ระบบประมวลผลรายการ : TPS


ระบบประมวลผลรายการ (Transaction Processing Systems :TPS)

ระบบประมวลผลรายการ หมายถึง ระบบสารสนเทศที่ใช้ในการเปลี่ยนข้อมูลดิบจากการปฏิบัติงานให้อยู่ในรูปแบบที่เครื่องจักรสามารถอ่านได้, เก็บรายละเอียดรายการ, ประมวลผลรายการและสั่งพิมพ์รายละเอียดรายการ ออกมาได้ รายการ (Transaction) คือ การกระทำพื้นฐานที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการทางธุรกิจ เช่น การขายสินค้า การจองตั๋วเครื่องบิน การซื้อสินค้าผ่านเครดิตการ์ดและการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง จัดเป็นรายการทั้งสิ้น ระบบประมวลผลรายการนิยมใช้ในการประมวลผลบัญชี, การขาย, หรือประมวลผลข้อมูลสินค้าคงคลัง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ต้องการของระบบสารสนเทศอื่นๆในองค์กร

ในการดำเนินการของระบบประมวลผลรายการ ข้อมูลถูกนำเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ของระบบสารสนเทศ โดยใช้แป้นพิมพ์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์จนกระทั่งพร้อมที่จะถูกประมวลผล หลังจากที่ข้อมูลถูกป้อนเข้าไปแล้ว จะเกิดการประมวลผลเพื่อเปลี่ยนข้อมูลเป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ในการจัดการ โดยระบบประมวลผลรายการจะทำการบันทึกรายการลงในฐานข้อมูลและผลิตเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายการนั้นออกมา อาจอยู่ในรูปแบบของรายงาน, ตาราง, กราฟ,ภาพเคลื่อนไหว และเสียงฯลฯ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้สารสนเทศนั้นๆ

ระบบประมวลผลรายการสามารถแบ่งตามวิธีการประมวลผลข้อมูล ได้แก่

1 ระบบการประมวลผลแบบกลุ่ม (Batch Processing System) ข้อมูลจากหลายๆรายการ จากผู้ใช้หลายๆ คน หรือจากช่วงเวลาหลายๆ ช่วง ถูกรวมเข้าด้วยกัน, นำเข้า และประมวลผลเหมือนเป็นกลุ่มเดียว ตัวอย่างเช่น ยอดขายรายวันซึ่งถูกประมวลผลเพียงวันละหนึ่งครั้ง จะใช้ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มนี้เมื่อข้อมูลไม่จำเป็นต้องปรับปรุงทันที และเมื่อมีข้อมูลจำนวนมากที่คล้ายกัน ต้องถูกประมวลผลในครั้งเดียวกัน

2 ระบบการประมวลผลแบบออนไลน์ (Online Processing System) รายการถูกประมวลผลเมื่อเกิดรายการนั้นขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

2.1 การประมวลผลเชิงรายการ (Transactional Processing) ข้อมูลถูกประมวลผลเมื่อป้อนข้อมูลเข้าโดยไม่ต้องเก็บไว้ประมวลผลในภายหลัง เช่น ระบบเช็ครายการสินค้าออกของร้านขายของชำ โดยระบบจะทำการออกใบเสร็จรับเงินที่แสดงรายการสินค้าทันทีหลังจากรายการสินค้าต่างๆ ที่ซื้อ ถูกประมวลผล

2.2 การประมวลผลแบบทันที (Real-time Processing) ใช้ในระบบควบคุม หรือระบบที่ต้องการให้เกิดผลสะท้อนกลับ เช่นขบวนการควบคุมอุณหภูมิของห้างสรรพสิน การทำงานของการประมวลผลแบบทันที สามารถไปมีผลกระทบกับตัวรายการนั้นๆ เอง ถ้าผู้ใช้หลายรายแข่งขันกันเพื่อใช้ทรัพยากรเดียวกัน เช่นที่นั่งบนเครื่องบิน หรือในชั้นเรียนพิเศษ

วัตถุประสงค์ของ TPS
1) มุ่งจัดหาสารสนเทศทั้งหมดที่หน่วยงานต้องการตามนโยบายของหน่วยงานหรือตามกฎหมาย เพื่อช่วยในการปฏิบัติงาน
2) เพื่อเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานประจำให้มีความรวดเร็ว
3) เพื่อเป็นหลักประกันว่าข้อมูลและสารสนเทศของหน่วยงานมีความถูกต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและรักษาความลับได้
4) เพื่อเป็นสารสนเทศที่ป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบสารสนเทศที่ใช้ในการตัดสินใจอื่น เช่น MRS หรือ DSS

หน้าที่ของ TPS มีดังนี้
1) การจัดกลุ่มของข้อมูล (Classification) คือ การจัดกลุ่มข้อมูลลักษณะเหมือนกันไว้ด้วยกัน
2) การคิดคำนวณ (Calculation) การคิดคำนวณโดยใช้วิธีการคณิตศาสตร์ เช่น บวก ลบ คูณ หาร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ เช่น การคำนวณภาษีขายทั้งหมดที่ต้องจ่ายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
3) การเรียงลำดับข้อมูล (Sorting) การจัดเรียงข้อมูลเพื่อทำให้การประมวลผลง่ายขึ้น เช่น การจัดเรียง invoices ตามรหัสไปรษณีย์เพื่อให้การจัดส่งเร็วยิ่งขึ้น
4) การสรุปข้อมูล (Summarizing) เป็นการลดขนาดของข้อมูลให้เล็กหรือกระทัดรัดขึ้น เช่น การคำนวณเกรดเฉลี่ยของนักศึกษาแต่ละคน
5) การเก็บ (Storage) การบันทึกเหตุการณ์ที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน อาจจำเป็นต้องเก็บรักษาข้อมูลไว้ โดยเฉพาะข้อมูลบางประเภทที่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ตามกฎหมาย ที่จริงแล้ว TPS เกี่ยวข้องกับงานทุกระดับในองค์การ แต่งานส่วนใหญ่ของ TPS จะเกิดขึ้นในระดับปฏิบัติการมากกว่า แม้ว่า TPS จะจำเป็นในการปฏิบัติงานในองค์การแต่ระบบ TPS ก็ไม่เพียงพอในการสนับสนุนในการตัดสินใจของผู้บริหาร ดังนั้นองค์การจึงจำเป็นต้องมีระบบอื่นสำหรับช่วยผู้บริหารด้วย ดังจะกล่าวต่อไป

ลักษณะสำคัญของระบบสารสนเทศแบบ TPS มีดังนี้
• มีการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก
• แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากภายในและผลที่ได้เพื่อตอบสนองต่อผู้ใช้ภายในองค์การเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหุ้นส่วนทางการค้าอาจจะมีส่วนในการป้อนข้อมูลและอนุญาตให้หน่วยงานที่เป็นหุ้นส่วนใช้ผลที่ได้จาก TPS โดยตรง
• กระบวนการประมวลผลข้อมูลมีการดำเนินการเป็นประจำ เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์
• มีความสามารถในการเก็บฐานข้อมูลจำนวนมาก
• มีการประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็ว เนื่องจากมีปริมาณข้อมูลจำนวนมาก
• TPS จะคอยติดตามและรวบรวมข้อมูลภายหลังที่ผลิตข้อมูลออกมาแล้ว
• ข้อมูลที่ป้อนเข้าไปและที่ผลิตออกมามีลักษณะมีโครงสร้างที่ชัดเจน (structured data)
• ความซับซ้อนในการคิดคำนวณมีน้อย
• มีความแม่นยำค่อนข้างสูง การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลมีความสำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงกับ TPS
• ต้องมีการประมวลผลที่มีความน่าเชื่อถือสูง

วงจรการทำงานของ TPS

1. การป้อนข้อมูล (Data Entry) เป็นส่วนแรกหรือจุดเริ่มต้นของวงจรการปฏิบัติงานทางธุรกิจ โดยการป้อนข้อมูลจะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้น แล้วทำการป้อนลงไปในระบบคอมพิวเตอร์ หรือสื่อสำรองสำหรับการเก็บข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ เพื่อรอการนำไปใช้งาน โดยที่ข้อมูลส่วนมากจะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากเอกสารที่เกิดจากการดำเนินงานของธุรกิจในแต่ละวัน เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งสินค้า และใบกำกับสินค้า เป็นต้น

2. การประมวลผลหรือการปฏิบัติงานกับข้อมูล (Transaction Processing) หลังจากการป้อนหรือเปลี่ยนรูปแบบข้อมูลให้เหมาะที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะสามารถอ่านได้แล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการนำเอาข้อมูลที่จัดเก็บไปประมวลผล ซึ่งผู้ใช้สามารถทำได้ 2 วิธี ต่อไปนี้

2.1 แบบครั้งต่อครั้ง (Batch) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ระยะหนึ่ง เพื่อรอให้มีปริมาณข้อมูลเพียงพอแล้วจึงทำการประมวลผล เพื่อให้ได้สารสนเทศสำหรับการใช้งาน การประมวลผลแบบครั้งต่อครั้งจะเหมาะที่จะใช้งานกับระบบสารสนเทศที่มิได้เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานโดยตรง หรือลักษณะงานที่ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ตลอดจนไม่มีความเร่งด่วนในการใช้งานสารสนเทศ

2.2 แบบตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง (Real Time) การประมวลผลข้อมูลจะเกิดขึ้นทันทีที่ข้อมูลถูกป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบประมวลผลจะให้สารสนเทศที่เป็นจริงตามสถานการณ์โดยไม่ต้องทำการรวบรวมข้อมูลเข้าเป็นกลุ่ม การประมวลผลตามเวลาที่เกิดขึ้นจริงจะเหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ต่อไปการแข่งขันที่รุนแรงซับซ้อนในอนาคตจะทำให้ธุรกิจต้องการระบบประมวลผลข้อมูลแบบตามเวลาที่เกิดจริงมากขึ้น เพื่อให้สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องภายใต้ข้อจำกัดของระยะเวลา

3. การปรับปรุงฐานข้อมูล (File / database Updating) ผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลจะถูกนำไปปรับปรุง และจัดเก็บอย่างเป็นระบบในฐานข้อมูลหือไฟล์ต่าง ๆ ซึ่งการปรับปรุงข้อมูลอาจทำเป็นระยะ ๆ เช่น รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน และความทันสมัยของข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูล

4. การผลิตรายงานและเอกสาร (Document and Generation) เป็นการผลิตรายงานและเอกสารอ้างอิงภายในองค์การ ซึ่งแสดงถึงการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นของระบบ โดยเอกสารต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นจากระบบปฏิบัติงานทางธุรกิจเรียกว่า เอกสารการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถแบ่งการผลิตรายงานและเอกสารออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

4.1 เอกสารที่เกี่ยวกับสารสนเทศ (Information Document) เป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของการทำงานในแต่ละกระบวนการที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบรายงานการสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น ตลอดจนการรายงานถึงปัญหาหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทำงาน

4.2 เอกสารการปฏิบัติการ (Action Document) เป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดการปฏิบัติงานของผู้รับเอกสาร เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า เมื่อเอกสารนี้ถูกส่งไปถึงผู้ขายวัตถุดิบก็จะก่อให้เกิดการปฏิบัติงาน โดยที่ผู้ขายต้องจัดส่งสินค้าตามที่ระบุในใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่ผู้ซื้อให้ทันตามกำหนดหรือเช็คเงินสด เมื่อผู้รับนำเช็คไปถึงธนาคารก็จะก่อให้เกิดการทำงาน คือสามารถขึ้นเงินได้ เป็นต้น

4.3 เอกสารหมุนเวียน (Circulating Document) เป็นเอกสารที่ถูกส่งออกไปแล้วจะมีการหมุนเวียนไปยังผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อให้รับทราบหรือดำเนินงาน เมื่อถูกส่งไปถึงลูกค้าก็จะมีเอกสารบางส่วน หรือสำเนาเอกสารถูกแยกออกแล้วส่งมายังเจ้าหนี้พร้อมกับจำนวนเงินที่จ่าย เป็นต้น

5. การให้บริการสอบถาม (Inquiring Processing) ปกติองค์การธุรกิจจะจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกับลูกค้าและผู้ขายวัตถุดิบ นอกจากข้อมูลจะได้รับการประมวลผลและนำไปปรับปรุงให้ข้อมูลเดิมในฐานข้อมูลให้มีความทันสมัยแล้ว เมื่อลูกค้าหรือผู้ขายวัตถุดิบมีความต้องการอยากทราบถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก็จะทำการสอบถาม เช่น ยอดบัญชีค้างชำระ หรือยอดเงินฝากในบัญชีธนาคาร เป็นต้น โดยที่ TPS จะทำหน้าที่ตอบสนองตามที่ผู้เกี่ยวข้องร้องขอเข้ามา หรืออีกนัยหนึ่ง TPS เป็นการใช้ข้อมูลและสารสนเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานในแต่ละวันของทั้งองค์การ และผู้ใช้งานสารสนเทศจากภายนอก

ตัวอย่างระบบ TPS

  • ระบบจ่ายเงินเดือน
  • ระบบบันทึกคำสั่งซื้อ
  • ระบบสินค้าคงคลัง
  • ระบบใบกำกับสินค้า
  • ระบบส่งสินค้า
  • ระบบบัญชีลูกหนี้
  • ระบบบัญชีเจ้าหนี้
  • ระบบสั่งซื้อสินค้า
  • ระบบรับสินค้า
  • ระบบบัญชีแยกประเภททั่วไป

ที่มา : https://lamduanduan.wordpress.com

หมายเลขบันทึก: 627593เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2017 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2017 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท