ถอดบทเรียนจากเวทีเสวนา “การจัดการความรู้กับสังคมไทย” มุมมอง : คุณเดชา ศิริภัทร


ประสบการณ์ของแต่ละคนที่นำมาจัดการความรู้ เป็นฐานของการค้นพบ "นวัตกรรม" ในการเรียนรู้และการทำงานที่มีคุณค่า

               ในมุมมองของ  คุณเดชา  ศิริภัทร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาเรื่อง  การจัดการความรู้กับสังคมไทย  ของการจัดเวที ตลาดนัดเครือข่ายการจัดการความรู้ โดยมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 นั้นสรุปเนื้อหาสาระได้ว่า.....

     49112110.gif   คุณเดชา  ศิริภัทร

                ผู้สนับสนุนการปฏิบัติงาน การจัดการความรู้ ที่เป็นครูของมูลนิธิข้าวขวัญก็คือ อาจารย์หมอวิจารณ์  พานิช  ส่วนลูกศิษย์ที่เกิดขึ้นแลมีอยู่เป็นตัวตนของมูลนิธิข้าวขวัญก็คือ นักเรียนโรงเรียนชาวนา

                สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรี มี 3 หลักสูตร ได้แก่  โรคแมลง  การจัดการดิน  และการพัฒนาพันธุ์ข้าว  แต่ได้มีผลที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดก็คือ ศักดิ์ศรีของการเป็นชาวนา ที่กลับคืนและฟื้นสู่ประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น  ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ กว่าเทคนิคที่ถ่ายทอดให้กับชาวนา

          49112114.gif

                ใน 2 ปี ที่ผ่านมาของการจัดการความรู้ของจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง?  คำตอบที่เกิดขึ้นได้มาจากการสังเกต  และการเรียนรู้สองทาง ที่เป็นผลมาจากการสร้างอะไรที่ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรียกว่า นวัตกรรม แปลว่า  การกระทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็น นวัตกรรมโรงเรียนชาวนา จนได้รับผลคือ ได้รับรางวัล...งานวิจัย   ดีเด่น...จาก สกว. ภายใต้เกณฑ์การคัดเลือกหลัก ๆ  ได้แก่  1) เป็นนวัตกรรม  2) มีผลเกิดขึ้น  3) มีผลกระทบต่อส่วนรวม  และ 4) อื่น ๆ

                ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่เรียนรู้เรื่อง การจัดการความรู้ (KM)  ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น  เจ้าหน้าที่ของปูนซีเมนต์ แก่งคอย จังหวัดสระบุรี ได้ส่งบุคลากรไปเรียนรู้กับชาวนา  ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ เจ้าหน้าที่วาดรูปข้าว  แมลง และรูปอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำอาชีพของชาวนาเป็น  ส่วนคำตอบว่า ทำไม? ปูนซีเมนต์...ถึงมาเรียนรู้ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ก็เพราะว่า เรามีนวัตกรรมจำนวนมาก ได้แก่  เรื่องการคัดพันธุ์ข้าวกล้อง  เรื่องการเก็บดินเพื่อดูจุลินทรีย์  เรื่องโรคแมลง  และอื่น ๆ  โดยนวัตกรรมเหล่านี้เราทำกันเอง  แต่นวัตกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสิ่งของที่เราทำกันมาแล้วหรือเรามีกันอยู่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 99 %

                ฉะนั้น การจัดการความรู้ จึงนำเข้ามาใช้จัดการกับสิ่งที่เรายังทำไม่ได้  ความรู้เก่าที่มีอยู่เรานำมาใช้แก้ปัญหาไม่ได้  โดย เราเพียงแต่นำความรู้ที่มีอยู่ (เก่า) มาใช้เป็นฐานแล้วนำความรู้ใหม่มาต่อยอดหรือพัฒนาภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ จึงกลายเป็น นวัตกรรม  ตัวอย่างของการเผยแพร่และประยุกต์ใช้นวัตกรรมก็คือ  ปูนซีเมนต์ นำจุลินทรีย์ไปใช้ฟอกน้ำเสีย

                การสรุปผลที่เกิดขึ้นของการจัดการความรู้ที่ได้ทำมาด้วยตนเองโดยค้นพบว่า

                1)  การจัดการความรู้เป็น ธรรมชาติ  ถ้าใครทำถูกต้องก็จะได้นวัตกรรม และจัดการความรู้เป็น

         2)  การจัดการความรู้เป็น “Synergy”  หมายความว่า  1+1  ต้องมากกว่า 2  คือ เมื่อรวมกันแล้วต้องแก้ปัญหาได้ เป็น อภิชาติผล หรือ อภิชาตกรรม  ถึงจะเรียกว่า จัดการความรู้เป็น

                3)  เกิดการเปลี่ยนแปลงของ กระบวนทัศน์  ถึงจะเรียกว่า จัดการความรู้เป็น

                ดังนั้น  การจัดการความรู้ทำให้เกิดนวัตกรรม มีการเผยแพร่  และเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ที่เป็นธรรมชาติของ KM ถึงจะเรียกว่า จัดการความรู้เป็น

                ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า...ใครจัดการความรู้เป็น หรือทำเป็นแค่งู ๆ ปลา ๆ  แล้วเที่ยวโฆษณาว่า...ตนเองมีความรู้ความเข้าใจและจัดการความรู้เป็นหรือทำ KM เป็น   ทีนี้เราก็ได้คำตอบที่เป็นข้อสรุปของผู้ที่ลงมือทำ KM ด้วยตนเองและค้นพบด้วยตนเอง แล้วนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเองได้อย่างแจ่มชัดกันแล้วนะค่ะ.
คำสำคัญ (Tags): #ของดี#เครือข่าย
หมายเลขบันทึก: 62665เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท