หมุดวันกำเนิดรัฐธรรมนูญเดิม กับ หมุดประชาหน้าใส


หมุดคณะราษฎรหรือหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญเดิม ฝังไว้ ณ จุดที่พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรียืนอ่านประกาศยึดอำนาจ เมื่อเช้าของวันที่ 24 มิ.ย. 2475 โดยพิธีฝังหมุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2479

ส่วนบนหมุดทองเหลืองนี้มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"

เมื่อยามย่ำรุ่งนั้นเอง คณะราษฎรได้พูดถึงหลัก 6 ประการ ซึ่งเป็นความเจริญของชาติ อันได้แก่

  • จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  • จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  • จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  • จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  • จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  • จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

มาดูหมุดอันใหม่ บางส่วนมาจากคาถาสุภาษิต ที่ปักอยู่บนตรา "ดาราจักรี" ซึ่งในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า เป็นเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ สร้างขึ้นเพื่อใช้ประดับฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ สำหรับฝ่ายหน้า โดยจะติดไว้ที่อกซ้ายของฉลองพระองค์ครุย จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน เรียกย่อว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ มีชั้นเดียวทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน

คาถาสุภาษิตดังกล่าวคือ "ติรตเน สกรฏฺเฐจ สมฺพํเส จ มมายน สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฎฺฐาภิวฑฺฒน" ซึ่งแปลว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระศรีรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง"

ส่วนข้อความบนหมุดใหม่ คือ "ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง"

โปรดสังเกตว่า ข้อความที่สลักในหมุดใหม่มีความเฉพาะเจาะจงสูง มีลักษณะเชิดชูชาติ พุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์เท่านั้น ความมีเอกราช ความอยู่ดีในด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การศึกษา และสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคไม่ได้บรรจุอยู่ในหมุดใหม่นี้เลย และก็ไม่น่าแปลกหรอกที่จะสร้างความไม่พอใจในระหว่างต่างศาสนนิกชนโดยเฉพาะความไม่สงบในดินแดนภาคใต้

เอกสารอ้างอิง

บีบีซีไทย. หมุดคณะราษฎรที่หายไป สะท้อนปัญหาอะไรในสังคม

http://www.bbc.com/thai/thailand-39608193

หมายเลขบันทึก: 627585เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2017 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2017 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท