ครูนักประมวลผลข้อมูล


ต้นฉบับแปลหนังสือ Building A Better Teacher โดย Elizabeth Green ที่สำนักพิมพ์ openworlds กำลังจะพิมพ์ออกจำหน่าย ในชื่อ ครูคุณภาพสร้างได้ หน้า ๕๗ เรียกครูว่า “นักประมวลผลข้อมูล” และเล่าผลการวิจัยกระบวนการต้ดสินใจของหมอ นำมาเปรียบเทียบกับวิธีทำงานของครูในชั้นเรียน ซึ่งครูจะต้องประมวลข้อมูลพฤติกรรมการแสดงออกของเหล่านักเรียน นำมาใช้ตัดสินใจดำเนินการในห้องเรียน


หมอวินิจฉัยโรคของคนไข้ฉันใด ครูก็วินิจฉัยการเรียนรู้ของศิษย์ฉันนั้น


เรื่องราวของงานวิจัยก่อนหน้า ๕๗ เล่าความแปลกใจของนักวิจัย ที่พบว่าหมอมีวิธีการเก็บข้อมูลนำมาใช้ตัดสินใจในแบบที่แปลก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของโลจิก หรือตามหลักการแก้ปัญหา (problem-solving) นักวิจัยจึงนำโจทย์วิจัยมาใช้กับครู


ผมเพิ่งอ่านต้นฉบับหนังสือนี้จบบทที่ ๑ ยังไม่ทราบว่าผลงานวิจัยดังกล่าวให้ผลอย่างไร แต่ผมเกิดความคิดเชื่อมโยงไปยังหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ ที่ต้นเรื่องคือหนังสือ Embedded Formative Assessment ว่าการประมวลผลข้อมูลของครู ก็คือการประเมินขั้นตอน และผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามด้วยการให้ constructive feedback นั่นเอง


ครูที่มีประสบการณ์สูง ย่อมทำหน้าที่นี้ได้ดี


จึงมาถึงการไตร่ตรองเรื่องความหมายของคำว่า “ประสบการณ์” ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าหมายถึงทำงานมานาน แต่ผมเถียงว่า คนที่ทำงานมานาน ๒๐ ปี อาจมีประสบการณ์น้อยกว่าคนที่ทำงานเดียวกันนานเพียง ๕ ปี ก็ได้ เพราะในความหมายของผม ประสบการณ์เป็นความรู้ชนิดหนึ่งที่สั่งสมมาจากการทำงานหรือการผ่านปฏิบัติสิ่งนั้น โดยต้องทำงานในลักษณะที่มีการเรียนรู้สูง จึงจะมี “ประสบการณ์สูง”


PLC คือเครื่องมือของการเรียนรู้จากการทำงานของครู มีรายละเอียดในหนังสือ บันเทิงชีวิตครู สู่ชุมชนการเรียนรู้



วิจารณ์ พานิช

๑ มี.ค. ๖๐

ห้องรับรองการบินไทย สนามบินสุวรรณภูมิ


หมายเลขบันทึก: 626590เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2017 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2017 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท