พิพิธภัณฑ์ชุมชน : แหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนที่ยั่งยืน


วสันต์ บุญล้น และคณะ

ในงานวิจัยกรณีศึกษา นักวิจัยอาจมีความเห็นว่า สามารถดำเนินการได้โดยง่าย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายน้อยลง การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทำได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับงานวิจัยชุมชน หลายครั้งที่พบว่า ไม่สามารถค้นพบข้อมูลความจริงเพื่อเอามาใช้ในการวางแผนพัฒนาหรือแก้ปัญหาร่วมกันในระยะเวลาอันสั้น ทั้งที่นักวิจัยได้เพียรซ้ำลงพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?

จากการทำงานร่วมกับชุมชนที่ผ่านมา พบว่า บางครั้งเราเห็นในสิ่งที่เราอยากเห็น บางครั้งเราเห็นในสิ่งที่ชุมชนอยากให้เห็น ฉะนั้นหากอยากค้นพบข้อมูลความจริง จึงต้องใช้เวลาเพื่อการศึกษา เราต้องทราบว่าในอดีตและปัจจุบันชุมชนนี้เป็นอย่างไร นักวิจัยต้องใช้ความคิดเชิงระบบวิเคราะห์ข้อมูล และสังเคราะห์ข้อเท็จจริง

ถามว่าความจริงสำคัญมากขนาดนั้นเลยหรือ คำตอบคือใช่ เพราะนักวิจัยเป็นอาชีพที่ต้องเข้าถึงความจริงให้ได้ หากไม่รู้ ย่อมวางแผนพัฒนาผิดพลาด กระทบต่อชุมชนโดยรวม เพราะสนามทดลองของนักวิจัยชุมชนไม่ได้อยู่ในแปลง หรือห้องทดลอง แต่อยู่ในชุมชน อยู่กับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนชนบทห่างไกลแห่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องการเกษตร เพาะปลูกผลผลิตไม่ดี ขาดแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ชาวบ้านอยากให้สร้างแหล่งน้ำให้ หาพันธุ์พืชผักมาให้ปลูก หาพันธุ์ปลามาให้เลี้ยง แต่เมื่อนักวิจัยลงพื้นที่บ่อยครั้ง ทำให้ทราบว่า แหล่งน้ำลำห้วยในชุมชนมีมากพอสำหรับอุปโภคบริโภค คือ มากกว่าชุมชนใกล้เคียง มีลำห้วยสองสายไหลขนาบชุมชนซึ่งตั้งอยู่บนเนินสูง แต่ที่นำน้ำมาใช้ไม่ได้เพราะชาวบ้านปลูกข้าวโพดรอบบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเนินสูงในชุมชน ใช้ยาฆ่าหญ้าและสารเคมีจำนวนมาก เมื่อฝนตกน้ำชะล้างหน้าดินรวมถึงสารพิษลงไปรวมในแอ่งน้ำลำห้วย ชาวบ้านจึงไม่กล้าเอาน้ำมาอุปโภคบริโภค จะมีไม่กี่หลังคาเรือนที่มีตุ่มรองน้ำฝนเก็บไว้ใช้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้านำน้ำฝนมาใช้เพราะเห็นว่า มีสารเคมีเจือปนอยู่ในอากาศด้วยเช่นเดียวกัน หลายครัวเรือนในชุมชนจึงพึ่งน้ำประปา เพื่อนำมาใช้อุปโภค เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ส่วนน้ำดื่ม ต้องใช้บริการบริษัทน้ำดื่ม หรือเปิดจากถังกรองกลางหมู่บ้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีค่าใช้จ่าย

หากนักวิจัยไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ ย่อมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดบ่อ แจกพันธุ์ผัก พันธุ์ปลาให้ชาวบ้านตั้งแต่แรกที่มีการร้องขอ แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข

การลงพื้นที่ของนักวิจัยส่วนใหญ่ในเบื้องต้นจึงมักได้ข้อมูลระดับปรากฏการณ์ แม้ได้ข้อมูลมาจากการบอกเล่าของผู้นำชุมชน ก็ใช่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมเชื่อถือได้ การที่จะทราบว่าชุมชนนี้เป็นอยู่และมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่นักวิจัยอยากรู้ ข้อมูลมือสองในรูปแบบต่างๆ สมควรนำมากระทบกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาหรือแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันพบว่าความเป็นมาของชุมชนถูกบันทึกไว้น้อยมาก ส่วนใหญ่นักวิจัยใช้วิธีการสัมภาษณ์จากผู้นำชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน หรือหากโชคดีก็อาจได้ข้อมูลจาก โรงเรียนประถมศึกษา และวัดในหมู่บ้าน ซึ่งก็เพียงส่วนน้อยเท่านั้นเพราะสังคมชนบทปัจจุบัน ระบบบ้าน วัด โรงเรียน ไม่ได้เชื่อมประสานกันเหมือนในอดีต บางโรงเรียนก็มีข้อมูลให้เฉพาะประวัติศาสตร์ชาติที่เรารู้กันอยู่แล้ว การจะสอนเด็กให้สำนึกรักบ้านเกิด ให้รู้จักบรรพบุรุษชาติพันธุ์ของตนเองจึงทำได้ยาก หรือบทบาทของวัดในชุมชน ในอดีตวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ งานผ้าป่า งานกฐิน งานบุญต่างๆ คนไปรวมกันทำบุญที่วัด การเทศนาสั่งสอน จึงทำได้ง่าย ปัจจุบันเฉพาะวัดดังๆ หรือวัดที่มีพระที่มีชื่อเสียง คนจึงจะเข้าวัดกันเยอะ วัดในชุมชนบางแห่งจึงถูกทิ้งร้าง ไม่ได้รับความสนใจ พระในวัดก็ไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับชุมชนถ้าไม่ได้รับกิจนิมนต์ โรงเรียนเองก็ไม่ได้นิมนต์พระมาสอนคุณธรรมจริยธรรมให้เด็ก เพราะมีครูจริยธรรมคอยสอนเรื่องพวกนั้นอยู่แล้ว การบ่มเพาะเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนจึงหายไป คนที่เก็บของเก่าของโบราณไว้ ถ้าไม่นำไปขายเสียก่อนก็เก็บไว้ในโกดัง ภาษาขอมที่จารึกบนใบลานถูกยกเป็นของสูงแต่ไม่มีใครในชุมชนอ่านออก โบราณวัตถุเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้ออกมาเล่าเรื่องให้คนอื่นได้รับรู้ โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในชุมชน แต่คนในชุมชนขาดความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานเหล่านั้น ไม่มีส่วนในการบอกเล่า ดูแลรักษา คนตัวเล็กในชุมชนในครอบครัวชนบทจึงเหมือนไม่เคยดำรงอยู่ ตกรุ่นหลานรุ่นเหลนก็ไม่มีใครจำชื่อใครได้ แต่ตอบได้เพียงว่าเคย มีอยู่ เพราะหากไม่มีบรรพบุรุษ ลมหายใจของชุมชนในปัจจุบันก็คงไม่มี

จากที่กล่าวมา ทำให้เราต้องดำเนินการ เรื่อง พิพิธภัณฑ์ชุมชน

พิพิธภัณฑ์ชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนที่ยั่งยืน คนในชุมชนจะต้องออกมาเล่าเรื่องของตนเอง เล่าเรื่องพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ เล่าประวัติความเป็นมา เล่าเรื่องสิ่งใกล้ตัว เล่าว่าเป็นอยู่อย่างไร ทำมาหากินอย่างไร ดำรงชีวิตมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร ความเชื่อเรื่องศาสนา เรื่องผี ประเพณี วัฒนธรรม การสร้างบ้านแปงเมือง ผู้นำในอดีตเป็นใคร

คนในชุมชนจะต้องบอกเล่า เล่าด้วยภาษาและท่วงทำนองของตนเอง เพราะคนในชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูล เป็นคนใน

ในเรื่องพิพิธภัณฑ์นี้ นักวิชาการอาจจะเห็นว่าทำได้ยาก กรณีข้อมูลจัดแสดง ก็ต้องนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่คนใน แต่เป็นนักวิชาการที่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติมาเป็นหลักในการตรวจสอบข้อมูล ในการนำเสนอข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ชุมชน จึงไม่ควรกังวลเรื่องความถูกต้องของข้อมูลมากเกินไปจนไม่กล้านำเสนอ หากคนในชุมชนได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็ควรนำเสนอได้ ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการค้นพบข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือกว่า คนในชุมชนจะร่วมกันตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลก็สามารถทำได้

กรณีเงินทุน พิพิธภัณฑ์ชุมชน ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าในชุมชนมากกว่ารูปแบบพิพิธภัณฑ์ ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่โอ่โถง หรูหรา ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จัดแสงภายใน สถานที่อาจเป็นมุมห้อง หรือห้องทั่วไป หรืออาคารหลังเล็ก ที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อม

กรณีสิ่งของจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ชุมชน อาจจะเล่าเรื่องของชุมชนตนเองและชุมชนใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกัน โดยใช้สิ่งของที่มีอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นของเก่าราคาแพงหายาก เพราะหากมีราคาสูงอาจดึงดูดความสนใจของมิจฉาชีพ การออกแบบจัดแสดงอาจเล่าเรื่องด้วยแผนที่ชุมชน สิ่งของเครื่องใช้ ภาพถ่าย เช่น ขอความร่วมมือชาวบ้านที่มีภาพเก่านำมาให้นักวิจัยแสกนไฟล์เก็บภาพไว้ จากนั้นจึงคืนภาพต้นฉบับให้กับเจ้าของ โดยขอข้อมูลภาพจากเจ้าของให้ระบุปี พ.ศ. และบุคคลสถานที่ที่อยู่ในภาพ

กรณีการบริหารจัดการ พิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่จัดตั้งแล้วล้มเหลวส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริหารจัดการไม่ดี ขาดการวางแผนที่บูรณาการ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การดำเนินงานที่ต่อเนื่อง หรืออยู่ในกรอบของหลักการทางวิชาการมากเกินไป เช่น กำหนดคนดูแลต้องเป็นคนเรียนจบด้านพิพิธภัณฑ์ ต้องมีค่าจ้างค่าตอบแทนรายเดือน ต้องเป็นบุคลากรภาครัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่จำเป็น พิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่ตั้งอยู่ในวัด คนดูแลอาจเป็นพระ หรือมัคนายก และควรเป็นคนในชุมชนที่มีจิตอาสา เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน สำหรับเรื่องค่าตอบแทนต้องคำนึงถึงว่า หากในอนาคตไม่มีงบประมาณในการบริหารจัดการ พิพิธภัณฑ์ชุมชนจะยังคงอยู่ได้อย่างไร หรือความเข้าใจว่าคณะทำงานต้องมีหลายฝ่ายจึงจะดำเนินการได้ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจไม่จำเป็นต้องมาก เช่น ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิจัยเพื่อค้นหาข้อมูล ฝ่ายลงทะเบียนวัตถุและจัดแสดง ฝ่ายต้อนรับและนำเสนอข้อมูล ส่วนการทำความสะอาด ดูแลรักษาอาจช่วยกันดำเนินการ

การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้มีความต่อเนื่อง อาจใช้วิธีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเป็นระยะ อาจกำหนดเป็นสามเดือนต่อหนึ่งครั้ง ในการจัดกิจกรรมแสดงผลงาน หรือจัดประชุมกลุ่มเล็ก จากทั้งภายนอกและภายในที่มีความน่าสนใจ โดยสิ่งที่จัดแสดงไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนแต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เช่น นิทรรศการภาพถ่าย นิทรรศการผ้าทอพื้นเมือง การเสวนาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กิจกรรมชุมชนต่างๆ

สำหรับพิพิธภัณฑ์ชุมชนบางแห่ง ที่มีการจัดตั้งแล้วแต่เปลี่ยนสภาพเป็นโกดังเก็บของเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว หรือคนในชุมชนเข้าชม สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขาดการบูรณาการการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิถีการทำมาหากินของคนในชุมชน เนื่องจากปัจจุบันคนในชุมชนต้องเผชิญกับสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เวลาเป็นต้นทุนในการทำมาหากิน หากให้คนในชุมชนมาร่วมกันดูแลรักษาพิพิธภัณฑ์ชุมชน โดยไม่มีรายได้จากกิจกรรมนี้เลย คงหาคนที่มีจิตอาสาเข้ามาดำเนินการได้ยากพอสมควร

แนวทางหนึ่ง คือ การให้ความหมายของพิพิธภัณฑ์ชุมชน อาจจะต้องสร้างความเข้าใจว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชน ไม่ใช่เพียงสถานที่สำหรับแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ชุมชนอาจใช้เป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวร่วมด้วย ซึ่งถ้าใครต้องการข้อมูลที่สมบูรณ์ทั้งอดีตและปัจจุบันของชุมชน จะต้องเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ชุมชน


ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชน ควรจัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรมในชุมชนที่สามารถจำหน่ายได้ โดยอาจใช้ฐานข้อมูลหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในการจัดหา สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จำนวนมากจากแหล่งผลิตของกลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรม ก็มีบริการเส้นทางท่องเที่ยว และมัคคุเทศก์ท้องถิ่น

พิพิธภัณฑ์ชุมชนบางแห่ง อาจมีสถานที่เหมาะสมสามารถจัดสัดส่วนเป็นร้านค้าชุมชนได้ด้วย อาจมีบริเวณโดยรอบเป็นสนามเด็กเล่น เป็นที่ออกกำลังกาย หรือในวันหยุดสุดสัปดาห์อาจมีตลาดนัดผักปลอดสารพิษ โรงเรียนในชุมชนควรกำหนดให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง และเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วม ควรเชิญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าอาวาสวัดในชุมชน เข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์

สำหรับการศึกษาวิจัยชุมชน การได้ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ชุมชน ย่อมทำให้การเสาะแสวงหาความรู้ความจริงเพื่อวางแผนพัฒนาดำเนินการได้รวดเร็วทันต่อสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ โดยข้อมูลที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนย่อมมีความน่าเชื่อถือพอสมควร เพราะคนในชุมชนได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นำเสนอมาแล้ว อาจมีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงบ้างเมื่อเวลาผ่านไป แต่นักวิจัยก็มีแนวทางในการศึกษา เห็นความเป็นระบบของชุมชน เห็นศักยภาพ ความรักความสามัคคี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามที่คงอยู่ในชุมชน

หมายเลขบันทึก: 621870เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2017 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2017 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท