ร.ร.วัดธัญญะผล เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน สอนนักเรียนปลูกผักทั้งบ้าน-โรงเรียน


ครูประมวล เล่าว่า ผักและผลไม้ที่เป็นผลผลิตจากแปลงทดลองของโรงเรียนจะถูกส่งต่อแม่ครัวเพื่อนำมาปรุงอาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับประทานทุกวัน แต่ทางโรงเรียนคิดถึงอีก 2 มื้อที่เหลือ ว่านักเรียนจะได้รับประทานผักและผลไม้เพียงพอหรือไม่ ดังนั้นจึงส่งเสริมให้นักเรียนนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกลับไปช่วยกันปลูกกับพ่อแม่ที่บ้าน

ผักและผลไม้ดูเหมือนจะเป็นของแสลงสำหรับเด็กหลายๆ คน ธรรมชาติของเด็กมักชอบอาหารรสหวานและไม่โปรดปรานรสเปรี้ยวหรือขมที่มีอยู่ในผักและผลไม้หลายชนิด ทำให้เด็กรู้สึกขยาดและเลือกที่จะไม่ทานผักและผลไม้ไปเสียทุกชนิด

โรงเรียนวัดธัญญะผล อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เป็นโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ประสบปัญหาเด็กไม่ชอบทานผักและผลไม้มากถึง 143 คน คิดเป็นร้อย 48.80 ของนักเรียนทั้งหมดจำนวน 293 คน ซึ่งเป็นผลมาจากการพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ คือ ชอบรับประทานอาหารประเภท ทอด ปิ้ง ย่าง ที่หาซื้อได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประกอบกับผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเรื่องอาหารเท่าที่ควร เด็กจึงไม่ได้รับประทานผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม

โรงเรียนวัดธัญญะผลดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีการจัดกระบวนการเรียนการสอนยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักเข้าโครงการอาหารกลางวัน จึงได้เข้าร่วมโครงการ ยิ่งเท่ ยิ่งน่ารัก เพราะกินโปรตีน ผักและผลไม้”ของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้เด็กตระหนักและเห็นคุณค่าผักและผลไม้ ตลอดจนสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของเด็กให้ดีเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เติบโตอย่างสมวัย


“การจะสอนให้เด็กกินผักและผลไม้นั้น ถ้าเราไปบอกหรือบังคับตรงๆ เป็นเรื่องยาก จะต้องมีวิธีการ เช่น สอนถึงประโยชน์ของการทานผักและผลไม้ ขณะเดียวกันก็สอนเรื่องสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ว่ามีพิษภัยอย่างไร ทำไมผักจึงขมก็เพราะมีสารเคมีตกที่ค้าง ทีนี้เราก็มาสอนว่าทำอย่างไรที่จะให้เราได้ทานผักและผลไม้ที่สะอาดและปลอดภัย นั่นคือ การปลูกกินเอง”ประมวล ศิริวรรรณ ครูโรงเรียนวัดธัญญะผล กล่าวถึงกลวิธีสอนเด็กทานผักและผลไม้

จากกการที่โรงเรียนจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตั้งแต่ 14.30-15.30 น. จึงได้นำเอาโครงการยิ่งเท่ ยิ่งน่ารัก เพราะกินโปรตีน ผักและผลไม้”เข้าไปส่งเสริมในกิจกรรม โดยการส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือปลูกผัก และดูแลแปลงผักด้วยตัวเอง เพื่อให้มีความใกล้ชิดผักและผลไม้ นักเรียนก็จะรักผักและทานผักได้ในที่สุด โดยใช้พื้นที่หลังโรงเรียนเป็นแปลงผักทดลอง ซึ่งผักที่ส่งเสริมให้เด็กปลูกส่วนใหญ่จะเป็นพืชกินใบ ปลูกง่าย โตเร็ว และมีอีกหลายๆ ชนิด เช่น ผักบุ้ง คะน้า วอเตอร์เครส ยี่หรา โหระพา กะเพรา พริก ตะไคร้ มะเขือ ต้นอ่อนทานตะวัน เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่ปลูกไว้ เช่น กล้วย และแก้วมังกร รวมทั้งโรงเพาะเห็ดนางฟ้าให้เด็กๆ ช่วยกันดูแลด้วย

ขณะเดียวยังได้ส่งเสริมให้มีการบูรณาการเข้าไปในสาระวิชา “เรียนนอกห้องเรียนควบคู่เรียนในห้อง” เปิดโอกาสให้ครูนำเด็กเรียนมาเยี่ยมชมและเรียนรู้จากแปลงผักได้ เช่น สอนเรื่องสารเคมี ส่วนประกอบของพืชในวิชาวิทยาศาสตร์ สอนนับจำนวนผักที่มีอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์ สอนการวาดรูปจากผักที่มีอยู่ในแปลงในวิชาศิลปะ สอนการทำอาหารและหารายได้จากการทำสลัดผักม้วนในวิชาโครงงานอาชีพและอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแต่ครูจะประยุกต์ใช้สามารถเชื่อมโยงได้หมด

จากการเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 25558 พบว่าเด็กมีความรู้ ความตระหนักและคุณค่าของผักและผลไม้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานผักและผลไม้มากขึ้นร้อยละ 80 และทานผักและผลไม้ไม่น้อยกว่า 160 กรัมต่อมื้อ นอกจากนี้ยังขยายผลสู่ครัวเรือนผู้ปกครอง เพื่อช่วยกระตุ้นเด็กทานผักและผลไม้ครบทั้ง 3 มื้อ


ครูประมวล เล่าด้วยว่า ผักและผลไม้ที่เป็นผลผลิตจากแปลงทดลองของโรงเรียนจะถูกส่งต่อแม่ครัวเพื่อนำมาปรุงอาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับประทานทุกวัน แต่ทางโรงเรียนคิดถึงอีก 2 มื้อที่เหลือ ว่านักเรียนจะได้รับประทานผักและผลไม้เพียงพอหรือไม่ ดังนั้นจึงส่งเสริมให้นักเรียนนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกลับไปช่วยกันปลูกกับพ่อแม่ที่บ้าน

“หากบ้านไหนไม่มีแปลงปลูกก็ให้ปลูกในภาชนะหรือวัสดุเหลือใช้ทดแทน ซึ่งนอกจะกระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้เห็นความสำคัญของการทานผักและผลไม้ที่พร้อมจะใส่ใจปรุงอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกทาน เกิดความรักความผูกพัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย และสามารถเป็นครัวเรือนต้นแบบปลูกผักและผลไม้ปลอดสารพิษและประกอบอาหารเมนูผักและผลไม้ให้แก่ผู้ปกครองคนอื่นๆ ได้” ครูประมวล เล่า


ส่วน ด.ช.สิทธิพร คุณธนเกียรติ หรือ “น้องอิ๊กคิว” นักเรียนแกนนำการปลูกผัก บอกว่า ทุกคนจะต้องปลูกผักที่แปลงของโรงเรียนอย่างน้อยคนละ 2 ต้น และรับผิดชอบรดน้ำต้นไม้ทุกเช้า-เย็น ผักที่ได้ก็จะนำไปทำกับข้าวมือกลางวัน และบางส่วนก็เอากลับไปทำกินที่บ้านได้ ซึ่งการกินผักช่วยให้เราสุขภาพดี แข็งแรง

ขณะที่ ด.ญ.ณัฐวรา ศรีอุดร หรือ “น้องเอื้อ” อีกหนึ่งนักเรียนแกนนำ บอกว่า แต่ก่อนเวลาเจอผักในอาหารจะเขี่ยทิ้งไม่ยอมกินเลย โดยเฉพาะกะหล่ำปลี มะเขือ เพราะรู้สึกว่าขม แม่ก็บอกให้ฝืนๆ กินแต่หลังจากที่ตัวเองป่วย แม่ก็บอกว่า ที่ป่วยเพราะไม่กินผัก หลังจากนั้นมาเลยเริ่มกินผักมาตลอด จนตอนนี้กินผักไม่ขาดทุกมื้อ เพราะกินผักแล้วดีมีประโยชน์ต่อร่ายกาย


โรงเรียนวัดธัญญะผล เป็นโรงเรียนขนาดเล็กใน จ.ปทุมธานี อยู่เขตชุมชนที่มีการเจริญเติบโตแบบสังคมเมืองจนส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โครงการ “ยิ่งเท่ ยิ่งน่ารัก เพราะกินโปรตีน ผักและผลไม้” จึงเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงในการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มากขึ้น

ที่สำคัญ คือ ช่วยกระตุ้นพ่อแม่ผู้ปกครองให้หันมาใส่ใจพิถีพิถันในการเลือกอาหารให้ลูกรับประทาน เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง


หมายเลขบันทึก: 627384เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2017 01:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2017 01:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท