ติดตามชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี _ ๐๑ : ค่ายพัฒนาจิต รู้จักเป้าหมายชีวิตตนเอง ของนักเรียน English Access Program


วันที่ ๒๕-๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ ผมมีโอกาสได้สังเกตการณ์อยู่ตลอดงาน "ค่ายพัฒนาจิต รู้จักเป้าหมายชีวิตตนเอง" ที่นิสิตชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี เป็นทีมวิทยากรกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในโครงการ English Access Program จำนวน ๕๖ คน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สิ่งที่ผมเห็นคือ ชมรมต้นกล้าพันธุ์ดีได้ปรับเปลี่ยนวิธีและวิถีของกิจกรรมพัฒนานิสิตไปอีกขั้นสำคัญ ค่ายนี้ไม่ใช่ "ค่ายสร้าง" ไม่ใช่ "ค่ายสัน" (สันทนาการ) ไม่ใช่"ค่ายสอน" และไม่ใช่ "ค่ายเสริมแรง" (ปลุกพลัง) แต่เป็น "ค่ายเรียนรู้" ผมเห็นผลลัพธ์การเรียนรู้จากค่ายชัดเจนทั้งน้องนักเรียนและพี่นิสิต

เป้าหมายที่ได้รับมอบจากโครงการคือ อยากให้น้องนักเรียน "รู้จักตนเอง" และ "รู้จักกันเอง" ตารางกิจกรรมที่นิสิตออกแบบขึ้นแสดงดังตารางด้านล่าง

กระบวนการของชมรมต้นกล้าฯ เชื่อมโยงต่อเนื่องกันดีมาก ๆ เริ่มตั้งแต่ละลายพฤติกรรม -> ชวนคุยเรื่องความฝัน -> ทำให้รู้จักตนเองด้วยกิจกรรมสัตว์สี่ทิศ -> กิจกรรมฐานการเรียนรู้ "ฐานคิดสู่ความฝัน" ได้แก่ ฐานเป้าหมายชีวิต ฐานวิธีคิดสู่ชีวิตที่มีความสุข ฐานความสุข และฐานมนุษยสัมพันธ์

วันที่สอง ผมมีโอกาสได้ร่วมในกิจกรรมบรรยายพิเศษ "เป้าหมายชีวิตสู่ความสำเร็จ" แน่นอนเป็นการบรรยายสไตล์ผมเองที่รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิม ผมชวนให้นักเรียนได้เล่าทบทวนผลการเรียนรู้ในวันแรก และดึงเอาฐานทั้ง ๔ มาสรุปอีกที ก่อนจะจบด้วย "เป้าหมายชีวิต" อย่างที่กำหนดไว้

"กิจกรรมฐานกาย" กิจกรรมละลายพฤติกรรมแบบสร้างสรรค์และมีความหมาย คือองค์ประกอบสำคัญของ "ค่ายเรียนรู้" เช่น

  • "กิจกรรมดอกไม้ ๕ กลีบ" ทำให้นักเรียนรู้จักเพื่อนมากขึ้น การใช้คำถามนำทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึง "พื้นที่ปลอดภัย" ของกันและกันได้ง่ายขึ้น
  • "กิจกรรมจับกลุ่มคุยความฝัน" ที่นำให้น้องนักเรียนจับกลุ่ม ๓ คน แล้วเล่าเรื่องแบ่งปันความฝันกัน ผมตีความว่า กิจกรรมนี้สร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมขึ้น ทำให้นักเรียนเริ่มคำว่า "เรา" มากขึ้น
  • "กิจกรรมสัตว์สี่ทิศ" ที่นำคิดพิจารณาใคร่ครวญตนเองว่าเหมือนสัตว์ประเภทไหนระหว่างนกอินทรีย์ กระทิง หนู และหมี ทำให้นักเรียนรู้จักตัวตนของตนเองมากขึั้น
  • กิจกรรมถุงใบใหญ่ ที่ให้แต่ละคนบอกชื่อเล่นและโรงเรียน เป็นกลยุทธ์ให้รู้จักกันที่สนุกสนานและได้ผลอย่างยิ่ง

ความสำเร็จของการละลายพฤติกรรมของนิสิต น่าจะมาจากการผสมผสานระหว่างกิจกรรมสันทนาการที่ทำให้นักเรียนสนุกสนานกับกิจกรรมเรียนรู้สร้างสรรค์ดังที่กล่าวมา

สิ่งที่เป็นพัฒนาการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การนำกิจกรรมวิชาการมาใช้ในค่าย "กิจกรรมฐานคิด" แบบวิชาการจะเป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้นักเรียนรู้จักนำความรู้มาใช้ในการดำเนินชีวิต กิจกรรมวิชาการที่เห็นในค่าย ได้แก่

  • การให้นักวิชาการ เข้ามาร่วมงานในการบรรยายพิเศษ และร่วมสรุปสะท้อนการเรียนรู้
  • "กิจกรรมเป้าหมายชีวิต" ที่เน้นให้นักเรียนคิดพิจารณา
  • การนำ "แบบทดสอบความถนัด" ที่นิสิตสืบค้นและเรียนรู้มาจากหลักสูตรวิชาชีพของตนเอง มาใช้ให้น้อง ๆ ได้ทำนายอาชีพในอนาคตของตนเองได้อย่างมีหลักวิชาการ
  • กิจกรรมนำสมาธิและสติที่กระบวนกร (แสน ธีระวุฒิ ศรีมังคละ) ใช้เป็นระยะตลอดงาน ทำให้น้องนักเรียนติดตรึงอยู่ได้นานและสนุกสนานมาก

และที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจกรรม "ค่ายเรียนรู้" คือ การนำ "กิจกรรมฐานใจ" มาใช้ ผมตีความว่ากิจกรรมฐานใจเท่านั้นที่จะทำให้นักเรียนเรียนรู้ตนเองและรู้จักตนเองได้อย่างแท้จริง กิจกรรมฐานใจที่นำมาใช้ในค่ายนี้ได้แก่

  • การให้นักเรียนเขียนกราฟความสุข
  • กิจกรรมนั่งสมาธิ ทำความรู้สึกตัว ก่อนกิจกรรมนำสู่การคิดพิจารณาตนเอง
  • กิจกรรมสุนทรียสนทนา ที่พี่ ๆ พาน้องนำปัญหาที่เคยเกิดแล้วในชีวิตที่ผ่านมา มาใคร่ครวญพิจารณาและเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาหรือมุมมองสู่ชีวิตที่เป็นสุข
  • กิจกรรมเขียนจดหมายถึงตนเอง คือสุดยอดกิจกรรมที่จะนำสู่ความฝันและการรู้จักความต้องการของตนเอง
  • กิจกรรมแบ่งปันกำลังใจ โดยให้เขียนลงบน "กระดาษรองแผ่นหลัง" ทำให้การแบ่งปันกำลังใจเป็นรูปธรรม และสามารถเก็บความประทับใจอย่างได้ผล


























หมายเลขบันทึก: 626562เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2017 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2017 01:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท