แนวคิดของนักศึกษากิจกรรมบำบัดกับการขับเคลื่อนสุขภาวะคนไทยทั้งในและนอกโรงพยาบาล


ดิฉันได้รับโจทย์จากอาจารย์มาว่า OT จะขับเคลื่อนสุขภาวะของคนไทยทั้งในและนอกโรงพยาบาลอย่างไร

ก่อนอื่นดิฉันว่าเรามาทำความเข้าใจกับคำว่าสุขภาวะกันเสียก่อน"สุขภาวะ" ตามองค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายว่า "สุขภาพ หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา มิใช่เพียงการปราศจากโรคหรือความพิการเท่านั้น” ซึ่งถ้าหากให้ดิฉันอธิบายตามความเข้าใจของดิฉันคือ การมีความสุขทั้งทางกายและทางใจนั้นเอง

การให้นิยามความสุขของแต่ละคนนั้นย่อมต่างกัน บางคนความสุขอาจประกอบไปด้วยหลากหลายปัจจัย แต่บางคนคำว่าความสุขอาจเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ เพียงสิ่งเดียว ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของนักกิจกรรมบำบัด ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อเข้าถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของความสุขของผู้รับบริการของเรา

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาดิฉันและเพื่อนๆได้มีโอกาสจัดกิจกรรมการโต้วาที โดยมี 2 รอบด้วยกันได้แก่ รอบแรก OT in community based VS OT in hospital based รอบสอง Blended classroom VS Traditional classroom ในหัวข้อแรก เป็นการโต้กันระหว่างการทำการรักษาโดยยึดบริบทสังคมของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่นการให้การบำบัดในบ้านเลย ข้อดีคือผู้รับบริการมีความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อม เมื่อหายแล้วก็สามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้เลย แต่ข้อเสียคือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ทันสมัยเท่าโรงพยาบาล และอาจขาดโอกาสการรักษาจากสหวิชาชีพ แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของผู้รับบริการเอง ส่วนในหัวข้อที่สอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวค่ะ คือเรื่องระหว่างการเรียนแบบเดิมและการเรียนแบบผสมออนไลน์ การเรียนแบบดั้งเดิมคือมีการบรรยายในห้อง ส่วนการเรียนแบบผสมออนไลน์เป็นการยกหัวข้อการบรรยายทั้งหมดไปไว้ในอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ผู้เรียนสามารถจัดการกับเวลาได้เองว่าต้องการดู หรือทบทวนบทเรียนเมื่อไร อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนมีเวลามากขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจได้ ในฝ่ายของการเรียนแบบเดิมเองก็ได้หยิบยกข้อดีต่าง ๆ ให้เราฟังเช่น อาจารย์และลูกศิษย์จะมีความใกล้ชิดกัน อาจารย์สามารถจี้ลูกศิษย์ได้รายตัว มีการใช้น้ำเสียงและท่าทางที่สามารถกระตุ้นได้มากกว่า

เราจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีข้อดีในมุมมองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครชอบแบบไหน ในบริบทนั้น ๆ เหมาะสมกับอะไร เช่นเดียวกับสุขภาวะหรือดิฉันขออนุญาตเรียกว่าความสุข เพราะความสุขไม่มีสูตรสำเร็จ นักกิจกรรมบำบัดมีหน้าที่ให้ตัวเลือกและข้อมูลแก่ผู้รับบริการให้มาที่สุด และให้เขาตัดสินใจตัวตนเอง นักกิจกรรมบำบัดสามารถใช้ช่องทางของการเผยแพร่ข้อมูลแบบออนไลน์ ในการสร้างสุขภาวะแก่ผู้รับบริการได้ เช่นการให้ข้อมูลในการปฏิบัติตัวเบื้องตนของการคลายความเครียด การเคลื่อนไหวข้อต่อให้กับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเป็นต้น แต่ในบางเรื่องก็ไม่สามารถสอนผ่านอินเตอร์เน็ตได้ เช่นวิธีการกระตุ้น กลืน การวิเคราะห์กิจกรรมต่าง ๆ นักกิจกรรมบำบัดจึงมีหน้าที่เลือกการให้บริการที่เหมาะสมตามปัจจัยของความสุขของแต่ละคน เพื่อทำให้ผู้รับบริการเกิดสุขภาวะที่ดี อย่างที่ดิฉันได้กล่าวไปข้างต้นว่า เพราะความสุขไม่มีสูตรตายตัว นักกิจกรรมบำบัดจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ค้นหาส่วนผสมของความสุขของผู้รับบริการเพื่อทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่คนไทยนั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 623142เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท