ประเด็นการสัมมนาท้องถิ่นในระยะเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2560


ประเด็นการสัมมนาท้องถิ่นในระยะเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2560

16 กุมภาพันธ์ 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

จุดเริ่มต้นของแนวคิดสัมมนา

ในทุกรอบต้นปีของทุกปีสมาคม ชมรม องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มักจะจัดการสัมมนาประจำปีขึ้นในหลาย ๆ กลุ่มหลายองค์กร ปีนี้ พ.ศ. 2560 ก็เช่นกัน ในกรอบความคิดนี้ผู้เขียนเห็นว่าในช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งสำหรับท้องถิ่น เป็นการวัดอนาคตของท้องถิ่นก็ว่าได้ เพราะในฟากหนึ่งฝั่งรัฐบาลก็ได้เดินหน้าการปฏิรูปประเทศอย่างขะมักเขม้น มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยเฉพาะ “การปฏิรูปท้องถิ่น” ซึ่งแทบจะเรียกได้มีแสนลำบาก ล้มลุกคลุกคลาน จาก “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) [2] มาสู่ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.) [3] ในปัจจุบัน

นับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้เกิด พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และต่อมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายประการต่อ อปท.ในประเทศไทย โดยเฉพาะกระบวนการกระจายอำนาจช่วงหลัง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา เกิดแนวทาง “การปกครองส่วนท้องถิ่นในยุคใหม่” ขึ้น ที่แตกต่างไปจากการปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าจะมีนักวิชาการค้านว่าเป็นเพียงการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเท่านั้น ในทางความเป็นจริงยังไม่ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจโดยแท้จริง แน่นอนว่า คำกล่าวนี้เหมาะสมยิ่งนักใน “ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน” ในขณะนี้ที่กำลังมีการแก้ไขปรับปรุงอยู่ นั่นหมายความว่าความเป็นประชาธิปไตย การดำเนินนโยบายด้านการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ในอดีตที่ผ่านมาคงจะได้แก้ไขกันในตอนนี้นั่นเอง

ปัญหาเดิมของ อปท. ที่หมักหมมทับทวี

ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทั้งจากองค์กรฝ่ายรัฐบาล และองค์กรเกี่ยวข้องอื่นที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นจากกระบวนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดและดำเนินนโยบายของรัฐบาลด้านการกระจายอำนาจ แรงต้านทานต่อต้านการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาจากพฤติกรรมในการปฏิบัติงานของ อปท.เอง มีนักวิชาการได้พยายามรวบรวมสรุปสาระสำคัญที่น่าสนใจของปัญหาที่หมักหมมมานาน อาทิเช่น [4] (1) รัฐไม่สามารถจะแบ่งสัดส่วนรายได้ให้ท้องถิ่นได้ถึงร้อยละ 35 ตามที่เคยตั้งเป้าไว้ (2) รัฐบาลยังไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจในการให้บริการสาธารณะทุกอย่างให้แก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมาก (3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ (4)ทัศนคติและค่านิยมของข้าราชการที่ว่าอยู่กับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดีกว่า มีศักดิ์ศรีสูงกว่า สังกัดในท้องถิ่น (5) ท้องถิ่นยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้เองเพียงพอ (6) ปัญหาในเรื่องการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น (6.1) มีแนวคิด (Conceptualization) ที่แตกต่างกันระหว่างความคิดที่ว่าเป็นองค์กรที่มีความอิสระหรืออยู่ในกำกับดูแลมากน้อยเพียงใด (6.2) ปัญหาเชิงโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีการแบ่งแยกหน้าที่กันระหว่างระดับบนระดับล่างไม่ชัดเจน ระบบการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการปรับเปลี่ยน ขาดความสอดคล้อง การบริหารงานที่มีแนวโน้มเป็นราชการมากขึ้น จึงขาดความคล่องตัว มีปัญหาบุคลากร เช่นการแต่งตั้งไม่เป็นธรรม ข้าราชการท้องถิ่นไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ปัญหาวิธีปฏิบัติราชการส่วนใหญ่ขาดผู้มีความรู้ขาดประสบการณ์ผู้นำ เป็นต้น (6.3) ปัญหาจากปัจจัยที่ส่งเสริมระบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิระบบปฏิรูป ระบบคลังท้องถิ่น ศักยภาพของท้องถิ่น (6.4) ปัญหาจากสภาพแวดล้อม (Externals Factor) เช่น ภาคราชการ ในเรื่องการปฏิรูประบบราชการ การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบราชการภูมิภาค (CEO) การปฏิรูปวิธีปฏิบัติราชการ ภาคการเมืองในเรื่องการถูกแทรกแซงด้วยการเมืองระดับชาติ นโยบายรัฐบาล ในเรื่องนโยบายลักษณะมุ่งดำเนินการ กับประชาชนโดยตรงที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เช่น นโยบายด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ เป็นต้น รวมถึง ขาดความชัดเจนในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (6.5) ปัญหาการบริหารแผนการกระจายอำนาจ ได้แก่ การขาดเอกภาพในการมองเห็นทั้งระบบก่อนถ่ายโอน การแก้ปัญหาที่เป็นเวลา การแก้ปัญหาระดับจังหวัด การมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก การมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ

เท้าความปฏิรูปท้องถิ่น

จากประเด็นปัญหาข้างต้น การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นดังกล่าว ช่วงหลังครั้งที่ 1 ได้แก่ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) ในช่วงปี พ.ศ. 2557-2558 ซึ่งไม่เป็นผลสำเร็จ ได้ถูกยกเลิกไป ขอเท้าความสรุปสักหน่อยเกี่ยวกับท้องถิ่น แม้ว่าจะมีบทบัญญัติที่เป็นการปฏิรูป อปท. ที่เป็นระบบสากลและเป็นการกระจายอำนาจที่ยั่งยืนหลายประการ ดังนี้ [5] (1) การเปลี่ยนชื่อ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) เป็น “องค์กรบริหารท้องถิ่น” (อบท.) (2) การให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักและการยึดหลัก “การแข่งขัน” (contestability) ของการจัดบริการสาธารณะโดยกำหนดให้องค์กรบริหารท้องถิ่นของไทยต้องเป็นหน่วยงานหลัก (3) การขยายอำนาจหน้าที่การจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมองค์กรบริหารท้องถิ่น (4) การกำหนดขนาดขององค์กรบริหารท้องถิ่นที่สอดคล้องกับภารกิจและศักยภาพโดยองค์กรบริหารท้องถิ่นในอนาคตต้องมีขนาดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจ (5) การเพิ่มบทบาทการจัดการและความร่วมมือเชิงพื้นที่และภารกิจการเพิ่มบทบาทการจัดการและความร่วมมือเชิงพื้นที่และภารกิจ คือ การส่งเสริมให้เกิดการบริหารและความร่วมมือที่ไม่ยึดติดกับเขตการปกครอง (Territory) และไม่ยึดตามอำนาจหน้าที่/กลไกที่ตายตัวของหน่วยงาน (Authority and Functional Based) (6) การสร้างรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลายมากขึ้นโดยเสนอให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมากขึ้นกว่ารูปแบบฝ่ายสภา – ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนที่เป็นรูปแบบหลัก (7) การสร้างระบบการบริหารงานภายในขององค์กรบริหารท้องถิ่น ตามหลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างความมีอิสระและมาตรฐาน (8) การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นตามหลักคุณธรรม คือ (8.1) ให้เปลี่ยนแปลงสถานะจาก “ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น”ให้เป็น “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น” โดยให้สามารถย้ายหรือสับเปลี่ยนสังกัดระหว่างองค์กรบริหารท้องถิ่นต่างรูปแบบได้ (8.2) ให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ให้เหลือเพียงคณะกรรมการกลางฯ หรือคณะกรรมการจังหวัดฯ ชุดเดียวที่ดูแลการบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบ (8.3) ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัดเพื่อคุ้มครองการแทรกแซงการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม (9) การจัดทำประมวลกฎหมายท้องถิ่น (10) การกำกับดูแลองค์กรบริหารท้องถิ่นอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ โดยไม่กระทบหลักความเป็นอิสระขององค์กรบริหารท้องถิ่น (11) การเปิดโอกาสให้มีสมัชชาพลเมืองตามความเหมาะสมและ ความต้องการของท้องถิ่นแนวคิดและข้อเสนอการตั้งสภาหรือสมัชชาที่มีตัวแทนของประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินงานติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะแก่สภา-ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง

หน้าตาของการปฏิรูปท้องถิ่นจาก “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.) ในปัจจุบัน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบริบทของไทย (Thai Context) การดำเนินการปฏิรูปท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจจะเชื่อมโยงไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะต้องเกิดขึ้น ตามทิศทางที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนด ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายทางการเมืองท้องถิ่น ฝ่ายข้าราชการประจำ รวมทั้งราชการ หรือเอกชนอื่นใดจะต้องให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด ในสาระสำคัญ ดังนี้ [6]

(1) การปฏิรูปรูปแบบ โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป โดยกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างใหม่ เป็น 2 รูปแบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (2) ปฏิรูปการเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ของผู้บริหารและสมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากของเดิม (3) ปฏิรูปหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยปฏิรูปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละรูปแบบให้มีหน้าที่และอำนาจชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยแบ่งอำนาจหน้าที่ตามรูปแบบและลำดับชั้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล(เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร) (4) ปฏิรูปการเงิน การคลัง และการงบประมาณ การพัฒนารายได้ การจัดเก็บรายได้ การจัดทำงบประมาณรายรับ-รายจ่าย การรักษาวินัยการเงินการคลัง ให้มีศักยภาพในการดูแลประชาชนพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดย (4.1) การพัฒนารายได้ การจัดเก็บรายได้โดยการเพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ (4.2) การจัดทำงบประมาณรายรับ-รายจ่าย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำรายรับ-รายจ่ายในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ โดยเชื่อมโยงแผนพัฒนาท้องถิ่น ระบบงบประมาณ ระบบการเบิกจ่ายเงิน ระบบบัญชี ให้สอดรับกัน (4.3) การรักษาวินัยการเงินการคลัง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำงบประมาณแบบสมดุลโดยให้จัดทำประมาณการรายจ่ายเท่ากับรายรับที่มีหรือน้อยกว่ารายรับที่มี จัดให้มีเงินสะสมและเงินสำรองคงคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังในภาพรวมของประเทศ (4.4) กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ (5) ปฏิรูปการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรควบรวมกันเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะภายในเขตพื้นที่ (6) ปฏิรูปการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น หรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรภายในท้องถิ่น หรือกรณีซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน (7) ปฏิรูปการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการปกครองตนเองของท้องถิ่น (Local self – government)

ขอให้ทุกภาคส่วนเฝ้าติดตาม

จากสาระประเด็นข้างต้นสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย จึงได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการขึ้นในหัวข้อ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2560 ซึ่งมีการเชิญบรรดานักวิชาการและนักปฏิบัติแวดวงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปท้องถิ่นอย่างครบถ้วนมากกว่าการจัดการสัมมนาในครั้งใด ๆ ที่ผ่านมา อาทิ ท่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่ 1 ท่านวัลลภ พริ้งพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ท่านดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถาน ประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ท่านอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 ท่านจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ท่านดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี/เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ท่านพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ท่านณรงค์ เชื้อบุญช่วย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เป็นต้น

ผู้สนใจร่วมสัมมนาคุ้มค่าจริง ๆ คราวหน้ามาต่อในรายละเอียดเพิ่มเติมที่มากขึ้น สนใจรายละเอียดโปรดดู เวบไซต์ [7] สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย http://associationtessaban.blogspot.com/



[1] Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23306 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 23 วันศุกร์ที่ 17 – วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560, หน้า 66

[2] สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ตั้งขึ้นตามมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะแนวทางเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ คือ (1) การเมือง (2) การบริหารราชการแผ่นดิน (3) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (4) การปกครองท้องถิ่น (5) การศึกษา (6) เศรษฐกิจ (7) พลังงาน (8) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (9) สื่อสารมวลชน (10) สังคม (11) อื่น ๆ พร้อมเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สปช. ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คน

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 39/2 บัญญัติให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ สืบเนื่องต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น

[4] มหาวิทยาลัยสวนดุสิต. ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์, พฤศจิกายน 2559.

[5] สาระสังเขปประเด็นการปฏิรูปประเทศไทย โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้านการปกครองท้องถิ่น, “การปฏิรูป : ด้านการปกครองท้องถิ่น”, คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ 2557, http://library2.parliament.go.th/giventake/content...

& Series ปฏิรูป: กางแผนปฏิรูปท้องถิ่น กรอบ อปท.ใหม่ เลือกตั้ง-ควบรวม เทศบาล+อบต. เพิ่ม ‘ผู้กำกับดูแล’ ? เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2558 โดย คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ, ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง, Thai Civil Rights and Investigative Journalism, จังหวัดเชียงใหม่, ทีมข่าว TCIJ 13 พ.ค. 2558, http://www.tcijthai.com/news/2015/05/scoop/5554

[6] บทสรุปผู้บริหารเรื่อง “โครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 7 สิงหาคม 2559, http://www.thailocalmeet.com/bbs/PDF/59/ร่างประมวล...

[7] เอกสารดาวน์โหลดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ ยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม 2560 ณ ห้องแกรนด์บอลลูม โรงแรมมิราเคิล ฯ หลักสี่ กรุงเทพฯ รายละเอียดตาม เวบไซส์ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, http://www.xn--82c0aec0cgbk4ar5kwb8j.com/s2560/pro...



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท