อีกหนึ่งวิชาการสายรับใช้สังคม



ต่อจากบันทึกที่แล้ว

หลังจากได้เปิดกระโหลกโดย นพ. วิโรจน์ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๐ ผมก็ได้รับการเปิดกระโหลกโดยศิษย์ของคุณหมอวิโรจน์ คือ นพ. ยศ. ตีระวัฒนานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) สกว. ของ ดร. นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ ซึ่งประชุมที่ HITAP


เรื่องแรกที่นำเสนอต่อที่ประชุมคือ ภาพรวมและแผนงานทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ของ ดร. นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ (ระยะที่ ๒) โครงการการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีเป้าหมายที่เชื่อมโยงส่งเสริมกัน ๕ ด้าน คือ (๑) สร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย (๒) สนับสนุน HTA เพื่อการตัดสินใจในระบบ UHC (๓) สร้างปัญญาแก่สังคมโลก (๔) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ (๕) สื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจ HTA และการประยุกต์ใช้ด้านนโยบาย ที่เมื่อคุณ Saudamini Dabak นักวิจัยฝึกหัดจากอินเดียนำเสนอ ทุกคนก็อึ้ง เพราะนี่คือโครงการที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก สู่การรับใช้สังคมไทย และสังคมโลก โดยที่เห็นได้ชัดเจนว่าทำได้ โดยต้องค่อยๆ ก้าวทีละก้าว


ในการประชุมครั้งนี้ มี ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา แห่งกระทรวงศึกษาธิการ มาร่วมเป็นกรรมการด้วย ผมบอกที่ประชุมว่า ที่เชิญ ดร. ภูมิศรัณย์ มาร่วม ก็เพราะอยากให้ท่านเห็นโอกาสนำเครื่องมือนี้ไปใช้ในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำให้การกำหนดนโยบายต่างๆ ของกระทรวง มีลักษณะ “นโยบายบนฐานข้อมูลหลักฐาน” (evidence-based policy-making) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการฟื้นคุณภาพของการศึกษาไทย


เรื่องราวทั้งหมดในการประชุม ๓ ชั่วโมงนี้ เป็นเรื่องของการทำงานวิชาการเพื่อหนุนนโยบายสุขภาพ เพื่อช่วยให้เป็น evidence-inform health policy


ที่จริงไม่เฉพาะด้านการศึกษาเท่านั้น ที่ต้องการงานวิชาการแบบนี้ ทุก sector ของกิจการสาธารณะ ต้องการทั้งสิ้น แต่ยังไม่มีกลไกการทำงานวิชาการใน sector เหล่านั้น ตัวอย่างที่ health sector จึงน่าจะได้ขยายตัว สร้างแรงบันดาลใจไปยัง sector อื่นในสังคมไทย เพื่อสร้างวิชาการสายรับใช้สังคมขึ้นทำงานพัฒนาบ้านเมือง สู่ ประเทศไทย ๔.๐


ขอย้ำว่า งานวิชาการรับใช้สังคมที่เล่าในตอนที่แล้ว และที่เล่าในตอนนี้ เกิดขึ้นนอกมหาวิทยาลัย ทั้งสองเรื่องนี้เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข นอกเส้นทางอำนาจและตำแหน่ง ในเส้นทางนักวิชาการ โดยการตั้งมูลนิธิขึ้นมารองรับ กิจกรรมทั้งหมดหล่อเลี้ยงด้วยเงินวิจัย ที่ได้มาด้วยความสามารถและน้ำพักน้ำแรงในการผลิตผลงานวิชาการคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย


วิจารณ์ พานิช

๑๒ ม.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 622303เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2017 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2017 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท