เด็กนำ-ผู้ใหญ่หนุน แก้ปัญหาวัยรุ่นที่ “ตากออก”


แทนที่เราจะกีดกันเด็กออกไป เราก็ดึงเด็กมาเป็นแนวร่วมรับผิดชอบสังคม ให้เด็กได้รู้สึกว่าตัวเองก็เป็นอนาคตและเป็นเจ้าของชุมชนเช่นกัน ให้เขากล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ โดยเรามีหน้าที่อยู่เบื้องหลังคอยช่วยเสริมก็พอ เวลามีงานไมต้องเรียกเด็กเลย เขามากันเอง เขาจะรู้หน้าที่ ว่าต้องทำอะไรยังไงบ้าง โดยเราไม่ต้องไปบอกไปสอน

ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมลักษณะไหน เรามักเห็นสภาพครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ไม่ค่อยมีเวลาให้กับบุตรหลานมากนัก ภาระการเลี้ยงดูมักเป็นของปู่ย่าตายาย การจะให้คนชรามาไล่ตามดูพฤติกรรมของวัยรุ่นจึงเป็นเรื่องยาก ทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งหลงระเริง ติดเพื่อน และใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากกว่าที่จะอยู่กับครอบครัว ส่วนที่ดีก็ดีไป แต่ส่วนที่แย่ คือจับกลุ่มดื่มเหล้า เสพยา แว้นมอเตอร์ไซค์ ทะเลาะวิวาท สร้างความรำคาญให้คนในชุมชน

ชุมชนบ้านตากออก หมู่ 6 ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก ก็ประสบปัญหาวัยรุ่นเช่นกัน เพราะด้วยความเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท อยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านตาก จึงมีสิ่งยั่วยุมากมายหลายรูปแบบแก่เด็กและเยาวชนในชุมชนทั้ง 102 คน

ตลอดแนวริมแม่น้ำปิงที่ผ่านชุมชน มีทั้งสวนหย่อม สวนสาธารณะ ท่าน้ำสาธารณะ ลานชมปิง ซึ่งใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นกลับใช้สถานที่ดังกล่าวนี้เป็นจุดนัดพบ มั่วสุมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เมื่อเมาแล้วก็ขับขี่จักรยานยนต์เสียงดังน่ารำคาญ รวมไปถึงมีเรื่องทะเลาะวิวาททั้งวัยรุ่นในชุนชนด้วยกันเอง หรือวัยรุ่นจากที่อื่น


ผู้นำชุมชนจึงร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาวัยรุ่นนี้ โดยได้เข้าร่วมโครงการ “ร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ หมู่บ้านตากออก ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก” จากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้แสดงพลังในทางที่ถูกที่ควร ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและจิตอาสาในการรับผิดชอบชุมชนร่วมกัน


น.ส.น้ำฝน วงษ์กลม ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ในชุมชนจะมีเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีอยู่ประมาณ 5 กลุ่มใหญ่ รวมประมาณ 40-50 คน ชอบจับกลุ่มมั่วสุมตามสวนสาธารณะหรือท่าน้ำ ซึ่งเป็นจุดล่อแหลม นอกจากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ร้องเพลลงส่งเสียงดัง แว้นมอเตอร์ไซค์แล้ว ยังก่อเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้งเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงไหนมีการจัดงานเทศกาลการทะเลาะวิวาทจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น สร้างความเดือดร้อนต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนและสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของชาวบ้านและทางราชการ

ต้นเหตุของการทะเลาะวิวาท คือ การมั่วสุมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ดังนั้นจึงต้องลดต้นเหตุ จึงได้จัดตั้งสภาผู้นำชุมชน ซึ่งคัดเลือกตัวแทนทุกภาคส่วนจำนวน 35 และตัวแทนจากเยาวชน อีก 10 คน รวมเป็น 45 คน ประชุมร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดละเลิกการดื่มสุราและสูบบุหรี่ อันเป็นต้นเหตุของการทะเลาะวิวาท


การขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ การจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในเรื่อง ลด ละ เลิกการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ พร้อมทั้งจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นแกนนำ และมีการประชุมประชาคมร่วมกันตั้งกฎกติกาในหมู่บ้าน คือ ห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนออกนอกบ้านเกินเวลา 4 ทุ่ม จัดกิจกรรมรณรงค์ ลด ละ เลิกเหล้าและบุหรี่ในสำคัญต่างๆ กิจกรรมทอดผ้าป่าความดี กิจกรรมจิตอาสา ร่วมกันจัดงานบุญ งานประเพณีของชุมชน กิจกรรมค่ายล้อมรัก โดยการนำเด็กและผู้ปกครองมาเข้าค่ายร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ประกอบการขายสุราและบุหรี่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด



นางเยา เรืองเกตุ กำนันตำบลตากออก กล่าวว่า อยากให้เด็กและเยาวชนเกิดการรวมตัวกันในการทำงานจิตอาสารู้จักรับผิดชอบและทำอะไรดีๆ ให้สังคม เพราะคนวัยนี้ คืออนาคตของชุมชน เมื่อเด็กและเยาวชนไม่จับกลุ่มกัน ไม่ชักชวนเพื่อนๆ จากชุมชนอื่นมามั่วสุม ปัญหาการทะเลาะวิวาทก็จะค่อยๆ ลดลง

“แทนที่เราจะกีดกันเด็กออกไป เราก็ดึงเด็กมาเป็นแนวร่วมรับผิดชอบสังคม ให้เด็กได้รู้สึกว่าตัวเองก็เป็นอนาคตและเป็นเจ้าของชุมชนเช่นกัน ให้เขากล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ โดยเรามีหน้าที่อยู่เบื้องหลังคอยช่วยเสริมก็พอ เวลามีงานไมต้องเรียกเด็กเลย เขามากันเอง เขาจะรู้หน้าที่ ว่าต้องทำอะไรยังไงบ้าง โดยเราไม่ต้องไปบอกไปสอน” กำนันตำบลตากออก กล่าว


ด้าน นายอมรินทร์ สุยะต๊ะ แกนนำเยาวชนชุมชนบ้านตากออก กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชนถือว่ามีบทบาทในขับเคลื่อนชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่ ในบางมุมมอง เด็กอาจจะมองเห็นในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เห็น การแก้ปัญหาวัยรุ่นก็ต้องให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนอกจากการอบรมการให้ความรู้ต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยเวลามีงานบุญ ประเพณี หรือเทศกาล ก็จะชักชวนเพื่อนให้ไปช่วยกันจัดงาน เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีจากผู้เฒ่าผู้แก่อีกด้วย

“เรายังได้ร่วมจัดกิจกรรมสอดแทรกด้วย เช่น การลำกะลา การแสดงละครบนเวที ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเพสติด การเล่นดนตรีพื้นเมือง การประกวดคำขวัญ ประกวดวาดภาพในงานประเพณีลอยกระทง หรืองานตานก๋วยสลาก ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีของภาคเหนือ นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมจิตอาสา “อสม.น้อย” โดยเด็กๆ จะร่วมลงพื้นที่เยี่ยมผู้สูงอายุ และผู้พิการ การเข้ามามีส่วนร่วมกันคิดร่วมกันแสดงออก ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเอง ว่าผู้ใหญ่ก็ให้ความสำคัญ จึงไม่กล้าที่จะทำในสิ่งไม่ดี ปัญหามั่วสุม ทะเลาะวิวาทก็ลดน้อยลง ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย” อมรินทร์ เล่า


ชุมชนบ้านตากออกให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ให้พลังที่มีอยู่ในตัวเด็กได้ปลดปล่อยออกมาในทางที่ดี จากที่มองว่าเป็นตัวปัญหาก็แค่ดึงมาเป็นแนวร่วมรับผิดชอบชุมชนร่วมกัน ปัญหาวัยรุ่นจึงคลี่คลาย กลายเป็นแบบอย่างให้ชุมชนข้างเคียงได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 627390เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2017 02:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2017 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท