แนวคิดของนักศึกษากิจกรรมบำบัดกับการขับเคลื่อนสุขภาวะคนไทยทั้งในและนอกโรงพยาบาล


สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน ดิฉันเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ดิฉันและเพื่อนๆได้จัดกิจกรรมโต้วาทีขึ้นในคาบวิชาสัมมนา ในหัวข้อ "Hospital Base Intervention Vs Community Base Intervention" และ “Blended classroom VS Traditional classroom” จนได้ตกผลึกความคิด ค้นหาแนวคิดของนักศึกษากิจกรรมบำบัดกับการขับเคลื่อนสุขภาวะคนไทยทั้งในและนอกโรงพยาบาล โดยคำนิยามสุขภาวะ (Well-Being) คือ การที่สุขภาพทางกาย ทางจิตใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณอยู่กันอย่างสมดุล (ดวงกมล ศักดิ์เลิศสกุล, 2549 อ้างถึงใน ปรถ ปฐพีทอง, 2547 และ Mathai, 2005)

ก่อนอื่นดิฉันอยากให้คุณผู้อ่านได้ทราบถึงวิชาชีพกิจกรรมบำบัดของเราก่อน มาตรฐานการประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบำบัด ได้ให้ความหมายของกิจกรรมบำบัดไว้ว่า กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) หมายความว่า การกระทำเกี่ยวกับความสามารถ ของบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้และการพัฒนาเกี่ยวกับเด็ก อารมณ์ และสังคม โดยกระบวนการตรวจ ประเมิน ส่งเสริม ป้องกันบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เพื่อให้บุคคลดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพ โดยการนำกิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาใช้ในการบำบัด จากความหมายของวิชาชีพกิจกกรมบำบัด จะเห็นได้ว่ากิจกรรมบำบัดมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาสุขภาวะ เพราะเราจะดูบุคคลเป็นองค์รวมทั้ง กาย จิต สังคมและจิตวิญญาณเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มความสามารถ

จากคาบสัมมนาการโต้วาทีดิฉันได้ตกผลึกความคิด การขับเคลื่อนสุขภาวะคนไทยทั้งในและนอกโรงพยาบาล ดังนี้

ภายในโรงพยาบาล (Hospital Base Intervention) ที่ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ สหวิชาชีพ และอุปกรณ์ที่ครบครัน จะมีความพร้อมมากกว่าในการให้บริการ มีความปลอดภัย และให้ผลในการรักษาที่ดีกว่าการรักษาภายนอกโรงพยาบาล (Community Base Intervention)

ภายนอกโรงพยาบาล (Community Base Intervention) แม้จะขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัยหรือบุคคลากรที่น้อยกว่า แต่ก็สามารถเข้าถึงผู้รับบริการได้ดี ได้เห็นบริบทและสภาพแวดล้อมจริงๆที่ผู้รับบริการอาศัยอยู่ โดยนักกิจกรรมบำบัดสามารถปรับประยุกต์อุปกรณ์ภายในบ้านและชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดฟื้นฟู ปรับสภาพบ้านของผู้รับบริการให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย

ในฐานะนักศึกษากิจกรรมบำบัดดิฉันมีแนวคิดว่า หากเราสามารถนำข้อดีของทั้งสองแบบมารวมกัน ให้ความสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูทั้งภายในและนอกโรงพยาบาลจะสามารถทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีได้อย่างสมบูรณ์

ดิฉันขอยกตัวอย่างงานวิจัย ที่ศึกษาสิ่งที่มีผลกระทบต่อการกลับไปทำงานของผู้ป่วยโรคเอดส์ ได้ค้นพบว่าสามสิ่งที่มีผลกระทบต่อการกลับไปทำงานคือ ตัวตนในการประกอบกิจกรรม (Occupational identity), ความสามารถในการประกอบกิจกรรม (Occupational competence) และ สิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจกรรม (occupational settings /environment) จะเห็นได้ว่าการที่ผู้ป่วยโรคเอดส์จะกลับไปทำงานนั้นมีหลายอย่างหลายปัจจัย ซึ่งการบำบัดฟื้นฟูภายในโรงพยาบาลอย่างเดียว หรือการการบำบัดฟื้นฟูภายนอกโรงพยาบาลอย่างเดียวไม่สามารถนำผู้ป่วยไปสู่ประกอบอาชีพได้ ผู้ป่วยยังต้องการการการบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาลทั้งการตรวจประเมินการรักษาด้วยยาจากแพทย์ แต่หากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในชุมชน ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในที่ที่เคยอยู่ได้ จะส่งผลทำให้ขาดความสมดุลของสุขภาวะ ผู้ป่วยจึงต้องการการดูแลฟื้นฟูในภาคชุมชนด้วย อีกหนึ่งงานวิจัย ที่ศึกษาการใช้ Social Cognition and Interaction Training-Autism (SCIT-A) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบำบัดฟื้นฟูสำหรับครอบครัวของผู้ที่เป็นออทิซึม ผลการศึกษาได้อธิบายว่า ผู้ดูแล (caretakers) มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะสนับสนุนและกระตุ้นบุคคลที่เป็นออทิซึมในด้านความรู้ความเข้าใจทางสังคม จะเห็นได้ว่าการรักษาภายในโรงพยาบาลโดยอาศัยบุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียวนั้นไม่สามารถตอบโจทย์การมีสุขภาวะที่สมดุลได้ จะต้องได้รับการร่วมมือจากผู้ดูแลที่จะส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่เป็นออทิซึมให้มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน

ส่วนในหัวข้อโต้วาทีเพื่อการเรียนรู้หัวข้อที่สองพูดถึงการเรียนรู้แบบดั้งเดิม (Traditional classroom) คือ การเรียนการสอนแบบที่เราๆเคยเรียนมา มีอาจารย์และลูกศิษย์ สอนเนื้อหาการเรียนโดยเห็นหน้ากันทั้งสองฝ่ายอาจารย์สามารถสังเกตนักเรียนและแนะแนวการสอนได้โดยตรงส่วนนักเรียนเองก็สามารถซักถามถามข้อสงสัยได้ เมื่อเปรียบเทียบกับ การเรียนแบบผสมผสาน (Blended classroom) คือการนำเนื้อหาบางส่วนไปไว้ในรูปแบบของการเรียนแบบออนไลน์ ทำให้ลดความเหนื่อยล้าของผู้สอน นักเรียนสามารถมีอิสระในการเรียนเข้าถึงเนื้อหาจากที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ หากจะนำมาประยุกต์กับการขับเคลื่อนสุขภาวะของคนไทยดิฉันเห็นว่าการกระจายข้อมูลทางการแพทย์ นั้นบางส่วนยังคล้ายการเรียนแบบดั้งเดิมคือสามารถเข้าถึงได้ยากคนไข้ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้นถึงจะได้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาวะที่ดี ถ้าเราสามารถนำความรู้ทางการแพทย์เผยแพร่ความรู้ไปในโลกออนไลน์มากขึ้นจะทำให้คนไข้หรือผู้รับบริการเองเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่นการเขียนบล็อกยกตัวอย่างเคสผู้ป่วยต่างๆ เล่าประสบการณ์การบำบัดฟื้นฟูเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติตัวของคนไข้ การประชาสัมพันธ์ความรู้ทางการแพทย์อย่างง่ายๆลงเพจในเฟสบุค หรือเว็ปไซด์ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมสุขภาวะและก็เป็นการแพร่กระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย แต่ในบางอย่างบางเทคนิคการบำบัดฟื้นฟูก็ไม่สามารถเผยแพร่ออนไลน์ได้เนื่องจากต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากนักกิจกรรมบำบัด ฉะนั้นนักกิจกรรมบำบัดเองก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเมื่อมีโอกาสได้เจอผู้รับบริการและถ่ายทอดความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในสถานการณ์ปัจจุบันเรามุ่งที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไกล ส่วนหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญก็คือประชากรในประเทศไทย หากคนไทยมีสุขภาวะที่สมดุล มิใช่แค่การปราศจากโรคหรือความพิการเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสมบูรณ์ทั้งกาย จิตใจ สังคมและปัญญาจะส่งผลให้เรามีประชาการที่มีคุณภาพที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศต่อไป การขับเคลื่อนสุขภาวะคนไทยทั้งในและนอกโรงพยาบาลจึงเป็นงานที่ใหญ่ต้องอาศัยการร่วมมือกันจากหลายๆฝ่าย และต้องให้ความสำคัญทั้งการบำบัดฟื้นฟูทั้งในและนอกโรงพยาบาลสังเคราะห์ข้อดีของแต่ละแบบและนำมารวมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

หมายเลขบันทึก: 623144เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท