เก็บตกวิทยากร (34) : มีความหมายใดในกระบอกไม้ไผ่


สำหรับผมแล้ว “มีความหมายใดในกระบอกไม้ไผ่” เป็นกิจกรรมที่ผมต้องการฝึกให้นิสิตได้มีทักษะในการตีความ หรือถอดรหัสความรู้จากปรากฏการณ์รอบตัวไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้แล้ว การถอดรหัสดังกล่าวมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการฝึกให้นิสิตได้ “นิยามความหมายชีวิต” ไปในตัว



วันนี้ (วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560) เป็นอีกวันที่ผมและทีมงานอีก 2 ชีวิตต้องรับบทบาทการเป็นกระบวนกรในเวทีการจัดการเรียนรู้เนื่องในโครงการ “เยี่ยมค่าย-มอบค่าย” เนื่องจากบุคลากรอีก 3 ชีวิตติดราชการและภารกิจส่วนตัว

เดิมตั้งใจอย่างแน่นหนักว่าจะให้ทีมงานจัดสันทนาการละลายพฤติกรรมเสียก่อน แต่พอประเมินในเรื่องสถานที่ที่ลงเก้าอี้ไว้อย่างเสร็จสรรพ รวมถึงจำนวนคนที่เกือบร้อยและห้วงเวลาที่จำกัดจึงดูจะไม่เอื้อนัก ผมจึงออกแบบกระบวนการละลายพฤติกรรมใหม่แบบสดๆ

จากเดิมที่คิดว่าเอาแบบบันเทิงเริงรมย์ สนุกสนานเต็มสูบ ก็ปรับแต่งมาเป็นการละลายพฤติกรรมเชิงความคิดแทน





มีความหมายใดในกระบอกไม้ไผ่



เริ่มกระบวนการอย่างจริงจังในเวลาประมาณ 10.30 น. -

เบื้องต้นผมเปิดคลิปการ “เยี่ยมค่าย” ในปีการศึกษาที่ผ่านมาให้นิสิตได้ดูและทำความเข้าใจ เพื่อเชื่อมโยงให้รู้ว่าเวทีของวันนี้มีความเชื่อมโยงกับอดีตที่ผ่านมาอย่างไร และสัมพันธ์กับหมุดหมายในอนาคตอย่างไร จากนั้นจึงวกกลับมายังกระบวนการละลายพฤติกรรมทางความคิดที่ตนเองได้ประบแต่งขึ้น




ผมตั้งชื่อกระบวนการเรียนรู้นี้ว่า “มีความหมายใดในกระบอกไม้ไผ่” กล่าวคือ (1) โดยแจกกระดาษให้นิสิตคนละแผ่น (2) ให้นิสิตวาดภาพการใช้ประโยชน์จากกระบอกไม้ไผ่ (3) เบื้องต้นให้นิสิตได้ทบทวนว่าพอนึกถึงกระบอกไม้ไผ่ นิสิตรู้สึกอย่างไร นึกถึงอะไรบ้าง


เบื้องต้น ผมไม่ได้อธิบายเหตุผล หรือวัตถุประสงค์ใดๆ กับนิสิต ย้ำเพียงให้ทำตามกติกาข้างต้น แต่ก็ทวนซ้ำเพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกรอบ เมื่อไม่มีใครซักถามใดๆ แล้วก็ปล่อยให้ทุกคนลงมือวาดภาพ

ในช่วงของการวาดภาพ ผมยังไม่ได้แยกกลุ่มอะไรเป็นพิเศษ ปล่อยให้นิสิตได้นั่งที่เดิมและวาดภาพไปเรื่อยๆ กำหนดเวลาประมาณ 10 นาที เปิดเพลงคลอเบาๆ 4 เพลง เพื่อจรรโลงบรรยากาศของการนึกคิดและถ่ายทอดความคิดสู่ภาพวาดที่เป็นรูปธรรม






แบ่งกลุ่มย่อยแบ่งปันเรื่องราว



ครั้นพอนิสิตวาดภาพดังกล่าวเสร็จ ผมก็จัดแบ่งนิสิตเป็น 10 กลุ่มๆ ละประมาณ 8-10 คน ประกอบด้วยหลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสำคัญๆ คือ (1) ให้แต่ละคนแนะนำตัวให้สมาชิกในกลุ่มได้รับรู้และรู้จัก (2) บอกเล่าเรื่องราวในภาพให้เพื่อนฟัง เช่น แจงบันดาลใจ หรือเหตุผลที่วาดภาพ (3) สรุปรวบยอดจัดหมวดหมู่เรื่องราวกระบอกไม้ไผ่ในกลุ่มนั้นๆ ซึ่งกระบวนการในขั้นตอนดังกล่าวนี้ใช้เวลาในราวๆ 15-20 นาที เฉลี่ยแล้วก็ได้พูดคนละ 1-2 นาที และข้อมูลที่สะท้อนกลับมานั้นก็หลากหลาย เช่น

  • ประยุกต์กระบอกไม้ไผ่เป็นกระปุกออมสิน จาน กระบอกใส่น้ำ ท่อลำเลียงน้ำ
  • ประยุกต์กระบอกไม้ไผ่เป็นแจกัน โคมไฟ กระติบข้าว แก้วกาแฟ ข้าวหลาม ที่หุงข้าว
  • ประยุกต์กระบอกไม้ไผ่เป็นตะกร้า เบ็ดตกปลา กระถางปลูกผัก
  • ประยุกต์กระบอกไม้ไผ่เป็นเครื่องดนตรี เกราะเคาะสัญญาณ
  • ฯลฯ






มีความหมายใดในกิจกรรมนี้


ดังที่เกริ่นข้างต้นว่าผมไม่ได้ชี้แจงว่ากิจกรรมที่ว่านี้มีจุดมุ่งหมายอย่างไร เพราะต้องการให้นิสิตได้ทดลองลงมือทำโดยไม่จำเป็นต้องรู้เงื่อนไขอะไรให้มากมายก่ายกอง ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าผมเองก็ต้องการตั้งโจทย์ให้นิสิตได้ขบคิดไปพรางๆ เหมือนกันว่ากิจกรรมที่ว่านี้ต้องการสื่อสาร หรือฝึกอะไร –






สำหรับผมแล้ว “มีความหมายใดในกระบอกไม้ไผ่” เป็นกิจกรรมที่ผมต้องการฝึกให้นิสิตได้มีทักษะในการตีความ หรือถอดรหัสความรู้จากปรากฏการณ์รอบตัวไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์

นอกจากนี้แล้ว การถอดรหัสดังกล่าวมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการฝึกให้นิสิตได้ “นิยามความหมายชีวิต” ไปในตัว โดยเชื่อมโยงไปยังปรัชญาชีวิตว่าชีวิตก็เหมือนกระบอกไม้ไผ่ที่ข้างในกลวงโบ๋ แต่ก็สามารถออกแบบให้เกิดประโยชน์ได้มากมาย ซึ่งก็เหมือนคนเราเกิดมาก็ไม่ได้ถูกลิขิตมาเสียทั้งหมด หากแต่สามารถกำหนดใหม่ได้ด้วยตัวเรา -

ครับ... ประมาณว่า เราคือผู้กำหนด หรือลิขิตเส้นทางชีวิตของตัวเราเองนั่นแหละครับ

นอกจากนั้นก็หมายรวมถึงการฝึกทักษะของการคิดวิเคราะห์ – ฝึกทักษะการทบทวนประสบการณ์ชีวิต- ฝึกการสื่อสารความคิด (จินตนาการ) มาสู่การเป็นภาพ (สื่อ) –ฝึกทักษะในการสื่อสารที่ว่าด้วยการเล่าเรื่อง (แบ่งปัน) –ฝึกทักษะในการฟังสู่การจับประเด็น ฯลฯ

ครับ – ผมคิดเช่นนั้นจริงๆ

นั่นคือเหตุผลง่ายๆ ของการออกแบบกระบวนการที่ว่านั้น




เขียน : 27 มีนาคม 2560

ภาพ : อติรุจ อัคมูล/พนัส ปรีวาสนา



หมายเลขบันทึก: 626582เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2017 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2018 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นการส่งเสริมทักษะกระบวนการคิดในศตวรรษที่ 21 เรื่อง ทักษะกระบวนการคิดเลย

เป็นการคิดแบบหลากหลายและสร้างสรรค์ (Creativity) ได้ดีมาก

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

เจอกันเมื่อสองปีก่อน กระบวนการหนึ่งที่หยิบมาใช้ร่วมกับอาจารย์ก็คือการถามผ่านเวทีอย่างไม่เป็นทางการนักว่า "นึกถึงไม้ไผ่-นิสิตนักศึกษานึกถึงอะไร"

มาคราวนี้ ถึงวาระ "กระบอกไม้ไผ่"

นอกจากสาระประโยชน์ของการไผ่แล้ว นิสิตก็คงพอจะเชื่อมโยงได้บ้างกระมังครับว่าเมื่อ "ไปค่าย" ก็มีความรู้และทักษะที่จะถอดรหัสต่อสิ่งที่เห็นและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการงานและชีวิต


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท