโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้มาร่วมเรียนรู้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนาค่ะ

การเดินทางมาโรงเรียนเพลินพัฒนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำประสบการณ์และแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนเพลินพัฒนาไปปรับใช้ในโรงเรียนสาธิตฯ ของพวกเราค่ะ การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นภาพความสำเร็จที่งดงามทั้งคุณภาพของครู ผู้เรียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาในระดับประถมทุกคน ข้าพเจ้าในฐานะคนนอกพื้นที่รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมงานและชื่นชมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นค่ะ

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมในกิจกรรม คือ ผลจากการทำงานที่มีความเป็นระบบ มีกลไกการขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมที่ถูกบ่มเพาะด้วยคุณค่าและความดีงามจากภายใน ความทุ่มเท เสียสละของผู้นำและความเข้มแข็ง กล้าหาญของผู้ตามในการยืนหยัดทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ค่ะ

ช่วงเย็นของวันแรกครูใหม่ได้กรุณาให้ข้อคิดที่สำคัญกับพวกเรา คือ การหาหัวปลาของการทำงานโรงเรียนสาธิตฯ ให้ชัดเจนเพื่อเราจะได้มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานกันอย่างเต็มที่โดยไม่หลงทิศทาง และในคืนวันนั้นพวกเราก็ได้มานั่งประชุมเพื่อสร้างความชัดเจนร่วมกันว่าเป้าหมายที่เราอยากเห็นร่วมกันคืออะไร เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางมีลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่น

การเริ่มต้นของเช้าวันที่สองเป็นการจัดกิจกรรมของครูเล็กซึ่งเป็นการปูพื้นฐานการเข้าใจลักษณะของความแตกต่างในการเรียนรู้ทั้งในด้านการมองเห็นตนเอง (ฐานะครู) และผู้อื่น (นักเรียน) เชื่อมโยงไปถึงลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะทำให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ของครูเล็ก

กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนของครูจริงเป็นการเปิดมุมมองแห่งความกล้าหาญของครูในพื้นที่ใหม่ที่มีความเสี่ยงต่อการคาดเดาว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เนื่องจากทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ร่วมในแผนการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ทำให้ข้าพเจ้าสะท้อนคิดได้ว่าการตัดสินใจก้าวสู่พื้นที่ใหม่อาจเป็นสิ่งที่ยากลำบากของการก้าวเดินในช่วงเริ่มต้นแต่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในตนเองไปสู่สิ่งที่ดียิ่งขึ้น จากการสังเกตกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนจนจบกระบวนการ ข้าพเจ้ามองเห็นภาพการทำงานอย่างเป็นทีมที่มีระบบและความประณีตในการเตรียมการอย่างยอดเยี่ยม การออกแบบแผนการสอนที่น่าทึ่งที่สามารถทำให้ผู้เรียนสร้างและสรุปความรู้ได้ด้วยตนเองตามศักยภาพซึ่งทำให้ย้อนมองกลับไปถึงกิจกรรมของครูเล็ก คือ “ซึมซับรับรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง” ข้าพเจ้าจึงมีความตั้งใจที่จะกลับไปพัฒนางานของตนเองให้มีความประณีต ละเอียด รอบคอบเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้เรียนทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอนุบาล

กิจกรรมช่วงบ่ายของวันที่สองเป็นการถอดรหัสความสำเร็จในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของหน่วยวิชา ESL ช่วงชั้นที่ 1 ข้าพเจ้ามองเห็นพลังของความร่วมมือของคณะครูที่เข้าร่วมในการแสดงบทบาทของการเป็นผู้เรียนและการสะท้อนมุมมองของการแสดงความคิดเห็นต่อแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล (ก่อนเริ่มแสดงมองเห็นภาพผู้เรียนแต่ละคน) ในมุมมองข้าพเจ้าคิดว่ากระบวนการทำงานนี้เป็นสิ่งที่ยากมาก ถ้าไม่ได้ครูที่มีจิตวิญญาณของครูเป็นผู้ร่วมแสดงบทบาทเป็นผู้เรียนเพราะจะไม่สามารถสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของเด็กได้ กิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นไปด้วยความสนุกสนานของผู้เรียนความตั้งใจของผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ผู้ชม (ข้าพเจ้าและคณะทำงาน) ชื่นใจเป็นอย่างมากที่ได้มาร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ค่ะ



หมายเลขบันทึก: 627740เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2017 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2017 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท