การยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรมในพระพุทธศาสนา


การยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยมในพระพุทธศาสนา

Recognition of Multiculturalism in Buddhism

นายวัฒนา คุณประดิษฐ์

บทคัดย่อ

บทความนี้ใช้คำถามในการศึกษาสองประการ ได้แก่ พหุวัฒนธรรมนิยม หรือ ลักษณะความแตกต่างหลากหลาย ในพุทธศาสนา เป็นอย่างไร และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายในพุทธศาสนาเป็นอย่างไร โดยการสืบค้นจากพระไตรปิฎกออนไลน์ ฉบับสยามรัฐ โดยใช้กรอบความคิดพหุวัฒนธรรมนิยม และระดับการยอมรับพหุวัฒนธรรม พบว่า ประการแรกพหุวัฒนธรรมด้านเชื้อชาติและชาติพันธ์ พุทธศาสนาให้การยอมรับในการดำรงอยู่ของความเป็นชาติพันธ์ การยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรมของความเป็นชาติพันธ์นั้น ให้การยอมรับชาติพันธ์หลัก ๆ ที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน และยอมรับอย่างมีเงื่อนไข สำหรับชนเผ่านาค ที่จะต้องปรับอัตลักษณ์ ประการที่สองพหุวัฒนธรรมทางด้าน ชนชั้นวรรณะ พุทธศาสนายอมรับการดำรงอยู่ของระบบชนชั้นวรรณะและวิพากษ์ระบบวรรณะ การยอมรับพหุวัฒนธรรมทางด้านชนชั้นวรรณะ พุทธศาสนายอมรับคนทุกวรรณะเข้ามาศึกษา ประการที่สามพหุวัฒนธรรมด้านบทบาทชายหญิง พุทธศาสนาให้การยอมรับบทบาทชายมากกว่าหญิง ตามโครงสร้างของสังคม แต่ก็ยอมรับให้สตรีเข้าบวชในพุทธศาสนาได้โดยการต่อสู้ต่อรองของสตรี ประการที่สี่ พหุวัฒนธรรมทางด้านรสนิยมทางเพศ พุทธศาสนายอมรับการดำรงอยู่ของรสนิยมทางเพศ แต่ ให้การยอมรับระดับสูงสุดเกี่ยวกับเพศบรรพชิต และไม่ให้การยอมรับอัตลักษณ์รสนิยมทางเพศแบบชายรักชายโดยการห้ามบวช ประการที่ห้า พหุวัฒนธรรมด้านความบกพร่องทางด้านความพิการของร่างกาย โดยยอมรับว่ามีอัตลักษณ์ความพิการนี้อยู่จริง แต่ไม่ยอมรับให้บวชในพุทธศาสนา ประการที่หก พหุวัฒนธรรมด้านศาสนาความเชื่อ และ มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย พุทธศาสนายอมรับในการดำรงอยู่อย่างหลากหลายของศาสนาและลัทธิความเชื่อ แต่พระพุทธศาสนาให้รับบุคคลที่มีความเชื่อแตกต่างด้านศาสนาความเชื่อนี้อย่างมีเงื่อนไข และเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางด้านความคิดความเชื่อภายในพุทธศาสนาเองพุทธศาสนายอมรับให้มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า นานาสังวาส

บทนำ

บทความเรื่อง การยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยม ในพระพุทธศาสนา เป็นการสำรวจเนื้อหาการยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยมอย่างกว้าง ๆ มีคำถามอยู่สองคำถาม คือ มีความคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมนิยมในพุทธศาสนาอย่างไร พุทธศาสนาให้การยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยมอย่างไร โดยการสำรวจข้อมูลจากพระไตรปิฎก สยามรัฐออนไลน์ โดยใช้กรอบความคิดเรื่อง พหุวัฒนธรรมนิยม และ การยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยม เพื่อตอบคำถาม ในบางกรณีอาจยกตัวอย่างสถานการณ์ทางพุทธศาสนามาอธิบายประกอบเพื่อทำความเข้าใจ

กรอบความคิดแรกคือ ความคิดเรื่อง พหุวัฒนธรรมนิยม ในบทความนี้ใช้แนวคิดทางด้านปรัชญาสองประการคือ ประการแรก ภววิทยา (Ontology)ของพหุวัฒนธรรมนิยม ที่มีคำถามว่า ธรรมชาติของความความรู้ ความจริงของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในพุทธศาสนาคืออะไร โดย คำตอบพื้นฐานก็คือ การดำรงอยู่ของสังคมตามความเป็นจริงสังคมมีความเป็นพหุนิยม (Puralism) และมีความแตกต่างหลากหลาย (Diversity) ประการที่สอง จริยศาสตร์ (Ethics)ของพหุวัฒนธรรมนิยม ว่า ชีวิตที่ดีเป็นควรอย่างไร ? คำตอบพื้นฐานทางจริยศาสตร์ที่ถามว่าคือ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ได้รับการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนและสังคมวัฒนธรรม อย่างเท่าเทียม เสมอภาคกัน (The Political of recognition) ซึ่งจัดอยุ่ในปรัชญาทางการเมือง(Political Philosophy)

นักคิดสำนักของพหุวัฒนธรรมนิยม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องสิทธิของคนอพยพ ชนกลุ่มน้อย ตลอดจนสิทิมนุษยชนอื่น ๆ ได้นำเสนอประเด็นของความแตกต่างหลากหลายความคิดเรื่องวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันนี้ นักคิดทางด้านพหุวัฒนธรรมที่ได้ตอบคำถามพื้นฐานว่า ธรรมชาติของชีวิตและสังคมเป็นอย่างไร ? กรอบความคิดด้านความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ ประกอบด้วย ประการแรกคือ Race (ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์โดยเชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อย) ประการที่สองคือ Class (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลัษณ์แบบชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม) ประการที่สามคือ Gender (ความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชายและหญิง) ประการที่สี่ คือSexuality (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านรสนิยมทางเพศ) ประการที่ห้า คือ Disable (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านความสามารถของร่างกาย) ประการที่หก คือ Religion (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางศาสนา

รากฐานของพหุวัฒนธรรมนิยม พัฒนามาจากปรัชญาเสรีนิยม (Liberationism) ซึ่งประกอบความคิดพื้นฐานคือเสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นที่มาของความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice) โดยปรัชญาเสรีนิยมนี้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีก คือ เพลโต้ ที่ให้ทัศนะเกี่ยวเสรีนิยมไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า The Republic ไว้สามประการ คือ ความสุข เสรีภาพ ความเสมอภาค ต่อมาในศตวรรษที่ 18 ได้มีนักคิดเสรีนิยม ที่ได้พัฒนาแนวคิดเสรีนิยม ที่สำคัญได้แก่ John Locke, Charles de Montesqieu ,Wilhelm v. Humboldt ซึ่งหลักความคิดโดยสรุปของของเสรีนิยมคือ ประการแรก เสรีภาพส่วนบุคคลมีความสำคัญมากที่สุด รัฐควรไปยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด ประการที่สอง ตลาดเสรีมีความสำคัญที่สุด รัฐควรไปยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด ซึ่งเสรีภาพส่วนบุคคลได้ต่อยอดพัฒนาไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นการแสดงพัฒนาการของคำตอบว่า ธรรมชาติของชีวิตและสังคมเป็นอย่างไร ? ชีวิตที่ดีคืออะไร ?

ภาคปฏิบัติการ(Practice)ของพหุวัฒนธรรมนิยม มีอยู่สองประการคือ ประการแรกคือมีการนำเอาแนวคิดนี้ไปกำหนดนโยบายของประเทศ ได้แก่ ประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย และประเทศในยุโรปหลายประเทศ โดยประเทศทั้งหลายเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มประเทศเสรีนิยม ทุนนิยมที่ต้องอาศัยแรงงานในการผลิต การนำเข้าแรงงานระดับล่างเป็นความสำคัญในวิถีการผลิต นอกจากนั้นประเทศที่ยกเลิกพหุวัฒนธรรมก็มีอยู่หลายประเทศเช่นกันเช่น เยอรมัน อันเนื่องมาจากความแตกต่างพื้นฐานทางด้านศาสนา นอกจากนั้นปฏิบัติการทางการเมืองในการเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียม ลดอดติระหว่างกัน ก็เป็นผลมาจากภาคปฏิบัติการของพหุวัฒนธรรมนิยม การเมืองในพหุวัฒนธรรมมักจะเป็นการเรียกร้องให้ยอมรับตัวตนของผู้อพยพ ประการที่สองการใช้แนวคิดนี้ในการจัดการศึกษาที่เรียกว่า การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) โดยจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการยอมรับความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม เพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรมทางด้านการศึกษา

พุทธศาสนา เป็น สำนักทางการศึกษา มีหน้าที่ในการฝึกอบรม สั่งสอน โดยพระพุทธองค์ได้ตอบคำถามพื้นฐานว่า ธรรมชาติของชีวิตและสังคมเป็นอย่างไร ? และชีวิตที่ดีคืออะไร ? การตอบสองเรื่องนี้ก็เป็นหลักการของศาสดาหลาย ๆ ศาสนาได้ตอบคำถาม โดย การศึกษาที่พระพุทธเจ้าจัดขึ้น เป็นการศึกษาแบบปกติวิสัย (Informal Edcuation) คือ เรียนรู้จากการปฏิบัติการควบคุมร่างกาย และสังเกตการณ์ทางด้านจิตใจ ด้วยตนเอง ถือเป็นการศึกษาระบบแรก ๆ ส่วนการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้นเริ่มเมื่อศตวรรษที่ 17 เพื่อสร้างคนเข้าสู่ระบบทุนนิยม ระบบการศึกษาก่อนหน้านั้นจึงเป็นระบบการศึกษาแบบ Non Formal Education และ Informal Education พุทธศาสนาที่มีผู้เข้าร่วมเรียนรู้อย่างแตกต่างหลากหลาย มิติในการอธิบายบทความนี้ถือเป็น แบบจำลองของจัดการศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) ในยุคแรก ๆ

สรุปกรอบความคิดแรกเพื่อนำเสนอว่า พหุวัฒนธรรมนิยม คือ อะไร ความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์ ได้แก่ Race (ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์โดยเชื้อชาติ) Class (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม) Gender (ความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชายและหญิง) Sexuality (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านรสนิยมทางเพศ) Disable (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านความสามารถของร่างกาย) Religion (ความแตกต่างหลากหลายด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านความเชื่อหรือระบบความคิดทางศาสนา) ความแตกต่างหลากหลายนี้ได้ตอบปัญหาทางด้านภววิทยา (Ontology) จากคำถามที่ว่า ความรู้ความจริงของสังคมวัฒนธรรมเป็นอย่างไร และ ด้านจริยศาสตร์ (Ethics)จากคำถามที่ว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร ?

ส่วนกรอบของแนวคิดที่สอง คือ แนวคิดเรื่อง การยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยม หรือ การยอมรับความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ต่าง ๆ โดยใช้กรอบความคิดของ Sonia Nieto (1994) และของ BIKKHU PAREKE (2006) ที่ได้กล่าวถึงขั้นตอนการยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรม เป็นไปตามขั้นตอนต่อไปนี้คือ คือการอยู่ร่วมกันอย่างอดทน อดกลั้น (Tolerance) การยอมรับความมีของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ อย่างแตกต่างหลากหลาย (Acceptance) การยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อย่างเป็นทางการ (Respect) การยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบสูงสุด (Affirmation Solidality) ดังคำอธิบายต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง Tolerance คือ ขันติธรรมหรือความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลาย ประเด็นนี้ได้มีการถกเถียงกันในการนิยามความหมาย ผู้เขียนเห็นว่า คำอธิบายของ ปรีดา สถาวร ได้อธิบายไว้ว่า ความอดทนอดกลั้นในผู้มีอำนาจจะต้องมีมากกว่าผู้ที่ถูกกระทำ โดยจะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในพื้นฐานของคุณงามความดี โดยมีภาคปฏิบัติการคือการยอมรับทัศนะที่แตกต่างกัน โดยหากไม่มีขันติธรรมนี้แล้ว จะเกิด การทารุณกรรม (Persecution) การแทรกแซง(Intervention) การยับยั้ง(suppression) และเลือกปฏิบัติ (discrimination) ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา คือ นิยามขันติธรรมที่มาจากข้างบนของผู้มีอำนาจมากกว่า ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่น ความอดทน อดกลั้นของพระสงฆ์ ต่อ ขบวนการภิกษุณี และการบวชภิกษุณี ซึ่งเป็นทัศนะของชุดความรู้ที่แตกต่างกัน ขันติธรรมของพระสงฆ์ ที่จะไม่เข้าไปจัดการกับขบวนการภิกษุณี ในปัจจุบัน แต่ในอดีต ที่นายนรินทร์ ภาษิต ได้บวชลูกสาวสองคนขึ้นเป็นสามเณรี ก็ได้ถูกแทรกแซง และ ยับยั้ง เป็นต้น

ประการที่สอง Acceptance คือ การยอมรับการมีอยู่ของความแตกต่างของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ว่ามีการดำรงอยู่จริง ประเด็นนี้คือ เมื่อผ่านความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างมาแล้ว ก็จะเกิดการยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างหลากหลาย ในระดับการปฏิบัติการเช่นปฏิบัติการทางกฎหมาย ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มากมายหลายประการที่มีอยู่ ก็ผ่อนคลายลงเพื่อที่จะยอมรับความมีอยู่ของความแตกต่างหลากหลาย ยกตัวอย่าง เช่น การมีอยู่ของขบวนการภิกษุณีไทย แม้จะไม่ได้รับการยอมรับของกฎหมายไทย แต่คณะสงฆ์ก็ยอมรับถึงความมีอยู่ของภิกษุณี ประชาชนก็ยอมรับในฐานะของผู้สนับสนุน

ประการที่สาม Respect คือ การยอมรับการมีอยู่ของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างเป็นทางการ เช่น มี นโยบายรัฐ และกฎหมายรับรอง เป็นการยอมรับเป็นอย่างสูง โดยมีการประกาศเป็นนโยบาย และดำเนินการบังคับ ผ่านกฎหมาย ยกตัวอย่าง เช่น การยอมรับของรัฐโดยผลของกฎหมาย ของนิกายของพระสงฆ์ เช่น จีนนิกาย อันนัมนิกาย อันเป็นผลการคุ้มครองศาสนาพุทธแบบมหายานในการผนวกความเชื่อพุทธศาสนาที่แตกต่างกันเข้ามาในระบบเดียวกัน

ปรำการที่สี่ Affirmation Solidality and Critique คือ การยอมรับในระดับที่สมาทาน อุดมการณ์และคุณค่าของความเสมอภาค (Equality) และ ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) และมีภาคปฏิบัติการในการวิพากษ์ (Critique) การเรียกร้องความเสมอภาคและความเป็นธรรม ยกตัวอย่างของขบวนการภิกษุณี เกิดจากการเรียกร้องอันมีฐานจากความต้องการเสมอภาค และเป็นธรรมให้แก่สตรี ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ การอภิปราย การแสดงวาทกรรมของขบวนการภิกษุณีไทย ที่ใช้การวิพากษ์(Critique)เป็นเครื่องมือสำคัญ โดยมีทั้งภิกษุณี และ ฆราวาสที่สนับสนุนขบวนการภิกษุณี อันเป็นการแสดงถึงการสมาทานถึงระบบความคิดและอุดมการณ์ เป็นการยอมรับระดับสูงสุด สามารถคิดเขียนและเรียกร้องแทนวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของภิกษุณี

สรุป กรอบความคิดที่สองว่าด้วยการยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยม นั้นประกอบด้วยขั้นตอนแรกคือ การยอมรับด้วยความอดทน อดกลั้นต่อวัฒนธรรมและอัตลักษณ์นั้น ๆ (Tolerance) ขั้นตอนที่สองคือ การยอมรับการมีอยู่ของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ (Acceptance) ขั้นตอนที่สาม คือ การยอมรับและเคารพอย่างเป็นทางการของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์นั้น ๆ (Respect) ขั้นตอนที่สี่ คือ การยอมรับและเคารพในระดับสูงสุด คือ ยอมรับในฐานเป็นตัวแทนของอุดมการณ์, วัฒนธรรมและอัตลักษณ์นั้น ๆ (Affirmation Solidality)

คำถามที่หนึ่ง พุทธศาสนามีความเป็นพหุวัฒนธรรมนิยมอย่างไรบ้าง จากการสืบค้นพระไตรปิฎกความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์(Identity) ตามทฤษฎีและแนวคิดทางด้านพหุวัฒนธรรม ที่พบในพระไตรปิฎก ได้แก่ ประการแรกคือ Race (ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์โดยเชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อย) ประการที่สองคือ Class (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม) ประการที่สามคือ Gender (ความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์ของชายและหญิง) ประการที่สี่ คือSexuality (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านรสนิยมทางเพศ) ประการที่ห้า คือ Disable (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านความสามารถของร่างกาย) ประการที่หก คือ Religion (ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมอัตลักษ์ศาสนาและมุมมอง) ความแตกต่างหลากหลายนี้ตอบคำถามทางด้านภววิทยา

ประการที่หนึ่ง ลักษณะความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์ (Race) ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและด้านเชื้อชาติและชาติพันธ์ ไว้ดังต่อไปนี้ พระไตรปิฎกบอกว่าพระพุทธเจ้ามีชาติพันธุ์เป็นศากยะ และอยู่ร่วมกับ ชาติพันธุ์มิลักขะ ฑราวิต และ อารยัน ตามโครงสร้างสังคม และมีการเหยียดหยามและรังเกียจเชื้อชาติ ที่แพ้สงครามและถูกนำมาเอามาเป็นทาสรับใช้ จนกระทั่งเกิดกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ศากยะ กรณีของ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการกล่าวถึงชาติพันธ์ที่ไม่ค่อยเจริญอื่น ๆ เช่น อสูร นาค คนธรรพ์ ในพระวินัยปิฎก เล่ม 7 ว่าด้วยมหาสมุทร และ ยักษ์ ซึ่งผู้เขียนได้ตีความว่าเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่เจริญ นอกจากนั้นยังปรากฏเรื่องของพลเมืองและผู้อพยพในเรื่องของวัสสการพราหมณ์ อันแสดงถึงความเป็นพลเมือง และการยอมรับการเป็นพลเมือง ของรัฐโบราณซึ่งสามารถจำแนกความเป็นพลเมืองของรัฐและความไม่ใช่พลเมืองของรัฐได้ และการยอมรับสถานะความเป็นพลเมือง แม้ในเรื่องนี้ วัสสการพราหมณ์จะเป็นสายลับยุยงให้ชาววัชชีแตกกันก็ตาม ข้อค้นพบก็คือ พบว่า มีชาติพันธ์ที่หลากหลาย ได้แก่ อารยัน กิยาร์ต ฑราวิท ศากยะ ตลอดจน ชนเผ่าอื่น ๆ ที่ยังไม่เจริญ มีสภาพของการเหยียดกันทางชาติพันธ์มีความเป็นพลเมือง ผู้อพยพ และการยอมรับผู้อพยพเข้าสู่ความเป็นพลเมือง

ประการที่สอง ลักษณะความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์ด้านชนชั้นโดยสังคมได้แบ่งชนชั้นที่เรียกว่า วรรณะ 4 พระพุทธเจ้ากำเนิดมาในชนชั้นปกครองซึ่งก็เป็นวรรณะรองมาจากวรรณะพราหมณ์ แม้จะอยู่ในระบบวรรณะกษัตริย์ แต่ก็ปกครองโดยสภาศากยะ และได้บอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระญาติที่เป็นชนชั้นปกครอง นอกจากนั้นแล้วยังบอกถึงโครงสร้างทางสังคม ที่มีทาส คนรับใช้ ที่อยู่ในวรรณะต่ำ กว่านั้น แต่เมื่อพระพุทธองค์ได้ออกบวช ถือว่า ได้ออกจากวรรณะไปเมื่อตรัสรู้และเผยแพร่ธรรมแล้ว จึงปฏิเสธระบบวรรณะด้วยการวิพากษ์ระบบวรรณะ คือความแตกต่างหลายหลายของชนชั้นได้ถูกสร้างขึ้นโดยระบบสังคมสมัยนั้นแยกเป็นวรรณะ 4 คือ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร แต่พระพุทธเจ้าก็สร้างโครงสร้างใหม่ตามความอาวุโสของอายุพรรษา ถือเป็นการปฏิวัติระบบชนชั้นในขณะนั้น แต่ในระดับโครงสร้างสังคมในระดับชาวบ้านมีการกล่าวถึงตระกูต่ำ ตระกูลสูง แบบวรรณะอยู่เช่นกัน และเมื่อไม่นานมานี้ มีเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นวรรณะในอินเดีย ของคนจัณฑาลที่เป็นวรรณะที่ต่ำที่สุดในอินเดีย

ประการที่สาม ลักษณะความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ทางด้านบทบาทชายหญิง ในสังคมในยุคของพระพุทธเจ้าถือบทบาทที่ ชายเป็นใหญ่บทบาทของหญิง หญิงโดยการเกิดมาแล้วอยู่ในวรรณศูทรโดยทันที่ ในพระไตรปิฎกได้บ่งบอกถึงโครงสร้างหน้าที่ของหญิงชาย ซึ่งได้กล่าวไว้ที่ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต อุคคหสูตร ดังต่อไปนี้

ดูกรกุมารี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า มารดาบิดาของสามีที่เป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูลอนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู เราทั้งหลายจักตื่นก่อนท่านนอนทีหลังท่าน คอยรับใช้ท่าน ประพฤติเป็นที่พอใจท่าน พูดคำเป็นที่รักต่อท่าน... ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดาหรือสมณพราหมณ์ เราทั้งหลาย จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เมื่อท่านมาถึงที่ก็จักต้อนรับด้วยที่นั่งหรือน้ำ ... การงานภายในบ้านของสามี คือ การทำขนสัตว์ หรือการทำผ้า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้นๆ จักประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานนั้นๆ อาจทำ อาจจัด ...เราทั้งหลายจักรู้การงานที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกรทำแล้ว ว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ จักรู้คนป่วยไข้ว่ามีกำลังหรือไม่มีกำลัง และจักแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามเหตุที่ควร ...เราทั้งหลายจักยังทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองที่สามีหามาได้ให้คงอยู่ ด้วยการรักษา คุ้มครอง จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมยไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

บทบาทชายหญิง ดังกล่าวนี้ถูกกำหนดไว้ในสังคมสมัยพุทธกาลชัดเจน ซึ่ง ชาญณรงค์ บุญหนุน(2544) ได้ศึกษาเรื่อง สิทธิสตรีในพระไตรปิฎก พบว่า พระพุทธเจ้าสนับสนุนครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับชายเป็นใหญ่ แม้จะมีความก้าวหน้าที่สตรีบวชได้ แต่การที่อนุญาตให้สตรีได้บวชได้ ก็ไม่ได้มีความง่ายดาย เกิดจากการต่อรองของพระอานนท์ ที่ถามพระพุทธเจ้าไว้ว่า สตรีสามารถบรรลุธรรมได้หรือไม่ และการอ้างบุญคุณของพระนางมหาปชาบดีซึ่งเป็นแม่นมของพระพุทธเจ้า ทำให้พระพุทธเจ้าอนุญาตให้อุปสมบทได้โดยมีเงื่อนไขต้องรับครุธรรม 8 ประการ ชาญณรงค์ บุญหนุน(2544) ได้ให้ข้อสรุปต่อไปอีกว่า การบวขภิกษุณี ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อจารีต ที่อนุญาตให้สตรีได้มีพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และก็ไม่ได้ให้สิทธิอย่างเต็มที่

ประการที่สี่ ความแตกต่างหลากหลาย(Diversity)ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ทางด้านรสนิยมทางเพศ (Sexuality) หรือลีลาชีวิต (Life Style) พบว่ามีอัตลักษณ์พิเศษที่เรียกพระว่า อยู่ในเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางเพศที่ต้องงดเว้นกิจกรรมทางเพศ คือ นักบวช นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างอีกขั้วหนึ่ง ที่เรียกว่า “บัณเฑาะก์” โดยพบว่า มีอัตลักษณ์ของ “บัณเฑาะก์” ซึ่งในพระธรรมปิฎกได้อรรถาธิบาย ไว้ในพจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์ ไว้ว่า

บัณเฑาะก์ [บันเดาะ] กะเทย,คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่ กะเทยโดยกำเนิด ๑ ชายผู้ถูกตอนที่เรียกว่าขันที ๑ ชายมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑

ความแตกต่างหลากหลายด้านลีลาชีวิต ได้ปรากฎอัตลักษณ์สองอัตลักษณ์ คือ อัตลักษณ์ของพระที่ต้องงดเว้นกิจกรรรมทางเพศ และ อัตลักษ์ของชายที่เป็น บุคคลที่มีเพศกำเนิดสองเพศ บุคคลที่ถูกตอน และชายรักชาย ซึ้งปรากฏในพระไตรปิฏก ในพระวินัยปิฏก เล่มที่ 1- 5 แต่ก็มีคำอธิบายว่า เป็นบุคคลสองเพศ เป็นหญิงบัณเฑาะก์ เป็นหญิงคล้ายชาย ภิกขุณีวิภังค์ ได้กล่าวถึง ภิกษุณี กำหนัด พึงพอใจในการจับต้อง ในยักษ์ผู้ชาย เปรตผู้ชาย บัณเฑาะก์ ถือเป็นอาบัติทุกกฎ ก็ยังเป็นคนในนิยามนี้อยู่ ดังนั้นเมื่ออ่านพระวินัยปิฏกใน ปราชิกกัณฑ์ จะมีเรื่องบัณเฑาะก์ เข้ามาจำนวนมาก ถือเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ ที่มีการจำแนกความแตกต่างเอาไว้

ประการที่ห้า ความแตกต่างหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของผู้พิการ(Disable) อัตลักษณ์ของผู้พิการ ในพระไตรปิฎก ได้ แยกความพิการได้ดังต่อไปนี้คนมีอวัยวะบกพร่อง คือ มือขาด เท้าขาด ทั้งมือและเท้าขาด หูขาด จมูกขาด ที่ทั้งหูทั้งจมูกขาด นิ้วมือนิ้วเท้าขาด คนมีอวัยวะไม่สมประกอบ คนมีมือเป็นแผ่น คือนิ้วมือไม่ได้เป็นง่าม มีหนังติดกันในระหว่าง คนค่อมคือมีหลังโกง คนเตี้ยกว่าคนปกติ คนคอพอก คนตีนปุก คนแปลก คือ สูงเกินบ้าง ต่ำเกินบ้าง ดำเกินบ้าง ขาวเกินบ้าง ผอมเกินบ้าง อ้วนเกินบ้าง มีศีรษะใหญ่เกินบ้าง มีศีรษะหลิมเกิน คนพิการ คนตาบอดตาใส คนง่อย คือมีมือหงิกบ้าง มีเท้าหงิกบ้าง มีนิ้วหงิกบ้าง คือมีเท้าหรือขาพิการ เดินไม่ปกติ คนตาบอดมืด คนใบ้ คนหูหนวก คนทั้งบอดทั้งใบ้ คนทั้งบอดทั้งหนวก คนทั้งใบ้ทั้งหนวก คนทั้งบอดทั้งใบ้ทั้งหนวก. ทัศนะเกี่ยวกับคนพิการนี้ถือว่ามีชีวิตลำบาก ยากแค้น ดังข้อความในพระไตรปิฎกต่อไปนี้ “ชีวิตของพวกมนุษย์ ก็ชื่อว่ายากแค้น ชีวิตของคนมีมือขาดมีเท้าขาด มีทั้งมือทั้งเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด มีทั้งหูทั้งจมูกขาด ชื่อว่าชีวิตอันแสนลำบากจะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันแสนลำบากและยากแค้นเช่นนี้” และในพระไตรปิฎกได้มีการละเล่นการพนันชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การแสดงล้อเลียนคนพิการ ซึ่งถือว่าอัตลักษณ์ความพิการนี้ได้ถูกเหยียดในวัฒนธรรมมานานมากแล้ว

ประการที่หก ความแตกต่างหลากหลายด้านวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์ทางด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ ทางด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ (Religion) ในพระไตรปิฎก สามัญผลสูตร ได้กล่าวถึงศาสนาพราหมณ์ และ เจ้าลัทธิใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย ศาสดาหลัก ๆได้แก่ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สญชัยเวลัฏฐบุตร และ นิครนถนาฏบุตร โดย ทฤษฎีหลายคนของศาสดาเหล่านั้นปรากฏแนวคิดย่อย ๆ แต่สำหรับ นิครนถนาฏบุตรนั้น มีร่องรอยถึงปัจจุบันคือศาสนาเชนนั่นเอง อัตลักษณ์ที่แตกต่างทางด้านความเชื่อคนละรูปแบบเหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงมีการวิวาทะกับกลุ่มความเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ และยังมีความเห็นต่างกันในรายละเอียดของความเชื่อได้แก่ ความเชื่อหลัก ๆ อยู่ในพุทธศาสนา แต่มีความเห็นต่างในประเด็นของทัศนะในการอยู่ร่วมกันเรียกว่า ความเป็นนานาสังวาสได้แก่ความแตกต่างด้านการอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงสองประเภทคือ ประเภทที่หนึ่งคือ สมานสังวาส คือทำสังฆกรรม และลงอุโบสถ ร่วมกันได้ ประเภทที่สอง คือ นานาสังวาส คือ พระสงฆ์ไม่สามารถทำสังฆกรรมอยู่ร่วมกันได้ อันเนื่องมาจากตัวพระภิกษุเอง ในพจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับนานาสังวาส ว่า

“มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วม (คืออุโบสถและสังฆกรรมเป็นต้น) ที่ต่างกัน,สงฆ์ผู้ไม่ร่วมสังวาส คือไม่ร่วมอุโบสถและสังฆกรรมด้วยกัน เรียกว่าเป็นนานาสังวาสของกันและกันเหตุที่ทำให้เป็นนานาสังวาสมี ๒ คือ ภิกษุทำตนให้เป็นนานาสังวาสเอง เช่น อยู่ในนิกายหนึ่งไปขอเข้านิกายอื่น หรือแตกจากพวกเพราะเหตุวิวาทาธิกรณ์อย่างหนึ่งอีกอย่างหนึ่งถูกสงฆ์พร้อมกันยกออกจากสังวาส”

กลุ่มแรกที่เป็นนานาสังวาสกับพระพุทธเจ้าคือ กลุ่มของพระเทวทัต ซึ่งอาศัยการขอวัตถุทั้งห้าแต่พระพุทธองค์ไม่อนุญาต ทำให้ไม่ร่วมในการสังฆกรรมร่วมกัน และเกิดขึ้นมาหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน อันเกิดจากวิวาทธิกรณ์ ก่อให้เกิดนิกายใหญ่ เช่น มหายาน และนิกายย่อย ๆ ทั้งเถรวาทและมหายาน และในพระวินัยได้บัญญัติถึงการอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างกันได้ แม้แต่ในยุคสมัยของล้านนา พบว่ามีหลายนิกาย ได้กล่าวถึงนิกายของพระสงฆ์ล้านนา มีมากมาย ได้แก่ นิกายของชาติพันธ์ เช่นนิกายม่าน นิกายเขิน นิกายยอง นิกายลั๊ว นิกายเชียงแสนแต่หลัก ๆ คือ นิกายวัดสวนดอก กับนิกายวัดป่าแดง ซึ่งมีความแตกต่างกันทางด้านการปฏิบัติ แต่ก็ยึดถือตามความเชื่อของตน และมีวิวาทะกันมาโดยตลอด ลักษณะนานาสังวาสนี้เป็นวัฒนธรรม อัตลักษณ์ที่มาจาก ความแตกต่างทางความคิด หลักการ สมหมาย เปรมจิต (2519) และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2559) และพบว่ามีวิวาทะและการเหยียดกันเรื่องของความเชื่อและนิกายมาตลอดจนกระทั่วถึงปัจจุบัน

อภิปรายถึงสาเหตุของความแตกต่างทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์นี้ พุทธศาสนาอธิบายว่าเกิดจากความแตกต่างกันทางจิต (นานา จิตตัง) โดยพุทธศาสนาได้อธิบายเรื่องของ ชีวิตที่ดีคืออะไร ชีวิตที่ดีในพระพุทธศาสนาก็เพื่อจะฝึกฝนตนเองเข้าสู่เป้าหมายคือ การดับทุกข์ อันมีสาเหตุ จากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ชีวิตที่ดีคือ ความไม่มีทุกข์ ผลแห่งการลดกิเลส ทำให้ เกิดการดับทุกข์ น้อยไปสู่มาก ได้แก่ โสดาบัน จนไปจนถึงพระอรหันต์ แต่ ความแตกต่างหลากหลายของผู้ที่ยังไม่เข้าถึงเป้าหมายคือพระนิพพาน คือจิตใจยังไม่ถึงพระโสดาบัน ยังไม่ได้ประกอบด้วยการละกิเลสจึง ประกอบด้วย หมู่สัตว์สองประเภท ประเภทแรก อยู่ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อันเกิดจาก กายทุจริต วาจาทุจริต ใจทุจริต ส่วนหมู่สัตว์ประเภทที่สอง อยู่ในจุติโลกสวรรค์ คือ ผู้ประพฤติกรรม กายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต ในพระสุตันตปิฏก สามัญผลสูตร ข้อว่าด้วย จตุปปาญาณ และพระสุตันตปิฏก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณนาสก์ มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วยกำเนิด 4 คติ 5

สรุปจากการค้นหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์จาการสืบค้นในพระไตรปิฎกพบว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้าน เชื้อชาติ ชาติพันธ์ โดยพระพุทธองค์มีชาติพันธุ์เป็นศากยะ ซึ่งอยู่ร่วมกับชาติพันธุ์อื่น ได้แก่ มิลักขะ ฑราวิต และ อารยัน ตลอดจนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความแตกต่างมาก ๆ เช่น นาค หรือ นาคา ซึ่งก็มีการเหยียดและแบ่งแยกความป็นชาติพันธ์เช่นกัน วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างทาง ชนชั้น พบว่า โครงสร้างของชนชั้นเป็นแบบวรรณะ 4 ประกอบด้วย วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร หลังจากที่พระพุทธองค์บวชแล้ว ได้เปลี่ยนชนชั้นนี้เป็นระบบอาวุโส และรับคนทุกวรรณะเข้าบวชได้ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างหลากหลายของบทบาทชาย หญิง พบว่าในระบบสังคมที่ถ่ายทอดมาในพระไตรปิฎก นั้นเน้นบทบาทชายเป็นใหญ่ และ พระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้สตรี เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีได้ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างหลากหลายทางด้านเพศ พบว่า มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบงดเว้นกิจกรรมทางเพศ คือเป็นพระ และ อัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นบัณเฑาะก์หรือชายรักชาย วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างหลากหลายทางด้านความสามารถของร่างกายหรือความพิการ พบว่า ในพระไตรปิฎกได้นำเสนออัตลักษณ์ของคนพิการได้แก่คนที่บกพร่องทางด้านร่างกาย และในสังคมยังมีการละเล่นที่ล้อเลียนคนพิการอยู่ ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกเหยียด วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายด้านความเชื่อและศาสนาพบว่า ในสังคมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก มีความเชื่ออยู่หลากหลาย มีศาสดาหรือครูอยู่ 6 คน นอกจากนั้นยังพบว่า กลุ่มความเชื่อในพุทธศาสนา ยังสามารถมีความแตกต่างหลากหลายได้ ในหลักของ นานาสังวาส โดยความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์นี้เป็นผลมาจาก การตอบปัญหาชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ไม่มีทุกข์ โดยทุกข์เป็นผลมาจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งก่อให้เกิด กรรม วิบาก ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันในทุกอัตลักษณ์

คำถามที่สองคือมีการยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรมนิยม หรือ การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย อย่างไร ? จากคำถามที่สองนี้ เพื่อค้นหาคำตอบจึงเป็นการตอบโดยเป็นไปตามลำดับของการยอมรับพหุวัฒนธรรมนิยม ได้แก่ การยอมรับด้วยความอดทน อดกลั้น (Tolerance) การยอมรับการมีตัวตนอยู่ (Acceptance) การยอมรับอย่างเป็นทางการ (Respect) การยอมรับโดย Affirmation Solidality คือ การยอมรับในระดับที่สมาทาน อุดมการณ์และคุณค่าของความเสมอภาค (Equality) และ ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) และมีภาคปฏิบัติการในการวิพากษ์ (Critique)

กลุ่มวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ และ ชาติพันธ์ ในพระไตรปิฎกได้แสดงให้เห็นถึงว่าพุทธศาสนาให้ การยอมรับการมีอยู่และความแตกต่าง ทางด้านเชื้อชาติ และชาติพันธ์ ไว้สองลักษณะ คือ กลุ่มหนึ่งได้รับการยอมรับ และ กลุ่มที่ไม่ได้รับการยอมรับ ดังต่อไปนี้ กลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ที่ยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของพุทธศาสนาได้ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ถือว่ายอมรับในระดับ Respect คือพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติรับรองไว้ โดยสามารถยอมรับสิ่งที่สังคมยอมรับความเป็นชาติ ความเป็นโคตร หรือวงศ์ตระกูลในระดับสูง และสังคมยอมรับความเป็นชาติ โคตร ในระดับต่ำ ดังต่อไปนี้ กลุ่มที่ได้รับการยอมรับในสังคมในพระไตรปิฎกในระดับที่กล่าวยกย่อง ได่แก่ การใช้คำว่า ชาติ โคตร อัตลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับได้แก่

“ที่ชื่อว่า ชาติอุกฤษฏ์ ได้แก่ชาติกษัตริย์ ชาติพราหมณ์ นี้ชื่อว่าชาติอุกฤษฏ์...วงศ์ตระกูลอุกฤษฏ์ ได้แก่วงศ์ตระกูลโคตมะ วงศ์ตระกูลโมคคัลลานะวงศ์ตระกูลกัจจายนะ วงศ์ตระกูลวาเสฏฐะ, ก็หรือวงศ์ตระกูลที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยามไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่า วงศ์ตระกูลอุกฤษฏ์” ..

ส่วนกลุ่มชาติโคตร ที่ไม่ได้รับการยอมรับ ได้แก่

“ชาติทราม ได้แก่ชาติคนจัณฑาล ชาติคนจักสาน ชาติพราน ชาติคน ช่างหนัง ชาติคนเทดอกไม้ นี้ชื่อว่าชาติทราม...วงศ์ตระกูลทราม ได้แก่วงศ์ตระกูลภารทวาชะ, ก็หรือวงศ์ตระกูลที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่าวงศ์ตระกูลทราม” .

การยอมรับให้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาติทราม โครตตระกูลทราม ก็สามารถเข้ามาบวชในพุทธศาสนานี้ได้ ดังปรากฏข้อความสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับสามเณร จากสองตระกูล ในอัคคัญสูตร อันแสดงถึงการยอมรับให้บวชต่อสองตระกูลที่เป็นตระกูลทรามและอุกฤษฏ์ต่อไปนี้

“...ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ไม่ด่าว่าเธอทั้งสองบ้างดอกหรือ สามเณรทั้งสองนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้ง ๒ ด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่...”

ส่วนการไม่ยอมรับในความเป็นชาติพันธุ์ ไม่สามารถเข้าบวชได้ หรือจะเข้าบวชได้ก็ต้องเป็นมนุษย์ก่อน ที่ปรากฏเป็นหลักฐานและการตีความ คือ เรื่องไม่ยอมรับนาคเข้ามาบวช แต่ ถ้าพัฒนาเป็นมนุษย์ได้ก่อน ก็สามารถเข้ามาบวชได้ ดังข้อความในพระวินัยปิฏก ดังต่อไปนี้

“....พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วได้ทรงประทานพระพุทธโธวาทนี้แก่นาคนั้นว่า พวกเจ้าเป็นนาคมีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถในวันที่ ๑๔ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นแหละ ด้วยวิธีนี้เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจักกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน. ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดาก็เสียใจหลั่งน้ำตา ส่งเสียงดังแล้วหลีกไป”

จากตัวบท(Text)ในพระไตรปิฎกนี้ ผู้เขียนบทความมีความเห็นเช่นเดียวกับการตีความของ จิตร ภูมิศักดิ์ (2524 ) สุจิต วงษ์เทศ (2559) ที่เห็นว่านาคก็คือชนเผ่าหนึ่งที่ยังไม่เจริญนาคแปลว่าชนที่เปลือยตัว และกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าบวช ยกเว้นว่าจะปฏิบัติตามศีลอุโบสถ จนกว่าจะเป็นมนุษย์คือมี ยอมรับเหมือนกัน แต่ยอมรับอย่างมีเงื่อนไขต้องพัฒนาให้มีวัฒนธรรมแบบเดียวกันกับวัฒนธรรมที่เจริญแล้วเป็นต้น เป็นการยอมรับแบบ Respect คือ พระพุทธเจ้าบัญญัติด้วยพระองค์เอง

กลุ่มวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์ ความแตกต่างทางด้านชนชั้น วรรณะ (Class) ในพระไตรปิฎกได้แสดงให้เห็นถึงว่าพุทธศาสนาให้ การยอมรับการมีอยู่และความแตกต่าง ทางด้านชนชั้นและวรรณะ แต่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติให้ผู้เข้ามาศึกษาในพระธรรมวินัยหรือศาสนา ให้เป็นระบบอาวุโสตามอายุพรรษาแม้จะยังไม่เสมอภาคกัน แต่ก็เป็นโครงสร้างที่หลอมหลวมความเป็นชนชั้นและวรรณะเดิมเข้าด้วยกัน เป็นการยอมรับในระดับ Affirmation Solidality and Critique ดังข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกใน อัคคัญญสูตร แสดงถึงการ Critique ถึงรากฐานว่าพื้นฐานของชนชั้นวรรณะนั้นเป็นเท็จหรือเป็นมายาคติ(Myth) ดังข้อความในพระไตรปิฎกดังต่อไปนี้

“...ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ตามที่ปรากฏอยู่แล คือ นางพราหมณีทั้งหลายของพวกพราหมณ์ มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนมอยู่บ้าง อันที่จริง พวกพราหมณ์เหล่านั้น ก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น พากันอวดอ้างอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหมพรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เขาเหล่านั้นกล่าวตู่พรหม และพูดเท็จก็จะประสบแต่บาปเป็นอันมาก ฯ...”

การยอมรับการมีอยู่ของชนชั้นวรรณะ พระพุทธองค์ก็ยอมรับว่าระบบวรรณะยังคงมีอยู่ในระดับฆราวาส ซึ่งพระสูตรทั้งหมดได้กล่าวถึงคนวรรณะต่าง ๆ และการแบ่งแยกงานกันทำ เช่นกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร แต่พระพุทธองค์เห็นว่า การดำรงอยู่ของความเป็นวรรณะนั้นเป็นเท็จหรือมายาคติ ดังนั้นการเข้ามาสู่ในพระธรรมวินัยนี้ก็ต้องละทิ้งความเป็นชนชั้นวรรณะ และเข้าสู่ระบบสังฆะแบบอาวุโสตามอายุพรรษาที่บวช ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงเป็นผู้นำทางอย่างแข็งขัน และบัญญัติเอาไว้

กลุ่มวัฒนธรรมอัตลักษณ์แห่งบทบาทชายหญิง (Gender) ดังที่กล่าวไปในคำตอบแรกแล้วว่าสังคมและวัฒนธรรมที่กล่าวในพระไตรปิฎก ได้กล่าวชัดเจนว่า บทบาทชายหญิงนั้นเน้นบทบาทสังคมที่ชายเป็นใหญ่ การยอมรับผู้ชายให้สามารถเข้าบวชได้ เป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่การยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของสตรีให้เข้าบวชนั้น เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของพระอานนท์ ซึ่งเป็นชายดังปรากฏใน โคตมีสูตร ดังต่อไปนี้

“...ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ...ไฉนหนอ เราพึงทูลขอพระผู้มีพระภาคให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจึงทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ควรหรือไม่เพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล

(พระพุทธเจ้ากล่าวว่า) ดูกรอานนท์ สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ...ควรเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล พระพุทธเจ้าข้า ถ้าสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัย... ควรเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผลอนาคามิผล อรหัตผลได้ พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก ทรงประคับประคอง เลี้ยงดู ทรงถวายขีรธารา เมื่อพระชนนีสวรรคต ได้ให้พระผู้มีพระภาคเสวยขีรธารา ขอประทานวโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง...”

การยอมรับวัฒนธรรม และ อัตลักษณ์แห่งสตรีให้เข้าบวช แม้จะได้รับการยอมรับในที่สุดก็คือ บัญญัติ ในระดับ Respect ก็ตาม แต่เส้นทางของการยอมรับเริ่มต้นจาก การที่พระนางมหาปชาบดีได้ทูลขอเองถึงสามครั้ง พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ยอมรับ แต่หลังจากที่พระอานนท์ ได้พยายามต่อสู้ ต่อรองให้เกิดการยอมรับให้สตรีเข้ามาบวชได้ ทั้งนี้ท่านก็ใช้หลักเหตุผล เข้ามาประกอบ นั้นเริ่มจาก Tolerance คือ ขันติธรรม อดทน อดกลั้น จนไปถึง Respect แต่ก็ไม่ใช่ยอมรับอย่างทันที ทันใด แต่ยอมรับอย่างมีเงื่อนไขในการให้ยอมรับครุธรรม 8 ประการ ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง สตรีที่บรรลุมรรคผลจำนวนมากเช่นกัน

วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างหลากหลายทางด้านรสนิยมทางเพศ (Sexuality) หรือ (Life style)ได้แก่อัตลักษณ์ทางเพศแบบงดเว้นกิจกรรมทางเพศ คือเป็นพระ และอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นบัณเฑาะก์หรือชายรักชาย ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศ แบบ งดเว้นกิจกรรมทางเพศหรือ เว้นขาดจากเมถุนธรรม ถือเป็นเพศบรรพชิต

“...เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต.ผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ …เขาบวชอย่างนี้แล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย

๑. ละการฆ่าสัตว์ … ๒. ละการลักทรัพย์ … ๓. ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน...”.

การยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางเพศแบบงดเว้นกิจกรรมทางเพศ ถือเป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าออกจากเรือนมาบวช ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการละกิจกรรมเมถุนธรรมหรือกิจกรรมทางเพศ มีการบัญญัติชัดเจนในหมวดของศีลในระดับวินัย และ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลในเรื่องการงดเว้นกิจกรรมทางเพศ ถือเป็นเพศใหม่ ที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ (Respect)

แต่ก็มีวัฒนธรรมทางเพศและอัตลักษณ์แบบชายรักชาย กระเทย หรือ “บัณเฑาะก์” ที่พระพุทธเจ้าได้ยอมรับ การมีตัวตน แต่ ไม่ยอมรับให้บวช ที่บวชแล้วก็ให้สึกเสีย ดังข้อความในพระไตรปิฎก ดังต่อไปนี้

เรื่องห้ามบัณเฑาะก์มิให้อุปสมบท

“...ก็โดยสมัยนั้นแล บัณเฑาะก์คนหนึ่งบวชในสำนักภิกษุ. เธอเข้าไปหาภิกษุ

หนุ่มๆ แล้วพูดชวนอย่างนี้ว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า. ภิกษุทั้งหลายพูด

รุกรานว่า เจ้าบัณเฑาะก์จงฉิบหาย เจ้าบัณเฑาะก์จงพินาศ จะประโยชน์อะไรด้วยเจ้า. เธอถูก

พวกภิกษุพูดรุกราน จึงเข้าไปหาพวกสามเณรโค่งผู้มีร่างล่ำสัน ...จึงเข้าไปหาพวกคนเลี้ยงช้างคนเลี้ยงม้า แล้วพูดอย่างนี้ว่า มาเถิด ท่านทั้งหลาย จงประทุษร้ายข้าพเจ้า. พวกคนเลี้ยงช้างพวกคนเลี้ยงม้า ประทุษร้ายแล้วจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เป็นบัณเฑาะก์ บรรดาพวกสมณะเหล่านี้ แม้พวกใดที่มิใช่บัณเฑาะก์ แม้พวกนั้นก็ประทุษร้ายบัณเฑาะก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสมณะเหล่านี้ก็ล้วนแต่ไม่ใช่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์. ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกคนเลี้ยงช้าง พวกคนเลี้ยงม้า พากันเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย

.

การห้ามอุปสมบท โดยแต่เดิมให้อุปสมบทได้ เป็นเพราะว่าเกิดปัญหาในระหว่างการอยู่ร่วมกันขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงมาตรการที่จะไม่ให้บวชเป็นมาตรการการแทรกแซง (intervention)ทำให้เกิดการไม่ยอมรับความแตกต่าง ด้วยเหตุผลอันขัดกับวัตถุประสงค์ของการประพฤติพรหมจรรย์ แต่หากแก้ไขพฤติกรรมได้ก็ถือว่ายังอุปสมบทต่อไปได้ และสามารถบรรลุธรรมระดับสูงสุด ได้เช่นกัน ดูกรณีพระวักกลิ

วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของความแตกต่างหลากหลายทางด้านความสามารถและความบกพร่องของร่างกาย (Disable) ในพุทธศาสนายอมรับการมีตัวตนของผู้พิการ ได้แก่ คนมีอวัยวะบกพร่อง คือ มือขาด เท้าขาด ทั้งมือและเท้าขาด หูขาด จมูกขาด ที่ทั้งหูทั้งจมูกขาด นิ้วมือนิ้วเท้าขาด คนมีอวัยวะไม่สมประกอบ คนมีมือเป็นแผ่น คือนิ้วมือไม่ได้เป็นง่าม มีหนังติดกันในระหว่าง คนค่อมคือมีหลังโกง คนเตี้ยกว่าคนปกติ คนคอพอก คนตีนปุก คนแปลก คือ สูงเกินบ้าง ต่ำเกินบ้าง ดำเกินบ้าง ขาวเกินบ้าง ผอมเกินบ้าง อ้วนเกินบ้าง มีศีรษะใหญ่เกินบ้าง มีศีรษะหลิมเกิน คนพิการ คนตาบอดตาใส คนง่อย คือมีมือหงิกบ้าง มีเท้าหงิกบ้าง มีนิ้วหงิกบ้าง คือมีเท้าหรือขาพิการ เดินไม่ปกติ คนตาบอดมืด คนใบ้ คนหูหนวก คนทั้งบอดทั้งใบ้ คนทั้งบอดทั้งหนวก คนทั้งใบ้ทั้งหนวก คนทั้งบอดทั้งใบ้ทั้งหนวก การไม่ยอมรับให้คนพิการที่สามารถบวชได้นั้น ได้แก่ การห้ามบรรพชา คนอวัยวะบกพร่อง คนอวัยวะไม่สมประกอบ คนพิการ คนทุรพล ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มคนพิการนั้นประทุษร้ายบริษัทและ เป็นผู้ที่มืดมา เป็นการไม่ยอมรับผู้พิการเข้าสู่สังฆะ แต่มีหลักฐานอีกหลายอย่างที่คนพิการสามารถบรรลุธรรมได้ เช่น นางขุขชุตตรา ซึ่งเป็นหญิงพิการหลังค่อม และ พระลกุณฏกภัททิยเถระเป็นพระรูปร่างแคระเหมือนเด็กสิบขวบ ก็สามารถบรรลุธรรมได้

วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายด้านความเชื่อทางศาสนา(religion) และ ความแตกต่างทางด้านมุมมองความคิด (Perspective) ในพระไตรปิฎกได้ยอมรับตัวตนของความแตกต่างทางด้านความคิด ความเชื่อตลอดจน ศาสดา ในลัทธิต่าง ๆ ในระดับของความอดทน อดกลั้น (Tolerance) หลายครั้งที่มีการวิวาทะ และการแสดงธรรมได้นำเอาผู้เลื่อมใสในศาสดาและลัทธิต่าง ๆ นำมาเป็นสาวกด้วยจำนวนมาก แต่พระพุทธองค์ไม่ได้ยอมรับทันที แต่มีมาตรการให้อยู่ปริวาสกรรมจำนวนสี่เดือน หรือมาตรการอื่น ดังต่อไปนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วสงฆ์พึงให้ปริวาส ๔ เดือน แก่ผู้มีชื่อนี้ ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์. นี่เป็นญัตติ

หากผู้ที่เคยบวชแบบเดียร์ถีย์ จะกลับเข้าคืนรีตของเดียร์ถีย์ ก็อนุญาตให้ลาสิกขาบอกคืนสิกขา ได้เช่นเดียวกัน การยอมรับนักบวชความเชื่ออื่น ให้เข้าไปสู่วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของพุทธศาสนา ต้องอยู่ปริวาส จำกัดเขต เพื่อสังเกตพฤติกรรม หากเป็นไปตามคณะสงฆ์หรือพระพุทธเจ้ากำหนดก็จะสามารถบวชต่อไปได้ หากบวชต่อไปไม่ได้ ให้ลาสิกขา

นอกจากนั้นแล้ว ความแตกต่างด้านมุมมองความคิด (Perspective view) ในกลุ่มความเชื่อของพุทธศาสนา เป็นการให้การยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่เรียกว่า นานาสังวาส คือ ความแตกต่างด้านศีล ด้านความเห็น.ความเป็นอยู่ เป็นที่มาของ ความแตกต่างหลากหลายทางด้านนิกายของพุทธศาสนาทั่วโลก นิกายที่อยู่รวมกันได้ เรียกว่า สมานสังวาส ส่วนนิกายที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะความแตกต่างด้านศีล ด้านวินัย เรียกว่า นานาสังวาส

สรุปการยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ พุทธศาสนาใช้คำว่าชาติ โคตร (วงศ์ตระกูล) ที่สังคมยอมรับ และสังคมไม่ยอมรับ พระพุทธเจ้าได้ยอมรับในตัวตนของชาติพันธ์นั้น ๆ และให้เชื้อชาติ ชาติพันธ์(Race) ต่าง ๆเข้ามาบวชได้ แต่ บางชาติพันธุ์ เช่น นาค พุทธศาสนายอมรับแบบมีเงื่อนไขให้ปรับปรุงวัฒนธรรมเพื่อสอดคล้องกับพระพุทธเจ้า ส่วนการยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้านชนชั้นวรรณะ(class) พุทธศาสนาให้การยอมรับตัวตนและวรรณะ และยินดีให้ทุกวรรณะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ เป็นการยอมรับในระดับการวิพากษ์วรรณะเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม (Affirmation Solidality and Critique) การยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของบทบาทชายหญิง (Gender) พระพุทธเจ้ายอมรับเรื่องโครงสร้างสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ยอมรับให้ชายนั้นบวชได้ แต่ก็อนุญาตให้สตรีบวชในศาสนา แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร โดยสตรีต่อรองเอง และมีพระอานนท์ที่เป็นชายต่อรองให้จึงสำเร็จในระดับ (Respect) การยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของรสนิยมทางเพศ(Sexuality)และลีลาชีวิต(Life Style) พระพุทธเจ้ายอมรับอย่างเป็นทางการ(Restpect) ในเพศที่พระพุทธองค์บัญญัติขึ้นเองเรียกว่า เพศบรรพชิต อันมีเนื้อหาคือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวทางเพศ ส่วนอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าจะเป็นบัณเฑาะก์ และบุคคลที่มี คนสองเพศ พระพุทธเจ้าห้ามบวช ไม่ยอมรับในความแตกต่างเพื่อเข้าบวชได้ แต่ก็สามารถสำเร็จคุณธรรมขั้นสูงได้ การยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของคนพิการ(Disable) พุทธศาสนา ห้ามคนพิการเข้าบวช ถือว่าไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ แต่ก็มีผู้พิการทางด้านร่างกายเป็นคนแคระ บวชก่อนคำสั่งห้าม ก็สามารถบรรลุคุณธรรมขั้นสูงได้ การยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของความแตกต่างทางด้านศาสนาลัทธิความเชื่อ (religion) และความแตกต่างทางด้านมุมมองความคิด (Perspective View) พระพุทธเจ้ายอมรับในความอดทน อดกลั้น (Tolerance) ในความแตกต่างหลากหลาย หากลัทธิความเชื่อต่างๆ นั้น ได้เข้ามายอมรับพุทธศาสนาก็ยินยอมให้เป็นนักบวช แต่ก็มีเงื่อนไขคือ ต้องอยู่ปริวาส 4 เดือน เพื่อดูนิสัยและมารยาท ก่อน และพุทธศาสนาก็ยินดีให้มีการลาสิกขาเพื่อไปเป็นนักบวชในความเชื่ออื่นได้เช่นกัน ส่วนมุมมองความคิดทางด้านศีล วินัย การถือข้อปลีกย่อย ในการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ให้สามารถทำได้ เรียกว่า “นานาสังวาส”

สรุป

ผู้เขียน ได้ตั้งคำถามสองคำถาม เพื่อจะถามว่า พหุวัฒนธรรมในพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และอีกคำถามหนึ่งถามว่าพุทธศาสนาให้การยอมรับพหุวัฒนธรรมนั้นอย่างไร พบว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางด้าน เชื้อชาติ ชาติพันธ์ โดยพระพุทธองค์มีชาติพันธุ์เป็นศากยะ ซึ่งอยู่ร่วมกับชาติพันธุ์อื่น ได้แก่ มิลักขะ ฑราวิต และ อารยัน ตลอดจนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความแตกต่างมาก ๆ เช่น นาค หรือ นาคา ซึ่งก็มีการเหยียดและแบ่งแยกความป็นชาติพันธ์เช่นกัน การยอมรับพหุวัฒนธรรมทางด้านเชื้อขาติพระพุทธองค์ให้การยอมรับเกือบทุกเชื้อชาติ ยกเว้น บางเผ่าที่ยังไม่เจริญทางวัฒนธรรม เช่นนาค ต้องปรับให้มีความเข้าใจในวัฒนธรรมพุทธศาสนา วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างทาง ชนชั้น พบว่า โครงสร้างของชนชั้นเป็นแบบวรรณะ 4 ประกอบด้วย วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร หลังจากที่พระพุทธองค์บวชแล้ว ได้เปลี่ยนชนชั้นนี้เป็นระบบอาวุโส และรับคนทุกวรรณะเข้าบวชได้ การยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์คือ ยอมรับให้เข้ามาบวชได้ทุกชั้นวรรณะ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างหลากหลายของบทบาทชาย หญิง พบว่าในระบบสังคมที่ถ่ายทอดมาในพระไตรปิฎก นั้นเน้นบทบาทชายเป็นใหญ่ และ พระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้สตรี เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีได้ การยอมรับพหุวัฒนธรรม คือ ยอมรับให้สตรีเข้าบวชได้ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างหลากหลายทางด้านเพศ พบว่า มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบงดเว้นกิจกรรมทางเพศ คือเป็นพระ และอัตลักษ์ทางเพศที่เป็นบัณเฑาะก์หรือชายรักชาย การยอมรับพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางเพศพบว่า พระพุทธเจ้ายอมรับ เพศบรรพชิต ไม่ยอมรับ บัณเฑาะก์ ได้เข้ามาบวช วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความแตกต่างหลากหลายทางด้านความสามารถของร่างกายหรือความพิการ พบว่า ในพระไตรปิฏกได้นำเสนออัตลักษณ์ของคนพิการได้แก่คนที่บกพร่องทางด้านร่างกาย และในสังคมยังมีการละเล่นที่ล้อเลียนคนพิการอยู่ ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกเหยียด พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้การยอมรับพหุวัฒนธรรมคนพิการภายหลังที่ได้บัญญัติเอาไว้ แต่ก็มีกรณีก่อนหน้าที่พระเถระคนแคระสามารถบรรลุธรรมได้ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายด้านความเชื่อและศาสนาพบว่า ในสังคมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก มีความเชื่ออยู่หลากหลาย มีศาสดาหรือครูอยู่ 6 คน นอกจากนั้นยังพบว่า กลุ่มความเชื่อในพุทธศาสนา ยังสามารถมีความแตกต่างหลากหลายได้ ในหลักของ นานาสังวาส พระพุทธเจ้าได้อดทน อดกลั้น ในความแตกต่างหลากหลายทางด้านความคิดความเชื่อ หากจะเข้ามาบวชจะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เพื่อสังเกตพฤติกรรม เมื่อเห็นว่ามีวัฒนธรรมตรงกัน ก็ถือว่ายอมรับอัตลักษณ์ โดยให้สลายอัตลักษณ์เก่าก่อน ส่วนนานาสังวาสนั้น พระพุทธ่องค์ให้การยอมรับ ให้มีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันได้ โดยความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์นี้เป็นผลมาจาก การตอบปัญหาชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ไม่มีทุกข์ โดยทุกข์เป็นผลมาจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งก่อให้เกิด กรรม วิบาก ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันในทุกอัตลักษณ์

เอกสารอ้างอิง

จิตร ภูมิศักดิ์ (2524). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และ ลักษณะของชื่อชนชาติดวงกมล

ชาญณรงค์ บุญหนุน (2544) สิทธิสตรีในพระพุทธศาสนาเถรวาท โครงการวิจัยพุทธศาสนากับสังคมไทย

ธเนศ วงศ์ยานนาวา (2552 ) ความไม่หลากหลาย ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สำนักพิมพ์สมมุติ

พระพรหมคุณาภรณ์ (2550),พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ 15 สำนักพิมพ์ ผลิธัมม์

---------------- (2551), พุทธวิธีในการสอน บริษัทพิมพ์สวย

----------------- ( 2554 ) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์พิมพ์ครั้งที่ 16เอสอาร์พรินติ้งแมส

-----------------. ( 2555) กาลานุกรมพระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลกพิมพ์ครั้งที่ 6 สำนักพิมพ์ผลิธัมม์

พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ (2546) การศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธปรัชญาเถรวาท พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ไมเคิลไรท์.(2524.) ฝรั่งหลังตะวันตก สำนักพิมพ์มติชน

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2559) เพศและความเป็นชายในพุทธศาสนา ในการควบคุมภิกษุ สามเณร และ บัณเฑาะว์ วารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 มค – กค

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2559) รัฐกับการแบ่งนิกายของสงฆ์.มติชนสุดสัปดาห์ 15 กค.2559

สมหมาย เปรมจิต. (2519) ตำนานมูลศาสนาวัดป่าแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมภาร พรหมทา. (2553) รากเหง้าเราคือทุกข์ สำนักพิมพ์วารสารปัญญา

สิริจิต สุนันต๊ะ. (2556) สถานะการโต้แย้งเรื่องพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย,วารสารภาษาและวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2556)

Banks , James A.(2008) Introduction to multicultural education, Boston, Pearson Inc

BHIKKHU PAREKH.(2005) Rethinking Multiculturalism cultural diversity and political Theory, second edition palgravemcmillian

Hall, stuart.(2002)Political Belonging in the world of Multiple of multiple Identities,Conceiving Cosmopolitanism; Theory, Context and practice, Oxford university press


ออนไลน์

สุจิตต์ วงษ์เทศ (2559)นาคไม่ใช่คน พุทธปะทะผี แล้วต่อรอง ในพิธีบวชนาค ใน http://www.matichon.co.th/news/216181

ฐานพระไตรปิฎกออนไลน์ฉบับสยามรัฐ http://www.84000.org

Ambedkar BR (unknow)Revolution and Counter-Revolution in Ancient India http://www.ambedkar.org/ambcd/19A.Revolution%20and...

Sonia Nieto (1994) Moving beyond Tolerance in multicultural educationhttp://www.sonianieto.com/OLD/PDF/Moving%20beyond%...

หมายเลขบันทึก: 625750เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2017 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2017 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลเยอะมากเลยครับ

ขอบคุณมากๆ

หายไปนานเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท