Comment แผนการสอนนิสิต กศ.บ. _๐๑ : เป้าหมายหลักคือ ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์


ผมไม่ได้สอนวิชาฟิสิกส์สำหรับนิสิต กศ.บ. วิทยาศาสตร์ทั่วไป นานแล้ว แต่ช่วงเดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้ประเมินแผนการสอนสำหรับนักเรียนชั้น ป.๕ ของนิสิต ๓-๔ คน ผมให้ความเห็นแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ความเห็น (Comment) หลัก ๆ ที่คล้าย ๆ กัน น่าจะนำมาแบ่งปันไว้ในบันทึกนี้ โดยเฉพาะนิสิตรุ่นน้องที่ต้องออกแบบการสอนแล้วนำมาให้ประเมินแบบ IOC เหมือนกับรุ่นพี่

หลักการและวิธีเฉพาะตัวในการประเมิน IOC

ผมมีความเห็นและข้อปฏิบัติเฉพาะตนในการประเมิน ดังต่อไปนี้ นิสิตที่ไม่ชอบวิธีนี้ ก็ต้องคิดให้ดีในการเลือกผู้เชี่ยวชาญ

๑) ไม่ประเมินจากการอ่านเอกสาร

นิสิตที่จะเอางานมาให้ประเมิน ควรนัดเวลามาเจอกันแบบ "จับเข่าคุยกัน" จะให้ดีคือเอางานมาทิ้งไว้ให้ดูก่อน แต่ไม่ใช่เอางานมาทิ้งไว้ให้อ่านให้แล้วมารับ แบบนั้นไม่ทำครับ

๒) สอนแทรกตอนประเมิน

นิสิตจะต้องมาเล่าให้ฟังว่า มีวิธีคิดอย่างไร สอนอย่างไร กิจกรรมการเรียนรู้เป็นอย่างไร ประเมินอย่างไร ผมมีความเห็นอย่างไร จะแทรกในขณะที่กำลังเล่าทันที และหากคิดว่าตนเองมีภูมิรู้หรือข้อแนะนำอย่างไร จะสอนให้ทันที จบเป็นประเด็น ๆ ไป

๓) ประเมินเกินกรอบเกณฑ์

แม้ว่านิสิตจะออกแบบหรือกำหนดกรอบมาให้ชัดเจนแค่ไหนในการประเมิน หากนิสิตไม่สามารถให้เหตุผลว่ากรอบคิดนั้นดีอย่างไร ผมก็จะแนะนำให้เห็นกรอบคิดที่ "ใช่" และที่ควรจะต้องนำไปใช้ในการแก้ไข ... แน่นอนตามความเห็นของผมเอง

ข้อสังเกตเชิงวิพากษ์

๑) ยังติดกรอบ "เนื้อหา" ในหนังสือเรียน

ทุกคนเริ่มจาก "สาระแกนกลาง" (พ.ศ. ๒๕๕๑) นี่ถือเป็นกรอบใหญ่ จึงไม่ว่ากัน (เว้นไว้ แต่ยังไงนิสิตก็ควรรู้ว่านั่นเป็นเพียงกรอบหนึ่งที่คิดแบบเหมาเข่ง ด้วยวิธีคิดแบบศตวรรษที่ ๒๐)

เหตุที่มองว่านิสิตยังยึดติดอยู่กับ "เนื้อหา" คือ ส่วนใหญ่ จะไปเลือกหนังสือเรียนมาหนึ่งเล่ม แล้วเรียนรู้และล้อลำไปตามนั้น บางคนใช้หนังสือของ สสวท. บางคนใช้หนังสือของ วช. ซึ่งความจริงไม่ควรยึดหนึ่งสือเล่มใด ๆ เพราะเจตนารมณ์ของการสร้างหลักสูตรแกนกลางเอง ก็มุ่งกำหนดแบบ Backward design ที่มุ่งเอาเป้าหมายการเรียนรู้เป็นตัวตั้ง แต่ตอนปฏิบัติท่านกลับสั่งให้ทำหนังสือออกมาใช้ ซึ่งไม่ใช้ก็ไม่ได้ เพราะคนทำหนังสือมักกลายมาเป็นคนออกข้อสอบ ไม่ติวไม่สนองตอบก็สอบไม่ได้

ผมชมเชยนิสิตที่สืบค้นและคิดเขียนส่วนสาระสำคัญของแผน แม้จะไม่ถูกต้องมากนัก มากกว่านิสิตที่ตัดเอาสิ่งเขียนไว้ในหนังสือเล่มใด ๆ ... ซึ่งแน่นอน ผมจะรู้ก็เฉพาะได้คุยกับนิสิต และถามเขาตรง ๆ ว่ เอาส่วนนั้นมาจากไหน อย่างไร

๒) นิสิตยังหลงเน้นที่ "เนื้อหา" ยังไม่เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็น "ทักษะ" หรือแม้เปลี่ยนมาก็ยังเป็นแบบแยกส่วน

สังเกตจากกิจกรรมหรือการทดลองที่นิสิตออกแบบมา มักไม่ครบถ้วนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเริ่มจากตั้งปัญหา -> สมมติฐาน -> ทดลอง -> และสรุปผลนำเสนอ แต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะมุ่งไปยังเป้าหมายตามจุดประสงค์เชิงเนื้อหา หรือมุ่งไปที่การพัฒนาทักษะเฉพาะแบบแยกส่วนเท่านั้น

ทุกกิจกรรม ที่ออกแบบสำหรับการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ควรมุ่งเน้น "ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์" อย่างครบวงรอบ ตั้งแต่ปัญหาจนถึงปัญญาจากการลงมือปฏิบัติ แม้ว่าบางขั้นตอนครูจะต้องทำให้ดู แต่ก็ต้องไม่มองข้ามไป โดยไม่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ขั้นตอนนั้น ๆ

เช่น หากออกแบบการสอนเรื่อง "ปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงเสียดทาน" ต้องให้นักเรียนได้รู้ว่า ปัญหาในการทดลองคืออะไร สมมติฐานคืออะไร ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ตัวแปรควบคุมคืออะไร ด้วย ไม่ใช่กำหนดวิธีการทดลองให้ทำตามแล้ว "ถามนำ" ซึ่งนักเรียนมักจะคิดตอบจากความจำเป็นส่วนใหญ่

๓) กิจกรรมหรือการทดลองของนิสิตที่ออกแบบมักมีหลายประเด็นในตอนเดียว

กิจกรรมหรือการทดลองที่ดี ต้องมีประเด็นเดียว หากมีหลายประเด็นต้องแยกเป็นตอน ๆ แต่ละตอนต้องมีตัวแปรต้นเพียงตัวเดียว ทักษะที่สำคัญที่ต้องฝึกให้กับนักเรียนคือ ทักษะการสร้างหรือกำหนดตัวแปรและการควบคุมตัวแปร

เช่น หากจะออกแบบการทดลองเพื่อค้นหา "ปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงเสียดทาน" ต้องออกแบบให้แรงกดทับบนพื้นที่ผิวและลักษณะของพื้นผิวอยู่คนละตอน เป็นต้น

๔) เครื่องมือประเมินผลไม่สมจริง นำไปใช้จริงได้ยาก

นิสิตมักออกแบบเครื่องมืออย่างละเอียด มีเกณฑ์เยอะแยะ ซับซ้อน แต่ตอนใช้ไม่สามารถประเมินได้จริง เนื่องจากเวลาไม่พอ นักเรียนมีจำนวนมากเกินไป

ผมเสนอให้นิสิตทำการประเมินแบบ "ททท" (เท่าทันที) เช่น แค่เพียงตั้งคำถามในชั้นรียน ก็คือการประเมินแบบหนึ่ง แต่ผู้สอนต้องสะท้อนและถอดเรียนทุกครั้งหลังสอน

ความจริงแล้ว สำหรับนิสิตปริญญาตรี การให้นิสิตมาหาผู้เชี่ยวชาญด้วยการให้สร้างเครื่องมือแบบ IOC น่าจะเป็นกุศโลบายให้นิสิตได้ฝึกกระบวนการการสร้างเครื่องมือทางการศึกษามากกว่า แต่ผมเอง ในฐานะที่ถูกเลือกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ก็ขอทำเกินหน้าที่ไปนิด ... คงไม่ผิดทาง

หมายเลขบันทึก: 626372เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2017 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2017 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นับวันผมยิ่งไม่สามารถพลาดบันทึกที่คมขึ้นเรื่อยๆของอ.ต๋อยได้เลย

ขอบพระคุณครับอาจารย์ รู้สึกมีพลังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท