ท่านนี้ หรือชื่อว่าลกเจ๊ก เมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้นลักส้มเขาเอาไปให้มารดา นั่งลงเถิดเราจะเจรจาด้วย


ใน "บันทึก" สามก๊กของหลอกวนตง ถ้าถามว่าฉากไหนสำคัญที่สุด และบ่งชี้ "จิตวิญญาณ" ของสามก๊กมากที่สุด ส่วนตัวผมจะยกให้ฉากนี้ (ขงเบ้งปะทะปราชญ์กังตั๋ง)



ถามว่าเพราะเหตุใด

เหตุผลคือ ในง่อก๊กของซุนกวน สถานการณ์รับมือต่อการบุกลงใต้ของวุยก๊กของโจโฉยังไม่แน่นอน ฝ่ายที่ปรึกษาพลเรือน (ที่ขงเบ้งกำลังจะไปพบ) เป็นตัวแทนของความคิดยอมจำนน เพราะเห็นว่ากำลังของง่อสู้กับกองทัพวุ่ยไม่ไหว ในขณะที่ฝ่ายผู้นำทหารมีความคิดไม่ยอมจำนนและเห็นว่ามีหนทางที่จะต่อสู้ได้ ความคิดของสองฝ่ายนี้ยังคงก้ำกึ่ง ไม่มีฝ่ายใดชี้ขาด จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง การต่อสู้ทางปัญญาระหว่างขงเบ้งและปราชญ์กังตั๋งครั้งนี้ ในมุมมองของขงเบ้งจึงเพื่อทอนอิทธิพลฝ่ายยอมจำนน และเพิ่มความชอบธรรมให้กับฝ่ายต่อสู้

ในยุคสมัยของขงเบ้ง นักคิดในสมัยนี้สืบทอดอิทธิพลสำคัญมาจากนักคิดสมัยก่อนโดยเฉพาะยุคชุนชิว ยุคจั้นกว๋อ ยุคฉิน และยุคฮั่น นักปราชญ์สำคัญคือขงจื้อซึ่งเน้นเรื่องจารีตและคุณธรรม และฝ่ายเต๋าเน้นเรื่องความลับของธรรมชาติและการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ในการปะทะกันทางความคิดในครั้งนี้จึงต้องอ้างอิงย้อนกลับไปถึงนักคิด ปราชญ์ และ "รัฐุบรุษ" ในยุคก่อนหน้าทั้งหมด

ลำดับเวลาของแต่ละยุคที่คร่อมการปะทะทางความคิดนั้น จะเป็นดังนี้

  • Spring and Autumn (ยุควสันตสารท / ยุคชุนชิว) (771 - 685 BC; 685 - 591 BC; 591 - 453 BC)
  • Warring states (ยุครณรัฐ / ยุคจั้นกว๋อ) (403 - 340 BC; 340 - 247 BC; 247 - 221 BC)
  • Qin (ยุคฉิน) (221 - 206 BC)
  • Han (ยุคฮั่น) (206 BC - 220 AD)
  • Three Kingdom (ยุคสามก๊ก) (220 - 280 AD)
  • Jin (ยุคจิ้น) (265 - 420 AD)


ประเด็นที่ผมเห็นว่าสำคัญ คือในการปะทะทางความคิดครั้งนี้ ซึ่งมักจะอ้างไอเดียหลักของขงจื้อ และเต๋า แล้วยังอาจจะมีไอเดียจากสำนักนิตินิยม หรือฝ่าเจีย (法家) ซึ่งเน้นการกำกับระเบียบในสังคมในสมัยฉิน แต่ก็ไม่ปรากฎชัดเจนนัก ผมนึกถึงในเทปก่อนที่พูดถึงการ contrast idea ของขงจื้อและเต๋า (เล่าจื้อ) ต่อสถานการณ์ในขณะนั้น https://www.youtube.com/watch?v=iOIPalxfKtw ซึ่งขงจื้อมีชีวิตอยู่ช่วงปลายยุคชุนชิว (551 - 479 BC) เป็นช่วงที่แผ่นดินมีสงคราม สงครามนี้จะกินเวลาข้ามไปถึงยุคจั้นกว๋อที่มีเพียงเจ็ดแคว้นจะช่วงชิงความเป็นใหญ่ แล้วลงเอยด้วยการกุมอำนาจของแคว้นฉิน (และสร้างมาตรฐานทั้งทางภาษาเขียน กฎหมาย หลักการปกครอง และอุตสาหกรรมทั่วแผ่นดินจีนในขณะนั้น)

ขงจื้อเห็นว่าควรผลักดันให้ผู้ปกครองยอมรับหลักคุณธรรม และจะทำให้แคว้นอื่นยอมรับหลักคุณธรรมตามไปด้วย แผ่นดินก็จะกลับมาสันติมีความสงบสุข แต่เล่าจื้อเห็นว่าสภาพทางสังคมมีความขัดแย้ง ผู้นำแคว้นจะไม่รับฟังเรื่องคุณธรรม เพราะต้องสู้รบเอาตัวรอดเป็นสำคัญ แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนจากสภาพสงครามเป็นความสงบสุข ผู้นำไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร ก็จะหันกลับมารับฟังความคิดของนักปราชญ์เอง (คำเปรียบเปรยเรื่อง "ลิ้นกับฟัน" ซึ่งเป็นข้อคิดที่เล่าจื้อฝากให้ขงจื้อก่อนอำลา) การปรับตัวตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่า (ในแง่นี้ในกระบวนคิดทางตะวันตกอาจเทียบได้กับ โทมัส ฮอปส์ ที่คิดถึงไอเดียอย่าง "ลีเวียทัน" หรืออำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ที่จะสามารถสถาปนาระเบียบขึ้นในรัฐได้ เพราะโทมัส ฮอปส์ มีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามกลางเมืองในอังกฤษ)

หากมองในระยะยาว การที่หลังจากยุคชุนชิว ก็ยังมียุคจั้นกว๋อ (ทั้งสองยุคอยู่ในบันทึกเลียดก๊ก) ซึ่งก็ยังมีสงครามกันจนกระทั่งปรากฎผู้ชนะเด็ดขาด ก็เป็นข้อพิสูจน์ของไอเดียของเล่าจื้อว่าถูกต้อง แต่สิ่งที่ขงจื้อพูดก็ยังมีอิทธิพล เพราะตามหลักการ (คุณธรรม ความกตัญญู การจงรักภักดี) ก็เป็นสิ่งที่สังคมให้ความนับถือ ก็จะถูกผู้ปกครองอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมอยู่เสมอ

แต่ลึกลงไป ในทางยุทธศาสตร์ขงเบ้งมีความคิดที่ชัดเจนแต่แรกอยู่แล้ว คือใช้สถานการณ์รุกลงใต้ของโจโฉ เพื่อเปิดโอกาสให้เล่าปี่สร้างพันธมิตรกับซุนกวน เพื่อยันทัพของโจโฉ หากสองทัพสามารถยันศึกเอาชนะโจโฉได้ ทัพของเล่าปี่จะมีโอกาสได้ดินแดนเกงจิ๋ว (ภาคกลาง) และเสฉวน (ภาคตะวันตกเฉียงใต้) ในขณะที่ซุนกวนจะคุมดินแดนกังตั๋ง (ตะวันออกเฉียงใต้) กำลังพันธมิตรซุน-เล่า จะไม่เพียงยันศึกของโจโฉได้ แต่อาจถึงกับเอาชนะได้อีกด้วย ถ้าเอาชนะได้เล่าปี่จะได้เปรียบซุนกวนในฐานะที่มีสถานะเป็นเชื้อพระวงศ์ และเป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ก็จะมีสิทธิธรรมที่จะขึ้นครองแผ่นดินมากกว่าซุนกวนในภายหลัง การปะทะทางปัญญาครั้งนี้จึงไม่ใช่ประเด็นต้องถกเถียงทางยุทธศาสตร์อะไร (หรือไม่ใช่การต้องถกเถียงทางหลักการทางปรัชญา เหมือนเมื่อครั้งที่ขงจื้อถกกับเล่าจื้อ ว่าจะยืนยันหลักการ หรือจะปรับตามสถานการณ์) ยุทธศาสตร์ของทั้งขงเบ้งและโลซกต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าในการรับศึกโจโฉ จึงชัดเจน แจ่มแจ้ง และไม่ถูกคลอนแคลนแม้แต่น้อย การปะทะกันทางโวหารครั้งนี้ขงเบ้งจึงต้อง "กำราบ" ไอเดียทางเลือกทิ้งให้หมดและชักนำความคิดส่วนรวมให้ยอมรับยุทธศาสตร์หลงจง (ที่ไม่ได้ประกาศต่อสาธารณะ) โดยปริยาย โดยอันที่จริงไม่ได้สนใจการถกเถียงเรื่องหลักการหรือเหตุผลอะไรนัก (แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าตนคำนึงถึงอยู่) จะเรียกว่าเป็นการใช้โวหารที่เหนือกว่าก็คงได้ (ซึ่งในระหว่างถกเถียงก็มีผู้ตำหนิขงเบ้งว่าใช้โวหาร ไม่มีหลักการ แต่ขงเบ้งก็แสดงประวัติศาสตร์ของเล่าปี่ว่าเต็มไปด้วยหลักการ แถมยังมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าย้อนกลับไปได้ด้วย -- ผมเชื่อว่าถ้าเล่าปี่เชื่อคำแนะนำของขงเบ้ง ในการยึดเกงจิ๋วโดยไม่สนใจเรื่องคุณธรรม ขงเบ้งก็หาวิธีอื่นมาโต้คืนได้อยู่ดี)

ดูข้อมูลยุทธศาสตร์หลงจงที่ขงเบ้งอธิบายให้เล่าปี่เข้าใจ ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/siamintelligence/photos/a.10150123272946518.323308.251446551517/10152042149081518/?type=3


กู่หลงจง.....กระท่อมหญ้าของขงเบ้ง สถานที่กำเนิดยุทธศาสตร์หลงจง

กู่หลงจง.....กระท่อมหญ้าของขงเบ้ง สถานที่กำเนิดยุทธศาสตร์หลงจง ที่มา หงสาจอมราชันย์


ส่วนนี่เป็นยุทธศาสตร์ "หลงจง" ของโลซก
https://www.facebook.com/siamintelligence/posts/10152042166391518?match=4Liq4Liy4LihIOC4geC5iuC4gS53bXYs4Liq4Liy4Lih

ในตอนนี้ล่อกวนตง ได้เรียบเรียง (เราไม่ทราบว่าประวัติศาสตร์จริงเป็นอย่างไร) ถึงการปะทะทางความคิดได้ดี และวิธีการที่ขงเบ้งใช้วิธี "ฝ่ายตรงข้ามมาอย่างไร ก็โต้ไปอย่างนั้น" ย้อนกลับไป และแสดงถึงภูมิปัญญาที่เหนือกว่าย้อนกลับไป เป็นกรณีคลาสสิคในการโต้วาที โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงยุทธศาสตร์หลงจงที่แท้จริงของตนแม้แต่น้อย (ซึ่งขงเบ้งคงครุ่นคิดถึงยุทธศาสตร์นี้มานานหลายปี อย่างละเอียดจนตกผลึก ก่อนมาพบกับเล่าปี่)

อันที่จริงคุณสมบัติของผู้นำในทัศนะของขงเบ้งไม่ได้สำคัญมากเท่ายุทธศาสตร์โดยรวม และการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้แล้ว เพราะผู้นำทุกคนย่อมมีข้อบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เป็นหน้าที่ของกุนซือที่จะแสดงให้เห็นถึงด้านดีของผู้นำหรือหลักการที่ตนรับใช้อยู่ อำพรางข้อด้อย แล้วโจมตีข้อดีของผู้นำหรือหลักการของฝ่ายตรงข้าม ในแง่หนึ่งก็แสดงถึง pragmatism ของขงเบ้ง

แต่หลังจากการปะทะทางปัญญาครั้งนี้ผ่านไป กังตั๋งจะหันมาเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีแคว้นของตนเองด้วยซ้ำสู้ศึกกับโจโฉ และปรากฎขึ้นเป็นสามก๊ก หรือสามแคว้นในที่สุด
====

เตียวเจียว

เขาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของกังตั๋ง ลักษณะการใช้ตรรกะและหลักการในการโต้เถียงของเขามีความซับซ้อนและลุ่มลึกที่สุดในกลุ่ม

(1) ขึ้นต้นมาว่าตนมีความรู้น้อย และบอกว่าขงเบ้งเปรียบตนเองเหมือนขวันต๋ง งักเย (กำลังเทียบว่าการถ่อมตนเป็นคุณธรรม การอ้างตนเปรียบผู้สูงส่งไม่ได้ถ่อมตน จึงไม่มีคุณธรรม)

  • ยอมรับว่าเคยเทียบจริง คุยกลับบอกว่าขวันต๋ง งักเย เป็นเพียงคำเปรียบง่าย ๆ

(2) เล่าปี่ไปคำนับขงเบ้ง แต่กลับไม่ได้เกงจิ๋วแถมยังตกเป็นของโจโฉ

  • การยึดเกงจิ๋วไม่ยาก เพียงแต่เล่าปี่ถือคุณธรรม จึงไม่ต้องการชิงเมืองจากคนสกุลเดียวกัน (คือเล่าเปียว)
  • เล่าจ๋องเชื่อคำสอพลอ จึงถูกโจโฉยึดได้ ตอนนี้เล่าปี่อยู่กังแฮ มีแผนล้ำลึกเก็บงำไว้อยู่ คนปัญญาต่ำทรามย่อมไม่ทราบนัย

(3) ขวันต๋งช่วยจีอ้วนกงให้เป็นใหญ่ งักเยตีแคว้นจีได้ 70 เมือง ผลงานชัดเจน โลกยอมรับ ช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้ประโยชน์มากมาย เล่าปี่ก่อนได้ขงเบ้งยังมีสถานะ แต่หลังจากได้ขงเบ้งกลับประสบปัญหาหนักขึ้น ไม่มีที่ซุกหัวนอน

  • ความคิดของครุฑ นกกระจอกย่อมไม่ทราบ
  • เปรียบการให้คำแนะนำเหมือนการรักษาคนไข้อาการหนัก ต้องค่อยเป็นค่อยไป แล้วใช้การรักษาที่เข้มข้นขึ้น เพื่อรอร่างกายปรับตัว ไม่เช่นนั้นจะรับการบำบัดไม่ไหว
  • พูดถึงสถานการณ์เล่าปี่ก่อนมาหาขงเบ้งว่า มีทหารน้อยเพียง 1 พัน มีขุนพลสามคน เมืองเล็ก มีเสบียงน้อยเลี้ยงทหารได้ไม่กี่เดือน ทหารไม่มีการฝึก ก็ไม่เหมาะกับการป้องกันศึก คล้ายคนไข้อาการหนัก แต่ภายใต้เงื่อนไขอันจำกัดนี้ยังใช้กลศึกทำน้ำท่วมแปะโห และเผาทุ่งพกบ๋องเอาชัยศึกใหญ่จากทั้งแฮหัวตุ้นและโจหยิน ซึ่งเป็นขุนพลใหญ่ฝ่ายวุ่ยได้ เปรียบเทียบกันแล้วผลงานก็ไม่ต่างจากขวันต๋ง งักเย
  • การแตกทัพตงหยง เป็นเพราะนโยบายของเล่าปี่ที่ไม่ต้องการทิ้งชาวบ้าน ถือเป็นผู้ทรงคุณธรรม
  • น้อยย่อมแพ้มาก แพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา พระเจ้าฮั่นโกโจก็แพ้หานอี้หลายครั้งแต่สุดท้ายก็ชนะได้ครองแผ่นดิน เพราะกลยุทธ์ของฮั่นสิน
  • เรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องจริงจัง ต้องใช้ผู้รู้จริง มัวมาใช้คนคุยโตโอ้อวด เล่นลิ้นโต้คารมอยู่ไม่ได้ เมื่อเวลาคับขันกลับขาดแผนการ ใช้คนพวกนี้โลกจะเย้ยหยันเอาได้ (ทั้งช่วงการขึ้นต้นและลงท้ายของการตอบโต้จากขงเบ้งในช่วงนี้ ต้องการ hint ให้เตียวเจียวได้ตระหนักว่า ตนไม่มีแผนยุทธศาสตร์เป็นเรื่องเป็นราวอะไร เหมือนอย่างที่ขงเบ้งมียุทธศาสตร์หลงจง แต่ไม่แพร่งพรายบอกใคร นอกจากการยอมจำนนซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่ง่ายเกินไปเท่านั้น)


ยีหวน

(1) โจโฉมีกองทัพ 100 หมื่นประชิดกังแฮ มีแผนรับมืออย่างไร

  • กองทัพ 100 หมื่นของโจโฉ เป็นทหารเชลยจากอ้วนเสี้ยว และเล่าเปียว จำนวนมากแต่ไม่มีคุณภาพ

(2) แตกทัพตงหยง หลบไปแฮเค้า ไม่มีที่ซุกหัวนอน มาง่อคงจะขอกำลังไปช่วย การพูดว่าไม่กลัวก็เป็นการโกหก

  • หัวเราะเร็วเกินไป
  • กองทัพเล่าปี่มีจำนวนน้อย อาจต้านทหารกองทัพจำนวน 100 หมื่นไม่ได้ แต่กองทัพเล่าปี่มีน้ำหนึ่งใจเดียวต่อต้านศัตรู แม้จะแพ้ศึกแต่ก็ยังห้าวหาญ ฝ่ายกังตั๋ง มีกองทัพเข้มแข็งกว่า ชัยภูมิก็ดีกว่ามีแม่น้ำเป็นปราการ การกล่อมเจ้านายให้ยอมแพ้ศึกแต่หัววันเป็นเรื่องน่าอาย ทั้งหมดก็แสดงว่าคนที่ไม่กลัวโจโฉก็คือเล่าปี่ ไม่ได้โกหกเหมือนที่ถูกปรักปรำ
  • ยีหวนเคยบอกให้นายยอมแพ้ซุนเซ็ก (พี่ซุนกวน) มาก่อน ถือเป็นการเอานิสัยเก่ามาใช้


โปเจ๋า

(1) ขงเบ้งดูถูกคนเกินไป

  • ขงเบ้งขอโทษที่ว่ากล่าวรุนแรงไป

(2) ขงเบ้งใช้เทคนิคแบบโซจิ๋น เตียวยี่ ในการใช้วาจายุแหย่ให้กังตั๋งโกรธเพื่อจะได้สู้รบ

  • โซจิ๋น เตียวยี่ ไม่ใช่แค่นักพูด โซจิ๋น เป็นเสิงเซียง (สมุหนายก) หกแคว้น เตียวยี่เป็นสมุหนายกแคว้นจิ๋น 2 ยุค จึงมีผลงานชัดเจน ต่างจากคนอย่างโปเจ๋าที่ไม่เคยเห็นกองทัพโจโฉ แต่ก็ขลาดเขลาแต่เนิ่น จึงไม่ควรเอาโซจิ๋น เตียวยี่ มาเทียบ

ซีหอง

(1) วิเคราะห์โจโฉอย่างไร

  • เป็นคนทรยศ (โจรราชสมบัติ ขาดสิทธิธรรม)

(2) ที่วิเคราะห์มานั้นผิด ราชวงศ์ฮั่นหมดยุคสมัยไปแล้ว ความเป็นจริงคือโจโฉ ครองแผ่นดินสองในสาม มีคนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เล่าปี่จึงถือเป็นคนฝืนกระแส จึงต้องพ่ายแพ้

  • พูดเหมือนคนไม่มีความกตัญญู ไม่มีความภักดี (ไร้บิดา ไร้เจ้า) โจโฉเคยเป็นอำมาตย์รับใช้ราชวงศ์ฮั่นมาก่อน แต่กลับคิดชิงราชสมบัติ ความจริงคือคนทั้งมวลควรปราบกังฉิน แต่การพูดแบบซีหอง เหมือนเป็นกระบอกเสียงให้คนเนรคุณ
  • คนที่ไม่กตัญญู ไม่มีคุณสมบัติในการถกเถียงด้วย

(ข้อสังเกต: การโต้ของฝ่ายปราชญ์กังตั๋งมีข้อจำกัดอยู่ที่ว่าจะให้ความชอบธรรมต่อโจโฉมากเกินไปไม่ได้ เพราะกลับจะมีปัญหาคุณธรรมเสียเอง คือไม่มีความกตัญญูต่อนายของตนหรือซุนกวน แล้วไปยกยอโจโฉซึ่งเป็นศัตรูแทน การใช้เหตุผลโน้มน้าวให้ยอมจำนนจะมีเส้นขีดขั้นที่เรื่องความชอบธรรมของโจโฉนี้ และขงเบ้งก็ใช้ข้อได้เปรียบนี้ในการโต้เถียงอย่างเต็มที่แต่แรก)

ลกเจ๊ก

(1) แม้โจโฉจะอ้างโองการ แต่สถานะก็คือสมุหนายก เล่าปี่อ้างว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ ไม่มีหลักฐาน ตัวตนแท้จริงคือคนทอเสื่อ ไม่สามารถแข่งขันกับโจโฉได้

  • ตัวลกเจ๊ก พื้นเพเดิม ตอนเด็กขโมยส้มจากงานเลี้ยงอ้วนสุด
  • โจโฉเป็นสมุหนายก แต่กลับใช้อำนาจต่อฮ่องเต้ จึงเป็นกังฉิน แต่เล่าปี่ผ่านการตรวจสอบพงศาวลีว่าเป็นเชื้อพระวงศ์จริง สถานะเดิมของพระเจ้าฮั่นโกโจก่อนเป็นกษัตริย์ก็มีฐานะต่ำต้อยมาก่อน การทอเสื่อขายจึงไม่ใช่เรื่องน่าขายหน้า เอาเพียงสถานะมาเปรียบเทียบก็เป็นวิธีคิดของคนไม่มีวุฒิภาวะ

เหยียมจุ้น

(1) ที่ขงเบ้งถกเถียงมาทั้งหมด เหมือนเพียงใช้โวหาร ไม่มีหลักการ ขงเบ้งไม่มีงานวิชาการเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน ให้ยืนยันว่ามีความสามารถจริง ไม่ได้ใช้เพียงแต่ใช้โวหารเท่านั้น

  • นักวิชาการ หนอนตำรา ทำได้แค่ท่องจำตำราตายตัวมาพูด โดยมากไม่มีการประยุกต์ความรู้มาใช้ในสถานการณ์จริง (สร้างบ้านสร้างเมือง)
  • ในสมัยโบราณ ปราชญ์ ผู้รู้ ก็ไม่ต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการเขียนตำราอย่างเดียว อีจิ้น สมุหนายก ของซางทาง มีพื้นฐานมาจากทาสติดที่นา เจียงไท่กง ผู้บุกเบิกราชวงศ์จิว เป็นเพียงคนตกปลามาก่อน ปราชญ์รุ่นหลังอย่าง เตียวเหลง ตันเผง ที่มีผลงานที่เป็นที่ยอมรับ ก็ไม่เคยเขียนตำราเช่นกัน
  • บัณฑิตที่วัน ๆ อยู่กับตำรา ไม่สามารถเอาความรู้มาใช้ในชีวิตจริงได้

เทียคก

(1) ที่ขงเบ้งถกเถียงมา ไม่มีหลักวิชาการที่แท้จริง เช่นที่ขงจื้อสอน

  • ถ้าอ้างขงจื้อ ต้องรู้ว่ามีความรู้ขงจื้อที่สอนคุณธรรมที่ควรนับถือ คือมีความจงรักภักดี ยุติธรรม เกลียดความเลว จึงถือเป็นคุณธรรมที่มั่นคง คุณธรรมที่ไม่ควรนับถือ คือมัวแต่เขียนหนังสือ สนใจเพียงบทกวี ตั้งแต่อายุน้อยจนอายุมาก ก็ยังคงทำแบบเดิม มัวแต่เขียนหนังสือ เขียนได้ทุกประการ แต่หัวสมองว่างเปล่า ปราศจากความคิดแบบยุทธศาสตร์ (ที่พาให้บรรลุเป้าหมาย) อย่างเช่นหยางฉง เชี่ยวชาญบทกวี เขียนตำรามากมาย แต่เมื่ออองมังล้มราชวงศ์ก็จนปัญญาแก้ไข ต้องขายตัวรับใช้ สุดท้ายก็ฆ่าตัวตายเองภายหลัง จึงเปรียบเสมือนคุณธรรมที่ไม่ดี เขียนหนังสือดี แต่ไม่ควรยึดเป็นแบบอย่าง
  • ยอมรับว่าเทียคกเป็นปราชญ์ใหญ่มีความรู้ เขียนตำรามาก ตนก็เคยอ่านตำราของเทียคก แต่ขอให้เป็นตัวแทนคุณธรรมที่ควรนับถือ อย่าเอาอย่างหยางฉง ซึ่งเป็นตัวแทนคุณธรรมที่ไม่ดี จะถูกคนรุ่นหลังติฉินนินทา
คำสำคัญ (Tags): #ขงเบ้ง
หมายเลขบันทึก: 621957เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2017 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท