​วิชาครู



หนังสือ ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์` ทั้งเล่ม และหนังสือครูคุณภาพสร้างได้ ที่แปลจาก Building A Better Teacher โดย Elizabeth Green สองบทแรก ทำให้ผมสรุปว่า ในสหรัฐอเมริกา “วิชาครู” ถูกทำลายโดย “ศึกษาศาสตร์” แต่ที่ฟินแลนด์ “วิชาครู” ยังอยู่ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาของฟินแลนด์มีคุณภาพสูง


หนังสือ ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์` บทที่ ๓ “ข้อได้เปรียบของฟินแลนด์ : ครู” หน้า ๒๓๐ สรุปว่า “การฝึกหัดครูของฟินแลนด์ให้ความสนใจเป็นพิเศษไปที่การสร้างทักษะการคิดเรื่องการสอน (pedagogical thinking skill)” เนื้อหาที่นักศึกษาสาขาศึกษาศาสตร์เรียน ได้แก่ (๑) ทฤษฎีการศึกษา (๒) ความรู้ในเนื้อหาผนวกกับวิธีสอน (๓) ศาสตร์การสอนรายวิชา และการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ


ตัวอย่างทักษะการคิดเรื่องการสอน อยู่ในบทที่ ๒ ของหนังสือ ครูคุณภาพสร้างได้ ที่บรรยายเหตุการณ์ในห้องเรียนของโรงเรียนสปาร์ตันวิลเลจ เมืองอีสต์แลนซิง รัฐมิชิแกน ในช่วง(คริสต)ทศวรรษ 1980 ที่นักเรียนชั้น ป. ๓ อภิปรายกันเรื่องเลขคู่และเลขคี่ ที่นักเรียนทำความเข้าใจวิธีคิด(ที่ผิด) ของเเพื่อน และหาทางอธิบายว่าที่คิดนั้นผิดอย่างไร แต่เหตุการณ์ทั้งหมดนั้น นำไปสู่ความเข้าใจคุณสมบัติของเลขอนุกรมหนึ่ง


สะท้อนวิธีสอนคณิตศาสตร์ที่ถูกต้อง คือเน้นสอนวิธีคิด ครูต้องเข้าใจวิธีคิดของศิษย์ และใช้ทั้งวิธีคิดที่ผิด และวิธีคิดที่ถูก ในการเอื้อให้ศิษย์เรียนรู้วิธีคิดเชิงคณิตศาสตร์


และในหน้า ๒๗๔ - ๒๗๗ ครูแครอล ลี พัฒนาวิชาครูของตนเอง จากชั้นเรียนชั้นมัธยมปลายที่ตนเองสอน โดยถ่ายวีดิทัศน์ชั้นเรียนไว้ถึง ๓ ปี นำมา AAR ด้วยตนเอง ข้อความในหนังสือ ๔ หน้าดังกล่าวสะท้อนทักษะการคิดเรื่องการสอนเมื่อโดนนักเรียนท้าทาย ที่มีค่ายิ่ง ด้วยความใจเย็นและสามารถของครูแครอล ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและคำพูดของนักเรียนดื้อรั้นชื่อตากิชา จากต่อต้านครูโดยตรง มาเป็นตั้งคำถามที่ดี


ในภาพรวม วิธีสร้างครูคุณภาพมาจากญี่ปุ่น โดยวงการศึกษาญี่ปุ่นเอาทฤษฎีไปจากอเมริกา จากผลงานวิจัยในช่วงทศวรรษ 1960 – 1970 ที่เมื่อขยายผลในอเมริกาก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่กลับไปงอกงามแตกดอกออกผลในญี่ปุ่น ดังเล่าในบทที่ ๔ (วิธีการนี้ในบ้านเราเรียกว่า Lesson Study ที่ครูใหม่ลง บล็อก เผยแพร่ต่อเนื่องมาหลายปี ที่นี่) ในทำนองเดียวกันกับกระบวนการพัฒนาคุณภาพในอุตสาหกรรม ที่ Deming ชาวอเมริกันคิดขึ้น ก็ไปงอกงามในญี่ปุ่น แล้วอเมริกาก็ไปรับกลับไปอีกทีหนึ่ง เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน


วิธีสร้างครูคุณภาพนั้น จะว่าง่ายก็ง่ายมาก คือสร้างจากการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Learning by Doing) ใช้ห้องเรียน พฤติกรรมของนักเรียน และของครู ในห้องเรียนนั่นเองเป็นบทเรียน โดยมีเคล็ดลับคือ ครูไม่เรียนคนเดียว แต่เรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม


เหตุการณ์ในห้องเรียนได้จากการบันทึกวีดิทัศน์ หรือจากการที่ครูผลัดกันไปนั่งสังเกตชั้นเรียนซึ่งกันและกัน แล้วเอามาตั้งข้อสังเกต แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน การเรียนรู้จากการปฏิบัติของทีมครูนี้ ก็คือ PLC นั่นเอง


PLC สร้างครูคุณภาพ โดยที่กระบวนการต้องมีความละเอียดอ่อน มีความช่างสังเกตจุดเล็กจุดน้อย เชื่อมโยงกับทฤษฎีการเรียนรู้ ตามที่ระบุหรือเล่าในหนังสือ ครูคุณภาพสร้างได้


วิชาครู ที่เรียนกันตามทฤษฎีในสหรัฐอเมริกา และในไทย ไม่สร้างครูคุณภาพ การเรียนรู้จากการปฏิบัติในห้องเรียนต่างหาก ที่สร้างครูคุณภาพ


วิจารณ์ พานิช

๙ มี.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 627599เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2017 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2017 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท