ความอยุติธรรม


“ ความอยุติธรรม เกิดขึ้น เมื่อคนที่เท่ากัน แต่ได้รับการปฏิบัติต่างกัน (Injustice arises when equals are treated unequally) เป็นคำกล่าวของอริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก อยุติธรรม (Unjust) ตามความหมายอาจแปลว่า ไม่เป็นธรรม ไม่เที่ยงตรง ไม่เป็นกลาง ซึ่งตรงข้ามกับ ความยุติธรรม (Justice)

สังคมไทยยังเต็มไปด้วยความสงสัยและเคลือบแคลงกับ “ความยุติธรรม” จนคิดว่าอาจอยู่ในระบบของ “ความอยุติธรรม” เป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านานและไม่สามารถหาบทสรุปได้ เพราะมนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคมและรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มชุมชน เกิดการแก่งแย่ง แข่งขัน ช่วงชิงความได้เปรียบตามกำลังและศักยภาพของแต่ละบุคคลในสังคม และต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังมีระบบหรือโครงสร้างอัน อยุติธรรม อคติ ไร้เมตตาอยู่จริง และอาจมองเลยไปถึงปัญหาเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ เพราะความยุติธรรมตามกฎหมาย (Legal Justice) คือ การใช้กฎหมายหรือการตีความในด้านกฎหมายโดยปราศจากความลำเอียงใดๆทั้งสิ้น กับความยุติธรรมตามสามัญสำนึกของมนุษย์หรือความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) หรือ ความยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วน (Distributive Justice) หรือ ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (Economic Justice) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการจำแนกหรือแบ่งปันสิ่งที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งอันมีคุณค่าในสังคมให้แก่สมาชิกของสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออย่างเป็นธรรมนั่นเอง ความอยุติธรรมส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการเลือกปฏิบัติ จึงควรเลือก “หลักนิติธรรม” หมายความถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย คือ ต้องเป็นธรรม เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งต้องรวดเร็วและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวม สามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมของไทย เพราะการเลือกปฏิบัติและการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ถือเป็นความอยุติธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง

ผลลัพธ์ของความอยุติธรรม จะทำให้สังคมไทยสับสน วุ่นวาย ไม่สงบสุข ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการยึดหลักความเป็นกลาง ไม่เอนเอียง มีความเที่ยงตรง ไม่เลือกปฏิบัติ รู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและต้องถือปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เสมอภาค เพราะความอยุติธรรมเกิดจาก “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายต่อมนุษย์ด้วยกัน”

หมายเลขบันทึก: 622251เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2017 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2017 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท