เสาอโศกในวัดไทย


#ศิลปะในประเทศไทย

เสาอโศกในวัดไทย

โดยวาทิน ศานติ์ สันติ (23/11/2559)


เสาพระเจ้าอโศกมหาราช หรือ เสาอโศก เป็นเสาขนาดใหญ่ที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะได้สร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 3 ถึง ตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 4 เพื่อประดิษฐานตามสถานที่สำคัญตามพุทธประวัติในอินเดียโบราณ ที่เสาจะมีจารึกด้วยอักษรพราหมี อักษรรุ่นแรก ๆ ของประเทศอินเดีย เพื่อแสดงถึงที่แห่งนั้นคือที่ที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา ประกาศถึงความสำคัญของสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ รวมถึงโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันค้นพบเสาอโศกเช่น เสาอโศกที่พุทธคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมโพธิญาน เสาอโศกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เสาอโศกที่เมืองเวสาลี สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงพระสูตรหลายพระสูตร และสถานที่เกี่ยวข้องกับบุคลในพุทธประวัติหลายท่าน เป็นต้น

รูปแบบทางศิลปกรรมของเสาอโศกคือ

เสาหินสร้างจากหินทราย ที่หัวเสาทุกเสาจะมีหัวสิงห์แกะสลักประดิษฐานสี่ทิศยืนบนฐานรูปสัตว์มงคลที่ขั้นด้วยกงล้อ อาจแสดงสัญลักษณ์ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่สง่างามดุจราชสีห์แผ่ไปทุกทิศ บนยอดสุดจะเป็นหินเกาะสลักรูปธรรมจักร อาจหมายถึงธรรมะได้ขับเคลื่อนมาถึงดินแดนแห่งนั้น อีกทั้งยังอาจหมายถึงการสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา รูปแบบแต่ละเสาแต่ละที่อาจมีความแตกต่างไปบ้าง เช่นที่เวสาลีที่หัวเสามีสิงห์ตัวเดียว เสาหลายแห่งชำรุดเสียหายตามกาลเวลาจึงไม่อาจกำหนดรูปแบบที่ชัดเจนแต่ละแห่งได้อย่างแน่ชัด เสาอโศกยังอาจมีความหมายถึงเป็นการประกาศพระราชอำนาจของพระเจ้าอโศกอีกด้วย

เสาอโศกจึงมีความสำคัญในแง่ศิลปกรรมสมัยราชวงศ์โมริยะ ประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนา ปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้นำรูปหัวเสารูปสิงห์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย

ในประเทศไทยปัจจุบัน นิยมนำเสาอโศกมาตกแต่งวัด เช่น วัดเก่าโบราณ จังหวัดชลบุรี ที่หน้าโบสถ์ (สันนิษฐานว่าเป็นโบสถ์ เพราะผมไม่เห็นใบเสมา) มีเสาอโศกสูงใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่า ถือว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของทางวัดเลยทีเดียว ทางวัดไม่ได้จำลองอักษรพราหมีจารึกกับแท่งเสาไว้ด้วย (ภาพที่ 1)

อีกแห่งหนึ่งคือวัดหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี ปรากฏเสาอโศกขนาดเล็กทาสีทอง หัวเสารูปสิงห์สี่ทิศแต่ไม่มีธรรมจักร (ภาพที่ 2) ติดตั้งอยู่หน้าวิหารจตุรมุข เป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญของวิหารนี้ (ภาพที่ 3)

ทั้งสองวัดแสดงถึงการประยุกติใช้เสาอโศกในการตกแต่งศาสนสถาน ให้มีวัตถุที่น่าสนใจมากขึ้นโดยสร้างเสาอโศกเพื่อเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และผู้อุปถัมภ์ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เพื่อเป็นการยกระดับความสำคัญและศรัทธาที่มีต่อศาสนาสถานประจำวัดทั้งสองแห่ง เหมือนครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราชให้ความสำคัญกับสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติในประเทศอินเดีย

ลองคิดเล่น ๆ ว่า หากเวลาผ่านไปสักพันปีแล้วนักโบราณคดีมาพบที่นี้ อาจจะมีการบันทึกว่า พระเจ้าอโศกมหาราชจากอินเดียได้เดินทางมาถึงเมืองชลบุรีเป็นแน่แท้

หมายเลขบันทึก: 621933เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2017 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2017 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท