(155) การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเชิงคุณภาพ ปีงบประมาณ 2560 : (ตอนที่ 2) วิถีชีวิตผู้ป่วยจิตเวชกับชุมชนแห่งหนึ่ง


การที่ผู้นำเสนอและสมาชิกกลุ่มเปิดใจ รับฟังข้อเสนอแนะอย่างเปิดกว้าง ทำให้ผู้เข้าประชุมกลุ่มอื่นๆ ซึ่งประสบการณ์ใกล้เคียงกับงานวิจัยเรื่องนี้กล้าวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ ส่งผลให้บรรยากาศของการวิพากษ์สนุกสนานเป็นกันเอง มีเสียงหัวเราะพร้อมกันเป็นระยะๆ

เรื่องนี้เป็นตอนที่ 2 ของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเชิงคุณภาพ ปีงบประมาณ 2560 ดิฉันขอนำเสนอประเด็นการวิพากษ์ของวิทยากร ผู้จัดและผู้ร่วมประชุมเท่าที่เก็บประเด็นได้ ดังนี้ (หมายเหตุ : กลุ่มใช้ชื่อชุมชนจริงๆ ในการนำเสนองานเพื่อให้เข้าใจบริบทของชุมชนอย่างแท้จริงค่ะ)

ชื่อเรื่อง (เดิม) วิถีชีวิตที่กลมกลืนระหว่างผู้ป่วยโรคจิตเวชกับชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัด..

ที่มาของชุมชน

แม่คนหนึ่งมีลูกป่วยทางจิต พามารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชแล้วลูกหายดี จึงอยากช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่มีผู้ป่วย ให้ได้รับการฟื้นฟูจนหายดีเหมือนลูกของตนเอง จึงยกพื้นที่จำนวนหนึ่งให้ชุมชนเพื่อทำเป็นศูนย์ฯ ฟื้นฟูผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วแต่กลับบ้านไม่ได้ โดยผู้นำชุมชนและชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก ทั้งนี้มีนักวิชาการธรณีวิทยาคนหนึ่งอาสาช่วยประเมินและแนะนำเรื่องการปรับสภาพดิน และช่วยกำหนดว่าพื้นที่ใดควรปลูกพืช ขุดบ่อน้ำ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

แม่คนนี้กับชาวบ้านอีก 2 คน มาเข้ารับการอบรมเรื่องการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชหลักสูตร 5 วัน แล้วกลับไปดูแลผู้ป่วยจิตเวชในศูนย์ ปัจจุบันศูนย์นี้เป็นแหล่งศึกษาดูงานการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนจริง ผู้ป่วยในชุมชนนี้มีลักษณะกลมกลืนกับชาวบ้านมากในระดับที่บุคคลอื่นที่ไม่ทราบมาก่อนว่าใครเป็นผู้ป่วย จะแยกไม่ออกว่าใครเป็นชาวบ้าน ใครเป็นผู้ป่วยที่เราส่งเข้าไปฟื้นฟูฯ

ช่วงแรกที่ส่งผู้ป่วยเข้าไปในชุมชน ก็พบปัญหาและอุปสรรค ระยะเวลาผ่านไปเพียง 2 สัปดาห์ก็มีผู้ป่วยรายหนึ่งผูกคอตาย ทีมจิตเวชกังวลมาก เกรงว่าชาวบ้านจะต่อต้านไม่ยอมรับ จึงรับผู้ป่วยกลับมาโรงพยาบาลทั้งหมด หลวงพ่อซึ่งเป็นจ้าอาวาสวัดในพื้นที่โทรศัพท์มาสอบถามสาเหตุ แล้วยืนยันว่าชุมชนสามารถดูแลผู้ป่วยให้ได้ ไม่มีปัญหา ทีมจึงนำผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่ศูนย์ฯ ดังเดิม

ประเด็นการวิพากษ์

ชื่อเรื่อง ชื่อเรื่องควรแสดงให้เห็นว่ากำลังศึกษาอะไรอยู่ บอกได้ว่าอะไรคือ X และ Y

ในที่นี้ Y = ผู้ป่วยจิตเวช

X = ปรากฏการณ์/วิถีชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน (ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Y)

หลังวิพากษ์เหตุผลแล้วที่ประชุมแนะนำให้ปรับชื่อเรื่องเป็น “วิถีชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน.. จังหวัด..” หรือ “วิถีชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน : กรณีศึกษาชุมชน.. จังหวัด..”

คำถามการวิจัย ทำไมผู้ป่วยจึงดำเนินชีวิตได้อย่างกลมกลืนกับชุมชน (เพราะที่ผ่านมาผู้ป่วยของเราที่ส่งกลับชุมชนมักถูกปฏิเสธ)

วัตถุประสงค์วัตถุประสงค์ต้องสอดคล้องกับชื่อเรื่อง กลับมาถามว่าผู้วิจัยต้องการทราบอะไร ต้องการทราบวิถีชีวิต หรือความกลมกลืน หรือปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในชุมชนได้ ข้อเท็จจริงผู้วิจัยต้องการทราบหลายอย่าง วิธีการคือให้เขียนแยกวัตถุประสงค์หลักและรอง โดยวัตถุประสงค์หลักจะให้ภาพใหญ่ ส่วนวัตถุประสงค์รองเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพใหญ่ ปรับเป็นดังนี้

วัตถุประสงค์หลัก

  • เพื่อทราบวิถีชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน.. จังหวัด..

วัตถุประสงค์รอง

  • ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง (รูปแบบ หรือพลวัตบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ)
  • ปัจจัยที่มีอิทธิพล(หรือส่งผล) ต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยกับชุมชน..

Key Informant

ผู้ป่วย

มีผู้สงสัยว่าต้องจำแนกกลุ่มผู้ป่วยตามการวินิจฉัยโรคด้วยหรือไม่ กลุ่มให้ความเห็นว่าผู้ป่วยจิตเวชในระยะพักฟื้น (recovery phase) ผ่านระยะรักษาอาการทางจิตมาแล้ว ถือว่าผู้ป่วยทุกคนมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลตนเองตามลักษณะทางกายภาพไม่แตกต่างกัน ถือเป็นกลุ่มเดียวกันได้ จะแยกกลุ่มโรคก็ต่อเมื่อต้องการศึกษาเฉพาะกลุ่มโรคนั้นๆ ในที่นี้แนะนำให้ระบุลงไปให้ชัดเจนว่า “เป็นผู้ป่วยทุกกลุ่มโรค เนื่องจากผู้ป่วยผ่านการคัดกรองมาแล้วจาก..”

ระบุจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ศึกษา และแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามศักยภาพ เช่น แบ่งเป็น (1) กลุ่มมีศักยภาพสูง ดูแลตนเองได้และช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นได้ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน (2) เป็นผู้มีศักยภาพปานกลาง ดูแลตนเองได้แต่ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นไม่ได้ (3) กลุ่มพอดูแลตนเองได้แต่ยังปรับตัวไม่ได้ แต่ละกลุ่มมีจำนวนเท่าใด เป็นต้น

สำหรับ Key Informant อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น

ผู้ดูแล

ระบุจำนวนและคุณสมบัติว่าผ่านการอบรมหลักสูตรใดบ้าง เช่น ผู้บริหารหน่วยราชการ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนใด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลใด ดำรงตำแหน่งในปีใด (ปีร่วมก่อตั้งศูนย์ฯ) ผู้นำชุมชนประกอบด้วยใครบ้าง ชาวบ้านประกอบด้วยใครบ้าง มีการเตรียมความพร้อมหรือไม่ อย่างไร กรณีที่กำหนดให้อยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้มีประสบการณ์มากพอให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ให้เขียนเหตุผลประกอบด้วย

การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน กำหนดไว้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เขียนอธิบายไว้ด้วยว่าผู้ป่วยจะร่วมกิจกรรมตามตารางที่กำหนดในแต่ละวัน ใครต้องไปหาปลา รดน้ำต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว หรือทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ ก็จะไปร่วมกับชาวบ้านในกลุ่มนั้นๆ ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรมนั้นๆ อย่างน้อยคนละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์

การเตรียมพื้นที่

ผู้วิจัยต้องศึกษาพื้นที่จริงก่อนลงเก็บข้อมูลอยู่แล้ว จะช่วยให้ระบุรายละเอียดได้ว่ามี Key Informant กี่กลุ่ม ประกอบด้วยใครบ้าง จำนวนเท่าใด ผู้วิจัยสามารถทำนาย (predict = คาดการณ์จากข้อเท็จจริง)ได้คร่าวๆ ซึ่งข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงไปหลังจากทำ Snow ball ก็ให้เขียนรายงานไว้ด้วย

ตัวอย่างคำถาม

  • ผู้ป่วยจิตเวชที่ป่วยนานๆ มีลักษณะเฉพาะและมีข้อบกพร่องในทักษะการสื่อสาร มีผู้สังเกตว่าคำถามที่ร่างไว้เป็นนามธรรมมาก ใช้กำหนดทิศทาง/แนวทางกับบุคคลทั่วไปได้ แต่นำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้บางประเด็นและในบางรายเท่านั้น
  • ในภาพรวม อาจต้องแปลความหมายจากพฤติกรรมที่ผู้ป่วยแสดงออก ซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ที่คุ้นเคยและเข้าใจความหมายที่ผู้ป่วยแสดงออกเท่านั้น เพราะการที่ผู้ป่วยไม่ตอบคำถามหรือตอบคำถามไม่ได้ไม่ได้แปลว่า ‘ไม่รู้’ หรือ ‘ไม่มี’หรือ ‘ไม่ใช่’
  • ได้ยกตัวอย่างการศึกษาที่ผ่านมา เคยประเมินผู้ป่วยรายหนึ่งว่าไม่พูด ระยะเวลาผ่านไปกว่า 5 ปี เมื่อมีปัจจัยสำคัญมากระตุ้นจึงทราบว่าผู้ป่วยพูดได้ แต่ ‘เลือก’ ที่จะไม่พูดกับใครเลย
  • แนะนำให้พัฒนาเครื่องมือ (คำถาม) โดยแปลงค่าที่ต้องการให้เป็นพฤติกรรมการแสดงออก ให้ค่าคะแนนระดับที่แสดงออกเป็นสเกลในเชิงปริมาณ เพื่อนำไปใช้ประเมินพฤติกรรมผู้ป่วย(แทนคำถามที่ไม่มีคำตอบ) ทั้งนี้ ให้แยกออกมากศึกษาเชิงปริมาณระยะหนึ่งก่อน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเสริมงานศึกษาเชิงคุณภาพในภายหลัง
  • มีข้อสังเกตว่า รวมคำถามทั้งหมดที่นำเสนอแล้วยังไม่สะท้อนภาพ ‘วิถีชีวิต’
  • เสนอให้ทบทวน ‘วิถีชีวิต’ ให้ครอบคลุม
  • บางสถานการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก อาจต้องจำลองสถานการณ์ขึ้นเพื่อค้นหาบางคำตอบจากผู้ป่วย ดังเช่นตัวอย่างการศึกษาที่ผ่านมาประเมิน ‘การตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า’ โดยผู้วิจัยสร้างสถานการณ์จำลองขึ้น แล้วประเมินการแสดงออกของผู้ป่วยอยู่ห่างๆ
  • ระยะเวลาการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องหนึ่งๆ จะสิ้นสุดลงเมื่อข้อมูลอิ่มตัว ข้อมูลนิ่งหรือไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว


สิ่งที่ได้เรียนรู้

  • การที่ผู้นำเสนอและสมาชิกกลุ่มเปิดใจ รับฟังข้อเสนอแนะอย่างเปิดกว้าง ทำให้ผู้เข้าประชุมกลุ่มอื่นๆ ซึ่งประสบการณ์ใกล้เคียงกับงานวิจัยเรื่องนี้กล้าวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ ส่งผลให้บรรยากาศของการวิพากษ์สนุกสนานเป็นกันเอง มีเสียงหัวเราะพร้อมกันเป็นระยะๆ (แยกไม่ออกว่ากำลังเล่นเกมส์หรือวิพากษ์งานวิจัย เหมือนงานวิจัยเรื่องต่อไป ตอนที่ 3 ที่จะเข้าไปพิสูจน์ว่าผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ .. ไม่แตกต่างค่ะ)

หมายเลขบันทึก: 626671เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2017 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2017 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท