กะเหรี่ยงบ้านพะการ่วมใจ ปรับพฤติกรรมใหม่ลดขยะในชุมชน


“ครั้งแรกที่เราช่วยกันจัดเก็บขยะในหมู่บ้าน ได้ขยะมากถึง 1 ตัน ปัจจุบันขยะลดลงไปแทบไม่มีแล้ว และขยะในครัวเรือนเฉลี่ยมากถึงเดือนละ 14 กิโลกรัม ปัจจุบันมีชาวบ้านให้ความร่วมมือคัดแยกขยะแล้วกว่า 70% ซึ่งเป้าหมายของเรา คือลดปริมาณขยะให้ได้ 50% เป็นอย่างน้อย” ผู้ใหญ่สุธี ให้ข้อมูล

เมื่อความเจริญต่างๆ หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ อาจเปลี่ยนเป็นปัญหาที่น่าหนักใจก็ได้ อย่างเช่นเรื่องขยะที่หลายๆ ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ ไม่เว้นแม้กระทั่งบ้านพะกา ชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่ ต.ด่านแม่ละเมา อยู่ห่างจากตัว อ.แม่สอด จ.ตาก ประมาณ 20 กิโลเมตร

ชุมชนบ้านพะกา มีขนาดย่อมๆ ประชากร 558 คน 137 ครัวเรือน ที่นี่ถือเป็นชุมชนกะเหรี่ยงสมัยใหม่อาศัยอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองใหญ่มากนัก เป็นชุมชนอยู่ติดถนนสายหลักตาก-แม่สอด ทำให้ที่นี่มีความแตกต่างจากชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่งที่มักจะอาศัยอยู่ในป่าลึก โดยเฉพาะ “ขยะ” ที่นับวันจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ และกลาดเกลื่อนไปทั่วหมู่บ้าน สร้างความสกปรกแก่ชุมชนมาเนิ่นนาน และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพด้วย

จากการสำรวจข้อมูลสุขภาพของคนในชุมชน พบว่า สารเคมีตกค้างในเลือดมากถึง 18 คน จาก 20 คนที่สุ่มตรวจ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขยะอันตรายจากภาคเกษตรกรรมที่ถูกทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางทั้งพื้นดิน และลำห้วย แล้วย้อนกลับหาชาวบ้านทั้งการสัมผัส การบริโภค ทำให้ชาวเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

“เพราะความมักง่ายของชาวชุมชนที่ทิ้งขยะกันไม่เป็นที่เป็นทาง กินตรงไหนทิ้งตรงนั้น กระป๋อง แกลลอนยาฆ่ายาเปิดเสร็จก็ทิ้งไว้ตรงนั้น เมื่อไม่มีระบบจัดการขยะที่ดี ทำให้ขยะสะสมมากขึ้นๆ จนล้นหมู่บ้าน ทั้งขยะพลาสติก เศษวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงขยะปฏิกูล เราคิดจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหาขยะเบาบางลงไปได้บ้าง และสิ่งสำคัญคือลดสารพิษที่จะย้อนกลับมาหาตัว” สุธี คีรีพงษ์พัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านพะกา เอ่ยถึงต้นเหตุของปัญหาขยะ



กระทั่งปี 2559 หน่วยจัดการร่วมสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จ.ตาก ได้ลงพื้นที่ชักชวนชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “6 ประเด็นสร้างสุขล้น คนเมืองตาก” การจัดการขยะในชุมชนเป็นหนึ่งในหัวข้อโครงการ เมื่อเห็นช่องทางการแล้ว ผู้ใหญ่บ้านบ้านพะกา จึงได้เข้าร่วมโครงการ โดยมุ่งหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวบ้านพะกาตระหนักและช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที


ผู้ใหญ่สุธี เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ปริมาณขยะมีเยอะมาก และไม่มีการคัดแยก แต่ละวันชาวบ้านก็จะเอาขยะใส่ถุงมากองไว้ริมถนนหน้าบ้านของตนเอง บางส่วนก็จะกองไว้ตามถังขยะที่ อบต.นำมาวางไว้เป็นจุดๆ เพื่อรอรถขยะมาเก็บในทุกวันพุธ ซึ่งกว่ารถจะมาจัดเก็บขยะที่ไม่มีการคัดแยกก็เริ่มเน่าเสีย บ้างก็ปลิวกลาดเกลื่อน สุนัขคุ้ยเขี่ย และต้องยอมรับว่าถังขยะที่ อบต.นำมาวางไว้ตามจุดต่างๆ นั้น มีน้อยไม่เพียงพอ และบางส่วนที่กินทิ้งกินขว้างข้างทางพอฝนตกขยะก็จะไหลลงมาข้างล่างหมู่บ้านเป็นภาพที่ไม่น่ามอง เช่นเดียวกับขยะเปียกใต้ถุนบ้านส่งกลิ่นเหม็นนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง นอกจากนี้ตามรางระบายน้ำภายในหมู่บ้านก็มีขยะไปอุดตันทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำในช่วงฤดูฝน ส่วนขยะพิษจากภาคเกษตรกรรมเมื่อฝนตกก็จะชะล้างสารเคมีนั้นไหลลงลำห้วยทำให้ระบบนิเวศน์สูญเสีย


เมื่อมีโครงการจัดการขยะแล้วจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งประกอบด้วยแกนนำชุมชน อสม. ส.อบต. และแกนนำเยาวชน หลังจากนั้นจึงมีการประชาคมแจ้งเรื่องให้กับชาวบ้านให้รับทราบ ประกาศเสียงตามสายขอความความร่วมมือในทุกๆ วัน จากนั้นจัดอบรมการคัดแยกขยะเพื่อให้ชาวบ้านรู้จักคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ


เบื้องต้นให้แต่ละครัวเรือนทำการคัดแยกขยะในบ้านของตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก อันไหนขายได้ก็เก็บรวบรวมไว้ ขยะอันตรายก็แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง จากนั้นทุกวันพุธจึงนำขยะที่คัดแยกมาวางไว้ตามจุดที่รถขยะจะมาเก็บ ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดปริมาณขยะที่ไปหมักหมมอยู่ในถังขยะได้มาก และทุกเดือนหรือเนื่องในวันสำคัญต่างๆ จะระดมกำลังชาวบ้านช่วยกันจัดเก็บขยะรอบหมู่บ้าน อย่างเช่น ช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ได้จัดงานวันแห่งความรักขึ้น แต่เป็นการรักสิ่งแวดล้อมของชุมชน


ขณะที่ขยะเปียก เช่น เศษพืชผัก ผลไม้ ในครัวเรือน จะถูกนำไปให้เป็นอาหารสุกรที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวบ้าน เพราะชุมชนกะเหรี่ยงนิยมเลี้ยงสุกรไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สุกรช่วยกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน มากกว่าการเลี้ยงเพื่อนำไปบริโภค


“ครั้งแรกที่เราช่วยกันจัดเก็บขยะในหมู่บ้าน ได้ขยะมากถึง 1 ตัน ปัจจุบันขยะลดลงไปแทบไม่มีแล้ว และขยะในครัวเรือนเฉลี่ยมากถึงเดือนละ 14 กิโลกรัม ปัจจุบันมีชาวบ้านให้ความร่วมมือคัดแยกขยะแล้วกว่า 70% ซึ่งเป้าหมายของเรา คือลดปริมาณขยะให้ได้ 50% เป็นอย่างน้อย” ผู้ใหญ่สุธี ให้ข้อมูล


ด้าน ประสงค์ หินฝนทอง ส.อบต.ด่านแม่ละเมา กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องของตำบล ในการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เรามีตลาดมูเซอซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่แวะเวียนมาจับจ่ายทำให้มีขยะมากถึง 2 ตันต่อวัน ซึ่งจะต้องมีระบบการจัดการขยะที่ดีต่อไป

นอกจากนี้แล้วเรายังได้เสนอแผนการจัดการขยะเข้าไปในโครงการของ สปสช. และของ อบต. เพื่อต่อยอดจากโครงการนี้ เพราะขยะอยู่กับเราตลอดชีวิตเราต้องทำกันต่อไป และสิ่งสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะการบริหารจัดการไม่ใช่แค่ อบต. แต่เราต้องช่วยกันด้วยหมู่บ้าน


ปัญหาด้านขยะในชุมชนกะเหรี่ยงดูจะเป็นของคู่กันมาเนิ่นนาน หากแต่วันนี้ที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพะกา ยอมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัว สลัดภาพลักษณ์ และร่วมมือกับส่วนรวมเพื่อสร้างชุมชนให้สะอาด น่าอยู่น่ามอง


หมายเลขบันทึก: 627383เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2017 01:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2017 01:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท